ความคาดหวังในการสัมภาษณ์ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ครั้งนี้ของเราค่อนข้างสูง มีคำถามมากมายที่อยากถามไถ่ทั้งความใคร่รู้ส่วนตัวและคำถามของคนอื่นที่พกมาจากบ้าน ตลอดระยะเวลาสัมภาษณ์ บทสนทนานี้ค่อยๆ ไต่ระดับความประหลาดใจของเราไปเรื่อย จนกระทั่ง เราหมดคำถามที่เตรียมมา กระนั้น คำถามที่ผุดขึ้นช่วงกลางๆ ของบทสนทนาว่า ชายตรงหน้าเอาพลังมาจากไหนกันนะ งานเดิมๆ กลุ่มคนเดิมๆ อะไรที่ทำให้ยังคงยืนหยัดพูดและลงมือทำในสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีทางเสร็จง่ายๆ อะไรคือสิ่งหล่อเลี้ยงพลังงานเช่นนั้นกัน บทสนทนาสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงเสมือนพลังงานลับพลังงานบวกให้ทุกคน แม้คำตอบของเขาจะทำให้คิดว่า โลกเท่าเทียมไม่มีอยู่จริง เราเริ่มจากการให้บารมีลองมองย้อนกลับไปให้คะแนนตนเอง และทีมในการทำงานของ สมัชชาคนจน ที่ผ่านมา บารมีตอบคำถามนี้ในทันควันว่า ช่วงปี 2540 คือ ปีที่เขาพาสมัชชาคนจนไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของขบวนการเรียกร้อง ผมคิดว่าอย่างน้อย ในขบวนการเรียกร้องปลายทางของชัยชนะนั้นสำคัญ แต่การก้าวออกไปเพื่อให้เขา (รัฐบาล) ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเรานับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องเช่นเดียวกัน การต่อสู้เพื่อให้ได้ยืนบนสังเวียนเดียวกัน อยู่ในลีกเดียวกัน ชัดว่าเป็นเรื่องสำคัญของขบวนการเรียกร้องของสมัชชาคนจนเป็นอย่างมาก เพราะการต่อสู้ของสมัชชาคนจนเป็นการต่อสู้โดยไม่มีใครหนุนหลัง เป็นการต่อสู้เชิงโครงสร้างและนโยบายกับภาครัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิที่สูญหายไประหว่างกระบวนการพัฒนาประเทศ สมัชชาคนจน คือ ขบวนการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐหลายปัญหา และในวันสิทธิมนุษยชนสากล และวันรัฐธรรมนูญของไทย ในวันเดียวกันนี้เอง ที่สมัชชาคนจนได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 27 ปีที่แล้ว การชุมนุมครั้งแรกของสมัชชาคนจนที่ทำเนียบรัฐบาล เกิดขึ้นในปี 2539 จากนั้นมา การชุมนุมมีนัยถึงการเรียกร้องการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายเชิงโครงสร้างที่มีผลกระทบโดยตรงกับความเป็นอยู่ของชุมชน
การเดินทางเพื่อหาทางออกร่วมกันในช่วงเช้าอันแสนวุ่นวาย ความยุ่งเหยิงของการเดินทางในเช้าเสาร์ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่เคยคาดหวังได้ แต่เรายังคงมีโชคอยู่บ้างที่สายฝนไม่ได้โปรยปรายลงมาเพื่อซ้ำเติม นั่นคือ ความโชคดีเล็กๆ ที่ทำให้เราคิดว่า ชีวิตคงยังไม่แย่จนเกินไปนัก ความหวังยังคงอยู่ปลายทาง แสงสว่างยังทออยู่ไกลๆ ณ ที่แห่งนั้น จิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงยังคงไหลวนอยู่ในตัว พลังของความเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตรเสมอ ถึงแม้ว่าปลายทางของการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจนำพาเราไปสู่อีกโลกหนึ่งก็ตาม แต่อย่างน้อย เราก็ยังหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ดี จริงไหม ความหวังสูงสุดของการเปลี่ยนแปลง วงระดมความเห็น รัฐธรรมนูญฉบับคนจน เรื่องการกระจายอำนาจ ที่ The Voters จัดร่วมกับ สมัชชาคนจน ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 เสาหลักของประชาธิปไตยถูกหักโค่นลงอย่างไม่ไยดี กฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกทิ้ง การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นไม่เพียงแต่ดูแคลนกฎหมายสูงสุด ยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนจนและประชาชนทุกคน รัฐราชการกลับผงาดขึ้นมาครองแผ่นดิน การไม่ฟังเสียงทัดทานของคนในสังคม ปัญหาของคนในสังคมถูกเพิกเฉย มีการแทรกแซงจากชายชุดเขียว ความสั่นคลอนของความเชื่อมั่นภายในเนื้อเพลงที่เปิดกล่อมซ้ำไปซ้ำมาว่า ความสุขของเราจะกลับมา เวลาผ่านไป ว่างเปล่า เดียวดาย แต่มากกว่านั้น คือ การที่คณะบุคคลเรียกสั้นๆ ว่า คสช. ใช่ เขาคือ คนกลุ่มเดียวกันกับคนที่ร้องเพลงนั่น ได้เริ่มกระบวนการคืนความสุขในแบบของเขาให้กับเรา ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา