ขอให้คิดถึงบรรพชนของเรา และคิดถึงลูกหลานของเรา
(Think of your forefathers, think of your posterity.)
John Adams (2nd U.S. President, 1738-1826)
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นการเลือกตั้งผู้นำเพียง 1 คนโดยประชาชน เพื่อให้เขาได้บริหารงานของจังหวัดหรือรัฐตามเวลาที่กฏหมายกำหนดไว้ เช่น 4 ปี หรือ 5 ปี (เมื่อครบวาระแล้ว จะสมัครรับเลือกต่อได้หรือไม่ ก็ต้องดูว่ากฎหมายระบุไว้ว่าอย่างไร) เราเรียกระบบนี้ในหลักการบริหารว่าเป็นระบบผู้บริหารสูงสุด (Chief Executive Officer หรือ CEO) คือมีหัวหน้าคนเดียว เป็นผู้บังคับบัญชา และมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารจังหวัดหรือรัฐ ผู้นำคนนี้มีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าสายงานต่างๆ และปลดออกจากตำแหน่งได้ทุกเมื่อ
หลายคนเรียกระบบนี้ว่า ระบบผู้บริหารเข้มแข็ง (Strong Executive Officer Form)
นี่คือระบบที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐ ซึ่งมิใช่ระบบที่อยู่ดีๆ ก็ตกลงมาจากฟ้า แต่มีที่มาทางประวัติศาสตร์ คนอเมริกันในอดีตคือคนอังกฤษที่อพยพหลบหนีภัยเผด็จการมา อังกฤษมีกษัตริย์เป็นผู้บริหารสูงสุด แต่จุดอ่อนของระบบดังกล่าวคือ มาจากการแต่งตั้ง (มักเป็นระบบสายเลือด สืบต่อกันมา) ไม่มีการตรวจสอบ ยิ่งกษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดมากเท่าใด ที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ระบบการบริหารแบบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ยิ่งรุนแรง
ด้วยเหตุดังกล่าว คนอังกฤษที่ใฝ่หาเสรีภาพในการคิดและการแสดงออกจึงเผชิญ 2 ภัยร้าย คือ ขาดเสรีภาพด้านศาสนาและด้านการเมือง
ผู้อพยพจึงมาสร้างสังคมใหม่ที่มีศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ และการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอิสระ และ 150 ปีต่อจากนั้น (1620-1776) ก็ทำสงครามสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม จัดตั้งรัฐเอกราช สร้างรัฐใหม่ ระบบประธานาธิบดีที่คนอเมริกันสถาปนา ผู้ว่าการรัฐทั้งหลาย และนายกเทศมนตรีจำนวนมากในเมืองต่างๆ ก็คือการประยุกต์ระบบกษัตริย์มาให้เข้ากับสังคมใหม่ นั่นคือ 1.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 2.มีวาระที่แน่นอน 3.ไม่มีระบบแต่งตั้ง 4.ถูกอภิปรายและตรวจสอบโดยสภาประชาชนแต่ละระดับเป็นระยะ และ 5.หากการบริหารงานผิดพลาด จะถูกลงโทษ ทั้งโหวตให้ออก (Impeachment) หรือถูกฟ้องร้องและให้ศาลตัดสินเอาผิด
โดยสรุป ระบบผู้บริหารเข้มแข็งที่กล่าวมา ก็คือระบบกษัตริย์ในอดีตนั่นเอง แต่ระบบประธานาธิบดีที่เกิดขึ้นใหม่มาจากประชาชน ควบคุมและตรวจสอบโดยประชาชน ทำงานรับใช้ประชาชน มีวาระการทำงานที่ชัดเจน ไม่มีการนับปีผิด หรือเดินหนีนักข่าวทุกครั้ง หรือเอา รปภ.รุมล้อมเป็นไข่ในหิน ไม่เคยลงนั่งจับเข่าคุยกับประชาชนอย่างจริงๆ จังๆ ซึ่งแบบนี้ล้าหลังยิ่งกว่าระบบกษัตริย์โบราณด้วยซ้ำ
ระยะหลังๆ เมื่อกษัตริย์ของอังกฤษถูกลดอำนาจลงไป โดยรัฐสภามีบทบาทแทน คนอังกฤษที่ไม่อพยพออกนอก ใช้ระบบรัฐสภา คุมนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากในสภาฯ ระบบของอังกฤษจึงต่างจากของสหรัฐ จะเห็นว่าของสหรัฐเน้นความเป็นผู้นำสูงกว่า ใช้อำนาจเด็ดขาดได้ ชนะเลือกตั้งแบบมาเดี่ยว แต่ยังมีระบบสภาควบคุม ตรวจสอบ และพร้อมที่จะลงโทษ หากพบปัญหาและเกิดความเสียหายในการทำงาน
เหตุใดประชาชนไทยได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น?
ข้อที่หนึ่ง เพราะประชาชนทั่วประเทศได้เห็นบทบาทและความทุ่มเทของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แน่นอน คนเราไม่เหมือนกันหมด คนเก่งในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน แต่โดยหลักการ นักบริหารพัฒนาฝีมือได้ มีการอบรมได้ เรียนรู้จากกันได้ พากันไปดูงานและกลับมาพัฒนาจังหวัดของตนเองได้และทำได้ดีกว่า ยิ่งประชาชนร้องเรียนมากๆ ยิ่งผู้ว่าฯ เข้าหาประชาชน รับฟังประชาชน สื่อทำงานดี นักวิชาการ องค์กรธุรกิจ องค์กรพัฒนา และมวลชนเข้าหนุนช่วยเต็มที่ งานก็จะปรับปรุงมากขึ้นๆๆ และดีขึ้นๆๆๆ เป็นลำดับ
ข้อที่สอง การได้เห็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เป็นทั้งการให้การศึกษาครั้งใหญ่ ยิ่งมีข่าวมาก มีการทำบันทึกให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถติดตามและส่งต่อๆ ได้ การเรียนรู้จึงพัฒนาเป็นความตระหนัก แรงจูงใจ แรงกระตุ้น ให้ประชาชนทั่วประเทศเกิดความตื่นตัวเรื่องการปกครองการบริหารและการพัฒนาท้องถิ่นอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ไม่ว่าจากแหล่งไหน ที่สำคัญ ระบบการศึกษาแต่ละระดับในประเทศนี้ไม่เคยสอนสิ่งที่ประชาชนได้เห็นจากข่าวและบทบาทการเลือกตั้งของผู้ว่าฯ ชัชชาติ คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ
เอ๊ะ แล้วทำไม คนไทยในต่างจังหวัดจึงไม่มีสิทธิเหมือนคนกรุงเทพฯ บ้าง?
ข้อที่สาม เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ ในอดีตได้รับการยกย่องในฐานะ ข้าหลวง / พ่อเมือง มีความเป็นมายาวนานในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา เป็นประธานในพิธีการต่างๆ แทบทุกงานของจังหวัด ตำแหน่งนี้จึงเป็นหน้าตาของเมือง และในทางกฎหมายก็คือ เป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด ขณะที่ นายก อบจ. ซึ่งเริ่มก่อตั้งครั้งแรกในปี 2498 มหาดไทยกลับให้ผู้ว่าฯ ควบ 2 เก้าอี้ ในช่วง 20 ปีมานี้ เพิ่งมีการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยตรงจากประชาชน แต่ก็เกิดปัญหา 2 ด้าน ใช้อำนาจมหาดไทยครอบงำท้องถิ่นอย่างไม่อายใคร
ผลก็คือ ประชาชนไม่ค่อยได้เห็นข่าวเกี่ยวกับนายก อบจ. และอีกด้านหนึ่ง ตัวนายก อบจ. เองก็ไม่ค่อยสนใจแสดงบทบาทเป็นผู้นำของจังหวัด ทั้งๆ ที่ตนเองมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในทุกๆ อำเภอ จัดรายการพบปะประชาชน ขอฟังความเห็นของประชาชนก็ไม่ได้ทำ ขณะนี้ ผู้ว่าฯ มาดำรงตำแหน่งปี 2 ปีย้าย ประชาชนในจังหวัดแทบไม่มีใครรู้จักและพบเห็น แต่คำว่า ผู้ว่าฯ นั้นมีที่มายาวนาน และเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางที่มีอำนาจในการควบคุมและบริหารจังหวัดต่างๆ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานในอดีต แม้ไม่เคยปรากฏตัว ผู้คนก็รู้จักคำนี้ดี
ข้อที่สี่ การที่ตัวแทนฝ่ายประชาชนได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนทุกอำเภอให้ก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าฯ มีการหาเสียงแข่งขันกันระหว่างผู้สมัครหลายคนในตำบลและอำเภอต่างๆ ทั้งจังหวัด จึงเป็นบรรยากาศใหม่ที่จะเป็นผลดีทุกๆ ด้านต่อประชาชนและจังหวัด การไปฟังการปราศรัยหาเสียงจะมีจำนวนมากขึ้น มีคนสนใจเข้าฟังมากขึ้น มีการถกเถียงในหมู่ประชาชนมากขึ้น มีการเรียนรู้เรื่องนโยบาย การตรวจสอบประวัติของผู้สมัครแต่ละคน การตั้งวงพูดคุยกัน ตลอดจนการเชิญผู้สมัครมาพบปะประชาชนอย่างต่อเนื่อง
จะมีการเสนอข่าวสารอย่างคึกคักทุกๆ ระดับ แน่นอน เมื่อมีการหาเสียง การปราศรัย ก็จะมีการถกกันเรื่องผู้สมัครคนไหนเป็นคนที่ใด มีญาติพี่น้องอยู่ที่ไหน ครอบครัวเป็นอย่างไร ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลสำคัญยิ่งต่อการเมืองและการเรียนรู้ทางการเมืองระดับท้องถิ่นและลามไปถึงระดับชาติ
ข้อที่ห้า ความสนใจของประชาชนในท้องถิ่น จะขยายลามออกไปจากการเลือกตั้งถึงบทบาทของผู้ว่าฯ เลือกตั้งในเรื่องงาน มีการติดตามผลงานต่างๆ ไปขอพบเพื่อร้องเรียนปัญหาต่างๆ ที่จังหวัดควรแก้ไข เปิดเผยอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัด แน่นอน เรื่องการทับซ้อน (Overlapping) ของงานต่างๆ ทั้งของฝ่ายภูมิภาค ส่วนกลางย่อมจะถูกนำมาเปิดเผย และแนวทางแก้ไข เรื่องอำนาจของส่วนภูมิภาคที่ผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจ เนื่องจากงานหลายส่วนขึ้นต่อกระทรวงอื่นๆ ดังที่เรียกว่าการรวมศูนย์อำนาจแบบแยกส่วน-ขาดเอกภาพ (Fragmented centralization)
ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นประเด็นสำคัญในแทบทุกจังหวัด เนื่องจากปัญหาเหล่านี้มีการเปิดเผยน้อยมาก และไม่เคยได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลที่ผ่านมา ด้านหนึ่งก็เพราะไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดมาจากการเลือกตั้งและบริหารงานจนครบวาระ (ยกเว้นชุดเดียวในปี 2544-2548) อีกด้านหนึ่ง ก็คือการสลับไปมาระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับการยึดอำนาจ ทำให้ประเด็นสำคัญในการบริหารประเทศกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงต่างๆ และการปะทะกันทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เรื่องการทับซ้อนและการแยกส่วนของอำนาจการบริหารซึ่งควรจะเป็นเรื่องใหญ่กลับกลายเป็นเรื่องเล็ก
และอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ ระบบการศึกษาไทยระดับอุดมศึกษาไม่เคยเปิดวิชาการปกครองท้องถิ่นให้นักศึกษาคณะต่างๆ ยกเว้นที่สอนกันอยู่ก็มีคนเรียนไม่มากนักคือ สาขารัฐศาสตร์และการบริหารงานภาครัฐ (หรือที่เรียกว่า รัฐประศาสนศาสตร์)
กล่าวโดยสรุป การเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะเปิดโอกาสให้ปัญหาต่างๆ ถูกตีแผ่ออกเป็นลำดับ และจะนำไปสู่ความตื่นตัวและการรับรู้ของประชาชน ตลอดจนความพยายามของหลายๆ ฝ่ายที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญโดยเฉพาะการรวมศูนย์อำนาจ การทับซ้อนและการแยกส่วนของอำนาจดังที่ได้กล่าวมา
ข้อที่หก เมื่อผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง โครงการต่างๆ ก็จะนำไปใช้แก้ไขปัญหาของจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาที่เคยถกกันและนำเสนอในการหาเสียง ตลอดจนปัญหาที่คาบเกี่ยวกับเทศบาล และอบต. ที่ประชาชนย่อมปรารถนาที่จะให้อปท. ทุกระดับร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
โปรดพิจารณาว่าญี่ปุ่นมีระบบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศในปี 2490 หรือ 75 ปีก่อน และเกาหลีใต้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี 2535 หรือ 30 ปีก่อน คนที่ไปเยือนไม่ว่าจังหวัดใดใน 2 ประเทศนี้ก็จะพบว่าท้องถิ่นได้รับการปรับปรุงมากขึ้นๆ แทบทุกด้าน ท่านจะได้เห็นการไล่กวดและความคืบหน้าของเกาหลีใต้ เนื่องจากว่าญี่ปุ่นพัฒนาท้องถิ่นมายาวนานกว่ามาก
ปัญหาง่ายๆ ที่ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง จะต้องตอบและค้นหาแนวทางแก้ไข เช่น
- เหตุใดจึงมีมหาวิทยาลัยมากมายในเมืองหลวง (ราว 70 แห่ง) และที่ตัวเมืองเชียงใหม่ถึง 11 แห่ง แต่จังหวัดอื่นๆ กลับมีมหาวิทยาลัยแห่งเดียวหรือไม่มีเลย
- เหตุใดความเจริญแทบทุกด้านจึงไปกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ และบางเมืองของประเทศ เหตุใดจึงเกิดความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ เหตุใดประชาชนไทยซึ่งเสียภาษีอากรและเป็นพลเมืองของประเทศนี้เหมือนกันกลับได้รับบริการจากภาครัฐที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้
- เหตุใดระบบรถไฟฟ้าจึงไปกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด แต่จังหวัดอื่นๆ ไม่มีเลย ฯลฯ
แน่นอน ผู้ว่าฯ ของหลายจังหวัดที่อยู่ใกล้กันอาจมีการประชุม และหาทางแก้ไขปัญหาบางอย่าง
ร่วมกันเป็นกลุ่มจังหวัด ตลอดจนนำเรื่องเหล่านี้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้ทุกๆ จังหวัดมีความเจริญที่เป็นธรรม ไม่เกิดความแตกต่างกันมากเกินไปเช่นที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้
และ ข้อที่เจ็ด ความเข้มแข็งและการตื่นตัวของคนในท้องถิ่น ตลอดจนโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังที่ได้กล่าวมานี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดการยึดอำนาจในครั้งต่อไป หรือแม้แต่รัฐบาลอำนาจนิยม เพราะเมื่อนำความเข้มแข็งของแต่ละจังหวัดมารวมกัน เราก็จะเห็นแล้วว่าบัดนี้ และต่อไปนี้
อำนาจของประชาชนไทยจะมากขึ้นอีกหลายเท่า ถ้าหากพวกเขาในแต่ละจังหวัดได้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเอง