ปิยนุช โคตรสาร: คุยความตายในประเทศคนหายไปเฉยๆ

คุณลองคิดภาพห้องสีดำว่างเปล่าหนึ่งห้อง ลอยคว้างโดดเดี่ยวอยู่แยกขาดจากทุกอย่าง ในห้องนั้นบรรจุคนมากมายมาจากทุกส่วนทุกมุมของสังคม ความมืดคือความชัดเจนที่สุดในห้องนี้ ทุกคนเดินชนกันไปกันมาเพื่อพยายามหาทางออก แต่ยิ่งหา รังแต่จะพากันสะดุดล้มลงระเนนระนาด ความมืดคืออุปสรรคของทุกสิ่ง  การยื่นเทียนเล่มเล็กจิ๋วให้แก่คนในห้องนั้นคนละเล่ม จุดประกายไฟเพียงหนึ่งกะพริบตา แล้วปล่อยให้การส่งต่อความสว่างเล็กๆ จากมือสู่มือ นำไปสู่การมองเห็นทางออกจากห้องแห่งนี้ คือหลักคิดที่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ใช้ในการทำงานขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย “จุดเทียนดีกว่า ก่นด่าความมืด” เธอว่า ส่วนเราเห็นด้วยทั้ง 2 แบบ องค์กรแอมเนสตี้ทำหลายเรื่อง ทั้งประเด็นการละเมิดสิทธิทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย ผู้ถูกลืมเบื้องหลังกรงขัง โควิด-19 และเรือนจำ ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล ประเด็นแรก ข้อมูลจากเพจ Amnesty International Thailand ระบุว่า ทุกปี เกือบ 1 ใน 3 ของชายไทยที่อายุถึงเกณฑ์ต้องเข้ารับราชการตามกำหนดในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพไทยและนักการเมืองจะชี้แจงว่าดูแลทหารเกณฑ์ดุจญาติมิตรในครอบครัว แต่หลักฐานที่น่าเชื่อถือก็ได้ชี้ชัดในทางปฏิบัติจริง ทหารเกณฑ์จำนวนมากต้องเผชิญความรุนแรง ความอับอาย การละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะทหารเกณฑ์ที่มีความหลากหลายทางเพศ มักตกเป็นเป้าการละเมิดเนื่องวิถีทางเพศและการแสดงออกทางอัตลักษณ์