บารมี ชัยรัตน์: คนกองขยะและศัตรูของความจน  

ความคาดหวังในการสัมภาษณ์ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ครั้งนี้ของเราค่อนข้างสูง มีคำถามมากมายที่อยากถามไถ่ทั้งความใคร่รู้ส่วนตัวและคำถามของคนอื่นที่พกมาจากบ้าน ตลอดระยะเวลาสัมภาษณ์ บทสนทนานี้ค่อยๆ ไต่ระดับความประหลาดใจของเราไปเรื่อย จนกระทั่ง เราหมดคำถามที่เตรียมมา กระนั้น คำถามที่ผุดขึ้นช่วงกลางๆ ของบทสนทนาว่า ชายตรงหน้าเอาพลังมาจากไหนกันนะ งานเดิมๆ กลุ่มคนเดิมๆ อะไรที่ทำให้ยังคงยืนหยัดพูดและลงมือทำในสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีทางเสร็จง่ายๆ อะไรคือสิ่งหล่อเลี้ยงพลังงานเช่นนั้นกัน บทสนทนาสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงเสมือนพลังงานลับพลังงานบวกให้ทุกคน แม้คำตอบของเขาจะทำให้คิดว่า โลกเท่าเทียมไม่มีอยู่จริง เราเริ่มจากการให้บารมีลองมองย้อนกลับไปให้คะแนนตนเอง และทีมในการทำงานของ สมัชชาคนจน ที่ผ่านมา บารมีตอบคำถามนี้ในทันควันว่า ช่วงปี 2540 คือ ปีที่เขาพาสมัชชาคนจนไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของขบวนการเรียกร้อง ผมคิดว่าอย่างน้อย ในขบวนการเรียกร้องปลายทางของชัยชนะนั้นสำคัญ แต่การก้าวออกไปเพื่อให้เขา (รัฐบาล) ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเรานับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องเช่นเดียวกัน การต่อสู้เพื่อให้ได้ยืนบนสังเวียนเดียวกัน อยู่ในลีกเดียวกัน ชัดว่าเป็นเรื่องสำคัญของขบวนการเรียกร้องของสมัชชาคนจนเป็นอย่างมาก เพราะการต่อสู้ของสมัชชาคนจนเป็นการต่อสู้โดยไม่มีใครหนุนหลัง เป็นการต่อสู้เชิงโครงสร้างและนโยบายกับภาครัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิที่สูญหายไประหว่างกระบวนการพัฒนาประเทศ สมัชชาคนจน คือ ขบวนการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐหลายปัญหา และในวันสิทธิมนุษยชนสากล และวันรัฐธรรมนูญของไทย ในวันเดียวกันนี้เอง ที่สมัชชาคนจนได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 27 ปีที่แล้ว การชุมนุมครั้งแรกของสมัชชาคนจนที่ทำเนียบรัฐบาล เกิดขึ้นในปี 2539 จากนั้นมา การชุมนุมมีนัยถึงการเรียกร้องการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายเชิงโครงสร้างที่มีผลกระทบโดยตรงกับความเป็นอยู่ของชุมชน