ฟื้นคืนจิตวิญญาณสมุดปกเหลืองของปรีดี สู่ รัฐธรรมนูญคนจน ปกเขียว

การเดินทางเพื่อหาทางออกร่วมกันในช่วงเช้าอันแสนวุ่นวาย ความยุ่งเหยิงของการเดินทางในเช้าเสาร์ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่เคยคาดหวังได้ แต่เรายังคงมีโชคอยู่บ้างที่สายฝนไม่ได้โปรยปรายลงมาเพื่อซ้ำเติม นั่นคือ ความโชคดีเล็กๆ ที่ทำให้เราคิดว่า ชีวิตคงยังไม่แย่จนเกินไปนัก ความหวังยังคงอยู่ปลายทาง แสงสว่างยังทออยู่ไกลๆ ณ ที่แห่งนั้น จิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงยังคงไหลวนอยู่ในตัว พลังของความเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตรเสมอ ถึงแม้ว่าปลายทางของการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจนำพาเราไปสู่อีกโลกหนึ่งก็ตาม แต่อย่างน้อย เราก็ยังหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ดี จริงไหม ความหวังสูงสุดของการเปลี่ยนแปลง วงระดมความเห็น รัฐธรรมนูญฉบับคนจน เรื่องการกระจายอำนาจ ที่ The Voters จัดร่วมกับ สมัชชาคนจน ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 เสาหลักของประชาธิปไตยถูกหักโค่นลงอย่างไม่ไยดี กฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกทิ้ง การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นไม่เพียงแต่ดูแคลนกฎหมายสูงสุด ยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนจนและประชาชนทุกคน รัฐราชการกลับผงาดขึ้นมาครองแผ่นดิน การไม่ฟังเสียงทัดทานของคนในสังคม ปัญหาของคนในสังคมถูกเพิกเฉย มีการแทรกแซงจากชายชุดเขียว ความสั่นคลอนของความเชื่อมั่นภายในเนื้อเพลงที่เปิดกล่อมซ้ำไปซ้ำมาว่า ความสุขของเราจะกลับมา เวลาผ่านไป ว่างเปล่า เดียวดาย แต่มากกว่านั้น คือ การที่คณะบุคคลเรียกสั้นๆ ว่า คสช. ใช่ เขาคือ คนกลุ่มเดียวกันกับคนที่ร้องเพลงนั่น ได้เริ่มกระบวนการคืนความสุขในแบบของเขาให้กับเรา ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา

ทำไมการเรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา และล้างหนี้การศึกษา จึงเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในระดับฐานรากที่สุด

เมื่อพูดถึงกระบวนการสร้างประชาธิปไตย เรามักนึกถึงกรอบการออกแบบสถาบันการเมืองที่มีความซับซ้อน การวางเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ หรืออาจพูดถึงรากฐานความเข้าใจของประชาธิปไตยผ่านระบบวัฒนธรรมต่างๆ ที่ล้วนเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ล้วนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ในทางกลับกัน หากเราตั้งคำถามใหม่ว่าอะไรคือรูปธรรมของอุดมคติที่ซับซ้อนของคำว่าประชาธิปไตย? มันก็คือระบบการเมืองที่เราอยากให้เราก้าวพ้นจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ธำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับรองเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการทำลายข้อจำกัดที่กีดขวางการเลื่อนลำดับชั้น ลักษณะเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ หรือสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้คนได้เริ่มชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ในบทความนี้ผมอยากชวนผู้อ่านทุกท่านพิจารณาหนึ่งในเงื่อนไขการสร้างประชาธิปไตยในระดับพื้นฐานที่สุดคือ สวัสดิการด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและหนี้ที่เกิดจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อพูดถึง การเรียนฟรี คำนี้ถูกใช้เป็นคำใหญ่ในสังคมไทย ทั้งนักวิชาการด้านการศึกษา นักการเมือง  นักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือสื่อมวลชน ต่างพูดถึงคำคำนี้ราวกับเป็นคำในอุดมคติ เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรเป็น แต่เมื่อถกเถียงกันอย่างจริงจังกับพบว่า มันเป็นเรื่องที่ดี แต่ ไม่ต้องมีก็ได้ นับเป็นข้อสรุปที่มีความย้อนแย้งอย่างยิ่งในประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ เพราะเราเชื่ออย่างสนิทใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ เป็นไปไม่ได้ มันน่ารักถ้าอยู่ในนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ แต่มักกลายเป็นปีศาจร้ายเมื่อ ถูกนำเสนอและเรียกร้องแบบจริงจัง สำหรับประเทศไทย นักเรียนเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สาเหตุหลักมาจากความจนและภาระทางเศรษฐกิจ การแก้ไขที่ง่ายที่สุดสามารถเริ่มได้ที่การทำให้การเรียนหนังสือทุกระดับไม่เป็นต้นทุนติดลบ นักเรียนทุกคนในการศึกษาภาคบังคับหากได้รับค่าครองชีพ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน เงินนี้จะช่วยประคองชีวิต ประคองค่าเดินทางและอาหารเย็น อาหารกลางวันได้ และทำให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กีดขวางชีวิตก่อนถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้หายไป ดังนั้น เมื่อคนส่วนมากสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยไม่ถูกกีดขวางจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่จำเป็นต้องคิดตามมาก็คือ การเปลี่ยนความคิดว่าการศึกษาคือการลงทุน