หลายคนอาจยังจำกระแสการตื่นตัวเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้ เมื่อมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร การแลนสไลด์ของผู้ว่า กทม. คนปัจจุบัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เริ่มปลุกคำถามที่ว่าจังหวัดอื่นๆ ควรมีผู้ว่าฯ เหมือน กทม. ด้วยหรือไม่ จะเป็นไปได้แค่ไหน การเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังเดินทางมาถึงในไม่ช้านี้ เราเริ่มเห็นการให้ความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่เห็นได้ชัดและเริ่มมีการพูดถึงบ้าง เช่น เรื่องการเสนอให้มีนายกจังหวัด หรือเพิ่มอำนาจไปสู่ประชาชนให้มากขึ้น โดยรัฐต้องเป็นผู้สนับสนุน เราเห็นการพยายามกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นของไทยที่ชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่มีการแบ่งอำนาจให้กับส่วนภูมิภาค การจัดตั้งเทศบาลในปี 2476 การจัดตั้งสุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนตัวบล (อบต.) ในเวลาต่อมา จนกระทั่งปี 2540 ที่มีการกำหนดเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างชัดเจนขึ้น มีอิสระในการจัดการบริหารตนเอง และที่สำคัญคือได้ผู้บริหารและสภาท้องถิ่นมาจากการการเลือกตั้งโดยประชาชน ความเป็นชุมชนของไทยจึงยังมีอยู่โดยตลอด แต่ก็ถูกกำกับอยู่ภายใต้อำนาจรัฐมาตลอดเช่นเดียวกัน The Voters ชวน รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุยถึงเรื่องลักษณะการปกครองและการกระจายอำนาจของท้องถิ่นในประเทศไทย กรอบกฎหมายที่ส่งอิทธิพลให้ท้องถิ่นยังติดกับการกดทับภายใต้กลไกของรัฐ ข้อท้าทายสำคัญที่ท้องถิ่นต้องเจอ ภาคประชาชนสามารถกดดันให้มีการกระจายอำนาจได้มากแค่ไหน หรือท่ามกลางข้อจำกัด การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อย่างเป็นรูปธรรม สามารถทำได้อย่างไรบ้าง คำว่า ‘การกระจายอำนาจ’ ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์กับการกระจายอำนาจโดยทั่วไปมีความแตกต่างกันไหม