หลายคนอาจยังจำกระแสการตื่นตัวเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้ เมื่อมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร การแลนสไลด์ของผู้ว่า กทม. คนปัจจุบัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เริ่มปลุกคำถามที่ว่าจังหวัดอื่นๆ ควรมีผู้ว่าฯ เหมือน กทม. ด้วยหรือไม่ จะเป็นไปได้แค่ไหน การเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังเดินทางมาถึงในไม่ช้านี้ เราเริ่มเห็นการให้ความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่เห็นได้ชัดและเริ่มมีการพูดถึงบ้าง เช่น เรื่องการเสนอให้มีนายกจังหวัด หรือเพิ่มอำนาจไปสู่ประชาชนให้มากขึ้น โดยรัฐต้องเป็นผู้สนับสนุน เราเห็นการพยายามกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นของไทยที่ชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่มีการแบ่งอำนาจให้กับส่วนภูมิภาค การจัดตั้งเทศบาลในปี 2476 การจัดตั้งสุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนตัวบล (อบต.) ในเวลาต่อมา จนกระทั่งปี 2540 ที่มีการกำหนดเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างชัดเจนขึ้น มีอิสระในการจัดการบริหารตนเอง และที่สำคัญคือได้ผู้บริหารและสภาท้องถิ่นมาจากการการเลือกตั้งโดยประชาชน ความเป็นชุมชนของไทยจึงยังมีอยู่โดยตลอด แต่ก็ถูกกำกับอยู่ภายใต้อำนาจรัฐมาตลอดเช่นเดียวกัน The Voters ชวน รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุยถึงเรื่องลักษณะการปกครองและการกระจายอำนาจของท้องถิ่นในประเทศไทย กรอบกฎหมายที่ส่งอิทธิพลให้ท้องถิ่นยังติดกับการกดทับภายใต้กลไกของรัฐ ข้อท้าทายสำคัญที่ท้องถิ่นต้องเจอ ภาคประชาชนสามารถกดดันให้มีการกระจายอำนาจได้มากแค่ไหน หรือท่ามกลางข้อจำกัด การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อย่างเป็นรูปธรรม สามารถทำได้อย่างไรบ้าง คำว่า ‘การกระจายอำนาจ’ ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์กับการกระจายอำนาจโดยทั่วไปมีความแตกต่างกันไหม
อดีตครูสอนภาษาอังกฤษทั้งโรงเรียนวัด เอกชน และร.ร.ประจำจังหวัด ผู้ชื่นชอบปาร์ตี้ ออกไปเจอผู้คน และตีแบดมินตันเป็นชีวิตจิตใจ ผลงานล่าสุด เต้นประกอบ MV Solitude is Bliss และธาตุทองซาวด์ของ Youngohm เราสัมภาษณ์เขาเรื่องกระจายอำนาจ และการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และนี่คือคำตอบของ จั๊ม ทัศกร ศิลปินผู้เชื่อเสมอว่าศิลปะเป็นหนึ่งในทางออก คิดอย่างไรที่จังหวัดคุณ (น่าน) ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ต่อให้ผู้ว่าฯ สมัยใดก็ตามจะมีศักยภาพสูง และมีความสามารถในการพัฒนาเมืองนั้นได้อย่างดีเยี่ยม แต่เขาจะไม่มีวันฟังเสียงของคนในเมืองนั้นได้เท่ากับ ผู้ว่าฯ ที่มาทำงานเพื่อเป็นตัวแทนจากเสียงคนเหล่านี้ … เหมือนเราต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้เลือกเอง ดีไม่ดีเราไม่มีสิทธิ์จัดการหรือทำอะไรกับเขาเลย ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ คิดว่าประเทศจะเจริญอย่างไร อย่างที่ได้พูดไปข้างบนว่า ถ้าผู้ว่าฯ มาจากการที่คนในเมืองนั้นเป็นคนเลือก เป็นคนโหวตเอง เขาจะทำงานรับใช้เสียงดังกล่าว หมายความว่าเขารู้ การที่เขามายืนอยู่ในจุดนี้ได้ไม่ใช่เพราะอำนาจพิเศษของการแต่งตั้ง แต่เป็นเสียงของแม่ค้าในตลาดเช้า วินมอเตอร์ไซต์ที่ขนส่ง ครู ร.ร.มัธยม ชาวสวนที่ปลูกมะไฟจีนอยู่นอกตัวเมือง และอื่นๆ ที่ไว้วางใจให้เป็นตัวแทน ดูแลความเป็นไปของตัวเมือง ซึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ จะมีความเชื่อใจส่งต่อกัน 2 ทาง คุณให้ผม ผมให้คุณ
นับตั้งแต่กระแสลมของการชุมนุมระลอกใหม่ได้อุบัติขึ้นในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มนักศึกษา และคนรุ่นใหม่หลายคนก้าวออกมานำการเรียกร้องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้พามาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงปลุกผู้คนให้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมมองไปยังอนาคตที่ดีกว่า หากยังรวมไปถึงการปักหมุดทางความคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความเทียมเท่ากันในฐานะมนุษย์ให้กับสังคมไทย เบนจา อะปัญ หนึ่งในนักศึกษาที่เปิดหน้าต่อสู้กับเผด็จการสืบทอดอำนาจ แม้ตัวเธอเองจะกล่าวกับผมว่าไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นแกนนำ หากเป็นแต่เพียงคนคนหนึ่งที่เชื่อว่าประเทศนี้สามารถดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ กระนั้น ในภาพจำของผู้คนส่วนใหญ่ เบญจาก็ถือเป็นหนึ่งบุคคลที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการชุมนุมในช่วงเริ่มต้น เบญจาเกิดและโตที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ผ่านชีวิตและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้มองเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน และโครงสร้างสังคมที่กดถ่วงผู้คน อย่างไรก็ตาม เบญจาถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการปราศรัยหน้าตึกซิโนไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เธอถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 99 วัน และสวมกำไลอีเอ็มหลังจากออกมาแล้วอีก 11 เดือน 12 วัน เรานัดพบกันที่คาเฟ่ย่านอารีย์ เลือกโต๊ะหน้าร้านริมทางเท้า ต่อหน้าชีสเค้ก และโกโก้เย็น ซึ่งหลังจากพูดคุยกัน คงไม่เกินเลยหากผมจะกล่าวว่า เบญจาคือภาพสะท้อนของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และสิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อจากนี้ ก็คือบทสัมภาษณ์ของเธอ ท่ามกลางสนธยาครานั้น การกระจายอำนาจในมุมมองของคุณคืออะไร การทำให้ส่วนย่อยได้มีอำนาจในการตัดสินในเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ถ้ามองภาพกว้างระดับประเทศก็คือเราไม่ต้องรอส่วนกลาง จังหวัดหรือตำบลสามารถจัดการเรื่องในท้องถิ่นเองได้
หากจะพูดถึงงานศิลปะ เราอาจนึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกในแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์ศิลปะ เทคนิคและแนวคิดที่แยบยล อย่าง ภาพอาหารมื้อสุดท้าย ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี แห่งยุคสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา งานศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่าง คาราวัจโจ ศิลปินผู้กบฎต่อความศรัทธาต่อศาสนาผ่านผลงานของเขาชื่อ มรณกรรมของพระแม่มารี และเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการศิลปะบาโรคด้วย หากกลับมามองที่ปัจจุบัน เราสามารถเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น มีเทคนิคและรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างไปจากอดีต จนเกิดเป็นศิลปะแขนงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก แต่ถ้าดูงานศิลปะในไทย เราจะพบว่างานศิลปะนั้นยังคงไม่ก้าวหน้า มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันตามกระแสนิยม หรืออาจอยู่ในสินค้ารูปแบบต่างๆ ตลอดจนงานที่ได้รับการยกย่องและมีราคาสูงนั้นก็มักหนีไม่พ้นงานที่เล่าด้วยเรื่อง ความดีงามของมนุษย์ผ่านแนวคิดทางศาสนาและคุณธรรม ยกย่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรเพียงแต่ความหลากหลายและเสรีภาพในการรังสรรค์งาน จนถึงการนำเสนองานออกมานั้นยังเป็นสิ่งที่น่าชี้ชวนต่อการตั้งคำถามว่า ศิลปะมีเสรีภาพอยู่หรือไม่ ราวกับมีมุ้งบางๆ ครอบศิลปะไทยไว้ว่า จงจรรโลงสังคมอย่างประณีตบรรจง และหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมเพราะอำนาจของ ‘ใคร’ บางคนอยู่หรือไม่ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะพาไปคุยกับ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้นำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองไทย ผ่านงานศิลปะ อย่าง นิทรรศการ WHAT YOU DON’T SEE WILL HURT
ในประวัติศาสตร์ระยะไกล ปิยบุตร แสงกนกกุล เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในคณะนิติราษฎร์ชุมนุมนักวิชาการที่ยึดมั่นหลักการที่สุดคณะหนึ่ง เขยิบเข้ามาในประวัติศาสตร์ระยะใกล้หน่อย ปิยบุตรคือ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ใกล้เข้ามาอีก ปิยบุตรคือเลขาธิการ คณะก้าวหน้า มุ่งมั่นให้ความรู้คนเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ระยะไหน หนึ่งสิ่งที่ทำให้กระดูกสันหลังของเขาตั้งตรง คือไม่ยอมรับการรัฐประหาร ไม่ว่าจะยกเหตุผลสวยหรูประดามีมากมาย นับตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง และครั้งล่าสุดในปี 2557 ยึดอำนาจโดย คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดเป็นการรัฐประหารที่มีการสืบทอดอำนาจยาวนานที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา อะไรทำให้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ มีสิ่งใดบ้างที่เป็นกลไกในการเกิดของวงจรอุบาทว์ เราในฐานะประชาชนจะรวมพลังกันต้านรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร รวมไปถึงการลบล้างผลพวงรัฐประหารจะเป็นจริงได้หรือไม่ เราจะจับคนเคยทำรัฐประหารมาติดคุกได้ไหม และคำถามสำคัญไม่ถามไม่ได้ จะมีการรัฐประหารในอนาคตอีกหรือเปล่า “ถ้าเชื่อกันจริง ๆ ว่ารัฐประหารทำให้นักการเมืองดีขึ้น ทำให้การเมืองไทยดีขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น ป่านนี้มันดีไปนานแล้ว” ปิยบุตรกล่าว การรัฐประหารในมุมมองของคุณคืออะไร สำหรับการเมืองไทย เรามักกล่าวกันว่ารัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย แล้วก็มักจะกล่าวโทษว่านักการเมืองจากการเลือกตั้งนั้นไม่ดี พอไม่ดีก็นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมือง ทำให้รัฐประหารกลายเป็นทางออกทางสุดท้าย เรามักเชื่อกันแบบนี้มาโดยตลอด เลือกตั้ง เกิดวิกฤต รัฐประหาร
หลังจากร่าง ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า ถูกตีตกในชั้นรัฐสภา ทั้งที่มีประชาชนร่วมลงชื่อถึง 80,772 รายชื่อ เราน่าจะพอพูดได้ว่าสิ่งนี้คืออีกครั้งของการฉุดรั้งประเทศไทยไว้กับรัฐราชการรวมศูนย์ เสียงของประชาชนอาจยังดังไม่พอที่จะเปลี่ยนความต้องการอันชอบธรรมให้เป็นเสียงโหวตมากพอในสภา หรือไม่อย่างนั้น อาจคิดไปได้ว่า ผู้มีอำนาจบางส่วนทำราวไม่ได้ยินเสียงของประชาชน บทสัมภาษณ์ชิ้นที่ท่านกำลังจะอ่านต่อไปนี้ บันทึกในวันที่ร่างปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า ถูกนำเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา ขณะที่บทสนทนาดำเนินไป ไม่มีใครรู้ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ผมนัดพบกับ วรภพ วิริยะโรจน์ ผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล อีกคนหนึ่งที่เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะนำพาซึ่งการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชน และแน่นอนว่าจะเป็นกลไกสำคัญของการนำประเทศไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ เรานัดพบกันที่สัปปายะสภาสถาน ซึ่งหมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นทางธรรม ก็ต้องกล่าวตามจริงว่ารัฐสภาแห่งนี้มีความสงบร่มเย็นตามความหมาย แถมยังโอ่อ่าหรูหรา ขณะที่ผมกำลังเดินไปห้องที่คุณวรภพเตรียมไว้เป็นสถานที่พูดคุย ในใจก็ได้แต่คิดว่า รวมถึงความสงบร่มเย็นนี้ด้วยหรือเปล่า ที่เราควรให้เกิดการกระจายไปทั่วหนแห่งในประเทศ คิดว่าการปลดล็อกท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้จริงไหม เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริง อยู่ที่เจตจำนงของประชาชน คือถ้าประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมคิดว่าเรื่องเกิดขึ้นได้ ต้องมีรัฐบาลประชาธิปไตยก่อนหรือไม่ ปลดล็อกท้องถิ่นถึงจะเกิดจริง จำเป็นอย่างมาก ผมว่ามันตรงไปตรงมา ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน เขาต้องการรวบอำนาจเพราะเขาต้องการมั่นใจว่าทุกองคาพยพของภาครัฐ เขาสามารถสั่งการได้ ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกไม่ต้องการ เห็นชัดสุดก็เกาหลีเหนือที่รวบอำนาจอย่างเข้มข้น แน่นอนว่าถ้าเขาไม่ได้มาจากความชอบธรรมที่ประชาชนเลือกมา เขาก็ต้องทำให้ตนเองสั่งการได้ทุกอย่าง ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ก็ต้องรวบอำนาจกลับเข้ามา ดังนั้นการได้รัฐบาลเป็นประชาธิปไตยคือทางเดียวที่จะทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้ ถ้าเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ปลดล็อกท้องถิ่นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ มีโอกาส ผมยังอยากใช้คำว่ามีโอกาส
ไปอยู่ญี่ปุ่นมาหลายเดือน เปล่า-รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ไม่ได้ไปเที่ยว เขาไปทำอะไร เดี๋ยวเรามาว่ากัน หกตุลาคม 2565 ณ ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ‘เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา’ จัดกิจกรรม ‘รำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตามหาอยุติธรรม’ อาจารย์อนุสรณ์กล่าวปาฐกถาพิเศษ 46 ปี 6 ตุลา ความตอนหนึ่งว่า การที่คนหนุ่มสาวไม่ตาย สาเหตุเพราะการที่พวกเขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ไม่ได้เกิดจากการชี้นำ จัดตั้ง หรือขึ้นต่อกลุ่มหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นผลของปัจจัยร่วมสมัยจำนวนหนึ่ง ดังนั้น แม้กลุ่มหลักจะไม่ได้จัดชุมนุมใหญ่ บางกลุ่มสลายตัวไป หรือแกนนำอยู่ภายใต้เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เงื่อนไขที่ผลักให้พวกเขามายืนแถวหน้า ยังคงอยู่ค่อนข้างครบถ้วน พวกเขาจึงยังไม่หายไปไหน ยังคงเป็นพลังท้าทายผู้ปกครองจนกระทั่งทุกวันนี้ – เขาว่า กลับมาเรื่องประเทศญี่ปุ่น สเตตัสหนึ่งอาจารย์อนุสรณ์โพสต์ทำนองว่า นี่คือภารกิจตามรอยจักรพรรดิญี่ปุ่น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ชงชาเขียวร้อนเข้มๆ มาสักถ้วย
ช่วงเวลาที่ผ่านมา การรณรงค์เรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ ยุติบทบาทรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้มาจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่นำไปสู่คำถามว่าเหตุใดคนต่างจังหวัดจึงไม่สามารถเลือกผู้บริหารสูงสุดของตนเองได้ ส่วนนี้ถูกหยิบมาขยายให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาเชิงโครงสร้างกับปัญหาเชิงทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ รวมถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานซึ่งหลายพื้นที่ประสบปัญหามาชั่วนาตาปี ขณะนี้ ร่าง ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า ที่มีผู้ร่วมลงชื่อ 80,772 รายชื่อ กำลังอยู่ในชั้นรัฐสภา รอการลงมติว่าจะรับหรือไม่ เสียงเรียกร้องของประชาชนจะได้ไปต่อหรือเปล่า หลายคนอาจกำลังนึกภาพอนาคตของประเทศไทยตามความเชื่อของตน กระนั้น ไม่ว่าภาพในความนึกคิดของคุณจะเป็นอย่างไร นั่นอาจดีกว่าการนิ่งเฉย ไม่คิดไม่ฝันถึงความเปลี่ยนแปลงใดเลย “อย่าอยู่กับข้อจำกัด แต่อยู่กับความเป็นไปได้ ถ้าคุณไม่ทำก็คือเป็นไปไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคุณไม่ได้เริ่มทำตั้งแต่แรก แต่ถ้าคุณเริ่มทำ โอกาสมี สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ แต่มีโอกาส” ส่วนหนึ่งจากคำพูดของ ช่อ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่จะมาบอกซ้ำและย้ำอีกครั้งให้ชัดเจน ในระหว่างที่รอการลงมติจากรัฐสภา ว่าเพราะเหตุใด เราจึงจำเป็นต้องให้เกิดการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจในมุมของคุณคืออะไร เวลาพูดคำว่ากระจายอำนาจมันอาจฟังดูน่าเบื่อ ไม่เซ็กซี่ ก่อนที่จะมาทำการเมืองก็เคยคิดแบบนั้น มันฟังดูเหมือนหัวข้อเสวนาทางวิชาการ แต่พอมาทำงานการเมืองและยิ่งเป็น ส.ส. สิ่งที่น่ากลัวมากซึ่งเราได้รู้คือประเทศไทยเผชิญปัญหาของศตวรรษที่ 19 ทั้งประเทศ ปัญหาที่ควรแก้จบไปตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว
“เวลาอยู่ข้างเราแน่นอน ข้างเราในที่นี้หมายถึงว่าเวลาอยู่ข้างประชาชนที่อิงกับความจริง และอยากได้สังคมที่ดีกว่านี้” ส่วนหนึ่งของบทสนทนาจาก มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เรานัดหมายกันก่อนการประชุม APEC โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น หากกล่าวตามตรง เมื่อแรกพบ ผมสังเกตเห็นความเหนื่อยล้าบางๆ เกาะติดเธอมาจากเมื่อวาน หลังจากเพิ่งผ่านการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ด้วยความรุนแรงเกินกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด กระนั้น หากกล่าวตามตรงอีกเช่นกัน ทุกประโยคของหญิงสาวที่พูดถึงความเป็นไปได้ที่ดีกว่าของประเทศนี้ กลับยังคงเปี่ยมด้วยความหวังพราวในดวงตา ไม่ล้าโรย เวลาบ่ายปลายเดือนพฤศจิกายน ในร้านกาแฟที่สว่างด้วยแสงไฟครึ่งหนึ่ง และแสงจากดวงอาทิตย์อีกครึ่งหนึ่ง เบื้องหน้ามีแก้วโกโก้และแก้วกาแฟเพิ่มช็อตที่จัดวางตามแต่ใจ เราคุยกันในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เรื่องการเมืองภาพใหญ่ ความรู้สึกของครอบครัวและในมุมชีวิตส่วนตัว แผนการในอนาคต ปิดท้ายด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มราษฎร์หยุด APEC 2022 บทสนทนาพาเวลาเคลื่อนผ่าน แต่อย่างที่มายด์บอก เวลาอยู่ข้างเรา และผมก็เชื่อเช่นนั้น เราคิดว่าทุกปัญหาต้องการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะความหลากหลายทางเพศ สุราก้าวหน้า กระทั่งม็อบคนรุ่นใหม่ คุณเห็นด้วยหรือไม่ เห็นด้วยแน่นอน เรื่องการกระจายอำนาจไม่ใช่เพียงแค่เอาอำนาจที่อยู่รวมศูนย์ไปกระจายออก แต่ว่าการกระจายอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ทุกความหลากหลายมีพื้นที่แชร์ในรูปแบบของตนเอง มายด์คิดว่าปัญหาในสังคมอย่างหนึ่งคือเมื่อมีชนชั้น หรือมีการแบ่งแยกว่าเป็นแบบไหนดีกว่าแบบไหน มันทำให้มีกำแพงกั้น ทำให้มีการถูกหยิบเลือกบางคนบางกลุ่มที่ดูแมสมากกว่า ดูเป็นคนกลุ่มใหญ่มากกว่า และอำนาจก็จะไปกระจุกตัวอยู่ที่คนเหล่านั้น คนที่เป็นคนส่วนน้อย คนที่ความคิดอาจไม่ได้ถูกยอมรับในวงกว้าง ก็จะไม่มีพื้นที่เท่าเทียมกันกับสิ่งที่มันแมสมากกว่า การกระจายอำนาจเป็นเรื่องของโอกาสในการมีพื้นที่แสดงทัศนะของตนเอง
ความคาดหวังในการสัมภาษณ์ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ครั้งนี้ของเราค่อนข้างสูง มีคำถามมากมายที่อยากถามไถ่ทั้งความใคร่รู้ส่วนตัวและคำถามของคนอื่นที่พกมาจากบ้าน ตลอดระยะเวลาสัมภาษณ์ บทสนทนานี้ค่อยๆ ไต่ระดับความประหลาดใจของเราไปเรื่อย จนกระทั่ง เราหมดคำถามที่เตรียมมา กระนั้น คำถามที่ผุดขึ้นช่วงกลางๆ ของบทสนทนาว่า ชายตรงหน้าเอาพลังมาจากไหนกันนะ งานเดิมๆ กลุ่มคนเดิมๆ อะไรที่ทำให้ยังคงยืนหยัดพูดและลงมือทำในสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีทางเสร็จง่ายๆ อะไรคือสิ่งหล่อเลี้ยงพลังงานเช่นนั้นกัน บทสนทนาสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงเสมือนพลังงานลับพลังงานบวกให้ทุกคน แม้คำตอบของเขาจะทำให้คิดว่า โลกเท่าเทียมไม่มีอยู่จริง เราเริ่มจากการให้บารมีลองมองย้อนกลับไปให้คะแนนตนเอง และทีมในการทำงานของ สมัชชาคนจน ที่ผ่านมา บารมีตอบคำถามนี้ในทันควันว่า ช่วงปี 2540 คือ ปีที่เขาพาสมัชชาคนจนไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของขบวนการเรียกร้อง ผมคิดว่าอย่างน้อย ในขบวนการเรียกร้องปลายทางของชัยชนะนั้นสำคัญ แต่การก้าวออกไปเพื่อให้เขา (รัฐบาล) ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเรานับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องเช่นเดียวกัน การต่อสู้เพื่อให้ได้ยืนบนสังเวียนเดียวกัน อยู่ในลีกเดียวกัน ชัดว่าเป็นเรื่องสำคัญของขบวนการเรียกร้องของสมัชชาคนจนเป็นอย่างมาก เพราะการต่อสู้ของสมัชชาคนจนเป็นการต่อสู้โดยไม่มีใครหนุนหลัง เป็นการต่อสู้เชิงโครงสร้างและนโยบายกับภาครัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิที่สูญหายไประหว่างกระบวนการพัฒนาประเทศ สมัชชาคนจน คือ ขบวนการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐหลายปัญหา และในวันสิทธิมนุษยชนสากล และวันรัฐธรรมนูญของไทย ในวันเดียวกันนี้เอง ที่สมัชชาคนจนได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 27 ปีที่แล้ว การชุมนุมครั้งแรกของสมัชชาคนจนที่ทำเนียบรัฐบาล เกิดขึ้นในปี 2539 จากนั้นมา การชุมนุมมีนัยถึงการเรียกร้องการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายเชิงโครงสร้างที่มีผลกระทบโดยตรงกับความเป็นอยู่ของชุมชน