ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นหมู่เกาะ แต่ละเกาะต่างมีชุมชนและการปกครองของตนเองมาก่อน ในแต่ละพื้นที่มีเจ้าหน้าที่ประจำตำบล ในแต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนเลือก แต่การขยายอาณานิคมดัตช์เข้าไปในดินแดนประเทศอินโดนีเซียนับเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ชาวอินโดนีเซียต้องกลายเป็นแรงงานเพื่อทำอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้เกิดการการรวบรวมที่ดิน ต่อมามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้เรียนรู้และมีแนวความคิดว่าประเทศอินโดนีเซียมีศักยภาพที่จะเติบโตและมีเอกราชจากดัตช์ได้ จนกระทั่งในวันที่ 27 ธันวาคม 1949 ประเทศอินโดนีเซียได้รับเอกราชจากดัตช์ ประธานาธิบดีคนแรก คือ ซูการ์โน เป็นผู้นำความคิดเชื่อมโยงคนในประเทศท่ามกลางความหลากหลายของชุมชน และกลุ่มผู้นำของชุมชนต่างๆ บนเกาะเล็กใหญ่ที่มีมากกว่า 17,000 เกาะ มีภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกันด้วยภาษาหลัก คือ ภาษาบาฮาซา อินโดนีเซีย แต่ประธานาธิบดีซูการ์โน คือ ผู้ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล และผู้มีอำนาจสั่งการผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังติดอาวุธแห่งชาติในเวลาเดียวกัน ด้วยการปกครองที่ยาวกว่า 20 ปี ของเขานั้น กลับทำให้การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นหยุดชะงักไป ความที่เป็นคนมีแนวความคิดเชื่อมโยงความหลากหลายเข้าด้วยกัน การปกครองนั้นจึงเป็นการปกครองรูปแบบเผด็จการ มากไปกว่านั้น การเมืองภายในยังร้อนระอุมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดการชิงอำนาจทางการเมืองโดย ซูฮาร์โต ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ประเทศอินโดนีเซียต้องอยู่ภายใต้การปกครองของจอมเผด็จการยาวนานกว่า 32 ปี แม้ว่าซูฮาร์โตเป็นผู้ที่ประกาศนโยบายระเบียบใหม่ เพื่อสร้างความเป็นระเบียบในบ้านเมือง และสหรัฐอเมริกาได้พยายามสร้างความสัมพันธ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายด้านกับประเทศอินโดนีเซีย รวมไปถึงการกระตุ้นสิทธิมนุษยชนจากความขัดแย้งของติมอร์ตะวันออก แต่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นกลับถูกลดค่าลงไป ยังถูกเมินเฉย เพราะมุ่งเน้นในการจัดการความขัดแย้งกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล