แข้งพลัดถิ่นโมร็อกโก: ฉากหลังแห่งเทพนิยายโซโลมอน

ทีมฟุตบอลประเทศโมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นชาติจากทวีปแอฟริกาแรกที่ผ่านเข้ารอบตัดเชือก หรือรอบ 4 ทีมสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อยเมื่อคืนวันเสาร์ นับตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นต้นมา และตั้งแต่ปี 1986 ที่ผ่านเข้ารอบ 16 ทีม ก่อนพลิกล็อกคว่ำทีมเต็งอีกทีมอย่าง กระทิงดุ สเปน ด้วยการดวลลูกจุดโทษ

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ครั้งนี้ พวกเขาเสียประตูเพียงแค่ 1 ลูก และเป็นการเสียด้วยการทำเข้าประตูตนเองอีกด้วย โดยยิงคู่แข่งไป 5 ลูก แต่นั่นก็เพียงพอต่อการเข้าถึงรอบตัดเชือก จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นทีมที่มีเกมรับที่แข็งแกร่งที่สุดทีมหนึ่งของโลกไปแล้ว ท่ามกลางกองเชียร์ชาวโมร็อกโกที่ประเมินกันว่ามีไม่ต่ำกว่า 15,000 คนที่กาตาร์ ซึ่งพร้อมจะตีกลองดาบูก้าและเป่านกหวีดส่งใจไปสู่นักฟุตบอลในสนามตลอดจนกว่าเสียงนกหวีดจากกรรมการจะหยุดเกม 

นักสังเกตการณ์หลายคนกล่าวชื่นชมโดยนำไปเปรียบเทียบกับทีมชาติอิตาลี ซึ่งความแชมป์โลกในปี 2006 โดยในครั้งนั้นขุนพลอัสซูรีเสียประตูตลอดทัวร์นาเมนท์เพียงแค่ 2 ลูก

การแข่งขันซึ่งเหลืออีกเพียง 2 นัดสำหรับเหล่านักฟุตบอลโมร็อกโก ไม่ว่าเทพนิยายครั้งนี้จะถูกเขียนให้ตอนจบลงเอยอย่างไร แต่พวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านฟุตบอลจากภูมิภาคที่ยากแค้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกไปแล้ว

สายเลือดโมร็อกกันพลัดถิ่น 

แสงของความสำเร็จของอดีตประเทศอาณานิคมฝรั่งเศส เริ่มส่องประกายชัดขึ้น หลังจากในรอบแบ่งกลุ่มพวกเขาสามารถเอาชนะทีมเต็งสองของรายการอย่างเบลเยี่ยม ด้วยผลสกอร์ 2-0 Achraf Hakimi ฟูลแบ็กจากสโมสรปารีส แซงแชร์แมง หนึ่งในผู้เล่นที่โชว์ฟอร์มได้โดดเด่นคนหนึ่งวิ่งตรงไปหาแม่ของเขา ที่นั่งเชียร์อยู่บนอัฒจรรย์ ก่อนจะสวมกอดแม่ และแม่ได้หยิกแก้มเขา จนภาพนี้กลายเป็นไวรัลไปทั่วแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งต่อมานักฟุตบอลวัย 24 ปีรายนี้ได้โพสต์อินสตราแกรมพร้อมเขียนแคปชั่นว่า “ผมรักแม่”

นี่เป็นกรณีหนึ่งท่ามกลางสมาชิกครอบครัวของทีมที่เดินทางมาเชียร์ลูกหลานของพวกเขาถึงคาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งสำนักข่าว Al Jazeera[1] ประเมินว่ามีพลเมืองโมร็อกกันเดินทางมาเชียร์ทีมรักของตนเองกว่า 15,000 คน พวกเขามาพร้อมเสียงนกหวีดที่ดังแสบหู และเสียงเชียร์ที่ดังกระหึ่ม สิ่งเหล่านี้ไม่มากก็น้อยมีส่วนต่อการกดดันผู้เล่นซุปเปอร์สตาร์จากทีมชาติโปรตุเกส ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม นักฟุตบอลส่วนใหญ่ของทีมโมร็อกโกนั้น พบว่าเป็นลูกหลานผู้อพยพพลัดถิ่นจากถิ่นฐานบ้านเกิด โดยมีจำนวนมากที่สุดในบรรดา 32 ชาติที่ลงแข่งขันในครั้งนี้ อาทิ กองหน้าตัวเก่งอย่าง Zakaria Aboukhlal ซึ่งเกิดในเนเธอร์แลนด์แต่เลือกเล่นให้ทีมชาติโมร็อกโก Yassine Bounou นายประตูที่เสียประตูน้อยที่สุดในรายการและช่วยเซฟจุดโทษสำคัญ เกิดในแคนาดา Romain Saïss ปราการหลังกัปตันทีม เกิดในฝรั่งเศส Achraf Hakimi เกิดในสเปน ฯลฯ

ทว่า การได้เติบโตในอคาเดมีของสโมสรที่มีคุณภาพสูงในประเทศยุโรปตะวันตก ช่วยให้พวกเขาเหล่านี้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้เล่นในสโมสรชั้นนำ แต่พวกเขาก็ได้มีโอกาสเล่นในลีกสูงสุดของแต่ละประเทศของยุโรปตะวันตกทั้งสิ้น เช่น เบลเยี่ยม สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี เป็นต้น โดยทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกันคือ มีเชื้อชาติโมร็อกกัน ซึ่งครอบครัวของพวกเขาต้องพลัดที่อยู่ระหว่างความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายทศวรรษ ก่อนที่นักเตะพรสวรรค์เหล่านี้จะเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ

เหตุแห่งการลี้ภัย

ค่าเฉลี่ยอายุของเหล่านักเตะโมร็อกโก ถือว่าอยู่ในระดับที่เรียกว่าอายุน้อยเป็นลำดับต้นๆ ของทีมที่ลงชิงชัย กล่าวคือพวกเขามีอายุอยู่เพียง 26.2 ปีเท่านั้น หมายความว่าหลังการปฏิรูปประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย ในทศวรรษที่ 1990 คนเหล่านี้ยังไม่เกิดหรือถ้าเกิดก็เป็นการเติบโตในดินแดนอื่นในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศทั้งสิ้น 

ในทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่โมร็อกโกปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในปี 1955 ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1912 พลเมืองโมร็อกโกต้องเผชิญกับความทุกข์ทนอย่างสาหัสจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีความขัดแย้งอย่างกว้างขวางหลายระลอกระหว่างรัฐบาลกษัตริย์กับประชาชน

นักฟุตบอลเหล่านี้คือลูกหลานผู้อพยพที่ไปเกิดและเติบโตในหลายประเทศที่เปิดต้อนรับผู้อพยพที่ต้องการลี้ภัยจากความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศโมร็อกโก บรรพชนของพวกเขาล้วนผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองไม่รุ่นใดก็รุ่นหนึ่ง

หมายความว่าเกิดเหตุความรุนแรงทางการเมืองในระดับถึงตายหลายรูปแบบ ตั้งแต่ การจำคุก ซ้อมทรมาน การถูกบังคับให้สูญหาย ไปจนถึงการใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม กว่าที่รัฐบาลกษัตริย์จะยอมผ่อนปรน รับผิด และยอมให้มีการปฏิรูปการเมือง พวกเขาต้องรอจน กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ในปี 1999 จึงเริ่มมีการขอโทษประชาชนต่อเหตุที่บูรพกษัตริย์ยุคหลังได้รับเอกราช กระทำต่อประชาชนของตนเอง หลังจากนั้นการเมืองโมร็อกโกจึงเริ่มมีเสถียรภาพเป็นต้นมา

ในปัจจุบัน ทีมชาติฟุตบอลโมร็อกโก นอกจากจะก้าวขึ้นเป็นทีมชั้นนำในระดับทวีปแล้ว พวกเขายังประกาศตัวลงชิงชัยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกให้ได้ แม้ว่าจะแพ้ในการลงคะแนนใน 2 รอบที่ผ่านมาก็ตาม สิ่งที่น่าจับตานอกจากผลงานในฟุตบอลโลกครั้งนี้ของเหล่านักเตะสีธงชาติที่มีดาวโซโลมอนอยู่ตรงกลาง จึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างภูมิทัศน์การเมืองและการกีฬาของประเทศว่าจะสามารถยกระดับไปสู่จุดใด

เพราะไม่เพียงจะเป็นข้อชี้ถึงพัฒนาการของประเทศ แต่คือสัญลักษณ์ของการยอมรับทวีปที่เคยถูกตีตราว่าล้าหลังแห่งหนึ่งของโลก


[1] Morocco’s World Cup magic potion: Football parents and fans

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *