ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น

แม้ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เมื่อวิเคราะห์จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เปรียบเทียบกับหลักการกระจายอำนาจหรือการปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา ๗๖ ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการ ใช้อำนาจรัฐทุกระดับ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๘๗ ก็ได้บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายและการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างละเอียดเช่นกัน ส่วนรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้รัฐต้องทำ และหมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้รัฐพึงดำเนินการ แต่ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการกระจายอำนาจหรือการปกครองท้องถิ่นบัญญัติไว้เลย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามาตรา ๒๘๒ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๑ รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระในบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้มาตรา ๒๘๓ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ก็ได้กำหนดให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

เชิญแสดงความเห็น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ก่อนเปิดให้ลงชื่อ

ขอเชิญทุกท่านร่วมแสดงความเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ในช่องคอมเมนต์ด้านล่างเนื้อหานี้ ประเทศไทยมีการบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์อำนาจมานาน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนต่างจังหวัด แตกต่างจากกรุงเทพมหานครอย่างมาก การกระจายอำนาจจึงเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว รัฐธรรมมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีบทบัญญัติในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น อันมีเนื้อหาสาระอันเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ และการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ ตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น สาระหลักของร่างฯ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดตนเอง ยุบรวม นายก อบจ. ให้กลายเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง จังหวัดมี 2 ชั้น คือชั้นบน ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง ชั้นล่าง เทศบาล อบต.ยังดำรงอยู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สังกัดส่วนท้องถิ่น และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคลการเงินและการคลัง จัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณและมีหน้าที่และอำนาจเป็นของตนเอง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น เกี่ยวกับงบประมาณ การจัดสรรส่วนรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเพิ่มขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น มีการกำหนดอำนาจในการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีวิธีการในการจัดทำบริการสาธารณะได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกี่ยวกับสวัสดิภาพของคนทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น