เดินเลียบน้ำแม่ข่า ในน้ำมีคน: แม่ข่าในกิโลเมตรก่อนหน้าและถัดไป

หมายเหตุ: ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เสนอว่า ควรเรียกแม่ข่าว่า ‘แม่น้ำ’ ไม่ใช่ ‘คลอง’ เหตุหนึ่งเพราะคนเมืองในอดีตเรียกว่าน้ำแม่ข่า ไม่ใช่คลองแม่ข่า เหตุหนึ่งเพราะแม่ข่าเป็นน้ำธรรมชาติไหลลงมาจากดอยสุเทพ จากหลักฐานโบราณไม่มีการเรียกแม่ข่าว่าคลอง ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะใช้คำว่า น้ำแม่ข่า เป็นหลักเท่าที่จะทำได้ ข้อความบางส่วนจะคงไว้ว่า ‘คลอง’ ตามคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวและเอกสารการพัฒนาเมืองในยุคหลัง การปรับภูมิทัศน์แม่ข่าระยะ 750 เมตรแรกเปลี่ยนใบหน้าแม่ข่าราวน้ำคนละสาย จากน้ำเน่าในระดับ 5 ถูกปรุงแต่งด้วยกลิ่นอโรมาของโอกาสทางเศรษฐกิจตลอดความยาวตั้งแต่ถนนระแกงถึงประตูก้อม แม่น้ำสวยงามประดับประดาด้วยดอกไม้สีสดใส ผู้คนยิ้มแย้มอัธยาศัยดี ร้านค้าต่างปรับตัวให้กลมกลืนกับบรรยากาศแบบโอตารุ  แม้ว่าฉายานามนี้จะขัดอกขัดใจ เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง อยู่ไม่น้อย “ก็ทำไมต้องโอตารุ เชียงใหม่ก็คือเชียงใหม่” แม่ข่ามีความยาวทั้งหมด 31 กิโลเมตร ส่วนที่ไหลผ่านเข้ามาในเทศบาลเมืองเชียงใหม่มี 11 กิโลเมตร แม้ผู้คนมากมายจะอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสายเดียวกัน แต่เส้นทางคดโค้งของลำน้ำกลับขีดเขียนเรื่องราวผู้คนในชุมชนแต่ละแห่งต่างออกไป ใบหน้าใหม่ของแม่ข่าทำให้ผู้อยู่อาศัยเดิมรวมถึงคนภายนอกมองเห็นเหมืองทองคำสะท้อนอยู่ในเงาน้ำซึ่งครั้งหนึ่งมีสีดำและเน่าเหม็น แม้ปัญหาหลักอย่างสิทธิในที่อยู่อาศัยจะยังไม่ถูกแก้ แต่เรือลำไหนจะกล้าขวางกระแสน้ำ ความสำเร็จของแม่ข่าในระยะ 750 เมตรแรกไม่สามารถกลบคำถามที่มีต่ออนาคตของแม่ข่าในกิโลเมตรถัดไป แม่ข่าไม่ได้มีเพียง 750 เมตร ตลอดความยาว 11 กิโลเมตรที่แม่ข่าไหล่ผ่านเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ยังคงมีผู้คนและเรื่องราวดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ We Walk