สัมภาษณ์มุสลิมคนหนึ่ง โดยถูกขอให้ใช้คำว่า เรื่องเล่าจากอิสลามคนหนึ่งที่ถูกมองว่าเติบโตมาอย่างผิดแปลก และย้ำว่า ไม่ใช่คนที่มีทฤษฎีวิชาการทางศาสนา เพียงพูดในมุมมองของปัจเจก-เราคิดว่าคำคำนี้หมายถึงความเป็นมนุษย์ “เกิดมาในครอบครัวที่เป็นอิสลาม เอกสารราชการระบุว่านับถือศาสนาอิสลาม แต่เราเองคงไม่อาจกล่าวได้ว่าตนเป็นมุสลิมที่ดีหรือถูกต้อง จากประเด็นถกเถียงก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์กันไปมากมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องปัจเจกล้วนๆ แต่เมื่อมีการขยายความกันออกไปกลับมีผู้คนที่บอกนับถือศาสนาอิสลามแบบเราเข้ามาพิพากษาเราอย่างใจดำ “บางคนบอกให้ออกจากศาสนาก็มี สำหรับเราแล้วนี่คือที่มาของการหล่อหลอมให้เราเป็นเรา นอกจากการเป็นอิสลาม เรายังอยากเป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจด้วยเช่นกัน ยอมรับว่าบางทีก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมสังคมมุสลิมเราต้องอยู่กันด้วยความเกรงกลัวคนมุสลิมกันเองขนาดนี้ ทำไมถึงผลักคนที่มีความเห็นต่างออกมาขนาดนี้ “ครอบครัวอิสลามหัวก้าวหน้ามีมากไหม” เราถาม มุสลิมคนหนึ่งตอบว่าไม่อาจระบุได้ ไม่รู้จริงๆ “แต่ดูจากปริมาณคนที่มาคอมเมนต์หรือทัก inbox มาบอกว่า เราเข้าใจคุณมากๆ นะ เขา relate กับมุมมองของเรา หรือโตมาแบบคล้ายๆ กัน “ก็พอตอบได้ว่ามีคนที่เติบโตมาด้วยประสบการณ์คล้ายๆ กันอยู่ สำหรับเราไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่พวกเขาอาจตกใจที่เราพูดหรือกลัวแทนเราด้วยซ้ำ และขอบคุณมิตรภาพของมุสลิมอีกหลายคนที่โอบรับเราไว้ ต่อคำถามคุณเติบโตมาอย่างไร นี่คือคำตอบ “เราโตมาในครอบครัวค่อนข้างเปิดกว้างนะ มีอิสระทางความคิด ทุกเย็นบนโต๊ะอาหารที่บ้านคือพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางสังคม การเมือง ถ้าถามว่าความก้าวหน้าเกิดขึ้นเมื่อไร และเกิดขึ้นได้อย่างไรคำตอบคือ มื้อเย็นในครอบครัว ที่จริงก็ไม่อยากใช้คำว่าก้าวหน้าหรืออะไรแบบนั้นนะ “เพราะมันควรเป็นความปกติมากกว่าในการเปิดโอกาสให้ได้สงสัย ตั้งคำถาม และแลกเปลี่ยนความเห็น เราเชื่อว่าในยุคที่ศิลปวิทยากรและวิทยาศาสตร์ในโลกมุสลิมที่เคยรุดหน้ามากที่สุด ซึ่งหลายอย่างเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ก็มาจากการสงสัยและตั้งคำถาม “เราถูกสอนเสมอว่าสังคมต้องเดินไปข้างหน้า เราเองต้องยอมรับพัฒนาการและปรับตัว