เคาะกะโหลก เขกกะลา กับ อานนท์ นำภา (2)

บทสัมภาษณ์ชิ้นก่อนของ อานนท์ นำภา จบลงที่คำตอบต่อคำถามว่า รัฐไทยมีการเรคคอร์ดผ่านโซเชียล มีเดีย เพื่อแจ้งข้อหาผู้คน อานนท์กล่าว นี่ได้กลายเป็นสงครามอีกแบบหนึ่ง

“ทุกวันนี้ ทุกคนมีเงื่อนไข แล้วก็ทำงานรออะไรบางอย่าง ที่มันสุกงอม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอะไรนะ แล้วก็เมื่อไหร่ยังไม่รู้ แต่ทุกคนไม่มีใครหนีไปไหน ไอ้ไผ่ก็ยังทำงานเคลื่อนไหวของมันอยู่ ไอ้กวิ้นก็ยังทำงานนักศึกษาอยู่ ผมเป็นทนายก็ว่าความ วันนี้ก็ร้องอธิบดี ไปยื่นหนังสือ ทุกคนก็ยังเต็มที่กับมันอยู่”

ผมกดปุ่มออฟเรคคอร์ด เพื่อที่ทนายจะได้พูดคุยกันอย่างไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง สายโทรศัพท์เรียกเข้าหลายสาย ทราบว่าวันนี้หลังจากไปยื่นหนังสือ เขาแวะรับลูกที่เพิ่งเลิกจากโรงเรียนพอดี

หลังจบบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ฝนที่ร้านกาแฟเรานัดหมายเริ่มซาแล้ว อีกซักพักหวังว่าฟ้าคงเปิด และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มคำถามถัดไป

การมีอยู่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในปัจุบัน ภาพของระบอบประยุทธ์หายไปบ้างไหม

ไม่… อย่างที่ผมบอก ตอนทำคดีคนอยากเลือกตั้งเสร็จเนี่ย มันน่าจะจบแล้ว ศูนย์ทนายฯ ก็จะแยกย้ายกันแล้ว จบกันแล้ว แม่งเจอคดีปี 63 เข้าไปเนี่ย 112 แม่งหลายร้อยคน จำเลยแม่ง 2000 คนโดนคดี คือเป็นอะไรที่มันใหญ่มาก แล้วคือตอนนี้ศูนย์ทนายฯ ต้องจ่ายคดีให้คนนอก อย่างผม ผมไม่ได้กินเงินเดือนจากศูนย์ทนายฯ นะ แต่เอาคดีมา ผมก็รับทำ คดีมันเยอะมาก เยอะแบบทำกันไม่ไหว

ทุกวันนี้ ผมสืบพยานไปถึงปี 67 ไปศาลทุกวันๆ คือ 19 คดี 112 เงี้ย คุณจะทำยังไง ถ้าสืบเดือนละคดี มันก็ปาไป 19 เดือนแล้วไม่ต้องทำอะไร แต่ว่าทุกการเคลื่อนไหวจะเป็นการต่อสู้ ไปศาลก็สู้ ทำมวลชนก็สู้ มันเป็นการสู้หมด ศาลรับองค์ความคิดอะไรประหลาดๆ มาว่าเนี่ย สถาบันกษัตริย์เป็นอะไรที่เเตะต้องไม่ได้ คือเป็นการต่อสู้ทางความคิดกันหนักมาก

อย่างนี้ทนายยังถือว่าการทำงานในชั้นศาล ไม่ว่าเป็นในฐานะจำเลย ในฐานะว่าความ ก็เป็นภาระงานที่แบกต่อมาจากม็อบด้วยใช่ไหม

ผมไม่คิดว่ามันเป็นภาระ แต่ผมคิดว่าทุกอย่างคือการเคลื่อนไหวหมด คือเราโดนคดี เราเป็นทนาย คือทนายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเนี่ย ไปศาลมาแล้วมึงแดกเบียร์นอนไม่ได้นะ คือมันต้อง วันนี้ไปเจออะไรมาต้องเอามาเขียนมาเล่าอะไรอย่างเงี้ย เพื่อให้มันเกิดประเด็นในการถกเถียงต่อไป อย่างเราไปศาลแม่งเรียกพยานมา เรียกหมายมาแม่งไม่ส่ง คืออะไรอย่างนี้ แล้วสุดท้ายศาลก็ไม่มีทางออก มันก็ตึงๆ กันอยู่ตอนนี้ ทุกอย่างมันเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมอะไรบางอย่างอยู่

มาลงลึกเรื่องประเด็นสถาบันกษัตริย์ คิดว่ากลุ่มทหาร เขาเห็นบทบาทหน้าที่ของตตั้งแต่แรกอยู่แล้วไหม ว่าจะเป็นคนเข้ามาจัดสรรอำนาจของประเทศนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย

อันนี้เป็นความเห็นนะ ผมคิดว่ามันเริ่มต้นจริงๆ

คือช่วงหลังปี 40 ตอนทักษิณเป็นนายกครั้งแรกๆ คืออันนี้เป็นอันตรายต่อชนชั้นนำไทยมากเลยนะ ปล่อยให้มีนักการเมืองที่โดดเด่นขึ้นมามากๆ โดดเด่นถึงขนาดทำให้คนจำนวนมากรู้ เพียงแค่เรามีนักการเมืองเก่งๆ บริหารประเทศดีๆ ก็พอแล้ว มีนายกเก่งๆ ก็ได้ ซึ่งมันทำให้สถาบันมีความสั่นคลอนมากระดับหนึ่ง เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอีกเรื่องหนึ่ง

ผมเข้าใจ ชนชั้นนำรู้สึกได้ว่า มันกำลังถูกเบียดขับให้ออกไปจากโต๊ะ ออกไปจากขอบ ทักษิณเลยโดนรัฐประหารด้วยข้อหาอะไรก็ว่าไป แต่ผมคิดว่าการรัฐประหารทักษิณตอนนั้นคือการกระชับอำนาจของชนชั้นนำไทยให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าตอนนั้นอำนาจมันอยู่ที่นักการเมืองเกือบทั้งหมด ทั้งกองทัพ องค์กรอิสระ จำนวนมากเลยนะ คือเราอาจด่าทักษิณว่าแทรกแซงองค์กรอิสระ แต่ว่าทุกองคาพยพของการเมืองกลับมาอยู่ฝ่ายการเมือง ซึ่งหมายความว่าทุกองคาพยพอยู่ฝ่ายประชาชน โดยนักการเมือง ไม่ได้หมายความประชาชนไปสั่งการได้เลย แต่ไม่ใช่ผูกติดกับชนชั้นนำไทยอีกแล้ว

การรัฐประหารปี 49 จึงเป็นการกระชับอำนาจให้กับชนชั้นนำไทยและมันก็ต่อเนื่องมา นายกฯ คือสุรยุทธ์ใช่ไหม สุรยุทธ์ก็ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อจะฆ่าพรรคเพื่อไทย ยุบแล้วยุบอีก แม่งฆ่าไม่ได้เพราะอะไร เพราะพอมันนับตัวเลขกันจริงๆ คือการเลือกตั้งมันนับตัวเลขใช่ไหม คือนับยังไงก็แพ้ เพราะมันไม่ใช่คนแบบก้ำกึ่ง คือมันเยอะกว่ามากๆ ไอ้แลนด์สไลด์นั่นแหละ คือเลือกยังไงมึงก็แพ้ จำนวนมันมากกว่า คนเห็นด้วยมากกว่า คนมันเริ่มเติบโต แล้วก็คนมันเริ่มตาสว่างช่วงที่ทักษิณโดนรัฐประหารครั้งแรก ยิ่งพวกคุณเป็นนักเขียนนักอ่านคุณจะรู้ มันเห็นความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันมาก จนกระทั่งคนมันรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วโว้ย  เราต้องทวงอำนาจเรากลับคืนมา เกิดกระแสอยากเลือกตั้งใหม่

คือตอนนั้นพรรคพลังประชาชนมีเสียงข้างมาก แต่พอเนวินเอาคนออกไป แล้วไปยกมือให้กับอภิสิทธิ์ การเมืองก็เปลี่ยนเป็นอภิสิทธิ์ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ที่นี้คนมันก็แบบ มึงคืนอำนาจมาให้กู ที่กูเลือกไอ้พวกเนวินไป กูไม่ได้เลือกให้มึงไปเลือกอภิสิทธิ์ กูให้ไปเลือกสมัครเพื่อไปเลือกพรรคเพื่อไทย (พรรคพลังประชาชน) คนก็เลยออกมาต่อสู้ แม่งต้องคืนอำนาจ แล้วมันก็เกิดโศกนาฏกรรมปี 53 นั่นแหละ แต่นี่คือคุณูปการของเพื่อไทย มึงจะด่าเพื่อไทยยังไงก็ตาม คือว่าเพื่อไทยหรือว่าเสื้อแดง มันทำให้คนรู้สึกว่า มึงเลือกได้เว้ย ไม่ต้องไปงอมืองอเท้า มีเงิน 30 บาทเดินเข้าโรงบาลได้ มันทำให้คนรู้สึกเป็นคนมากขึ้น  เหล้าแพงใช่ไหม กูต้มแดกเอง

ซึ่งนั่นแหละ กลับมาเป็นแบบปี 49 อีกครั้ง ชนชั้นนำไทยมันก็กลัวอีก กลัวบรรยากาศอย่างงี้ พออภิสิทธิ์ลงจากอำนาจ เลือกตั้งใหม่ เนี่ยแลนด์สไลด์ ยิ่งลักษณ์ใช่ไหม โคตรแลนด์สไลด์เลย เพราะอะไร มันเกิดกระแส ผมยังจำได้ รถทัวร์เต็ม คนยอมลางานกลับไปเลือกตั้ง เพื่อจะเลือกเพื่อไทยกลับมา ถามว่าคนไปเลือกยิ่งลักษ์เพราะยิ่งลักษณ์เหรอ ไม่ใช่ เหมือนเป็นการเลือกแบบตบหน้าชนชั้นนำไทย ว่ากูจะเอาแบบนี้ มึงจะทำไม นั่นแหละ พอมันเกิดนายกยิ่งลักษณ์มันก็เกิดนายกฯ ผู้หญิงที่ปอบปูลาร์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ที่นี้มีคนให้สัมภาษณ์ว่ามันไม่ได้วางแผนการรัฐประหารกันวันสองวัน มันคิดกันมาตลอด ซึ่งมาประจวบเหมาะกับปี 57 ที่เกิดความผิดพลาดจากเพื่อไทยด้วย ที่ไปเสนอ พ.ร.บ.เหมาเข่ง เปิดแผลให้ฝ่ายตรงข้าม ออกมาเคลื่อนไหว

โอเค พอเหมาเข่งมันล้มไปได้ปุ้บเนี่ย แต่แม่งไม่หยุดไง มันมีสัญญาณมาแล้ว

แล้วเลือกตั้งใหม่ล่ะ?

เลือกตั้งใหม่พวกนี้ก็ต้องกลับมาอีก ตอนนั้นในหลวงเริ่มป่วย มีการรัฐประหารช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ซึ่งผมคิดว่าทหารเองเขาก็รู้ว่ามันไม่ราบรื่นขนาดว่าใครเป็นใครในชนชั้นนำไทย แล้วก็พาประเทศกลับไปวังวนเดิมอีกครั้ง

ทำไมชนชั้นนำไม่เคยนับประชาชนอยู่ในส่วนหนึ่งของปาร์ตี้การจัดแบ่งสรรอำนาจ

เขาไม่ชินกับการให้คนเลือก ไม่ชินกับการรับฟัง กองทัพมันมีเลือกตั้ง ผบ.ทบ.เหรอ ใช่ไหม คือมันไม่ชินกับเรื่องพวกนี้จริงๆ นะ แม้แต่ประยุทธ์เป็นนายกฯ กร่างใส่นักข่าวใส่อะไรเนี่ย คือไม่ชินกับการวิพากษ์วิจารณ์ แล้วเอาเข้าจริงๆ มันมากกว่านั้นคือเรื่องผลประโยน์ เงินแม่งโคตรเยอะ 2475 คณะราษฎรปฏิวัติแล้วดึงเอาทรัพย์สินจำนวนมากของสถาบันกษัตริย์มากลายเป็นสำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ คือเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ใหญ่มาก เป็นกองมรดกที่ใหญ่มาก

พอเปลี่ยนรัชสมัยเนี่ย ปี 60-61 มีข้อกฎหมายที่เปลี่ยน โอนย้ายทรัพย์สินกลับไป เอาเป็นว่า เอาทรัพย์สินเดิมที่เป็นของรัฐเนี่ย มาให้กษัตริย์โดยตรง ซึ่งนั่นคือจุดหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่ยอม เพราะอะไร เพราะตั้งแต่สมัย ร.4 ร.5 ร.6 ร.7 มาเนี่ย ไม่ได้แยกออกจากกันไง เงินของหลวงกับเงินของกษัตริย์ใช่ไหม ที่นี้เป็นเงินของรัฐ คือไปเก็บภาษีมาได้ไง เป็นของรัฐ ทีนี้มันก็ถูกแบ่ง 2475 แบ่งปุ้บเนี่ย ชนชั้นนำไทยเลยว่าไม่ใช่ ต้องเอาคืน ละก็เอาคืนจริงๆ ทุกวันนี้เขาดิน เอาคืน ย้ายไปคลองหก แล้วที่รอบๆ คลองหกคืออะไร ที่ของใคร คือให้สร้างเขาดิน แต่ว่าที่รอบๆ ของใคร เงินใช้ของรัฐ ที่ดินไม่รู้เปลี่ยนชื่อหรือยัง กลายเป็นว่าทุกอย่างอึมครึมหมด

ซึ่งถ้าพูดกันในแง่นี้เรื่องผลประโยชน์ คือสายตาที่ไม่เห็นว่าผลโยชน์ของประชาชนในการที่เสียภาษีแล้วจะกลับคืนสู่ประชาชน ผมใช้คำว่าปาร์ตี้ 3 ปาร์ตี้ กลุ่มการเมือง ชนชั้นนำจารีต ทหารหรือกองทัพเนี่ย ไม่เคยนับประชาชนอยู่ในก้อนเค้กที่ต้องแบ่ง

รัฐหรือชนชั้นนำไม่ได้คิดจะให้เราอดตายหรอก แต่เขาจะให้อาหารเราเหมือนเลี้ยงหมา นึกออกไหม คือถ้ามึงน่ารัก มึงเชื่อง มึงดีเนี่ย มึงก็อ้วน มีโอกาสอ้วนนะโว้ย มีโอกาสได้อาบน้ำอย่างดี แต่มันไม่ใช่เซนส์แบบคนเท่ากัน

เขาไม่อยากให้คนอดตายหรอก เชื่อผมสิ เขาก็อยากให้คนอิ่มหมีพีมันแต่มันเป็นเซนส์แบบที่ว่า กูให้อาหารมึง ซึ่งไม่ได้นี่หว่า โลกสมัยใหม่มันไม่คิดอย่างนี้เเล้ว คือทุกคนอยู่บนพื้นฐานเท่ากันหมดแล้ว ใช่ไหม

อยากไปต่อเรื่องการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันฯ เราสามารถหวังพึ่งระบบการเมืองในสภาได้ไหม

ต้องพึ่งสภาฯ นะ

ถ้าเราพูดว่าหวังพึ่งสภาในการเลือกตั้ง 66 จะมีนโยบายหรือภาพกว้างของข้อเสนอเหมือนที่กลุ่มมวลชน หรือม็อบเคยให้ข้อเสนอนี้กับสังคมในช่วงปี 63 64 อะไรแบบนี้ปรากฎขึ้นกับพรรคการเมืองบ้างไหม

คุณูปการของม็อบจริงๆ คือมันเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เปลี่ยนไปหมดเลย ทุกวันนี้การยืนในโรงหนัง ใครยืนแม่งกลายเป็นจุดด้อยนะ คือไม่ใช่คนส่วนใหญ่แล้ว วัฒนธรรมเพลง ศิลปินคนไหนกล้าออกมาเชียร์โดนแบนอ่ะ

คือในส่วนวัฒนธรรมตอนนี้ผมคิดว่า เราชนะไปแล้ว แต่ว่าในทางการเมืองเรายังไม่ชนะ และเราก็บอบช้ำพอสมควร

ซึ่งที่นี้ นักการเมืองเวลาดูเนี่ย ปี 63 เพื่อไทยแม่งก็เชียร์ม็อบ เพราะกระแสมันขึ้นไง แต่พอกระแสมันลง แล้วพอมันเป็นเรื่องทางการเมืองเนี่ยก็หลีก ซึ่งหลักของการต่อสู้ทางประชาธิปไตยจริงๆ มวลชนต้องกำหนดนักการเมือง ไม่ใช่นักการเมืองมากำหนดมวลชน

ปี 63-64 ถ้าพูดกันตรงๆ ก้าวไกล ถ้าไม่มีม็อบก็ไม่กล้าพูดขนาดนี้ แต่พอกระแสมันขึ้น เขาก็รู้สึกว่า มันต้องพูด คือเพดานมันขยับไปพร้อมๆ กันนะ โอ้ย ก้าวไกลเข้ามาใหม่ๆ มันยังไปโหวตให้อะไรอยู่ ใช่ไหม คือตอนนี้พอม็อบมันขึ้น เวลาผมใช้คำว่าม็อบ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะลงถนนนนะ  หมายถึงกระแสคนในสังคมทั้งหมดเนี่ย นักคิด นักเขียน นักวิชาการ รวมทั้งกระแสโซเชียล พอเพดานมันเขยิบขึ้น นักการเมืองมันก็เขยิบขึ้นไปด้วย เราจะได้เห็นนักการเมืองหลายๆ คนแม้แต่คนในพรรคเพื่อไทยเองก็พูดเรื่องเจ้ากันหลายคน แบบเพดานมันเขยิบขึ้น แล้วทีนี้ถามว่าวิธีเปลี่ยนแปลงในสังคมจริงๆ มันทำได้กี่อย่าง ใหญ่ๆ คือ 2 อย่าง หนึ่ง… จับอาวุธ อีกตัวเลือกนึงคือแก้ปัญหาทางการเมืองแบบการเมืองจริงๆ ซึ่งมันก็แยกย่อยไปอีก คุณจะเอาม็อบไปกดดันเหรอ ชนชั้นนำแม่งหน้ามึน กดก็กดสิกูไม่สนใจ อย่าว่าแต่เขาเลย สมัยรัฐบาลเพื่อไทยก็เหมือนกันแหละ เอาม็อบไปปิดทำเนียบจำได้ไหม ปิดก็ปิด ก็ไปทำงานที่อื่น

คือมันไม่ได้แล้วม็อบ เพราะงั้นถามว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนจริงๆ ผมว่าทุกคนรู้ว่าจุดเปลี่ยนคือการเปลี่ยนทางสภาฯ ทำยังไงให้มีเสียงข้างมาก เวลาผมด่าเพื่อไทย ด่าอะไรพวกนี้ จริงๆ แม่งผมก็เชียร์มันนะ คือคำพูดของเพื่อไทย คำว่าแลนด์สไลด์มันคือแลนด์สไลด์จริงๆ นะ ประเด็นคือมึงจะแลนด์สไลด์เฉยๆ ไม่ได้ไง จะแก้ไขไม่แก้แค้นไม่ได้

คือได้แลนด์สไลด์ครั้งนี้ต้องทำแล้ว อันดับแรกที่ต้องทำ เอาง่ายๆ เรื่องแต่งตั้งทหาร ต้องจากฝ่ายการเมือง ไม่ใช่ปล่อยให้ทหารตั้งกันเอง หลายๆ อย่างคุณต้องเอาไอเดียของคณะราษฎร ของคนรุ่นใหม่ เข้าไปด้วย

แล้วเลือกตั้งเนี่ยในทางการลงทุนมันลงทุนต่ำนะ เพราะว่าทุกคนแม่งเข้าคูหา กา แจ้งคะแนน แต่ถ้าเป็นม็อบมันลงทุนสูง เราก็ไม่รู้ว่ามันจะยิงเรา หรือจับเราไปเข้าคุก เข้าคุกไม่เท่าไหร่ เกิดเอามายิงเหมือน 35 หรือ 53 ไม่ตายฟรีเหรอ ทีนี้ถามว่าเป้าหมายของทุกคนตอนนี้ ผมว่ามันไปที่การเลือกตั้งว่ามันจะแก้ปัญหาได้ แต่จะใช้คำว่าไร้ประโยชน์มันก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์ซะทีเดียวนะ มันจะไร้ประโยชน์ระดับนึง ถ้าคุณชนะแล้วคุณวนไปแบบเดิม สมมติเพื่อไทยชนะ บวกก้าวไกลด้วยก็ได้ จัดตั้งรัฐบาล บวกเสรีรวมไทย บวกอะไรก็ได้ แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยังเอาเงินซัพพอร์ตให้กับสถาบันกษัตริย์ มันก็เป็นรัฐบาลเพื่อรอให้ทหารมายึดอำนาจอีก  คือชนะครั้งนี้ต้องแลนด์สไลด์และบวกว่าทำอะไรบางอย่างด้วย ซึ่งทำอะไรบางอย่างนี่ ผมก็ยังคิดไม่ตกว่ามันจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เอาง่ายๆ มึงต้องแก้กฎหมาย เอาสำนักงานทรัพย์สินให้กลับมาเป็นของรัฐบาลใช่ไหม

แล้วจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ พรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อเสนอเรื่องเหล่านี้ไหม

ไม่ ผมคิดว่าไม่ เต็มที่ก็ก้าวไกล แต่ผมคิดว่าสิ่งที่มันจะเปลี่ยนไปแน่ๆ คือคนจำนวนมากจะเลือกก้าวไกล เพราะเขาเชื่อว่าเพื่อไทยจะพากลับไปที่วังวนเดิม ดังนั้นทริคมันอยู่ที่เดียว คือผมพยายามสื่อสารไปทางพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำหลายๆ คนเลยว่า เลยว่า เฮ้ย ต้องซื้อความฝันของคนรุ่นใหม่เข้าไปด้วยระดับนึง คือจะเอาแค่ ใช้คำว่าแค่ก็ไม่ถูกหรอก ซึ่งมันใหญ่มาก ปกป้อง รู้จักปกป้องใช่ไหม (ชานันท์ ยอดหงส์) ที่เคลื่อนไหวเรื่องเพศทางเลือก LGBT คือมันจะพูดแค่นี้ไม่ได้ ต้องไปไกลกว่านั้น ไม่ต้องพูดตรงๆ ก็ได้ ถ้าบอกว่าพูดตรงๆ แล้วจะโดนยุบพรรคนะ แต่มันต้องสื่อสารให้คนรู้ ไม่ใช่บอกว่า กูจะแก้แค่ปากท้องอย่างเดียว คือคุณจะเสียมวลชนจำนวนมากไป อันนี้น่าเสียดายนะ เพราะว่าถึงที่สุดแล้วเนี่ย เลือกตั้งปี 66 ถ้าเราไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์จริงๆ ไม่แลนด์สไลด์แบบฝ่ายประชาธิปไตยจริงๆ สว. มีอยู่ 250 รออยู่ไง มันไม่พอ

แล้วสุดท้ายคุณก็จะเข้าไปบทเกี้ยเซียะโดยปริยาย เพราะต่อให้คุณได้ 250 ฝ่ายค้านมี 250 สว.มี250 มันจะมากกว่าคุณ สุดท้ายจะนำไปสู่อะไรรู้ไหม มันจะโหวตนายกฯ รอบแรกไม่ได้ อุ้งอิ้งก็ไม่ได้ พิธาก็ไม่ได้ สุดท้ายมันจะเข้าสู่การโหวตแบบ 2 ใน 3 คือเอาคนนอกเข้ามา ใครจะเข้ามา ผมว่าไอ้ประวิทย์นั่นแหละ ปี 66 มันจึงสำคัญคือต้องชนะขาดและสำคัญกว่านั้นนะ ผมคิดว่ามวลชนต้องเข้มแข็ง พูดกันแบบตรงๆ

ถ้าเราชนะเลือกตั้งได้ซัก 300 เสียง อันนี้ถือว่าแลนด์สไลด์ แต่ยังไม่พอ 750 ทั้งหมดนี่ 300 ไม่พอครึ่งนะ วันที่โหวตลงคะแนนมวลชนต้องแบบไปล้อมสภากันแล้ว สว.อยู่เฉยๆ เอา สส. มาโหวตก็พอ

คือมันต้องมีการกดดันทางการเมือง ปี 66  จึงเป็นปีที่สำคัญของม็อบมาก ช่วงนี้แกล้งตายเลย แต่ปี 66 นี่ถ้าเป่านกหวีดปุ้บ ต้องเจอกัน คือถ้าเราชนะ 300 เสียง ถ้า สว.ไม่เลือกเราก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล คือวันนั้นมันต้องแบบม็อบคือต้องม็อบ ไอ้แกนนำแบบมีเงื่อนไขห้ามไปชุมนุมนะ ต้องลงถนน แล้วถ้าทำสำเร็จ เราได้เป็นรัฐบาล ทุกอย่างแม่งจะตามมา ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าทักษิณจะเป็นพวกยอมนะ คือลึกๆ ก็คงแบบว่ามึงทำกูมาเยอะอยู่ แต่ว่ามันก็แบบ… นึกออกปะ คือถ้าคุณได้เป็นรัฐบาลครั้งนี้ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ

แล้วเรื่องหนึ่งความฝันล่ะ ในฐานะที่มันเป็นภัยความมั่นคงของรัฐมากๆ ที่เขาใช้จัดการทั้งคนรุ่นใหม่หรือใครก็ตามที่แสดงออกทางความคิดเรื่องนี้ การเสนอแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนในสังคมต้องรับฟังข้อเสนอนี้

ผมคิดว่าม็อบเที่ยวนี้ตกผลึกไปถึงหลักการ หลักการที่ทุกคนเชื่อว่าคนเท่ากัน ไม่เชื่อว่ามีเทพเทวดา ไม่เชื่อว่ามีเลือดสีน้ำเงิน ดังนั้นทุกอย่างที่ทำให้คนไม่เท่ากันเนี่ย ม็อบถึงบอกว่าอย่างนี้ผิดธรรมชาติหมด มาตรา 6 ห้ามฟ้องกษัตริย์ คือหลักการเก่าซึ่งขัดกับหลักการใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่สมาทานขึ้นมา ว่าคนเท่ากันหมายความว่าอย่างงั้น หมายความว่ารับผิด รับชอบด้วย เป็นไปไม่ได้ที่คนคนหนึ่งเกิดมาแล้วอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ทุกอย่างมันจึงเริ่มจากคนเท่ากัน บริษัทใหญ่มึงต้มเบียร์ได้ ทำไมกูจะต้มไม่ได้ คือทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานนี้หมด หลักง่ายๆ ด้วยนะ อย่าง กปปส.คดีได้ประกัน ทำไมเพื่อนเราไม่ได้ประกัน คือทุกอย่างจะเอามาเทียบว่าคนเท่ากันหมด

คนเท่ากันแล้วมันนำไปสู่รูปแบบม็อบด้วย คือตอนแรกเราเป็นม็อบที่มีแกนนำใช่ไหม เท่โว้ย ปราศรัย แต่ทุกคนบอกคนเท่ากัน คนเท่ากัน คือจะกำหนดว่ามึงไปนั่นไปนี่ ได้เหรอ คือหลังมันตกผลึกทุกอย่างมันมาหมด ซึ่งนั่นแหละ ชนชั้นนำมันกลัว เจอคนเท่ากันเข้าไปเนี่ย ทำไมกูต้องมาพูดราชาศัพท์วะ ไอดา (อรุณวงศ์) ล่าสุดไปแปลหนังสือแม่งไม่ใช้ราชาศัพท์เลย นั่นแหละคือเหตุผลว่าทำไมต้องยกเลิก 112 ทำไมต้องยกเลิกมาตรา 6 ทำไมต้องแก้กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องเบียร์ ทุกอย่างมันมาจากพื้นฐานเรื่องคนเท่ากันหมดเลย ซึ่งผมว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มากเลยนะ

ตอนนี้ไปดูหลักสูตรของนักเรียน ผมมีลูกเรียนประถมไง ไปดูในหลักสูตรแม่งคลั่งทั้งนั้น ยืนเข้าแถวลูกเสืออะไรมาเต็บสูบเลยตอนนี้ไอ้โฆษณาที่เราเห็น โฆษณาล้างสมองเหมือนเดิม แต่มันไม่ได้ผลไง เพราะว่าคนมันตกผลึกแล้วว่าอะไรคืออะไร น้ำท่วมจะมาอาหารมื้อที่สุขที่สุด คือคนมันไม่ซื้อเรื่องนี้แล้ว มันก็นำไปสู่ทุกๆ องคาพยพของสังคมเริ่มปรับตัว แต่ไม่ทั้งหมดนะ หลายส่วนที่มันยังเอื้อต่อกลุ่มทุนเก่า ต่อชนชั้นนำมันก็ยังไม่ปรับ อย่างนางงามนี่ปรับ อ่าว ถ้าอยากเป็นนางงามต้องพูดเรื่องการเมืองโว้ย ใช่ไหม ดารา เทรนด์ด่าประยุทธ์เป็นเทรนด์ของดารานะ มึงกลัว มึงแซะก็ได้ คือมันเทรนด์กลับมาใหม่ ผมคิดว่าความหวัง ความหวังจริงๆ ของเจเนอเรชั่นเรา ของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ คือการเปลี่ยนแปลงให้คนมันเท่ากัน

การที่คนรุ่นใหม่ตอบรับคนเสื้อแดงมาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ภาวะคนเสื้อแดง ภาพแบบเก่าที่อยู่กับพรรค หรือแม้กระทั้ง อ.ธิดา อดีตประธาน นปช. ไม่สามารถระบุปริมาณจำนวนคนเสื้อแดงได้แล้ว ภาพเหล่านี้สะท้อน กระตุ้น หรือส่งแรงกระเพื่อมให้การเมืองในภาพใหญ่ขยับตัว เปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม

จริงๆ จุดที่เกาะเกี่ยวกันไว้ ถ้าพูดกันตรงๆ คนรุ่นใหม่กับคนเสื้อแดงมันมีสิ่งที่ต่อสู้เหมือนกัน เป็นพวกปฏิรูปเหมือนกัน กับ 2 คือเราถูกกระทำจากกลุ่มเดียวกัน จากกลุ่มชนชั้นนำไทยเหมือนกัน จากศาล จากทหาร จากคนที่อยู่รอบๆ สถาบันกษัตริย์เหมือนกัน นี่คือจุดเกาะเกี่ยว แล้วก็คนรุ่นใหม่มันไม่ทันคนเสื้อแดงหรอก มันไม่รู้ว่าใครยิงใครหรอก แต่พอมันรู้สึกว่ามันโดนเหมือนกัน แล้วมันสู้เพื่อสิ่งเดียวกัน มันย้อนกลับไปดูได้ว่า 1 2 3 4 ไม่ใช่แค่การโอบกอดคนเสื้อแดงอย่างเดียวนะ แต่แม่งยังเอาตีนถีบ กปปส.

ในด้านมวลชน เพื่อไทยออกแคมเปญชวนคนเสื้อแดง กลับบ้าน ภาวการณ์ดึงมวลชนกลับมาเข้าสู่พรรคก่อนกระแสการเลือกตั้ง เพื่อการเกิดแลนด์สไลด์อย่างที่เขาว่าได้ไหม

ไม่ได้ คือมันเป็นเรื่องตัวเลข เราต้องยอมรับความจริงว่า 14-15 ล้าน หรือ 18 ล้านอะไรก็ตาม เอาตีกลมๆ เลย 15 ล้านของเพื่อไทยนี่มันไม่เท่าเดิม ใน 15 ล้านแบ่งมาให้ก้าวไกลเท่าไหร่ ส.ส. หลายคนของก้าวไกลเป็นเสื้อแดงนะ คนที่เคยเชียร์เพื่อไทยจำนวนหนึ่งมาอยู่ก้าวไกล ดังนั้น 15 ล้านมันไม่เท่าเดิม กับ 2 คือแม่งตายทุกวันเสื้อแดง และ 3 มันไม่เกิดใหม่ มันไม่มีเสื้อแดงเกิดใหม่ เด็กมัธยมมันมีใครบอกว่าตนเองเป็นเสื้อแดง อายุ 18-19 มันไม่มี คือมันเท่าเดิม มันมีคนตายไป มันมีคนที่ไปพรรคก้าวไกล ที่นี้จำนวนมันลดลงแน่ๆ แต่ถามว่าถ้าเป็นผมเป็นเพื่อไทย ผมจะพูดยังไง ผมก็พูดอย่างนี้แหละ ว่าดึงกระแสเสื้อแดงกลับมา แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่เท่าเดิมแล้ว มันไม่ใช่ก้อนเดิมแล้ว คือถ้าคุณอยากได้เท่าเดิม หรือว่ามากกว่าเดิมต้องเอาคนที่มันเกิดมาใหม่เข้ามาด้วย

อาจไม่ต้องเรียกว่าเป็นเสื้อแดงก็ได้ เรียกว่าอะไรบางอย่าง ถ้าเป็นจีนปฏิวัติเข้าเรียกอะไรวะ ยุวชน (เรดการ์ด) มึงต้องดึงพวกนี้เข้ามา แล้วผมเชื่อว่าทีมยุทธศาสตร์เพื่อไทยเองก็คิดอย่างนี้จริงๆ คือคิดจะเอาคนรุ่นใหม่เข้ามานั่นแหละ แต่ที่มันมีปัญหากันตอนนี้คือไอ้พวกนางแบก

ไม่ใช่นางแบกทุกคนนะ คือพวกที่เชียร์เพื่อไทยแล้วไม่เก็ทประเด็นนี้แล้วพยายามจะบอกว่า ไม่เลือกก็ไม่ต้องมาเลือก มึงไปเลือกพรรคอื่นสิ เฮ้ย มึงปรึกษาทีมยุทธศาสตร์เขาหรือยัง เขาจะโอบกอดเข้ามาอยู่แล้ว

เขาเอาคนอย่างปกป้อง คนรุ่นใหม่เยอะนะในเพื่อไทยเนี่ย แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เชียร์ไปถีบเขาออก ก็นั่นแหละ อย่างที่เห็น สุดท้ายเชื่อผมเหอะ มันจะตกผลึกร่วมกัน ถ้าอยากชนะฝ่ายนั้นนะ ต้องแลนด์สไลด์จริงๆ เพื่อไทยไม่ได้พูดผิดนะ แต่ว่าวิธีการ มันยังไม่… คือผมคิดว่าถ้าแลนด์สไลด์จริงๆ ต้องเอาคนรุ่นใหม่ด้วย จะบอกว่าคนรุ่นใหม่กูไม่สนหรอก ไปเลือกก้าวไกลเหอะ จะเอาเฉพาะคนเสื้อแดง ผมว่าไม่พอหรอก

New Voter ที่น้อยลง จะส่งผลต่อนโยบายที่มุ่งเน้น เรียกกระแสเพื่อหวังดึงฐานคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ หายไปบ้างไหม เพราะเดิมเลือกตั้ง 62 มีสัดส่วนผสมระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกับกลุ่มคนที่ถูกทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ มันจะมีปรากฎการณ์หรือนโยบายอื่นๆ ไหม อย่างเรื่องกัญชาอะไรพวกนี้

ผมไม่คิดว่าคนเลือกภูมิใจไทยเพราะเรื่องกัญชานะ เอาจริงๆ ผมก็สูบนะ แต่ผมคิดว่าคนที่เลือกภูมิใจไทยมันคือเสื้อแดงจำนวนนึงนั่นแหละ ก็ชาวบ้านบุรีรัมย์เนวินนั่นแหละ คนรุ่นใหม่มันมีเหรอ กูคนรุ่นใหม่ภูมิใจไทยโว้ย

แล้ว New Voter ที่เลือกอนาคตใหม่?

ผมคิดว่ามันมี 2 ปัจจัย คือไปดูจำนวนเสียงที่ลงให้พรรคเพื่อไทย น้อยกว่าพลังประชารัฐนะ นับคะแนนดิบกัน แต่เพราะอะไร ไปแตกแบงค์ย่อยเป็นไทยรักษาชาติไง แล้วพอไทยรักษาชาติลงเลยไม่ได้ส่งเพื่อไทย แล้วทีนี้คะแนนตรงนั้นมันหายไป เลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 62 นี่เพื่อไทยมีโอกาสชนะไหม มันชนะ แต่ว่ายุทธศาสตร์มันผิด คือจะบอกว่าแค่ยุทธศาสตร์ผิดก็ไม่ได้ มึงโดนเขาหักหลังทีหลัง อ่าว มึงเสนอฟ้าหญิงใหญ่มาแล้วโดนหักหลังทีหลัง นั่นคือเจ๊ง แล้วถามว่าถ้าไทยรักษาชาติโดนยุบ คะแนนไปไหนของเพื่อไทย

มันก็มาเลือกก้าวไกล ตอนนั้นผมคิดว่ามันเป็นกระแสคนรุ่นใหม่ที่… จะนับแค่ทวิตเตอร์ไม่ได้นะ ทวิตเตอร์เด็ก 14 มันก็เล่นได้ แต่มันเลือกตั้งไม่ได้ไง พ่อฟ้าเนี่ย คิดว่าคนอายุ 20 จะไปเรียกพ่อฟ้าเหรอ ใช่ไหม คือผมคิดว่ามันมีหลายปัจจัยอยู่ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่มันสะท้อนเป็นคะแนนหลังสุดที่เราเห็นได้ชัดคือปรากฎการณ์ชัชชาติ แล้วก็ปรากฎการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่หลักสี่ (เลือกตั้งซ่อม) เพราะว่าก้าวไกลมันไม่ได้มีคะแนนน้อยๆ นะไม่น้อยเลย คุณวัดเลย สก.เนี่ย ก้าวไกลเล็กกว่าเพื่อไทยตั้งเยอะ คือจำนวน สก.หรือจำนวนคนที่โหวตให้เนี่ย แม่งไม่น้อย โอเคคนไม่ชอบวิโรจน์ใช่ไหม อาจเลือกผู้ว่าฯ เลือกชัชชาติ แต่ สก. เนี่ย มันเยอะนะ เยอะกว่าประชาธิปัตย์ เป็นไปได้ไง ในกรุงเทพฯ นี่คือปัจจัยที่ประมาทไม่ได้

คิดว่าคือเวลาคนที่เป็นโฆษกหรือ speaker ของพรรคเวลามันพูด มันพูดไม่อร่อยอ่ะ ไม่ชัดเชน คือมึงไปบอกว่า เพื่อไทยจะเอาแค่ปากท้องอย่างงี้ คือมันไม่ใช่ไง คือมันจะมีคนจำนวนนึงเลยนะ ที่บอกว่า มันไม่ใช่ มันต้องแบบ ต้องมีอะไรมากกว่านั้น ทีนี้ถึงที่สุดแล้วผมว่านโยบายมันมีอะไรมากกว่านั้นแหละ ช่วงก่อนจะมีเลือกตั้ง มันคงตีกันอีกเยอะ เพื่อไทยกับก้าวไกล กลับมาที่เรื่อง new voter ผมคิดว่า ครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญ ไม่ถึงที่สุดหรอก แต่ว่ามันสำคัญในแง่ที่ว่า 2 ปีผ่านไป คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมันเพิ่มขึ้นมา 2 ปี มันคือกลุ่มไหน หมายถึงว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วมันยังอยู่มัธยม แต่ตอนนี้มันขึ้นมหาลัย อายุ 18 เลือกตั้งได้ มันหมายถึงเด็ก ม.ปลาย เมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ชูสามนิ้วนะ คือ ม.ปลายของสามนิ้วล้วนๆ เนี่ยมีสิทธิเลือกตั้งแล้ว

โอ้ นี่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แล้วมหาลัย 4 ปีผ่านไป ตอนนี้เรียนจบ จบอายุเท่าไหร่ 22-23 จบมาแล้ว 2 ปีอายุ 25 มันลง ส.ส.ได้นะ ผมเลยบอกว่า ไอ้ช่วงอายุนี้ ในเลือกตั้ง 66  อายุ 18 – 25 ปีเนี่ย ไอ้ช่วง 7 ปีนี้ ค่อนข้างเยอะนะ ถ้าเลือกปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้แบบเยอะ ไม่ต่ำกว่า 10% 20% แล้วอันนี้ถามจริงๆ คิดว่าคนรุ่นใหม่ เกินครึ่งมันจะไปเลือกเพื่อไทยเหรอ ไอ้เราก็รู้สึกนะ เอาตามความเป็นจริงคือคนรุ่นใหม่มันก็รู้สึกว่าก้าวไกลใช่กว่า มันอาจนอนเล่นเกมอยู่แล้วไปเลือกตั้งอย่างที่เขาปรามาสกันก็ได้นะ แต่ว่าเฮ้ย 18 – 25 ปีเนี่ย ถ้าทำให้เขารู้สึกว่า เขาออกไปทำตามความฝันเขาได้นี่ ผมว่าเป็นจุดเปลี่ยนนะ แล้วแม่งโคตรสำคัญ สำคัญกว่านั้นคือปี 66 คุณนับไปอีก 4 ปี สว.ไม่มีโอกาสแล้ว 4 ปีนั้นเนี่ย ไอ้พวกแก่ๆ แม่งตายกันไปหมดแล้ว แล้วไอ้ 4 ปีต่อมา ตอนนี้คือไอ้พวกอยู่ ม.ต้นตอนนี้ มันจะขึ้นมา คือเพดานของอายุคนมันขยับๆ ขึ้นไปเรื่อย มันเสือกเข้าข้างฝ่ายประชาธิไตย

ทนายมองไปถึงเลือกตั้ง 70 แปลว่ามวลชนที่เคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้ ต้องทำงานกันต่อหลังเลือกตั้งจนถึงเลือกตั้งครั้งถัดไปเลยใช่ไหม

ม็อบมันจะมาตอนช่วงที่มันพร้อม คือม็อบต่อไปมันจะไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าม็อบใหญ่ๆ ครั้งต่อไปมันจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว คือไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่แบบนิดเดียว แม่งคนเต็มถนน มันจะไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้ายแบบยุบอนาคตใหม่ คือมันจะไม่เป็นแบบ 1 2 3 แล้วถึงเกิด 4 มันจะเกิดแม่งเกิด 4 เลย แม่งถล่มทลาย ซึ่งคุณไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ นึกออกรึเปล่า ว่ามันไม่มีอะไรแน่นอน แต่ว่าตอนนี้มันมีประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านั้น ผมคิดว่าปี 63 เราพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์แน่ๆ แต่ตอนนี้มันเลยเถิดโว้ย ผมจับอารมณ์คนรุ่นใหม่ได้อยู่

การถูกเมินเฉยโดยชนชั้นนำไทยที่ไม่พูดคุย ไม่ประนีประนอม ไม่ตอบรับ แต่จับเข้าคุกเลย แล้วแม่งกระทืบเรา ตอนนี้ผมคิดว่าข้อเสนอมันจึงเลยเถิด ต่อให้ไม่มีข้อเสนอออกมาตรงๆ นะ ซึ่งอันตรายอยู่ ผมคิดว่าพอไปถึงจุดนึงที่มันไม่ลงรอยกันจริงๆ มันจะเกิดการใช้ความรุนแรงต่อกัน

เรามีประวัติศาสตร์ว่าชนชั้นนำไทยมันไม่ยอมคืนหรอก ถ้าไม่ถูกยึดอำนาจโดยประชาชน โดยทหาร โดยอะไรก็แล้วแต่ ผมก็ไม่คิดว่าคนรุ่นใหม่จะยอม

ถ้าเกิดการยึดอำนาจอีกครั้งนึงนะ แล้วมีทหารไป 10-20 คนนะ ไปยืนอยู่ตามแยก มึงเจอทะลุแก๊ซ เอาจริงๆ คือมึงไม่รู้ อยู่มืดๆ มึงจะรู้ได้ไงใครจะเอาอะไรมาปา อยู่กลางแจ้งนี่หว่า แล้วโทษที เด็กช่างแม่งมีของทุกคน คือตอนนี้มันทำไมได้แล้ว ไม่ใช่มันไม่อยากทำ มันทำไม่ได้แล้ว

ถามถึงการกระจายอำนาจและการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ มีบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ส่งผลต่อการเมืองภาพใหญ่อย่างไร

เอาจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับที่คนรุ่นใหม่เขาพูดคือมันเป็นเรื่องอำนาจการตัดสินใจของคนอื่น อ่าว ผู้ว่าฯ ทำไมคนกรุงเทพฯ มันดีกว่ากูตรงไหน ทำไมถึงเลือกได้ ทำไมคนนนทบุรีเลือกไม่ได้ งงไหม จังหวัดติดกัน คือมันไม่ได้คนเท่ากันเหรอ อะไรอย่างงี้ หรือการกำหนดชีวิตของตนเอง โดยที่ไม่ให้คนอื่นมากำหนดให้

คิดว่าเป็นไปได้?

อย่าลืมว่าคนจำนวนนึงที่ฟังไฟเย็น คนจำนวนนึงที่โดนคดีสหพันธรัฐเนี่ย ลุงสนามหลวงอะไรพวกนี้ หรือแม้กระทั่งคนรุ่นใหม่เอง เวลาเขาพูดถึงสหพันธรัฐเนี่ย สหพันธรัฐหมายความว่าไง หมายความว่า ถ้าเอาตามทฤษฎีมีกษัตริย์ก็ได้นะ มาเลเซียก็เป็นสหพันธรัฐนะ แต่มีกษัตริย์ คือเวลาเราพูดถึงประเทศเชียงใหม่ เราไม่ได้พูดกันเล่นๆ นะ มันพูดถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบนั้นจริงๆ 3 จังหวัดอย่างงี้ เราไม่ได้พูดถึง 3 จังหวัด เราพูดถึงปาตานี แล้วคนรุ่นใหม่มันเชื่อมถึงกัน มันพูดถึงความเป็นอิสระต่อสยามประเทศของมัน คือประวัติศาสตร์กระแสหลักมันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของเขา กูเกิดที่ร้อยเอ็ด กูเกี่ยวอะไรกับพระเจ้ากรุงธนกูยังไม่รู้เรื่องเลย

คือถึงที่สุดแล้วเนี่ย ผมคิดว่ามันคงไม่ถึงกับแยกประเทศหรอก ผมคิดว่าการทำให้แต่ละจังหวัดที่เป็นหน่วยย่อยมากๆ ของภูมิภาคลงไปอีก มีอำนาจในการจัดการเอง มีอำนาจในการตรวจสอบ มีอำนาจในการเลือกคนที่จะเข้ามาบริหารเอง คนมันจะถวิลหาเพราะว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งมันตรวจสอบได้ มันเรียกร้องได้

แล้วคนที่มาจากการเลือกตั้งมันต้องรับผิดชอบต่อคนของเขา ทำเหี้ยไม่ได้ ไม่งั้นปีหน้า เขาไม่เลือก อย่าว่าแต่การเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นเลย มันมีข้อเสนอถึงกับเลือกตั้งศาล เลือกตั้งองค์กรอิสระด้วยซ้ำ คือตอนนี้พลังของคนเท่ากัน พลังของความเป็นมนุษย์ มันไปมากกว่านั้น ทำไมต้องเปิดเพลงประจำสถาบันธรรมศาสตร์ ทำไมไม่เปิดเพลงเก่า คือ อมธ. มันต้องเลือกเพลง กูต้องเลือกได้สิ กูเป็นนักศึกษาเนี่ย คือมันอีกแบบหนึ่งเลย วิธีคิดมันเป็นอีกแบบหนึ่ง ทำไมกูต้องไม่กินเหล้าวันพระ คือคนมันรู้สึกว่าไอ้กฎเกณฑ์เดิมๆ มันไม่เป็นเหตุเป็นผลแล้ว ยิ่งโควิดเนี่ย ทำไมกูต้องอยู่บ้าน วิธีคิดคนผมว่ามันเปลี่ยนไปเยอะ

ทนาเชื่อว่ามันคือวิธีคิดของคนหมู่มาก หรือคนทั้งประเทศเลยใช่ไหม

คนไม่เชื่อว่าให้คนอื่นมาเลือกให้จะดี อย่างผู้ว่าฯ กรุงเทพนี่ อัศวินใครเลือกมา คนไม่เชื่อว่าคนอื่นจะมาตัดสินใจแทนตนเองได้ หลักการเดียวกันนะ ถ้ามีการเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือ อบจ.อะไรซักอย่าง ถ้าวันหนึ่งมีคนมาเลือก หมายถึงมีคนมาชี้ว่า ให้คนนี้เป็นนายกฯ ไอ้เหี้ย มึงดีมาจากไหนวะ มาเลือกแทนกู คือมันเป็นเซนส์เดียวกัน จากส่วนย่อยมันก็จะขยาย คือวันดีคืนดีแม่งมีคนมาชี้ อ่าว คนนี้เป็นนายกฯ ชนะเลือกตั้งมา กูไม่เอาอย่างงี้ คนแม่งก็ฮือ เพราะอะไร เพราะหลักการ อย่างที่ผมให้สัมภาษณ์ตอนต้น หลักการมันตกผลึกแล้วว่าแม่ง เป็นมนุษย์ กิน ขี้ ปี้ นอน เหมือนกัน จะมาเลือกแทนกูได้ไง มันก็เลยสะท้อนไปที่การเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นด้วย

ถ้าพูดในแง่ความเป็นไปได้ คือสามารถผลักดันนโยบายนี้ เข้าสภาจนมีการโหวตได้

เอาความเป็นจริงนะ ผู้ว่าฯ ต่อให้ยิงตายหมดตอนนี้ จังหวัดมันก็ไปได้ เพราะมีนายกองค์การบริหารจังหวัด ใช่ไหม คือมันตลก แล้วอำนาจผู้ว่าฯ มันจำเป็นแค่ไหน เอาจริง เอาเฉพาะอนุญาตให้มีปืนเหรอ นายก อบจ. ก็อนุมัติได้ คือคนเริ่มเห็นแล้วว่าอะไรคืออะไร ผมคิดว่าถึงที่สุด คนมันจะเปรียบเทียบ ว่าอย่างกรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ ได้ มันจะชัดเจนขึ้น ไม่ต้องเอาไกล อย่างพัทยาเนี่ย เลือกนายกพัทยาเป็นผู้บริหารสูงสุด มันทำให้เห็นว่า ความรับผิดชอบของนักการเมืองกับคนที่เลือกมันจะเชื่อมโยงถึงกัน

อย่างน้อยเขาก็ไปงานศพ เอ้า นักการเมืองท้องถิ่นไปงานศพ ผู้ว่าฯ ไม่มีหรอก นายอำเภอไม่มีหรอก อย่างน้อยคุณก็ได้ซอง คือมันมีความรับผิดชอบต่อกันอยู่

กำลังจะถามเรื่องนโยบายที่อยากเห็นในท้องถิ่น แต่ทนายพูดถึงเรื่องหลักการ แสดงว่าเราคงไม่อาจเสนอแทนคนในพื้นที่ได้

แล้วหลักการนี้ แม่งโคตรโชคดีเลย สลิ่มแม่งก็ซื้อด้วย ตอนนี้ไม่มีคนออกมาไล่ผู้ว่าฯ นะ เพราะมันรู้สึกว่า ถ้าไม่ดี มันก็เลือกใหม่ พอเราตอกย้ำไป อย่าทำเป็นเล่นไปนะ ไอ้ที่เถียงกันในเฟซบุ๊คที่เวลาบอกว่าพาทัวร์ไปลงเนี่ย เวลาพวกนั้นมันอ่านต้องซึมเข้าหัวบ้างแหละ คือไอ้การถกเถียง ต่อให้ไม่เห็นด้วย มึงด่ากันนะ หีควยแตด ด่าแบบไอ้หน้าเหลี่ยม ลูกน้องทักษิณ มึงอ่าน มึงต้องเห็นบ้างเเหละ ต้องแบบ เออว่ะ คนตามสมศักดิ์เจียมตอนแรกๆ แม่งสลิ่มเยอะ ตอนหลังมาแม่งเชียร์สมศักดิ์เจียมฉิบหาย ใช่ป้ะ

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Authors

  • นักพยายามเขียน เคยฝันอยากมีร้านหนังสือเป็นของตนเอง เจ้าของเพจ ‘เด็กป่วยในร้านหนังสือ’ บังคับตนเองให้มีวินัยในการเขียนและหาเงินออกจากประเทศเหี้ยนี่ให้พ้นๆ สักที ในปี 2020 ร่วมกับเพื่อนๆ ทำเครือข่ายกวีสามัญสำนึก หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า 'ไอ้พวกกวี' ทำกิจกรรมอ่าน (ออกเสียง) และเขียนวรรณกรรมทั้งในพื้นที่ศิลปะและพื้นที่การเมือง ปัจจุบันกำลังเสาะหาความหวังในการใช้ชีวิตต่อในประเทศนี้ให้ได้ https://illmaninbookstore.medium.com/

  • เป็นคนเขียนหนังสือพอใช้ได้ เป็นคนรับจ้างทั่วไปที่เรียกแล้วได้ใช้ หลายอย่างทำได้ไม่เพอร์เฟคแต่ลิมิเต็ดอิดิชั่น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *