รักชนก ศรีนอก: ความจนมิได้หล่นจากฟ้า

ความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อทั้งในระดับสังคมและปัจเจกอย่างมีนัยยสำคัญ หลังจากการบ่มเพาะที่มีผลมาจากการตื่นตัวทางความคิดความเชื่อของประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เราคงกล่าวได้ว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มพัดเข้าสู่สังคมไทยแล้ว และนั่นทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์หลายอย่างเป็นที่พูดถึง หนึ่งในนั้นคือผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ ที่เอาชนะ ส.ส. หน้าเก่าอย่างถล่มทลาย เขตเลือกตั้งที่ 28 กรุงเทพมหานคร จอมทอง (เฉพาะแขวงบางขุนเทียน) เขตบางบอน (ยกเว้นแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน) และเขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม)

จากการหาเสียงด้วยจักรยานคันเดียว และใช่ นี่คือบทสนทนากับเธอ ตัวตึง ไอซ์-รักชนก ศรีนอก

ตลอดเวลาที่สัมภาษณ์ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต่างออกไปจากการพูดคุยกับนักการเมืองที่ผ่านมา ผู้หญิงเบื้องหน้าผมพูดคุยด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ และเปี่ยมด้วยความเป็นธรรมชาติมากที่สุดคนหนึ่ง

ยามบ่ายปลายฤดูร้อน ต่อหน้าเครื่องดื่มเย็นในแก้วกระดาษ ผมกำลังพูดคุยกับ ส.ส. หน้าใหม่ ไอซ์-รักชนก ว่าด้วยเรื่องที่มา ตัวตน มุมมองทางการเมือง การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ หลากเรื่องเนิ่นยาว เท่าเวลาของแดดเดือนกรกฎาคม

คุณเติบโตมาอย่างไร

เป็นลูกบุญธรรมของบ้านที่ค่อนข้างลำบาก เพราะเขามีลูก 6 คน รับเรามาเป็นคนที่ 7 ฐานะไม่ค่อยดี พวกพี่ๆ ก็ไม่ค่อยได้เรียน พอพี่คนหนึ่งคลอดลูกชายออกมา เราก็เหมือนเป็นเด็กที่โดนเปรียบเทียบ ด้วยความที่อายุพอๆ กับหลาน และในครอบครัวคนจีนที่ทุกคนจะโอ๋หลานชาย เราก็เหมือนเป็นเบ๊ในบ้าน

ตอนเด็กเป็นช่วงชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก แม้แต่เงินซื้ออุปกรณ์การเรียนก็ไม่มี ครอบครัวไม่ได้ซัพพอร์ต ทุกอย่างตามมีตามเกิด มีที่ให้ซุกหัวนอน มีข้าวให้กิน เรารู้สึกว่าสิ่งที่จะทำให้ออกจากบ้านนี้และความลำบากได้คือต้องตั้งใจเรียน

เราถูกสอนว่าตั้งใจเรียนแล้วโตขึ้นไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน เราจึงดิ้นรนให้ได้อยู่ในระบบการศึกษา

เราอยู่บ้านนั้นจนเรียนจบ ม.6 แต่ช่วงตอนจบ ม.3 เราต้องไปเรียนพาณิชย์ เพราะพาณิชย์เรียนแค่ครึ่งวัน เราทำงานได้ครึ่งวัน ซึ่งแม่บุญธรรมยื่นคำขาดว่าบ้านนี้ลูกทุกคนต้องทำแบบนี้หมด ไม่มีใครได้เรียน ม.ปลาย เราเลยได้ไปเรียนพาณิชย์มา 1 ปี จนมีคนสนับสนุนให้เราได้กลับมาเรียนสายสามัญที่โรงเรียนเก่า พอจบ ม.6 ก็ย้ายไปอยู่หอ หลังจากนั้นไม่ได้กลับมาที่บ้านนี้อีกเลย

ตอนนั้นมองว่าความลำบากในชีวิต เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือยัง

ยังไม่ได้คิด

เรารู้สึกว่าสังคมไทยสอนกันมาว่าถ้าเกิดมายากจนก็ต้องยอมรับชะตา ชาติที่แล้วทำบุญมาน้อย เป็นเรื่องบุญทำกรรมแต่ง

ตอนเด็กเราก็เชื่อแบบนั้น ไม่เคยตั้งคำถามว่าสมมติกูจนแบบนี้ก็ทำบุญได้น้อยกว่าคนรวย แปลว่าชาติหน้ากูก็ยังต้องจนอยู่แบบนี้เหรอ แล้วจะทำยังไงให้หลุดออกจากวงจรความจน ซึ่งมันมาพร้อมกับแนวคิดที่ตัวเราหรือใครอีกหลายคนคิดว่า พอเราสามารถยกระดับฐานะของตนเองจากยากจนให้ดีขึ้นได้ กลายเป็นคิดมันมาจากความสามารถของฉัน ฉันเก่ง

แต่เราอาจลืมไปว่าระหว่างทางมีคนที่สังคมทอดทิ้งเขาไป ทั้งจากระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คนที่ยากจน คือพวกขี้เกียจ พวกโง่ พวกไม่ตั้งใจเรียน พวกไม่อดทน ทั้งที่ความจริงมาจากการที่สังคมไม่มีรัฐสวัสดิการโอบอุ้มให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

พบเห็นความยากลำบากของคนต่างจังหวัดในกรุงเทพฯ อย่างไร

เด็กๆ ที่ต้องเข้ามาแย่งกันเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เพราะอย่างที่รู้ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอยู่ในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ ไม่ได้มีมหาวิทยาลัยทุกจังหวัด และคุณภาพของมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เท่ากัน อย่างว่าแต่มหาวิทยาลัยเลย ถ้าพ่อแม่มีฐานะหน่อยก็ส่งลูกเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่มัธยมแล้ว ส่วนเด็กที่ไม่ได้มีฐานะ พ่อแม่ไม่พร้อมส่งเสียก็ต้องอยู่ในโครงสร้างของระบบการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ

เราไม่ได้อยากจะว่าโรงเรียน หรือว่าครู แต่ในต่างจังหวัดระบบการศึกษาไม่ได้คุณภาพจริงๆ อาจยกเว้นโรงเรียนประจำจังหวัด

ด้วยความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา รวมถึงคุณภาพทางเศรษฐกิจ สุดท้ายคนต่างจังหวัดก็ต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ทั้งเพื่อหาเงินส่งลูกเรียน และหาเลี้ยงชีพ บางคนได้ค่าแรง 300-400 บาท

หรือโชคดีหน่อยก็ 500-600 บาท ซึ่งก็ไม่ได้มากและไม่ได้อยู่อย่างสุขสบาย ต้องอยู่ในห้องเช่าแคบๆ ตื่นมาใช้แรงงาน สวัสดิการก็ไม่มี

ทำไมถึงสนใจการเมือง

ไอซ์เป็นคนที่สนใจการเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อก่อนสนใจอีกฝั่ง คือฝั่งที่สนับสนุนรัฐประหาร ก่อนที่ลุงตู่จะเข้ามาคือคนรักเจ้าอยู่แล้ว

ประเทศนี้วางรากฐานในหัวสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน ไม่มีคำว่าเสรีนิยม มีแต่อนุรักษนิยมเท่านั้น

คนเราเกิดมายังไม่ทันรู้หรอกว่าตนเองเป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม แต่พอเข้าโรงเรียนปุ๊บ โรงเรียนก็จะอัดเข้าหัวแล้วว่าคุณต้องเป็นอนุรักษนิยม และต้องเป็นแบบสุดโต่งด้วย พอมาช่วงรัฐประหาร ตอนนั้นเรารู้สึกพวกคนเสื้อแดงคือพวกชังชาติ ไม่รักเจ้า ล้มสถาบัน และเรารู้สึกว่านี่คือคุณค่าที่เรายึดถือ คือการเคารพสักการะสถาบัน

การรักเจ้าคือคุณค่าความดีแบบหนึ่งที่เรายึดถือ และรู้สึกว่าสังคมยึดถือ และมันถูกต้องแล้ว พอเกิดรัฐประหารเราก็ออกมาสนับสนุน เพราะว่ามีคนในชีวิตเราที่เขาทำบ่อนการพนัน แล้วพอลุงตู่เข้ามาช่วงแรกคือบ่อนถูกปิดจริง เรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงๆ เพราะไม่เคยมีใครจัดการเรื่องบ่อนได้เลย อันนี้คือชุดความคิดในตอนนั้น

แต่ตอนนี้เราคิดว่าบ่อนควรเป็นบ่อนก้าวหน้าที่เก็บภาษีได้ แต่นั่นแหละ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าการจัดการบ่อนได้ แปลว่าลุงตู่แม่งเจ๋ง ตอนนั้นเหมือนเป็นการยืนยันความเชื่อในใจว่าดีแล้ว ไม่ต้องมีใครออกมาประท้วง ไม่มีความวุ่นวาย

พอเวลาผ่านไป มันเริ่มมีหลายๆ เรื่อง ความไม่โปร่งใส การไม่ชี้แจงทรัพย์สิน เรื่องของคนในรัฐบาล การเอื้อประโยชน์สัมปทาน อุทยานราชภักดิ์ เรื่องนาฬิกา เรื่องอะไรต่างๆ ที่เข้ามา และเหมือนมีช่วงรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับ เราเริ่มเห็นว่ามีคนที่โดนคุกคาม โดนจับ

ตอนนั้นเห็นข่าวก็รู้สึกว่าแปลกๆ แต่ยังไม่ได้แสดงออกอะไรมาก จนการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไป มันมีกระแสการใช้ทวิตเตอร์คุยการเมืองกันเยอะมาก เราก็ไปตามเสพตามอ่าน ต่างจากเมื่อก่อนที่รับข่าวจากสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือเอคโคแชมเบอร์ (Echo Chamber) จากเพื่อนที่เป็นอนุรักษ์นิมยมเต็มเฟซบุ๊ก

คุยเรื่องการเมืองเดือดๆ ในทวิตเตอร์ก็ทำให้เราได้ข้อมูลอีกแบบหนึ่ง เราเริ่มไปหาอ่าน เริ่มไปศึกษา เริ่มรู้สึกว่าหรือมันมีข้อมูลบางชุดที่เราพลาดไป หรือว่าเราเข้าใจผิดไปจริงๆ หรือว่าเราเลือกสนับสนุนคนผิดไปจริง ๆ

เปลี่ยนตอนไหน

มาถึงการเลือกตั้งในปี 2562 มี พรรคอนาคตใหม่ เกิดขึ้น เรารู้สึกว่าคุณค่าหลายๆ คุณค่าที่เขาให้ตรงกับสิ่งที่เราสนับสนุน เช่น เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าไม่เคยมี LGBT ได้เข้าสภา หรือว่าสุราก้าวหน้าก็ไม่เคยรู้ว่าประเทศไทยมีการผูกขาด หรือว่าการผูกขาดของร้านสะดวกซื้อ หลายอย่างที่เขาพูด หลายอย่างที่เขาให้คุณค่า การปฏิรูปกองทัพ

การลงไปถึงไอเดียในการตรวจสอบงบประมาณสถาบัน และอีกหลายอย่างที่เริ่มมาจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนั้นเราก็ลงคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่ จากนั้นก็เริ่มมีการอภิปรายโน่นนี่นั่น เราก็เริ่มเชื่อมั่นมากขึ้น เราเริ่มเอาข้อมูลเหล่านั้นมาสื่อสารในช่องทางของเรา แต่ก็ยังไม่เคยคิดว่าจะเข้าไปทำงานการเมือง คิดว่ายังเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัวเองอยู่ดี

จนกระทั่ง

พรรคอนาคตใหม่โดนยุบ ตอนนั้นเหมือนกับว่าไอ้เหี้ย แม่ง! ความหวังของเราโดนทุบทำลายบุบสลายไปแล้ว ทุกครั้งเวลาพูดเรื่องนี้ตอนปราศรัยก็รู้สึกสะเทือนใจมาก คือตอนนั้นรู้สึกว่าถ้าไม่มีพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ไม่มีปิยบุตร (แสงกนกกุล) ไม่มีพรรณิการ์ (วานิช) เราจะทำยังไงต่อไป

แต่สุดท้ายเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ถึงไม่มี 3 คนนี้ก็มีรุ่นใหม่ออกมาอยู่ดี และถึงแม้เขาจะทุบทำลายรุ่นใหม่ทิ้งไปก็จะมีรุ่นต่อๆ ไปออกมา เพราะว่าพรรคก้าวไกลไม่ใช่แค่คน 3 คน ไม่ใช่ธนาธร ไม่ใช่ พิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) แต่คือสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

หลังจากนั้นก็เป็นการมาของม็อบและข้อเรียกร้องที่เข้มข้นขึ้น มีคนออกมาชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราก็เป็นคนหนึ่งที่โดนคดี 112 โดน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดนหมิ่นประมาทจากการพูดในม็อบ

รู้สึกว่ากูเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่งที่อยากออกมาเรียกร้องประเทศที่เราอยากได้ ทำไมต้องโดนคดีด้วย มันหนักหนาเหมือนกันสำหรับคนที่ไม่เคยโดน

ช่วงนั้นคลับเฮาส์กำลังเป็นที่นิยม เรารวมกลุ่มกับเพื่อนใช้ชื่อว่าพลังคลับ มีการไปยื่นหนังสือ มีการไประดมทุนเพื่อเข้ากองทุนราษฎรประสงค์ และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รอบแรกได้ล้านห้า รอบ 2 ได้สามล้าน ซึ่งสุดท้ายก็ได้มาใช้บริการเองเพราะต้องไปประกันในคดีที่โดน ตอนนั้นเริ่มรู้สึกแล้วว่า หรือว่ากูต้องเข้ามาทำเอง ลองเป็น ส.ส. ดูไหม จะได้เป็น 1 มือที่เข้าไปโหวตให้สุราก้าวหน้าผ่าน ให้สมรสเท่าเทียม หรือการปฏิรูปกองทัพได้เกิดขึ้น หรือก็คิดโง่ๆ เลยว่า

ถ้ามีเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แล้วจะได้เอาหลักทรัพย์เงินเดือนไปประกันตัวให้คดีทางการเมือง ตอนเริ่มคิดแค่นี้ ไม่ได้ใหญ่โต ก็เลยลองสมัครดูละกัน แล้วที่นี้ในกรุงเทพฯ มีเขตบางบอนที่ผู้สมัครเขาถอนตัวออกไปพอดี เราเลยได้เข้ามาจนเป็นวันนี้

ทำไมต้องเป็นพรรคก้าวไกล

มีแต่คนถามว่าทำไมต้องก้าวไกล เราถามหน่อยว่าถ้าเราไปสมัครพรรคอื่น เขาจะรับไหม อันนี้ยังไม่นับรวมคุณค่าอื่นๆ สมมติว่าเราไปสมัครพรรคอื่น มีพรรคไหนไหมที่จะรับลูกตาสีตาสาเข้าไปทำงานการเมือง อาจรับ แต่รับเข้าไปทำตำแหน่งอะไร ผู้ช่วย ส.ส. เหรอ หรือเป็นบุคลากร เป็นเบ๊ในพรรค คือไม่ได้อยากยกหางตนเอง

แต่จริงๆ แล้วในสนามการเมืองไทยไม่มีพรรคการเมืองไหนอนุญาตหรือโอบรับคนธรรมดาเข้ามาทำงานการเมือง โดยเฉพาะตำแหน่ง ส.ส. แบบที่ให้เป็น 1 ใน 500 แคนดิเดท ก้าวไกลเป็นพรรคที่ให้โอกาสคนธรรมดาได้เข้ามาทำงานการเมือง

แล้วถ้านับคุณค่าอื่นๆ ก็คือ เรารู้สึกว่าคุณค่าที่พรรคก้าวไกลให้มันตรงกับคุณค่าที่เราให้เหมือนกัน เรื่องสิทธิ เสรีภาพ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องปฏิรูปการศึกษา เรื่องปฏิรูปกองทัพ เรื่องปฏิรูปสถาบัน คุณค่าที่เขาให้ เรื่องที่เขาสู้ ตรงกับที่เราเชื่อ ด้วยทั้งหมดที่กล่าวมาก็เลยต้องเป็นก้าวไกล

ตอนนี้ได้เป็น ส.ส. แล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง มีความกดดันไหม

กดดันนะ รู้สึกกดดันทุกวันเลย ชนะเลือกตั้งมาดีใจได้ครึ่งชั่วโมง พอเริ่มเห็นคะแนนว่ามันชนะขาดเป็นเท่าตัว เริ่มรู้สึกว่าจะดีใจแบบเหลิงไม่ได้แล้ว ต้องกลับมามองว่าประชาชนมอบความไว้วางใจให้มากขนาดนี้ มันมาพร้อมกับความคาดหวัง ดังนั้น ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จะทำยังไงไม่ให้เขาผิดหวังกับเรา และต้องไม่ผิดหวังกับพรรคด้วย มันก็เป็นโจทย์ที่ยาก เราต้องทำงานให้เข้มข้น ให้หนักหน่วง

วันนี้คิดว่าสิ่งใดในความเป็นคุณ จะทำให้การเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากอดีต

อันดับแรกคือเราอาจดูเหมือนเป็นคนแรงๆ แต่เราเป็นคนที่พร้อมจะรับคำติคำชม และพร้อมที่จะเรียนรู้

เราเคยเป็นคนที่มีอีโก้สูงมาก่อน เรารู้ว่าเป็นแบบนั้นมันทำงานด้วยยาก พอเข้ามาทำงานตรงนี้ก็พยายามวางอีโก้ของตนเองลง

รับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้างว่านักการเมืองที่ดีเป็นยังไง โดยบาลานซ์สิ่งที่คนอื่นคาดหวังกับสิ่งที่เราอยากไปให้ถึงของตัวเราเอง ยังคงต้องเป็นตนเองอยู่ แต่เป็นตนเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น อันนี้เป็นข้อแรกที่เราดีใจที่คนอื่นกล้าพูดกล้าสอนเราอย่างตรงไปตรงมา สองคือเราเป็นคนที่ถ้าตั้งใจทำอะไรแล้ว เราไม่เคยหยุดเลยจนกว่าจะทำสำเร็จ ไม่ว่าเป็นเรื่องอะไรในชีวิต เมื่อโฟกัสกับสิ่งใดแล้ว เราจะทำสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าสำเร็จ อันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราชอบเกี่ยวกับตนเอง

ส.ส.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือทำเรื่องกฎหมายในสภา หลายคนยังเข้าใจผิดว่า ส.ส มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะในจังหวัด ทั้ๆ เป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กทม.ก็เป็นท้องถิ่น) อยากอธิบายอย่างไร

สิ่งที่เราต้องทำคือตอบสนองความต้องการของประชาชน ไปพร้อมๆ กับทำงานทางความคิดกับเขาด้วย ตอบสนองในที่นี้คือในวันที่เขายังไม่เข้าใจว่า ส.ส. มีหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นฝ่ายออกกฎหมาย เราก็มีหน้าที่ตอบสนองในสิ่งที่เขาขอมา เขาอยากจะให้ซ่อมไฟ ซ่อมน้ำ ลอกท่อ ทำถนน เราก็มีหน้าที่ทำตามที่เขาต้องการ

ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานทางความคิดกับเขาไปด้วยว่าสิ่งเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานไหน เพราะว่าสุดท้ายจะไปเจอในสิ่งที่เราทำไม่ได้อยู่แล้ว เช่น ประชาชนอยากให้เอาสายไฟลงดิน เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าถ้าจะทำสิ่งนี้ อำนาจหน้าที่ต้องยังไง ผู้ว่าฯ กับเขตยุ่งกับสายไฟหรือสายสื่อสารไม่ได้ สิ่งนี้คืออำนาจหน้าที่ของการไฟฟ้ากับ กสทช. และโครงการมีมานานแล้ว

แต่จะเริ่มทำที่พระบรมมหาราชวังและจะเป็นเส้นเฉลิมพระเกียรติที่เป็นถนนใหญ่ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับเขา ถ้าเรื่องสายไฟเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นหมู่บ้านจัดสรรอยากให้เราไปลอกท่อ เราต้องอธิบายกับเขาว่าตรงนี้เป็นนิติบุคคลพื้นที่เอกชน แต่ว่าเราสามารถเข้าไปขอความร่วมมือจากคนในหมู่บ้านได้ อาจทำไลน์กลุ่มว่าขอเก็บคนละ 50 บาทได้ไหม เพื่อเอามาเป็นส่วนกลางในการลอกท่อ หมู่บ้านจะได้ไม่น้ำท่วม ใครมีให้ก็เก็บ ใครไม่จ่ายก็ไม่เป็นไร

มันต้องบริการเขาไปด้วย พร้อมกับทำความเข้าใจไปด้วยว่างานของเราที่จริงแล้วคืออะไร แต่ว่าสุดท้ายเราปฏิเสธความต้องการของประชาชนไม่ได้

นักโทษการเมืองสำหรับคุณคืออะไร

เมื่อรัฐไม่รู้จะจัดการกับความเปลี่ยนแปลงยังไง ผู้มีอำนาจชนชั้นนำไม่ยอมปรับตัว เขาเลยต้องเอาสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงไปจองจำ

มันคือการเอากฎหมายมาปิดปากประชาชน คือการเอากฎหมายมาเล่นงานประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ ถึงแม้ว่ากลับฝั่งกัน สมมติว่าฝั่งประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาล เราก็คิดว่าควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ฝั่งอนุรักษนิยมได้ใช้เสรีภาพของเขา เรารู้สึกไม่ว่าฝั่งไหน มันต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก เพราะสุดท้ายแล้วสังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่มีความเห็นต่างกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เอากฎหมายมาปิดปาก หรือมาเล่นงานกันทางการเมือง และต้องดูไปตามเนื้อผ้า ถ้าละเมิดสิทธิเหนือร่างกาย ละเมิดสิทธิเหนือชีวิต ละเมิดสิทธิเหนือเสรีภาพ ก็ดำเนินการไปตามกฎหมาย

แต่ถ้ายังอยู่บนเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็น เราคิดว่าควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้คุยกัน

พรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ 112 ทำไม

ตอบแบบคอมมอนเซนส์ (Common Sense) ถ้ามีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดเสรีภาพของคนบางกลุ่ม กฎหมายที่โทษไม่ได้สัดส่วน ไม่ว่าเป็นกฎหมายอะไรก็ต้องแก้ อย่าง สุราก้าวหน้าที่ห้ามรายย่อยทำเบียร์ มันคือการลิดรอนเสรีภาพของคนเชิงเศรษฐกิจ เราก็ต้องแก้ให้สุราก้าวหน้า LGBT ไม่สามารถสมรสกันได้ เราต้องมีกฎหมายให้สมรสกันได้อย่างเท่าเทียม

112 ก็เหมือนกัน ทุกวันนี้ยอมรับเถอะว่ามันมีไว้จัดการคนที่เห็นต่างทางการเมือง ดังนั้น ถ้ากฎหมายมีปัญหา ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ก็แค่แก้ กฎหมายคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ดังนั้นมันต้องแก้ได้

ถ้าจะให้พูด 112 ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร การส่งเสริมสมรสเท่าเทียม การมีสุราก้าวหน้า กฎหมายการอุ้มหาย มันคือกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีปัญหา เราเลยต้องแก้ แต่คนเอา 112 ไปผูกกับสถาบัน แล้วเอาคนที่สนับสนุนแก้ไข 112 ไปผูกกับคำว่ารักหรือไม่รักสถาบัน มันเลยเป็นการโจมตีกันทางการเมืองอย่างรุนแรง

มองอนาคตประชาธิปไตยในบ้านเราอย่างไร

ไม่เก่งเรื่องพยากรณ์ และก็ไม่อยากทำนายอนาคต แต่เอาเป็นสิ่งที่อยากเห็นแล้วกัน อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ฝั่งอนุรักษนิยมกับฝั่งเสรีนิยม ไม่ว่าใครเป็นฝั่งถืออำนาจรัฐ จะไม่ใช้อำนาจรัฐเพื่อทำร้ายหรือทำลายความชอบธรรมของอีกฝั่งหนึ่ง

เราต้องขัดแย้งกันอยู่แบบนี้แหละ แต่ว่าขัดแย้งแล้วไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ใช่พอขัดแย้งกูเอารัฐประหาร ประเทศถอยหลังไปอีก 10 ปี เราอยู่กันแบบขัดแย้ง แต่ห้ามมีอำนาจอื่นมาแทรกแซง อำนาจสุดท้ายต้องอยู่ในมือของประชาชน อํานาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน แล้วเรามาสู้กันในสนามการเลือกตั้ง

นักการเมืองซื้อเสียง คนต่างจังหวัดขายเสียง คุณเห็นด้วยไหม ทำอย่างไรให้หมดไป

เราไม่เชื่อว่าทุกคนจะเลือกนักการเมืองจากเงินไม่กี่บาท แต่เราเชื่อว่ามีการเมืองแบบระบบอุปถัมภ์ เขาอาจจ่ายเงินในวันเลือกตั้ง แต่ว่าก่อนหน้านั้นก็ต้องทำอะไรบางอย่างให้ชาวบ้านเหมือนกัน นักการเมืองที่เราสงสัยว่าทำไมในโลกโซเชียลมีเดียทุกคนเหม็นหน้าเขา แต่ในพื้นที่ทำไมยังมีคนรักเขา

เพราะว่าเขาอาจทำงานจริงจังในพื้นที่ก็ได้ และชาวบ้านก็รักเขาที่มาช่วยเหลือดูแล อันนี้คือเราไม่ดูถูกว่าประชาชนได้เงินก็เลยขายเสียง เราอธิบายว่ามันอาจมีมากกว่านั้น

แต่ถ้าถามทำยังไงเราจะหลุดออกจากการเมืองแบบอุปถัมภ์ เราก็ต้องนำเสนอคุณค่าใหม่ให้ประชาชนว่าการเมืองแบบระบบอุปถัมภ์ สุดท้ายไม่สามารถตอบโจทย์ในระยะยาวของชีวิตท่านได้

ท่านอาจพึ่งพานักการเมือง อยากฝากลูกเข้าโรงเรียน ไม่อยากให้ลูกเกณฑ์ทหารก็ทำเป็นกรณีไป แต่ถ้าคุณอยากได้อะไรที่มันใหญ่กว่านั้น เช่น บอกว่าอยากได้ขนส่งมวลชนสาธารณะให้มาผ่านที่หน้าบ้านฉัน อยากให้โรงเรียนในจังหวัดบ้านฉันมีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนในเมือง ถ้าเป็นเรื่องใหญ่แบบนี้ การเมืองแบบระบบอุปถัมภ์ไม่สามารถตอบโจทย์คุณได้

แล้วคุณยังจะเลือกวิธีการทำงานแบบเดิมๆ อยู่ไหม หรือว่าคุณจะเลือกแบบใหม่ ลองเลือกอนาคตแบบใหม่ สุดท้ายมันคือการสู้กัน ไอซ์รู้สึกว่ารอบนี้ก็ทำให้เราได้เห็นว่าพอมีแสงรำไรอยู่ที่ปลายอุโมงค์ว่าคนอยากจะลองกับวิธีการทำงานแบบใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของก้าวไกล เป็นหน้าที่ของไอซ์ที่ต้องทำให้คนที่เขาเลือกเรามาไม่ผิดหวัง

การกระจายอำนาจในมุมมองของคุณคืออะไร

การกระจายอำนาจคือการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น คือการทำให้คนที่อยู่ต่างจังหวัดมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกอนาคตของตนเองว่า ภาษีที่เก็บที่นั่นจะทำให้ท้องถิ่นของเขาเป็นไปในทิศทางไหน ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย หลายคนต้องเคยดูคลิปไปเที่ยวญี่ปุ่น หลายคนต้องเคยไปเที่ยวญี่ปุ่น

เราบอกชอบประเทศญี่ปุ่นมากเลย เราบอกว่าประเทศเขาเจริญ อากาศดี ขนส่งมวลชนสาธารณะเลิศ การบริหารงานเป๊ะ แต่รากของการที่ประเทศเขาเจริญคืออะไร มันคือการกระจายอำนาจ ญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจที่ดีมาก การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการขนส่งมวลชนสาธารณะ สาธารณูปโภคพื้นฐานของตนเองได้ โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง

เก็บภาษีได้เท่าไหร่ชักออกไว้ที่ท้องถิ่นก่อนเลย และบริหารเองก่อนที่จะเจียดบางส่วนส่งไปที่ส่วนกลาง ภาพใหญ่เราเห็นว่าญี่ปุ่นเจริญ แต่พอย่อยออกมามันคือการกระจายอำนาจที่ญี่ปุ่นทำได้ดีมากๆ พวกชนชั้นนำไทย หรือคนมีเงินรู้สึกว่าฉันชอบญี่ปุ่นจังเลย จริงๆ แล้วคุณชอบการกระจายอำนาจของเขา

แต่พอเราจะเอาเรื่องนี้มาทำ ทำไมคุณถึงบอกว่าเราจะแบ่งแยกดินแดน งงฉิบหายเลยว่าไปเอาความคิดว่าการกระจายอำนาจคือการแบ่งแยกดินแดนมาจากไหน

ทั้งๆ ที่ถามว่าชอบญี่ปุ่นไหม ชอบมาก ชอบการบริหารงานของเขาไหม ชอบมาก แต่พอเราอยากให้ประเทศเรามีการกระจายอำนาจแบบญี่ปุ่น ให้เชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา หัวเมืองใหญ่ๆ เป็นเหมือนฮอกไกโด บริหารจัดการตนเองได้ คุณกลับบอกว่านี่คือการแบ่งแยกดินแดน

ตอนนี้สัดส่วนงบประมาณอยู่ที่ส่วนกลาง 70 ท้องถิ่น 30 แต่ใน ร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ The Voters กำลังล่ารายชื่ออยู่ จะกลับกันเป็น ท้องถิ่น 70 ส่วนกลาง 30 มีสภาพลเมืองคอยตรวจสอบ คุณมีความเห็นอย่างไร

แนวคิดนี้ตรงกับนโยบายของก้าวไกล คือการทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณในการบริหารของตนเองมากขึ้น แต่เรายังไม่เคยอ่านของ The Voters ว่ามีความเหมือนหรือความแตกต่างกับของก้าวไกลยังไง แต่ว่าไอเดียของเรานั้นคล้ายกัน คือจัดสรรงบประมาณใหม่ให้ท้องถิ่นได้ลืมตาอ้าปาก มีงบประมาณที่มากเพียงพอที่เขาจะหายใจได้

ทุกปัญหาต้องการกระจายอำนาจ เพราะอย่างน้อยที่สุด หากเรารู้สึกมีอำนาจทางการเมือง เราจะกล้าเรียกร้องในประเด็นความเดือนร้อนของเรา คุณเห็นด้วยไหม

เราเห็นด้วย ปัญหาของท้องถิ่นตอนนี้คือเรามี อบต. อบจ. แต่เราก็ดันมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งจริงๆ อบต. อบจ. เลือกตั้งมาก็ควรมีอำนาจที่สูงกว่า เพราะได้รับความชอบธรรมจากประชาชนโดยตรง แต่มันกลับติดล็อกในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากส่วนกลาง

ไม่ต้องรับผิดรับชอบอะไรกับประชาชน และมีอำนาจเหนือมาก สิ่งนี้มาบล็อกความเจริญของหลายจังหวัดที่ไม่พัฒนาไปไหน ทั้งที่เป็นจังหวัดที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมูลค่ามหาศาล เพราะว่าอะไร พอมีผลประโยชน์ก้อนมหาศาลก็จะมีผู้ว่าฯ (แต่งตั้ง) ที่รู้สึกว่าฉันอยากไปเกษียณที่นี่ อยากไปกอบโกยที่นี่ เล่นแร่แปรธาตุ ใช้อำนาจอื่นนอกเหนือจากที่เป็นไปตามขั้นตอน

เพื่อเอาผลประโยชน์จากจังหวัดที่มีก้อนผลประโยชน์ที่ใหญ่ มันมีบางจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าผู้ว่าฯ ต้องมาเกษียณที่นี่ แบบอยู่ได้ 1 ปี ยังไม่ทันทำห่าอะไรก็เกษียณไปแล้ว และก็มีคนใหม่เข้ามา แล้วมันแฟร์เหรอ กับคนในจังหวัดนั้นที่ต้องมาติดล็อกด้วยกลไกที่ไร้ประสิทธิภาพแบบนี้

การเมืองอยู่ในทุกเรื่อง คุณเห็นด้วยไหม

เห็นด้วยแบบที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลย หยิบยกมาสักเรื่องสิที่คิดว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง ความรัก การที่เราจะรักใครสักคนเกี่ยวข้องกับการเมืองไหม เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่าเสรีภาพในการเลือกที่จะรัก ขึ้นอยู่กับว่ารักนั้นมีสวัสดิการไหมด้วย

ทุกวันนี้เวลาคนเราจะรักกัน ในประเทศไทยเราต้องดูก่อนว่าฐานะอีกฝั่งหนึ่งเป็นยังไง ถ้าคบกันไปซื้อบ้านด้วยกันได้หรือเปล่า ผ่อนรถด้วยกันได้ไหม มีลูกแล้วลูกจะมีคุณภาพชีวิตยังไง แต่ในประเทศที่มีสวัสดิการให้เด็ก ให้คนชรา เขาจะรู้สึกว่ามีเสรีภาพในการเลือกที่จะรักได้จริงๆ

แต่งงานกันไปมีลูก รัฐก็ให้ลาคลอดได้ มีสวัสดิการลาคลอด รัฐซัพพอร์ตชีวิตคุณ ซัพพอร์ตชีวิตลูกคุณ ซัพพอร์ตการศึกษาลูกคุณ

หรืออย่างเรื่องอาชีพ ถ้าเป็นประเทศที่โอบรับทุกความหลากหลาย ทุกสาขาอาชีพ เด็กก็จะเรียนสิ่งที่เขาอยากเรียนเพื่อความฝันของเขา แต่เด็กในประเทศนี้เลือกเรียนบางอย่าง เพราะว่าไม่อยากตกงานในอนาคต ทำให้เขาต้องทิ้งความฝัน ทิ้งความคิดสร้างสรรค์ของเขาไป บางคนต้องเจ็บปวดเพราะเกิดในบ้านฐานะยากจนไม่สามารถมีหนทางเลือกที่เสรีได้ ครอบครัวไม่สามารถซัพพอร์ต สุดท้ายก็ต้องเจ็บปวดกับงานที่ไม่ชอบ หรือถ้าไปเจองานที่ชอบก็โชคดีไป แต่ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีแบบนั้น

พรรคก้าวไกลมีนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ทำไมเราต้องเลือก

ยกตัวอย่างกรุงเทพฯ โอเค-การบริหารงานของกรุงเทพฯ ต่างจากจังหวัดอื่นๆ แต่คุณก็เห็นแล้วใช่ไหมว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เขาต้องหานโยบายมาเพื่อเอาใจประชาชน เขาต้องเค้นสมองแทบตายคิดนโยบายมาเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน

แล้วพอเขาได้รับการเลือกตั้งไป ประชาชนก็จะตรวจสอบเขาว่าทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ไหม ถ้าคุณไม่ทำ เราจะไม่สนับสนุนคุณแล้ว มันมีอำนาจที่สามารถง้างกันได้ แต่พอเป็นขั้วที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เรียกร้องไปดิ กูไม่ได้มาจากมึง กูทำงานเอาใจนายกู อย่างประโยคที่เขาบอกกันว่าที่มามาจากไหน สุดท้ายก็ต้องทำงานเอาใจคนนั้น ถ้าเขามาจากการเลือกตั้งของประชาชน สุดท้ายเขาต้องทำงานตอบสนองประชาชน

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เราจะได้มาเฟีย หรือบ้านใหญ่ หรือไม่

คำว่ามาเฟียเป็นคำติดลบ แต่ว่าบ้านใหญ่ก็ก้ำกึ่ง มันคือการเมืองที่มีเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งถ้าให้ตอบจริง ๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่า พอเลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วเราจะได้อะไรมา แต่ไม่ว่าจะได้อะไรแบบไหน สังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กันไป

อันดับแรกเราต้องทำให้ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ก่อน จะได้อะไรมา สังคมจะตรวจสอบยังไง มีวิธีการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง เรามาพูดคุยถกเถียงกันที่หลังได้

บ้านใหญ่หรือมาเฟียอาจเป็นคำที่ดูติดลบ แต่ว่าถ้าเขามาจากการเลือกตั้ง เขาก็ได้รับความชอบธรรมจากประชาชน ถ้าดีก็ดี แต่ถ้าไม่ดีสังคมต้องเรียนรู้จากสิ่งนี้ ทั้งหมดทั้งมวลเราต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก่อน

เวลาไปต่างจังหวัด พบเห็นสิ่งใดบ้างที่ทำให้เจ็บปวด

การที่คนรอบตัวเราเวลาไปต่างจังหวัดแล้วโรแมนติกไซส์กับความลำบากของคนต่างจังหวัด แบบวิถีชีวิตอย่างนี้ดีจังเลย ยากลำบากแบบนี้ดีจังเลย คือบางคนเหมือนไปต่างจังหวัดแล้วเสพความลำบากนิดหน่อยจะรู้สึกว่าวิถีชีวิตอย่างนี้น่าจะอนุรักษ์เอาไว้ ต้องลำบากแบบนี้ อยู่กระท่อมแบบนี้

แต่แบบเฮ้ยมึง คนต่างจังหวัดเขาก็อยากมีรถไฟฟ้า เขาก็อยากมีขนส่งมวลชนสาธารณะ อยากมีตึกเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่เราเจ็บปวดคือคนรอบตัวไปโรแมนติกไซส์กับความลำบากของคนต่างจังหวัด ให้ไปอยู่จริงๆ แบบนั้นนางก็ไม่เอา

แต่ชอบไป 2-3 วันแบบลำบากนิดหน่อยเหมือนเป็นประสบการณ์น่ารักๆ ของชีวิต

ให้เลือก 1 นโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนต่างจังหวัด จะเป็นนโยบายอะไร

น้ำประปาดื่มได้ ดูเหมือนเป็นอะไรที่คนกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจ เพราะเราเปิดน้ำ 24 ชั่วโมง น้ำก็ไหล 24 ชั่วโมง ใสสะอาด 7 วันต่อสัปดาห์ แต่ถ้าคุณลองไปอยู่ต่างจังหวัด บางคนซักผ้าไม่ได้ ซักแล้วจากเสื้อขาวกลายเป็นสีชาดำเย็น

เพราะว่าน้ำบ้านเขายังไม่เป็นน้ำประปาที่ใสสะอาดได้ นี่มันคือเรื่องเล็กที่ใหญ่มากเลย ถ้ามันไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้านคุณ คุณก็ไม่เห็นหรอกว่ามันเป็นปัญหา ถ้าเรากระจายอำนาจได้ ไอซ์คิดว่าเรื่องที่เป็นปัญหาของคนในชนบทก็จะได้รับการแก้ไข

คิดเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่าต่างจังหวัดไม่พร้อมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

คุณมีสิทธิ์อะไรไปคิดแทนเขา คนเมืองมีสิทธิ์อะไรไปคิดแทนคนต่างจังหวัด นี่คือชุดความคิดแบบอำนาจนิยมที่คิดว่าคนเมือง หรือคนที่อยู่ในเมืองหลวงมีสิทธิ์ไปคิดแทนคนต่างจังหวัดว่าเขาไม่พร้อม การศึกษาเขาไม่ดีพอ คุณไปคิดแทนเขาทำไม ไปถามเขาดีกว่าว่าเขาอยากได้อะไร

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *