ทำไมการเรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา และล้างหนี้การศึกษา จึงเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในระดับฐานรากที่สุด

เมื่อพูดถึงกระบวนการสร้างประชาธิปไตย เรามักนึกถึงกรอบการออกแบบสถาบันการเมืองที่มีความซับซ้อน การวางเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ หรืออาจพูดถึงรากฐานความเข้าใจของประชาธิปไตยผ่านระบบวัฒนธรรมต่างๆ ที่ล้วนเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ล้วนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ในทางกลับกัน หากเราตั้งคำถามใหม่ว่าอะไรคือรูปธรรมของอุดมคติที่ซับซ้อนของคำว่าประชาธิปไตย? มันก็คือระบบการเมืองที่เราอยากให้เราก้าวพ้นจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ธำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับรองเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการทำลายข้อจำกัดที่กีดขวางการเลื่อนลำดับชั้น ลักษณะเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ หรือสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้คนได้เริ่มชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ในบทความนี้ผมอยากชวนผู้อ่านทุกท่านพิจารณาหนึ่งในเงื่อนไขการสร้างประชาธิปไตยในระดับพื้นฐานที่สุดคือ สวัสดิการด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและหนี้ที่เกิดจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อพูดถึง การเรียนฟรี คำนี้ถูกใช้เป็นคำใหญ่ในสังคมไทย ทั้งนักวิชาการด้านการศึกษา นักการเมือง  นักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือสื่อมวลชน ต่างพูดถึงคำคำนี้ราวกับเป็นคำในอุดมคติ เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรเป็น แต่เมื่อถกเถียงกันอย่างจริงจังกับพบว่า มันเป็นเรื่องที่ดี แต่ ไม่ต้องมีก็ได้ นับเป็นข้อสรุปที่มีความย้อนแย้งอย่างยิ่งในประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ เพราะเราเชื่ออย่างสนิทใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ เป็นไปไม่ได้ มันน่ารักถ้าอยู่ในนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ แต่มักกลายเป็นปีศาจร้ายเมื่อ ถูกนำเสนอและเรียกร้องแบบจริงจัง สำหรับประเทศไทย นักเรียนเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สาเหตุหลักมาจากความจนและภาระทางเศรษฐกิจ การแก้ไขที่ง่ายที่สุดสามารถเริ่มได้ที่การทำให้การเรียนหนังสือทุกระดับไม่เป็นต้นทุนติดลบ นักเรียนทุกคนในการศึกษาภาคบังคับหากได้รับค่าครองชีพ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน เงินนี้จะช่วยประคองชีวิต ประคองค่าเดินทางและอาหารเย็น อาหารกลางวันได้ และทำให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กีดขวางชีวิตก่อนถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้หายไป ดังนั้น เมื่อคนส่วนมากสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยไม่ถูกกีดขวางจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่จำเป็นต้องคิดตามมาก็คือ การเปลี่ยนความคิดว่าการศึกษาคือการลงทุน