เชิญแสดงความเห็น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ก่อนเปิดให้ลงชื่อ

ขอเชิญทุกท่านร่วมแสดงความเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ในช่องคอมเมนต์ด้านล่างเนื้อหานี้

ประเทศไทยมีการบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์อำนาจมานาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนต่างจังหวัด แตกต่างจากกรุงเทพมหานครอย่างมาก การกระจายอำนาจจึงเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว

รัฐธรรมมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีบทบัญญัติในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น อันมีเนื้อหาสาระอันเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ และการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ ตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

สาระหลักของร่างฯ

ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดตนเอง ยุบรวม นายก อบจ. ให้กลายเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง

จังหวัดมี 2 ชั้น คือชั้นบน ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง ชั้นล่าง เทศบาล อบต.ยังดำรงอยู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สังกัดส่วนท้องถิ่น และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคลการเงินและการคลัง จัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณและมีหน้าที่และอำนาจเป็นของตนเอง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น

เกี่ยวกับงบประมาณ

การจัดสรรส่วนรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเพิ่มขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น

มีการกำหนดอำนาจในการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีวิธีการในการจัดทำบริการสาธารณะได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เกี่ยวกับสวัสดิภาพของคนทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง

ในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคล

ให้ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ภายใต้ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์เพิ่มเติม ให้คนทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมตัวเป็นสหภาพได้ เพื่อเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น

เกี่ยวกับการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน  

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงเห็นว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง

ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิในการมีส่วนร่วมการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดให้มีวิธีการ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว

มีการจัดให้มีการศึกษาผลกระทบ และรับฟังฟังความเห็น ก่อนการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น

มีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อตัดสินใจในเรื่องสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การจัดตั้งสภาพลเมืองประจำท้องถิ่นให้สมาชิกมาจากการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันภายในประชาชนในท้องถิ่นทุกปี เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะและตรวจสอบ การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตัดสินใจเลือกโครงการหรือแผนงานที่จะนำรายจ่ายไปใช้ได้

การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงข้อมูลข่าวนั้นได้โดยง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่าย

เกี่ยวกับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ภายใน 2 ปีนับแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำแผนการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ภายใน 60 วันนับแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการยกเลิกหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อสภาผู้แทนราษฎร และให้รัฐสภาพิจารณาและให้ความเห็นชอบภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสิ้นผลไป

ขอเชิญทุกท่านร่วมแสดงความเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ในช่องคอมเมนต์ด้านล่างนี้

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *