ไปอยู่ญี่ปุ่นมาหลายเดือน เปล่า-รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ไม่ได้ไปเที่ยว เขาไปทำอะไร เดี๋ยวเรามาว่ากัน
หกตุลาคม 2565 ณ ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ‘เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 6 ตุลา’ จัดกิจกรรม ‘รำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตามหาอยุติธรรม’ อาจารย์อนุสรณ์กล่าวปาฐกถาพิเศษ 46 ปี 6 ตุลา ความตอนหนึ่งว่า
การที่คนหนุ่มสาวไม่ตาย สาเหตุเพราะการที่พวกเขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ไม่ได้เกิดจากการชี้นำ จัดตั้ง หรือขึ้นต่อกลุ่มหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นผลของปัจจัยร่วมสมัยจำนวนหนึ่ง ดังนั้น แม้กลุ่มหลักจะไม่ได้จัดชุมนุมใหญ่ บางกลุ่มสลายตัวไป หรือแกนนำอยู่ภายใต้เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เงื่อนไขที่ผลักให้พวกเขามายืนแถวหน้า ยังคงอยู่ค่อนข้างครบถ้วน พวกเขาจึงยังไม่หายไปไหน
ยังคงเป็นพลังท้าทายผู้ปกครองจนกระทั่งทุกวันนี้ – เขาว่า
กลับมาเรื่องประเทศญี่ปุ่น สเตตัสหนึ่งอาจารย์อนุสรณ์โพสต์ทำนองว่า นี่คือภารกิจตามรอยจักรพรรดิญี่ปุ่น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ชงชาเขียวร้อนเข้มๆ มาสักถ้วย แล้วมาจิบคำถามแรกไปด้วยกัน
ภารกิจตามรอยจักรพรรดิญี่ปุ่นคืออะไร
ที่มาที่ไปของมันก็คือเป็นส่วนหนึ่งของการได้รับทุนไปเป็นนักวิชาการรับเชิญของ Osaka School of International Public Policy ซึ่งเป็นสำนักศึกษานโยบายต่างประเทศของมหาวิทยาลัยโอซากา เป็นช่วงที่ผมลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการแล้วไปพันกับงานวิจัยของผมชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย’ ซึ่งมีอาจารย์หลายท่านร่วมคณะวิจัย ศึกษาทั่วประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ
ตอนที่เราศึกษางานวิจัยชิ้นนี้เราดูหลายอย่าง หนึ่งในนั้นเราดูข้อเรียกร้อง ซึ่งสุดท้ายมันขมวดมาเป็น 3 ข้อ คือ 1. พลเอกประยุทธ์ลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ความน่าสนใจของมันคือ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่กลุ่มของเยาวชนจัดชุมนุม ตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและจะเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนีเพื่อยื่นหนังสือผ่านทูตเยอรมันประจำประเทศไทยไปยังรัฐบาลเยอรมัน ให้พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับกษัตริย์ไทยซึ่งในขณะนั้นประทับอยู่ที่เยอรมนี
ในขบวนที่เดิน เด็กเขาถือแผ่นผ้าหลายแผ่น หนึ่งในนั้นมีข้อความที่เขียนว่า เราต้องการสถาบันกษัตริย์แบบญี่ปุ่น
เดิมทีก่อนไป ทางญี่ปุ่นก็ถามว่าผมจะไปทำอะไร สนใจเรื่องไหน ผมก็ให้ความเห็นว่า
หนึ่ง-การปกครองของญี่ปุ่นกับไทยเป็นลักษณะเดียวกัน คือมีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีกษัตริย์มายาวนานที่สุดในโลก
สอง-สถาบันกษัตริย์ที่เห็นในปัจจุบันของทั้ง 2 ประเทศคือสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองเฉพาะ สิ่งที่น่าสนใจก็คือสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลานั้นมันเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอเมริกัน อย่างญี่ปุ่น อเมริกันสร้างสถาบันจักรพรรดิขึ้นมาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อรักษาความสงบ ไม่ให้คนญี่ปุ่นที่แพ้สงครามในตอนนั้นลุกฮือขึ้นมาในช่วงที่อเมริกันเข้าไปยึดครองหลังจากที่ได้รับชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2
อาศัยสถาบันจักรพรรดิเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนญี่ปุ่นและทำยังไงให้คนญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การยึดครองของอเมริกาได้โดยสะดวกราบรื่น ขณะที่ของไทย อเมริกันสร้างสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาในฐานะที่เป็นฐานที่มั่นหรือตัวหลักในการต่อต้านหรือหยุดยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน

สาม-ความแตกต่างของรุ่นคนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
ถ้าเป็นของสังคมไทย คนรุ่นก่อนหน้าหรือเบบี้บูมเมอร์ที่มีชีวิตอยู่ภายใต้รัชสมัยที่ผ่านมา ก็จะมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับคนรุ่นหลัง เด็กๆ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ จะมีระยะห่างอยู่ เช่นเดียวกับในญี่ปุ่น เราก็จะพบเห็นระยะห่างหรือความแตกต่างในเชิงของรุ่นคนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์
เลยไปที่นี่เพื่อไปดูว่าแล้วตกลงสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่นอย่างไร ทั้งในเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม ประติมากรรม ฯลฯ หรือในเชิงพิธีกรรม พระราชพิธีที่เขาจัดกัน หรือในส่วนของชีวิตประจำวันมีการประดับประดาอะไรหรือไม่ สื่อมวลชนหรือวัฒนธรรมมวลชน มองว่าสถาบันจักรพรรดิดำรงอยู่อย่างไร ผู้คนคิดอย่างไร รวมถึงไปสัมภาษณ์ความรู้สึกผู้คนมีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อจะนำมาเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ไทยในตอนนี้
คำถามสำคัญคือจะปฏิรูปกันอย่างไร พอจะอาศัยโมเดลของญี่ปุ่นได้ไหมโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเด็กๆ มองสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นปัจจุบันในฐานะที่เป็นต้นแบบอันหนึ่งซึ่งพึงประสงค์ ถ้าสถาบันกษัตริย์ไทยจะคลี่คลายไปในลักษณะเช่นนั้น ก็เลยเป็นที่มาที่ไปว่าทำไมต้องไปตามรอยจักรพรรดิญี่ปุ่น
หลังจากเสร็จภารกิจกลับมาแล้ว อาจารย์มองว่าที่ไปศึกษาของญี่ปุ่นมา จะสามารถนำมาปรับใช้กับของไทยได้หรือไม่
ทั้งเงื่อนไขตามประวัติศาสตร์ตั้งแต่รากของมัน การคลี่คลายตัวของสถาบันจักรพรรดิเอง บวกกับเงื่อนไขของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้ามาของอเมริกันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถาบันจักรพรรดิ จากเดิมที่ค่อนข้างมีอำนาจในเชิงสัญลักษณ์และเป็นเหมือนเทพเจ้า จากนั้นก็ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเหมือนประมุขแห่งรัฐหรือจอมทัพในสมัยเมจิ แล้วก็เปลี่ยนอย่างฉับพลันทันใดโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 1946 ที่อเมริกันเป็นผู้ร่างขึ้น
เปลี่ยนสถานะจักรพรรดิใหม่ให้เป็นเพียงสัญลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของผู้คน แต่ไม่มีอำนาจในทางการบริหารหรือการเมือง ซึ่งตรงนี้เป็นไปได้เพราะอเมริกันเข้ามา แต่ของไทยตัวรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น อีกข้อก็คือสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นจริงๆ ไม่ได้มีอำนาจอะไรเท่าไร แม้ว่าก่อนหน้าสมัยเมจิที่จักรพรรดิเมจิพยายามที่จะปฏิรูปประเทศ
หนึ่งในนั้นคือการทำให้สถาบันจักรพรรดิเข้มแข็ง ไม่เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือแค่มีความหมายในเชิงพิธีกรรม แต่มีอำนาจทั้งในทางบริหารและการเมือง แต่ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยมี และสมัยเมจิก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึงร้อยปี พออเมริกันเข้ามาก็เปลี่ยนมันไป
ฉะนั้น ในแง่ของประวัติศาสตร์ ก็ค่อนข้างต่างกันเยอะ เพราะของไทยกษัตริย์เรามีอำนาจมาตั้งแต่ต้น ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้น ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะปฏิรูปการปกครองเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง อำนาจอยู่ในมือขุนน้ำขุนนาง ที่เคยมีมากก็ถูกตัดออกไปมากองที่กษัตริย์คนเดียว แต่ของกษัตริย์ญี่ปุ่น เดิมทีอำนาจจะอยู่ที่โชกุนเป็นหลัก จักรพรรดิเป็นแค่สัญลักษณ์
แม้ว่าต่อมาจักรพรรดิเมจิจะปฏิรูปการปกครองและลดอำนาจของโชกุน รวมถึงพวกซามูไรลงไป แต่ตัวสถาบันเองก็ไม่ได้มีกองทัพ ไม่ได้มีอำนาจในทางการทหารแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากของไทยค่อนข้างเยอะ
การคลี่คลายตัวและกว่าจะกลายมาเป็นสถาบันจักรพรรดิที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ได้ และที่ตัวขบวนการเยาวชนไทยเห็นว่าพอจะเป็นตัวแบบให้ไทยเดินตามได้มันผ่านหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งอาจเทียบเคียงไม่ได้กับของไทย เพราะของไทยทำไม่ได้

ดูเหมือนว่าฝ่ายอนุรักษนิยมของไทย ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีจำนานมากน้อยเท่าไร จะสุดโต่งมากๆ ในญี่ปุ่นเป็นแบบเดียวกันหรือไม่
อนุรักษนิยมในญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นกลุ่มก้อนและมีจำนวนมากกว่า เพราะสังคมอนุรักษนิยมมีเสถียรภาพสูง เขาไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง เรียกร้อง แก้ไขอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันใหญ่ๆ เขามีชีวิตที่ค่อนข้างจะนิ่งมาหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปีด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ค่อนข้างนิ่ง
แต่ถ้าถามว่ามีความอนุรักษนิยมแบบสุดโต่งที่ไปโยงกับจักรพรรดิไหม คือน้อยมาก
ปัจจุบันนี้ในญี่ปุ่น ถ้าเราจะไปแขวนรูปสัญลักษณ์ของจักรพรรดิที่ใดที่หนึ่ง นอกจากจะถูกดำเนินคดีว่าผิดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็อาจถูกมองว่าเป็นพวกวิปริตผิดเพี้ยน เป็นคนไม่สมประกอบ เพราะตอนที่ผมไปก็จะไม่เห็นรูปของจักรพรรดิแขวนตามฝาบ้านหรือป้ายประดับประดาคือไม่มี มันทำไม่ได้เพราะมันผิดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี จะมีพวกขวาจัดแบบสุดโต่ง ที่อยากเรียกร้องให้จักรพรรดิกลับมาบ้าง แต่น้อยมาก ส่วนของไทยจะมีสัดส่วนมากกว่า
ถือว่าเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปสถาบันของไทย?
เพราะของประเทศไทย ฐานที่มั่นของสถาบันกษัตริย์ยังคงแน่นหนาอยู่ ทั้งในมิติของประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ยังมีฐานที่มั่นที่ลึกและแน่น
ขณะเดียวกันโครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการที่รองรับด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐยังอยู่ภายใต้กลุ่มคนที่มีความคิดอนุรักษนิยม ฉะนั้น แนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงให้ไปคล้ายกับญี่ปุ่นในปัจจุบันน่าจะต้องใช้เวลาหลายปี เป็นสิบๆ ปี มันไม่ง่าย…
คือจริงๆ จักรพรรดิขึ้นมาเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นประมุขแห่งรัฐ เป็นตัวแทนของความเป็นชาติ ก็เพิ่งมามีในสมัยเมจินี่เอง แต่ถ้าย้อนกลับไปเป็นพันปีที่อยู่กันมา จักรพรรดิก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไรยังไง เพราะอำนาจอยู่ที่โชกุน จักรพรรดิเป็นเพียงสัญลักษณ์ ผู้คนรู้จักในฐานะกึ่งๆ เทพหน่อย อาจมีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลให้ชีวิตประสบความสำเร็จ มีโชคลาภ ไม่ได้มีนัยทางการเมือง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกองทัพของตนเอง พอสมัยเมจิปฏิรูปให้มีอำนาจทางการเมือง ก็ยังไม่มีกองทัพของตนอยู่ดี
ตรงนี้ทำให้เราได้เห็นการเสียดสีกันไปมาระหว่างจักรพรรดิกับกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอยากจะดันๆๆ ส่วนจักรพรรดิในบางแง่มุมถึงแม้มีส่วนสำคัญทำให้สงครามมันเกิดขึ้นหรือดำเนินไป แต่อีกข้อก็เป็นตัวชะลอและคัดง้างกับกองทัพระดับหนึ่งเหมือนกัน

ตรงนี้ก็จะมาสอดคล้องกับที่อาจารย์เขียนไว้ว่า ‘พระราชวังที่เกียวโตไม่ได้ใหญ่โตโอ่อ่าหรือดูอลังการเหมือนปราสาทของโชกุน’
ใช่ๆ เพราะตอนนั้นหลังจากปฏิรูป ลดอำนาจโชกุนลง เขาก็ย้ายเมืองหลวงจากเดิมที่เกียวโตซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งแรก ไปยังโตเกียว แต่ที่โตเกียวไม่มีวังจักรพรรดิมาก่อน ก็เลยไปเอาปราสาทของโชกุนสมัยเอโดะมาใช้แทน ซึ่งปราสาทนั้นก็ผ่านไฟไหม้ ฟ้าผ่า ฯลฯ แต่ยังเหลือโครงสร้างไว้ รวมถึงการสร้างให้มีน้ำล้อมรอบ เป็นหอคอยสูงๆ เป็นปราสาทของโชกุน
ถ้าเราเปรียบเทียบกับพระราชวังจักรพรรดิ (Imperial Palace) จริงๆ ที่เกียวโต มันจะไม่ได้มีน้ำล้อมรอบ ไม่ได้มีหอคอยสูงไว้ส่องข้าศึก เพราะไม่ได้ถูกใครโจมตี แต่ถ้าเป็นปราสาทโชกุนก็ต้องสร้างให้ใหญ่ มีน้ำล้อมรอบ 2 ชั้น ป้องกันข้าศึก แต่จักรพรรดิไม่ได้รบกับใคร
สามารถพูดได้ไหมว่าการมีโชกุนในสมัยก่อนคือรากฐานของการกระจายอำนาจ
อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น เขารบพุ่งกัน และต่างก็สถาปนาตนเองเป็นใหญ่ ในมิติของการอยู่ร่วมกัน มีการกระจายอำนาจคงไม่ใช่ แต่ผมคิดว่าญี่ปุ่นเอื้ออำนวยต่อการกระจายอำนาจเพราะมันไม่มีศูนย์กลางอำนาจแบบเดี่ยวๆ มาแต่ไหนแต่ไร ไม่เหมือนศูนย์กลางอำนาจสมัยอยุธยา คือผมไม่ได้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมากนัก แต่ก็พอได้อ่านอะไรมาประกอบเพื่อให้รู้ว่าสถาบันจักรพรรดิคลี่คลายตัวมายังปัจจุบันนี้ได้อย่างไร
การที่มันรบบ่อย แบ่งกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ก็ทำให้แต่ละพื้นที่มีฐานของความก้าวหน้าของตนเองอยู่ระดับหนึ่ง ไม่ได้กระจุกตัว ต่างจากของไทย ที่มีกองทัพคู่สถาบันมาโดยตลอด
ถ้าหากเราไปดูโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ เราจะเห็นว่าไม่ได้เป็นศูนย์กลางอำนาจอะไร เมื่อย้ายมาแล้ว ก็เพิ่งจะมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจไม่นานมานี้ อย่างไรก็ดี ที่อื่นๆ จะมีประวัติศาสตร์และฐานทางเศรษฐกิจของมันเอง เราจะเห็นการกระจายตัวค่อนข้างเยอะ ถ้าไม่นับเขตตึกสูงและความหนาแน่นของประชากร โตเกียวอาจมากสุด รถไฟฟ้าอาจซับซ้อนสุด แต่ในแง่ของเทคโนโลยีหรือความเจริญก้าวหน้า คุณไม่ต้องไปหาที่โตเกียวคุณก็เจอในจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่นได้
ผมไปอยู่โอซากา ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างกันเท่าไร ไม่ว่าจะไปที่ไหนความเพียบพร้อมเรื่องเทคโนโลยีไม่ต่างกัน หรือแม้กระทั่งลงไปในระดับเมือง ญี่ปุ่นเขาแบ่งเป็น Prefectures หรือจังหวัด ประมาณ 40 กว่า แล้วในจังหวัดประกอบด้วย town หรืออำเภอ ซึ่งน่าสนใจก็คือในแต่ละอำเภอมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์เท่าๆ กัน มันเลยทำให้เอื้อต่อการกระจายอำนาจสูง
ถามว่าขนาดของเขตเศรษฐกิจไหนใหญ่ที่สุดคงเป็นโตเกียว ถ้าไปดูศาลาว่าการของโตเกียว มันมหึมามาก เนื่องจากจังหวัดโตเกียวมีรายได้สูงและเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ แต่อย่างที่บอกว่ามันเอื้อต่อการกระจายอำนาจเพราะในอดีตมันไม่เคยมีศูนย์กลางหลักมาแต่ไหนแต่ไร

ผมคุยกับนักศึกษาปริญญาเอกที่อยู่ญี่ปุ่น เขาบอกว่าถึงแม้ต่างจังหวัดของญี่ปุ่นจะไม่ได้เจริญทางวัตถุมาก แต่คุณภาพชีวิตเขาจะดี มีสวัสดิการ
พอกระจายอำนาจแล้ว คุณภาพชีวิตอาจจะดีกว่าอยู่ในเมืองใหญ่ด้วยซ้ำไป อากาศดี เพราะในแง่หนึ่งคือสาธารณูปโภคทุกอย่างมีเหมือนกัน ถ้าถามว่าหัวใจหรือเส้นเลือดใหญ่ของญี่ปุ่นคืออะไร คือการขนส่งระบบราง
และในทุกแห่งมีขนส่งระบบรางเหมือนกันหมด ไม่เหมือนบ้านเรา ที่คนกรุงเทพฯ เท่านั้นจะมีสิทธิ์ใช้บีทีเอส เอ็มอาร์ที ที่ญี่ปุ่นไม่ว่าคุณจะอยู่ไกลขนาดไหน มันทะลุทะลวงไปถึงหมด
ทุกพื้นที่เชื่อมต่อด้วยขนส่งระบบราง มันไม่มีอะไรแตกต่างเลย ฉะนั้น ชีวิตคนก็ง่ายขึ้น และยิ่งคุณอยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ออกไปจะได้เปรียบกว่า มีพื้นที่โล่งกว้าง มีอากาศดีๆ ให้หายใจ ไม่ต้องใช้รถไฟฟ้าตลอดเวลา แต่ใช้จักรยาน ที่ญี่ปุ่นมีอัตราการใช้จักรยานสูงมาก ผมไปสังเกตดูในเมืองที่ผมอยู่ ปรากฏว่ารถ 2 ล้อบนถนนที่นั่นเป็นจักรยาน
ส่วนจักรยานยนต์เป็นฐานการผลิตให้ประเทศอื่นใช้ หรืออาจมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศต่างๆ แล้วให้คนในประเทศนั้นใช้ ในประเทศเขาเองก็มีหลากหลายยี่ห้อ ถ้าจักรยานยนต์เป็นแบบจำกัดซีซี ไม่ใช่ 2 จังหวะแบบในบ้านเรา ซึ่งอันนี้ทำให้เขาควบคุมคุณภาพของอากาศได้ด้วย
อาจารย์เขียนไว้ว่า ‘ไกด์ญี่ปุ่นไม่ได้พยายามโน้มน้าวหรือชักจูงให้คนฟังซาบซึ้งดื่มด่ำในสมเด็จพระจักรพรรดิ’ ทำไมเป็นอย่างนั้น
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สถาบันจักรพรรดิถูกเปลี่ยนสถานะจากประมุขของรัฐหรือจากที่อำนาจสูงสุดของรัฐเคยอยู่ที่จักรพรรดิ ก็ผ่องถ่ายอำนาจมาให้ประชาชน
รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติและเป็นตัวแทนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และทรัพย์สินที่เคยเป็นของกษัตริย์ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือสาธารณสมบัติ
ส่วนคนที่ดูแล-ถ้าเป็นบ้านเราก็จะเป็นสำนักพระราชวังหรือข้าราชบริพาร แต่ของญี่ปุ่นคุณต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้น สิ่งที่คุณทำก็คือปฏิบัติหน้าที่ดูแลสมบัติของรัฐ ไม่ใช่ของจักรพรรดิ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องทำให้เกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำกับสถาบันจักรพรรดิ เพราะเขามาดูแล ถ่ายทอดความรู้ทางประวัติศาสตร์ว่าในอดีตตรงนี้เป็นยังไง เคยใช้อะไร ปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้แล้ว ฯลฯ เขาก็พูดแค่นี้ ไม่ได้อยากจะโน้มน้าว เพราะเนื่องจากทั้งหมดที่เขาบรรยายตรงนั้นคือสาธารณสมบัติ เป็นของรัฐไปแล้ว
สถาบันจักรพรรดิดำรงอยู่ค่อนข้างเงียบและห่างไกลจากคนญี่ปุ่นในปัจจุบัน อาจารย์มองว่ามันส่งผลต่อการเมืองญี่ปุ่นอย่างไร
ด้วยความที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อลดอำนาจหรือเปลี่ยนสถานะให้เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น บทบาทก็มีเพียงแค่ในเชิงพิธี ถึงแม้กฎหมายจะเขียนเอาไว้ว่ามีสิทธิ์วีโต้ ถ้าเกิดรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเสนอ 1 2 3 4 5…ว่าไป กระนั้นตั้งแต่ปี 1946 เป็นต้นมา จักรพรรดิก็ไม่เคยใช้อำนาจตัวนั้น และส่วนใหญ่ก็เป็น endorse (ลงนาม, รับรอง) ในเชิงพิธีกรรมมากกว่า ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารหรือการปกครอง
พอเป็นเช่นนี้แล้ว เขาก็อยู่แต่ในพระราชวังที่โตเกียว ซึ่งบริเวณที่จักรพรรดิและราชวงศ์พำนักอยู่ชั้นใน วันธรรมดาเปิดให้ประชาชนเข้าไปชมสวนซึ่งอยู่รอบนอก และจักรพรรดิออกงานปีละไม่กี่ครั้ง เฉพาะงานใหญ่ๆ ที่เปิดปราสาทพบปะประชาชน เช่น งานปีใหม่ หรือประเพณีประจำปี ช่วงที่ผมไปตรงกับวันครบรอบวันตายของจักรพรรดิเมจิ ตัวของจักรพรรดิพร้อมจักรพรรดินี ก็เดินทางไปศาลเจ้าเมจิ ซึ่งอยู่ในโตเกียวนี่แหละ เพื่อร่วมพิธี แต่ก็ไปสั้นๆ เหมือนมีพิธีอะไรให้ไปก็ไป เสร็จแล้วก็กลับเข้าวังทันที
ครั้งหนึ่งผมเคยไปบรรยายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย เปรียบเทียบกับสถาบันของญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแห่งนั้นอยู่ที่โอซาก้า อยู่ห่างจากเมืองเกียวโตประมาณ 40 กว่ากิโลเมตร นั่งรถไฟไม่นานก็ถึง ปรากฏว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งอยู่ที่เกียวโต เขาไม่เคยไปดูวังเก่าที่เกียวโตเลย แล้วก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นคนปัจจุบันชื่ออะไร ตอนสมัยจักรพรรดิเมจิย้ายไปโตเกียวแล้ว เขาก็กลับมาที่วังที่เกียวโตบ้าง แต่รุ่นหลังๆ ไม่มีใครกลับมาเลย

ถ้าสถาบันจักรพรรดิอยู่ห่างไกลจากชีวิตคนญี่ปุ่นแบบนั้น ไม่มีศูนย์รวมจิตใจ คนญี่ปุ่นเขาอยู่อย่างไร มีความขัดแย้งแบบเหลือง-แดงหรือไม่
เขาไม่ต้องการศูนย์รวมจิตใจแบบนั้น และไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองแบบที่ว่า ผมได้ไปคุยกับศาสตราจารย์ญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต เขาก็เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้นไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบจักรพรรดิเมจิ บางคนรู้สึกว่าจักรพรรดิรุ่นลูกเมจิ เป็นคนพาญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่ใช่ทุกคนจะยอมตายถวายชีวิตให้องค์จักรพรรดิ แต่ถ้าไม่ไปก็ไม่ได้ พ่อแม่พี่น้องเดือดร้อน
ศาสตราจารย์ท่านนั้นบอกว่า
เขาดีใจมากเลยที่อเมริกันเข้ามาแทรกแซงและยุติบทบาทของจักรพรรดิให้กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์และอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
ส่วนพรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือพรรค NDP ซึ่งมีแนวโน้มเป็น liberal conservative คือเป็นอนุรักษนิยมแบบเสรี ซึ่งนั่งมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว และมีพรรคอื่นๆ เช่น พรรคคอมนิวนิสต์ ซึ่งตั้งมาครบร้อยปีเมื่อ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ตั้งแต่ตั้งพรรคมาก็เป็นฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยได้เป็นรัฐบาลเลย
การเมืองญี่ปุ่นค่อนข้างจะนิ่งมาก และคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าการเมืองในระบบเป็นคำตอบสุดท้ายของชีวิตเขา เพราะญี่ปุ่นก้าวหน้าทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นมันไม่ได้ผ่านสถาบันการเมืองในระบบอย่างเดียว แต่มันเป็นสังคมที่มีส่วนประกอบอื่นๆ ที่เป็นกลไกสำคัญร่วมอยู่ด้วย เช่น ความภักดีต่อบริษัท ความมีระเบียบวินัย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตเขามีความเจริญก้าวหน้าและผาสุกได้ เราจึงเห็นว่าความนิยมต่อนักการเมืองญี่ปุ่นจะไม่ได้สูงเท่าไร
ตอนผมไป มีการเลือกตั้งสภาสูงพอดี ป้ายที่เขาแปะหาเสียงเลือกตั้งก็มีไม่มาก ใช้การแปะรวมๆ กัน และแปะไม่กี่จุด ป้ายของหัวหน้าพรรคก็กระจายกันติด แต่ก็เพียงไม่กี่แห่ง ไม่ได้มีความคึกคักอะไร ถึงแม้การสังหาร ชินโซ อาเบะ ที่เกิดขึ้น 2 วันก่อนการเลือกตั้งสภาสูง ก็ทำให้คนออกมาเลือกตั้งเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ไม่มากเท่าไร อย่างไรก็ดี มันทำให้ตัวคะแนนเสียงของ NDP หนาแน่นมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งคนก็มีปฏิกิริยาต่อการที่อาเบะถูกสังหาร
พอการเมืองมันนิ่งๆ คนก็ไม่แข่งกัน เราจึงเห็นว่าตั้งแต่สมัยหลายปีมาแล้ว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเขาลาออกโดยง่าย หรือรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทำอะไรผิดนิดผิดหน่อยเขาก็ออกทันที เพราะอยู่ไปก็ไม่ได้ทำให้คุณได้อะไรมากกว่าคนอื่นสักเท่าไร ไม่เหมือนการเมืองไทย ที่คุณเข้าไปสู่อำนาจแล้วมันได้อะไรเต็มไปหมด แต่ญี่ปุ่นไม่ใช่ หน้าที่ของฝ่ายการเมืองเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเป็นระบบที่ปกติทั่วไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการเมืองเข้ามาช่วยมากอะไรขนาดนั้น เลยทำให้คนไม่ขัดแย้ง
อย่างการสังหารอาเบะ เราคิดว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองแต่มันก็ไม่ใช่ ญี่ปุ่นมีการลอบสังหารผู้นำทางการเมืองคนสุดท้ายเมื่อปี 1960 กี่ปีมาแล้วล่ะ สาเหตุที่อาเบะถูกลอบสังหารก็ไม่ใช่มูลเหตุทางการเมืองอีกเพราะคนยิงก็สารภาพว่าไม่พอใจลัทธิความเชื่อหนึ่งซึ่งมารดาเป็นสมาชิกและบริจาคเงินจนหมดตัว จึงทำให้เขาอยากฆ่าผู้นำลัทธิ แต่ไม่มีโอกาสเพราะเข้าไม่ถึงตัว และบังเอิญรู้ว่าอาเบะมีความเกี่ยวข้องกับลัทธินี้ จึงถือโอกาสลอบยิง
ฉะนั้น ความสุดขั้วของญี่ปุ่น ผมรู้สึกมันไม่ใช่ความสุดขั้วทางการเมืองเท่ากับความสุดขั้วทางลัทธิความเชื่อหรือศาสนา ถ้าเราย้อนกลับไปที่มีการฆ่ากันเยอะๆ ยกตัวอย่าง โอมชินริเกียว ส่วนใหญ่มันเป็นกลุ่มทางศาสนา มากกว่าที่จะเป็นสุดขั้วทางการเมืองแบบที่เราเห็นในประเทศอื่นๆ
แสดงว่าการเมืองไทยยังโหยหาฮีโร่ที่เป็นตัวบุคคลอยู่ อาจารย์มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาไหมสำหรับประเทศที่ยังไม่พัฒนาเท่าญี่ปุ่น
ในสังคมที่ยังอ่อนแอ ก็มักเรียกร้องผู้นำที่มีบารมีหรือมีคุณสมบัติพิเศษบางประการที่จะมาช่วยคลี่คลายปัญหาให้กับสังคม แต่ถ้าเป็นสังคมที่แข็งแรง มีฐานที่หนักแน่น มั่นคง ก็จะไม่เรียกร้องปัจเจกใดที่มีคุณสมบัติพิเศษมาช่วยเหลือกอบกู้
ส่วนญี่ปุ่นผ่านจุดนั้นมาจนกลายเป็นสังคมที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพและมีความสามารถในการรองรับสมาชิกของสังคมให้อยู่ร่วมกันได้โดยปกติและผาสุก ตรงส่วนนี้สังคมไทยยังขาด มันก็เลยทำให้หลายกรณีไปออกที่ผู้นำที่มีบารมีและมีความสามารถพิเศษ จนทำให้เกิดการเมืองแบบที่เราเห็นกัน
ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเจริญจากการกระจายอำนาจ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร เพราะมีบางคนเข้าใจความหมายของคำว่ากระจายอำนาจเท่ากับกบฏ นำไปสู่แนวคิดการแบ่งแยกดินแดน
จริงๆ คำว่า ‘กระจายอำนาจ’ มหาดไทยเขาใช้มานานแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ต้องไปด่ามหาดไทย ของไทยมันไม่ใช่กระจายอำนาจจริง มีนักวิชาการและนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนตั้งข้อสังเกตหรือวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระจายอำนาจของมหาดไทย ไม่ใช่กระจายอำนาจที่แท้จริง แค่เป็นการถ่ายโอนหรือมอบอำนาจมากกว่า เพราะตรงกลางก็ยังใหญ่อยู่ ไม่ใช่รูปแบบกระจายอำนาจ
แต่อย่างญี่ปุ่นเขาไม่มีศูนย์กลางอำนาจเดิม อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว อันนี้ก็จะต่างไปจากของเรา เพราะเรารวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ก็เป็นที่มาของความคาราคาซัง และสร้าง absolute monarchy ขึ้นมา ก่อให้เกิดระบบราชการที่ใหญ่โตเทอะทะมหึมามาก จนถึงปัจจุบันก็ยากที่จะคลี่คลายตัว แล้วมันมาพร้อมกับคติความเชื่อ ระบบคุณค่า โลกทัศน์บางอย่างที่มารองรับระบบราชการหรือโครงสร้างการบริหารลักษณะเช่นนี้
ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราอยากกระจายอำนาจ ก็ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งเรื่องตัวโครงสร้างที่มีปัญหา ในขณะเดียวกันเราก็จำเป็นต้องหาทางคลี่คลายโลกทัศน์ ระบบคุณค่า ความเชื่อ หรือประเพณีที่ว่านี้ด้วย

บ้านเราตอนนี้มีกระแสอยากให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และปฏิรูปการปกครองทั้ง 3 ส่วนใหม่ อาจารย์มองอย่างไร
ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งล่าสุด เหมือนมันเคยมีกระแสมานานแล้ว มีการพูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีจังหวัดปกครองตนเอง เชียงใหม่ปกครองตนเอง ปัตตานีมหานคร ย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ช่วงทศวรรษ 40 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากทศวรรษปลาย 30 ที่ทหารกลับเข้ากรมกอง มีการขยายตัวของภาคประชาชน
มีรัฐธรรมนูญประชาชน 40 ช่วงนั้นมีการพูดอะไรกันเยอะมากเลย แต่พอรัฐประหาร 49 ทุกอย่างก็ถูกเก็บพับไว้ แล้วปัจจุบันพอจะพูดถึงก็เป็นเรื่องยาก แต่กระแสของคุณชัชชาติ ทำให้คนเริ่มเห็นว่าถ้าเขามีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น กระจายอำนาจ เราก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้ผู้ว่าฯ ที่มีฝีไม้ลายมือดี แทนที่จะมาจากมหาดไทย ใครก็ไม่รู้
ก็เลือกตั้งไปเลย เลือกคนที่มีคุณภาพและศักยภาพในการจะมาพัฒนาบ้านเราได้ ก็น่าจะเป็นอีกกระแสที่อาจทำให้การกระจายอำนาจหรือการปกครองท้องถิ่นขยับไป ผมคิดว่ามันน่าจะขยับ อย่างน้อยก็ในอัตราเร่งกว่าปกติ
ผู้มีอำนาจจะยอมไหม
ผมคิดว่าถ้ามีกระแสจากประชาชนเยอะๆ และมันไม่ไปแตะกับอำนาจใหญ่แบบตรงไปตรงมา ผมคิดว่าเขาน่าจะยังยอมอยู่ เพราะมันมีเส้นขีด และเขาก็ไม่อยากให้แตะตอนนี้ จะเห็นว่าคุณชัชชาติก็สามารถที่จะไต่ตะเข็บของอำนาจแบบนี้ได้ น่าปรบมือให้ระดับหนึ่ง เพราะยังสามารถประคับประคองไปได้ ในหลายๆ สถานการณ์ที่เราก็เห็นอยู่
ยังแคล้วคลาดจากการถูกตั้งคำถาม แต่ว่าโดยรวม ผมคิดว่าถ้าเป็นท้องถิ่นจริงๆ ในต่างจังหวัด โจทย์อย่างที่คุณชัชชาติเจอน่าจะน้อยกว่า เพราะมันพุ่งไปที่ปัญหาของท้องถิ่นตรงนั้น เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางอำนาจรัฐมากกว่า
โดยส่วนตัวผมมองว่าการกระจายอำนาจมันอยู่ในทุกมิติปัญหา ตั้งแต่ทรงผม เครื่องแบบ อำนาจนิยมในโรงเรียน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการจัดสรรทรัพยากร อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ที่สุดแล้วเราจะคุ้นเคยกับการผูกขาดอำนาจในการตัดสินใจเหนือผู้อื่นบนฐานของความรู้ดี การมีคุณธรรมสูงกว่า การมีอาวุโสมากกว่า อันนี้เป็นพื้นฐานของสังคมไทย ฉะนั้น มันทำให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจในการตัดสินใจ นำมาสู่การผูกขาดอำนาจ ในความหมายที่เราจะใช้ตรงนี้ กระจายอำนาจก็คือต้องเปิดโอกาสให้เกิดการเจรจา ต่อรองกันอย่างเสมอหน้า
ไม่ใช่ว่ามีใครที่จะอวดอ้างคุณงามความดี วิเศษวิโสเหนือกว่าใคร อาบน้ำร้อนมาก่อนตั้งแต่ตอนไหนมาผูกขาดการตัดสินใจ มันก็ไม่ได้ ต้องว่ากันด้วยข้อเท็จจริง ด้วยเหตุด้วยผล ที่สำคัญคือต้องเป็นไปด้วยความเสมอหน้า ไม่ใช่ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือมีชั้นวรรณะ แบบนี้จึงเข้าข่ายของการกระจายอำนาจในความหมายที่คุณว่ามา