ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี: เงินบาทแรกถึงบาทสุดท้ายต้องกลายเป็นรัฐสวัสดิการ

“คุณเชื่อไหมว่าคนเท่ากัน” ธรรมศาสตร์, เดือนตุลาคม 2022 ลมหนาวที่พัดผ่านมา ทำให้ผมหวนคิดถึงสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไป ตั้งแต่ลมมรสุมที่พัดผ่านเกิดหยาดฝนโปรยปรายหนาแน่นจนเกิดน้ำท่วม หน้าหนาวที่มีระยะเวลาน้อยลงในแต่ละปี สวนทางกับราคาสินค้าข้าวของเครื่องใช้มีราคาที่สูงขึ้น ตรงกันข้ามกับค่าครองชีพหรือค่าแรงที่ได้รับในแต่ละเดือน ยังไม่นับคุณภาพชีวิตที่แต่ละครอบครัวมีต้นทุนในการเริ่มต้นไม่เหมือนกัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณภาพชีวิตของคนในประเทศยังเหมือนเดิม  ผมนึกถึงลมหนาว สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในสังคมไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ระหว่างสนทนากับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา นักวิชาการคนสำคัญแห่งยุคนี้ ผู้ผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการ ผมคิดถึงเรื่องลมหนาวบ่อยครั้ง ไม่ใช่เพราะว่าสถานที่ที่กำลังพูดคุยอยู่ในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมคิดถึงสังคมที่อาจจะพัฒนาไปข้างหน้าได้ ถ้าหากเราเริ่มต้นมองคนให้เท่ากัน บทสนทนาในห้องเรียนที่เป็นมากกว่าห้องเรียนตามคาบวิชา ในมหาวิทยาลัย ในที่นี้หมายถึงห้องเรียนที่เป็นโลกกว้าง โลกกว้างสำหรับทุกคน ถ้าจะให้นิยามโดยง่าย รัฐสวัสดิการสำหรับคุณ คืออะไร สำหรับผม รัฐสวัสดิการเป็นรูปแบบรัฐหนึ่ง โดยไม่ได้พูดถึงรัฐระดับท้องถิ่น แต่ความสำคัญของรัฐในที่นี้คือ เงินตั้งแต่บาทแรกจนถึงบาทสุดท้ายจะกลายมาเป็นเงินสวัสดิการสำหรับประชาชน พูดง่ายๆ ก็คือ ชีวิตของคนเป็นสิ่งสำคัญ สวัสดิการของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของรัฐ ซึ่งต่างกับ รัฐประเพณี ที่ให้ความสำคัญกับประเพณี รัฐศาสนา ให้ความสำคัญกับศาสนา รัฐทุนนิยมก็ให้ความสำคัญกับทุน หรือจะเป็นแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของคนคนหนึ่ง  จากเรื่องคนเท่ากัน ครั้งหนึ่งคุณเคยบอกว่า คนเท่ากัน คือจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อยากให้ขยายความเรื่องนี้

ศูนย์เด็กเล็ก-ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำสวัสดิการจากการกดทับของอำนาจส่วนกลาง

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 นับเป็นโศกนาฏกรรมสำคัญสำหรับประเทศไทย ประจวบเหมาะกับการครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การกราดยิงในศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นความสูญเสียสำคัญที่สะท้อน ความรุนแรงในระดับกลุ่มย่อยที่สูงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การชดเชยเยียวยา ปัญหาอาวุธปืน ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) รวมถึงจรรยาบรรณและบทบาทของสื่อในการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ต่างๆ มีหลายเรื่องที่สะท้อนความบกพร่องจากการถอดบทเรียนในอดีต และจำเป็นต้องมีการเรียนรู้และถอดบทเรียนต่อไป แต่ความสูญเสียนี้ชวนให้เราคิดว่า ชีวิตของเด็กเล็กทั่วประเทศก่อนเหตุการณ์กราดยิง ว่าพวกเขาส่วนมากได้รับการใส่ใจจากรัฐมาน้อยเพียงใด รายจ่ายในการเลี้ยงเด็ก 1 คนจนอายุ 18 ปี เป็นค่าใช่จายโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 1,000,000 บาท หรือเดือนละ ประมาณ 4,500 บาท รัฐบาลอุดหนุนเงินเลี้ยงดูเด็กสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ เดือนละ 600 บาท หรือเพียงร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย ลักษณะเช่นนี้ไม่แปลกนักที่เด็กที่เกิดในครัวเรือนรายได้น้อยจะมีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษาเรื่อยๆ เด็กที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ราว 100 คน มีโอกาสในการเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 เพียงแค่ 30 คน เหตุผลหลักของการตกออกแต่ละช่วงอายุ ยังเป็นเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ฟื้นคืนจิตวิญญาณสมุดปกเหลืองของปรีดี สู่ รัฐธรรมนูญคนจน ปกเขียว

การเดินทางเพื่อหาทางออกร่วมกันในช่วงเช้าอันแสนวุ่นวาย ความยุ่งเหยิงของการเดินทางในเช้าเสาร์ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่เคยคาดหวังได้ แต่เรายังคงมีโชคอยู่บ้างที่สายฝนไม่ได้โปรยปรายลงมาเพื่อซ้ำเติม นั่นคือ ความโชคดีเล็กๆ ที่ทำให้เราคิดว่า ชีวิตคงยังไม่แย่จนเกินไปนัก ความหวังยังคงอยู่ปลายทาง แสงสว่างยังทออยู่ไกลๆ ณ ที่แห่งนั้น จิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงยังคงไหลวนอยู่ในตัว พลังของความเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตรเสมอ ถึงแม้ว่าปลายทางของการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจนำพาเราไปสู่อีกโลกหนึ่งก็ตาม แต่อย่างน้อย เราก็ยังหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ดี จริงไหม ความหวังสูงสุดของการเปลี่ยนแปลง วงระดมความเห็น รัฐธรรมนูญฉบับคนจน เรื่องการกระจายอำนาจ ที่ The Voters จัดร่วมกับ สมัชชาคนจน ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 เสาหลักของประชาธิปไตยถูกหักโค่นลงอย่างไม่ไยดี กฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกทิ้ง การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นไม่เพียงแต่ดูแคลนกฎหมายสูงสุด ยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนจนและประชาชนทุกคน รัฐราชการกลับผงาดขึ้นมาครองแผ่นดิน การไม่ฟังเสียงทัดทานของคนในสังคม ปัญหาของคนในสังคมถูกเพิกเฉย มีการแทรกแซงจากชายชุดเขียว ความสั่นคลอนของความเชื่อมั่นภายในเนื้อเพลงที่เปิดกล่อมซ้ำไปซ้ำมาว่า ความสุขของเราจะกลับมา เวลาผ่านไป ว่างเปล่า เดียวดาย แต่มากกว่านั้น คือ การที่คณะบุคคลเรียกสั้นๆ ว่า คสช. ใช่ เขาคือ คนกลุ่มเดียวกันกับคนที่ร้องเพลงนั่น ได้เริ่มกระบวนการคืนความสุขในแบบของเขาให้กับเรา ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา

ทำไมการเรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา และล้างหนี้การศึกษา จึงเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในระดับฐานรากที่สุด

เมื่อพูดถึงกระบวนการสร้างประชาธิปไตย เรามักนึกถึงกรอบการออกแบบสถาบันการเมืองที่มีความซับซ้อน การวางเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ หรืออาจพูดถึงรากฐานความเข้าใจของประชาธิปไตยผ่านระบบวัฒนธรรมต่างๆ ที่ล้วนเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ล้วนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ในทางกลับกัน หากเราตั้งคำถามใหม่ว่าอะไรคือรูปธรรมของอุดมคติที่ซับซ้อนของคำว่าประชาธิปไตย? มันก็คือระบบการเมืองที่เราอยากให้เราก้าวพ้นจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ธำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับรองเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการทำลายข้อจำกัดที่กีดขวางการเลื่อนลำดับชั้น ลักษณะเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ หรือสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้คนได้เริ่มชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ในบทความนี้ผมอยากชวนผู้อ่านทุกท่านพิจารณาหนึ่งในเงื่อนไขการสร้างประชาธิปไตยในระดับพื้นฐานที่สุดคือ สวัสดิการด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและหนี้ที่เกิดจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อพูดถึง การเรียนฟรี คำนี้ถูกใช้เป็นคำใหญ่ในสังคมไทย ทั้งนักวิชาการด้านการศึกษา นักการเมือง  นักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือสื่อมวลชน ต่างพูดถึงคำคำนี้ราวกับเป็นคำในอุดมคติ เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรเป็น แต่เมื่อถกเถียงกันอย่างจริงจังกับพบว่า มันเป็นเรื่องที่ดี แต่ ไม่ต้องมีก็ได้ นับเป็นข้อสรุปที่มีความย้อนแย้งอย่างยิ่งในประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ เพราะเราเชื่ออย่างสนิทใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ เป็นไปไม่ได้ มันน่ารักถ้าอยู่ในนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ แต่มักกลายเป็นปีศาจร้ายเมื่อ ถูกนำเสนอและเรียกร้องแบบจริงจัง สำหรับประเทศไทย นักเรียนเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สาเหตุหลักมาจากความจนและภาระทางเศรษฐกิจ การแก้ไขที่ง่ายที่สุดสามารถเริ่มได้ที่การทำให้การเรียนหนังสือทุกระดับไม่เป็นต้นทุนติดลบ นักเรียนทุกคนในการศึกษาภาคบังคับหากได้รับค่าครองชีพ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน เงินนี้จะช่วยประคองชีวิต ประคองค่าเดินทางและอาหารเย็น อาหารกลางวันได้ และทำให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กีดขวางชีวิตก่อนถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้หายไป ดังนั้น เมื่อคนส่วนมากสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยไม่ถูกกีดขวางจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่จำเป็นต้องคิดตามมาก็คือ การเปลี่ยนความคิดว่าการศึกษาคือการลงทุน

ปรสิต

ไม่ต้องถ่อสังขารถึงจังหวัดไกลปืนเที่ยง ไม่ต้องเป็นคนช่างสังเกต เอาแค่หลืบมุมถูกทอดทิ้งในเมืองหลวง เราก็เห็นชัดถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนอันย่ำแย่ ชุมชนแออัด การถูกไล่รื้อที่ซุกหัวนอนในชื่อความเจริญ ผู้ปกครองเป็นหนี้มาเฟียเงินกู้ดอกมหาโหด เยาวชนหลุดระบบการศึกษาเสี่ยงชีวิตบนเบาะมอเตอร์ไซค์ผ่อนนามไรเดอร์ ทั้งหมดนี้มีรากมาจากคำคำเดียว ปรสิต ทางชีววิทยา ปรสิตคือสิ่งมีชีวิตซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยพักพิงและได้รับอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น บางครั้งทำร้ายทำลายสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์จนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ปรสิตมิใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือเครือข่ายที่พยายามเหนี่ยวรั้งกาลเวลา ดึงฉุดคุณภาพชีวิตของคนทั้งประเทศ ด้วยอำนาจ ด้วยปืน ด้วยวาทกรรมประวัติศาสตร์ทาสรักไว้ผลิตความเกลียดชัง ปรสิตไม่ได้โง่ พวกเขาฉลาดและวางเกมอย่างเป็นระบบ สูบกินภาษีอย่างตะกละตะกลาม สุขสบายบนหยาดเหงื่อของคนจน พูดแบบไม่ห่วงภาพพจน์ ผมเองเป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นที่มีโลกทัศน์คับแคบ-บางคน ชนชั้นที่สาดโคลนด่าทอพวกที่ออกมาเสนอนโยบายเรียนฟรีมีเงินเดือนใช้ ยกเลิกหนี้ กยศ. ผมเป็นคนในชนชั้นที่เกลียดชังคำว่ารัฐสวัสดิการเข้ากระดูกดำ ปรนเปรอเข้าไปเดี๋ยวก็ขี้เกียจตาย ปรนเปรอเข้าไปเดี่ยวก็เหลิง ปรนเปรอเข้าไปมันก็เอาไปใช้สุรุ่ยสุร่าย นั่นละทัศนะของชนชั้นผม-บางคน ผมมีอาชีพเป็นสื่อมวลชนอิสระ รักงานสัมภาษณ์ผู้คน หลังออกจากการนั่งประจำที่สำนักงานนิตยสารแห่งหนึ่งนานมาแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ราวๆ ฤดูร้อนที่ผ่านพ้น ผมเริ่มต้นรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ กับมิตรสหายหลายท่าน โดยมีครูบาอาจารย์ นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมการเมืองเป็นที่ปรึกษา มันถูกขยายออกเป็นเว็บไซต์ The Voters ที่ท่านกำลังอ่านอยู่ ตลอดระยะเวลาไม่กี่เดือน ทว่าผมรู้สึกเหมือนมันนานชั่วกัลปาวสาน ผมได้สัมภาษณ์บุคลากรมากมายที่มีความรู้เรื่องการกระจายอำนาจ การบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน