ทางออกของท้องถิ่นไทย: เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ 

บทเรียนจากสหรัฐอเมริกา

ในโลกสมัยใหม่ สหรัฐฯ เป็นชาติแรกที่มีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง เนื่องจากคนอเมริกันที่ก่อตั้งประเทศส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษที่รักในสิทธิเสรีภาพ พวกเขาคิดต่างด้านศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมืองกับผู้นำประเทศ จึงถูกปราบปราม จับกุมคุมขัง ที่เหลือจึงหลบหนีออกมา ไปสร้างชุมชนใหม่ในโลกใหม่ และขยายเพิ่มโดยมีคนยุโรปจากประเทศอื่นๆ ที่มีความเห็นร่วมอพยพตามมา

จนจัดตั้งอาณานิคมได้ 13 แห่งยาวเกือบตลอดแนวชายฝั่งตะวันออก และเพราะอยู่ไกลมากจากอังกฤษ จึงปล่อยให้พวกเขาจัดการบริหารท้องถิ่นกันเอง ซึ่งกลายเป็นประชาธิปไตยท้องถิ่นขั้นพื้นฐาน และพัฒนาเป็นขบวนต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม ต่อสู้กับอังกฤษ ได้สถาปนาสหรัฐเป็นประเทศเอกราชขึ้นในปี 1776 จัดตั้งระบบการปกครองท้องถิ่นของตนเองแบบใดก็ได้ถึง 4-5 แบบ และยังจัดระบบการศึกษาและโบสถ์ในท้องถิ่นและรัฐของตนเองได้ด้วย ฯลฯ

สำหรับสหรัฐฯ ประชาธิปไตยที่ท้องถิ่นเกิดก่อนระดับชาติ และเป็นรากฐานของประชาธิปไตยทั่วประเทศนับตั้งแต่นั้น คนอเมริกันจึงแทบไม่รู้จักคำว่าการกระจายอำนาจ เพราะท้องถิ่นมีแทบทุกอย่าง

บทเรียนจากเยอรมนี-ญี่ปุ่น

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มครั้งแรกที่อังกฤษในช่วงทศวรรษ 1760-70 ไล่เลี่ยกับการปฏิวัติอเมริกัน โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นและอัดแน่นในบริเวณเดียวกัน กรรมกรก็อัดแน่นในบริเวณรอบๆ เพราะตอนนั้นยังไม่มียวดยานใดๆ เมื่ออยู่อย่างแออัด ชุมชนเมืองที่เกิดขึ้นจึงมีปัญหาตามมาตั้งแต่การกินอยู่ เสียงดัง ขยะ ห้องน้ำ  ทางเดิน ระบบประปา พื้นที่ส่วนรวม ฯลฯ วิกฤตสร้างโอกาส การปกครองท้องถิ่นจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องเกิดเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในชุมชนเมืองที่นับวันขยายตัว 

สำหรับเยอรมนีและอิตาลีซึ่งมีขนาดและพละกำลังพอๆ กับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ตั้งอยู่ห่างออกไปจึงได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมช้าไปอีก 1 ช่วงใหญ่ เมื่อได้พบว่าโลกนี้ได้ถูกชาติที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนหน้ายึดครองดินแดนและทรัพยากรไปเกือบหมดแล้ว ก็ต้องหันไปหาระบบรัฐนิยม (Statism) สร้างรัฐเผด็จการ นั่นคือ ระดมกลไกรัฐทุกอย่างในประเทศไปสู้กับชาติเหล่านั้น

จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สามลัทธิเผด็จการทหารคือเยอรมนี-อิตาลี-ญี่ปุ่น ถูกฝ่ายพันธมิตรปราบ เยอรมนีถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน และกลายเป็นสหพันธรัฐ เพื่อไม่ให้มีรัฐเดี่ยวที่อาจฟื้นระบบทหารขึ้นมาอีก กองทัพเยอรมนี-อิตาลีและของญี่ปุ่นที่เคยเกรียงไกรจึงถูกยกเลิก ระบอบกษัตริย์ของญี่ปุ่นหมดสิ้นอำนาจ ให้ทั้งระดับชาติและท้องถิ่นปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนท้องถิ่นได้ร่วมการบริหารท้องถิ่นอย่างคึกคัก ญี่ปุ่นเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยประชาชนทุกๆ จังหวัดเริ่มในปี พ.ศ. 2490 ส่วนเยอรมนีและอิตาลีกลายเป็นรัฐประชาธิปไตย ที่มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบผสมผสานตามแบบชุมชนยุโรปในอดีต

แน่นอน ต่อมาโมเดลระบบเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือนายกเทศมนตรีโดยตรง (Strong Executive Model) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐได้รับความนิยมมากขึ้นๆ ในยุโรปและทวีปอื่นๆ เนื่องจากตรวจสอบได้ง่าย ด้านหนึ่ง ฝ่ายบริหารเข้มแข็งและฉับไว ส่วนภาคประชาชนก็ตื่นตัวเพิ่มขึ้นและสามารถต่อรองและควบคุมกับฝ่ายบริหารได้

บทเรียนจากเกาหลีใต้

สหรัฐฯ สร้างเกาหลีใต้ให้เป็นระบอบเผด็จการทหารที่เข้มแข้งเพื่อสู้กับเกาหลีเหนือและค่ายสังคมนิยมที่อยู่เบื้องหลัง ขณะเดียวกันก็สร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหนัก-ภาพยนตร์-เมือง-กรรมกรของเกาหลีใต้ให้เติบใหญ่ จนในที่สุด ขบวนการประชาธิปไตยและเศรษฐกิจสมัยใหม่ก็สร้างเกาหลีใหม่ โค่นระบอบเผด็จการทหารลงไปในปี 2535 จากนั้นทั้งประชาธิปไตยระดับชาติและท้องถิ่นของเกาหลีใต้ก็เกิดขึ้นอวดสายตาชาวโลก

ประชาชนเกาหลีใต้ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศในปี 2537 และตั้งแต่นั้น เกาหลีใต้ก็กลายเป็นเสือตัวใหม่ 

หลายทศวรรษก่อน เกาหลีใต้เคยเป็นประเทศกำลังพัฒนาใกล้เคียงรัฐไทย คล้ายคลึงกันตั้งแต่ระดับทีมฟุตบอล ภาพยนตร์ จนถึงการปกครองแบบเผด็จการทหาร บัดนี้ เวลาผ่านไปไม่นาน การลงทุน สินค้าชั้นดีและภาพยนตร์คุณภาพจากเกาหลีใต้ก็ออกสู่สายตาชาวโลก ส่วนนักท่องเที่ยวไทยก็หลั่งไหลไปชมเกาหลีใต้ที่เจริญก้าวหน้าทุกๆ เมืองเหมือนในญี่ปุ่น เยาวชนไทยสนใจเรียนภาษาเกาหลี คนงานไทยหลั่งไหลไปหาทำงานที่นั่น ทุกๆ เมืองพัฒนาและงดงามด้วยระบบการบริหารจัดการท้องถิ่นของผู้ว่าฯ เลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อเพียง 30 ปีที่ผ่านมา

ถามว่าวันนี้ เกาหลีใต้ล้ำหน้ารัฐไทยไปไกลถึงไหนแล้ว?

บทเรียนจากอาเจะห์ อินโดนีเซีย

อาเจะห์ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา เป็นจังหวัดตอนเหนือสุดของเกาะ เป็นจุดแรกที่ศาสนาอิสลามปักฐานในอุษาคเนย์ และแพร่หลายออกไปตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 13 อาเจะห์เป็นรัฐเอกราชยาวนาน และถูกชวาเข้ายึดครอง แต่การต่อสู้เพื่อเอกราชก็ดำเนินมาตลอด รัฐบาลอินโดนีเซียเคยได้รับบทเรียนมาแล้ว หลังจากการเจรจาล้มเหลวส่งผลให้ติมอร์ตะวันออกแยกตัวออกไปตั้งรัฐเอกราชในปี 2545 จนกระทั่งเกิดสึนามิ ในปี พ.ศ. 2547 ที่ประชาชนในอาเจะห์สูญหายกว่า  2 แสนคน

เกิดการเจรจากันและยุติสงครามกลางเมือง รัฐบาลยอมถอนกำลังทหารออกจากอาเจะห์ และกระจายอำนาจให้อาเจะห์จัดระบบการปกครองท้องถิ่นของตนเองได้ในปี 2549 สันติภาพมาเยือนอาเจะห์พร้อมกับการเริ่มต้นของการปกครองตนเอง และตั้งแต่นั้น อาเจะห์เป็นจังหวัดที่มีการปกครองแบบพิเศษ มีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในจังหวัด

125 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย (พ.ศ. 2440-2565)

เปรียบเทียบ 5 อาณาบริเวณที่กล่าวมาข้างต้น คือ สหรัฐฯ ยุโรป เยอรมนี-ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเจะห์ รัฐไทยมีประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกับรัฐใดที่กล่าวมา เพราะรัฐไทยยอมจำนนต่อนักล่าเมืองขึ้น ยอมทำสัญญาการค้าเพื่อไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้น แต่การเสียเปรียบและความล้าหลังสลับซับซ้อนกว่ามาก เช่น เมื่ออำนาจเดิมยังอยู่ ก็ย่อมมีบทบาทครอบงำข่มเหงมากขึ้น

ประชาชนขาดการเรียนรู้ ขาดความตื่นตัวทางการเมือง ไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับผู้รุกราน แต่ถูกสอนให้สันทัดการกราบและเชื่อฟัง ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อรัฐไทยถูกห้อมล้อมด้วยอาณานิคม ชนชั้นนำจึงรวบอำนาจมากขึ้น และควบคุมทุกด้านโดยเฉพาะการบริหาร  การศึกษาและความนึกคิดทั้งด้านศาสนา ความเชื่อ และระเบียบพิธีการมากมาย ฯลฯ

การปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 จึงมีข้อจำกัดมาก ระบบราชการตั้งแต่ปี 2435 พยายามรักษาและควบคุมอำนาจได้แทบทุกด้าน การปกครองท้องถิ่นจึงอ่อนแอ การศึกษาเคลื่อนตัวช้า รัฐปิดกั้นโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วม ครั้นเกิดการขยายตัวของกลุ่มประเทศสังคมนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝั่งประเทศทุนนิยมก็ยิ่งต้องกระชับอำนาจ ไทยจึงถูกควบคุมด้วยระบบอำนาจและระบบราชการต่อไป ระบอบประชาธิปไตยถูกล้มล้างด้วยรัฐประหารเปิดทางให้ระบบอำนาจนิยมเข้าควบคุม 

กล่าวอีกแง่หนึ่ง ลัทธิล่าอาณานิคมทำให้ประเทศด้อยพัฒนาตื่นตัวและเรียนรู้จากการกดขี่ข่มเหงไร้เสรี

แต่ผู้คนในรัฐกึ่งเมืองขึ้นแบบไทยขาดโอกาสนั้น จึงมีชีวิตอยู่อย่างหลงผิด ขาดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

หลายปีมานี้ รัฐไทยกลายเป็นรัฐที่พัฒนาประชาธิปไตยล่าช้า (Late democratizing state) และกระจายอำนาจล่าช้า (Late decentralizing state)  วันนี้ จึงต้องเผชิญกับระบอบอำนาจนิยมแบบเต็มๆ รัฐไทยถูกฝ่ายอำนาจนิยมทำรัฐประหารถึง 13 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2557 ระบบรวมศูนย์อำนาจเข้มข้น ไม่ยอมปรับตัวในโลกยุคที่ระบบข่าวสารพัฒนาอย่างรวดเร็ว การแข่งขันด้านเศรษฐกิจรุนแรง และระบบบริหารยิ่งต้องกระชับและมีประสิทธิภาพ

ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก้าวไปไกลแล้ว ทิ้งให้ไทยถูกล่ามโซ่ไว้ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น พวกเขาได้ประสบการณ์ทั้งการต่อสู้  การเรียนรู้จากการตกเป็นเมืองขึ้น ได้ทั้งเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ

เพื่อก้าวไปข้างหน้า ไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับนานาอารยประเทศ รัฐไทยต้องเป็นรัฐประชาธิปไตย กฎหมายต้องเป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกๆ ฝ่ายได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาประเทศอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่ใช่ปล่อยให้คนบางคนบางกลุ่มอยู่ในอำนาจได้ ด้วยรัฐธรรมนูญจากการทำรัฐประหาร ออกแบบให้มีวุฒิสมาชิกจำนวนถึง 250 คนที่แต่งตั้งมามีสิทธิเหนือคนทั้งประเทศ และสืบทอดระบอบเผด็จการ

ในระดับการปกครองท้องถิ่น รัฐไทยต้องกระจายอำนาจสู่ทุกๆ ท้องถิ่นและทุกๆ จังหวัด รัฐต้องปฏิรูประบบการศึกษาให้นักเรียนประถมรู้จักและภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมา และนักเรียนมัธยมต้องได้เรียนรู้กลไกการบริหารขององค์กรปกครองท้องถิ่น ออกไปเรียนรู้จากท้องถิ่น และมองเห็นประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ดังเช่นที่เกิดในประเทศอื่นๆ  

รูปธรรมของการรณรงค์เพื่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ควรจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่า ฯทุกๆ จังหวัด โดยมีเหตุผลสำคัญคือ

1.ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดถือเป็นตำแหน่งสำคัญอันดับ 1 ของจังหวัด เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่บริหารจังหวัดต่างๆ และดูแลทุกข์สุขของประชาชน ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าของจังหวัดนั้นๆ  

2.ในความรับรู้ของทั้งภาครัฐและประชาชน ผู้ว่าฯ ก็คือตำแหน่งที่มีบทบาทมากที่สุดของจังหวัด

3.โลกพัฒนาไปมาก ในอดีต ผู้ว่าฯ ที่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง มาศึกษาเรียนรู้งานและบริหารงานช่วงเวลาหนึ่ง  หลายปีมานี้ เกิดปรากฏการณ์สำคัญ 3 อย่าง คือ 1.ระบบผู้บริหารเข้มแข็งหรือผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในประเทศต่างๆ มีตัวอย่างมากมาย  2.ภายในประเทศ ประชาชนมีการศึกษามากขึ้นเป็นลำดับ ในอดีต ผู้ว่าฯ แทบจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่จบ ธ.บ. และปริญญาโท ในจังหวัดนั้น ปัจจุบัน การศึกษาขยายออกไปมาก คนมีความรู้ ความสามารถและจบปริญญามากมาย ความต้องการของผู้คนในท้องถิ่นก็คือ ผู้นำที่มีการศึกษาดี และมีความสามารถในการบริหารโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และ 3.ระยะหลังๆ ผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัดย้ายราชการบ่อย เช่น 1-2 ปี และมีจังหวัดกว่าครึ่งหนึ่ง ผู้ว่าฯอายุ 59 ปี เท่ากับว่ามาทำงานเพียง 1 ปีก็จะเกษียณอายุราชการ เท่ากับโอกาสการแสดงฝีมือมีข้อจำกัดยิ่งมากขึ้นในระยะหลังๆ  

ล่าสุด  การเลือกตั้งและการบริหารงานของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครคนปัจจุบันในช่วงผ่านมา ได้ปลุกเร้าความสนใจของประชาชนทุกๆ จังหวัดในเรื่องการปกครองท้องถิ่นและความตื่นตัวทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง   ทั้งนี้เพราะผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุดได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น และได้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นและฝีมือการทำงานเป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง และต่อเนื่อง ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การทำงานชนิดไม่มีวันหยุด การออกไปตรวจดูและแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเอาใจใส่แทบทุกจุด ทั้งกลางวันและกลางคืน 

การเป็นห่วงเป็นใยปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการไปตรวจเยี่ยมและแก้ไขทันที การให้ความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติทุกระดับรวมทั้งการเข้าพบและรับฟังปัญหาจากประชาชนทุกสาขาอาชีพอย่างต่อเนื่อง การแสดงทัศนะและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เปิดรับปัญหาต่างๆ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชนต่างๆ อย่างที่ไม่เคยได้ยินจากผู้ว่าฯ คนใด และการเป็นคนรับฟังทุกๆ ความเห็น เป็นกันเองและให้เกียรติกับทุกๆ คน และการเป็นผู้นำที่เข้าหาผู้คน ไม่ห่างเหิน เสนอมุมมองด้านบวก ค้นหาทางออก เป็นทั้งกำลังใจและยืนเคียงข้างประชาชน.

ทั้งหมดนี้ ได้ส่งผลสะเทือนต่อคนไทยในต่างจังหวัดอย่างท่วมท้น มีแต่คนต่างจังหวัดออกมาพูดว่า อยากได้ผู้ว่าฯ แบบนี้ มาเป็นพ่อเมือง อยากได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ  ดีใจกับคน กทม.  ส่วนคน กทม. ก็บอกว่ารักผู้ว่าฯ คนนี้   ติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ ตลอด และขอให้ผู้ว่าฯ พักผ่อน ดูแลรักษาสุขภาพ ให้ได้ทำงานนานๆ           

ด้วยเหตุผลทั้งหมด จึงได้เวลารับฟังข้อเสนอของคนต่างจังหวัด คือเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกๆ จังหวัดได้แล้ว

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Authors

  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชำนาญในสาขาวิชาการเมืองการปกครอง ด้านการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์การเมืองและแนวคิดทฤษฎีประชาธิปไตย

  • ชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก วาดภาพเป็นอาชีพ แนวถนัดคืออบอุ่นพาสเทล แต่เมื่อต้องมาวาดงานหนักๆ สังคมการเมือง เธอข้ามรสนิยมตนเองอย่างมืออาชีพ เพื่อแมวสุดที่รัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *