มายาคติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและข้อเท็จจริง

ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ กลับมาถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หรือข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ทำประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคและให้อำนาจส่วนท้องถิ่นเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ ทั้ง 2 ข้อเสนอแม้ต่างกันในรายละเอียด แต่ก็มีจุดร่วมที่เห็นพ้องต้องกันว่าการกระจายอำนาจคือหนทางแก้ปัญหาในระยะยาวของประเทศ เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้มีโอกาสเลือกผู้นำของตนเอง และเหมือนเช่นทุกครั้งที่มีการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ แม้ดูเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ กระนั้นก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องปกติของผู้คน และการพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลก็เป็นเรื่องปกติในสังคมอารยะ ทว่าหลายครั้ง มายาคติเกี่ยวกับการเมืองก็ยังคงเกาะแน่นแฝงฝัง จะด้วยติดหล่มอยู่กับเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์เก่าๆ หรือถูกบอกเล่าต่อกันมาจนกลายเป็นความเชื่อฝังหัว น่าเศร้าที่หลายครั้งมันทำให้การถกเถียงแลกเปลี่ยน ไม่นำไปสู่จุดที่สร้างความเข้าใจหรือฉันทามติร่วมกันเสียที วาทกรรมเก่าๆ ยังถูกหยิบยกมาอ้างถึง เพื่อถกเถียงหักล้างปัดตกข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจ บ้างเป็นความเข้าใจผิด บ้างเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่ได้วางอยู่บนหลักเหตุและผล หรือมีหลักฐานที่สนับสนุนแต่อย่างใด น่าเศร้าที่หลายครั้งวาทกรรมเหล่านั้นกลับส่งความเข้าใจผิดต่อไปยังผู้คนอีกจำนวนมาก พ.ศ. นี้แล้ว เราควรหยิบข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน ไม่ว่าข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจจะทำให้ประเทศนั้นดีขึ้นได้จริงหรือไม่ อย่างไร เหล่านี้คือมายาคติที่ผมเห็นว่าควรหมดไปจากการถกเถียงได้แล้ว 1.การกระจายอำนาจ เท่ากับทำลายการปกครองแบบรัฐเดี่ยว ถือเป็นการแบ่งแยกดินแดน อาจฟังดูเหลือเชื่อที่ พ.ศ. นี้แล้ว ยังมีข้อกล่าวหาที่รุนแรงทำนองนี้อยู่อีก ทว่าฝ่ายอนุรักษนิยมหลายคนในไทยนั้นคิดและเชื่อแบบนี้จริงๆ ม.ล. จุลเจิม ยุคล เคยโพสต์สเตตัสเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ว่า การกระจายอำนาจการปกครอง โดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการล้มล้างราชอาณาจักรไทย แบ่งแยกประเทศออกเป็นหลายรัฐ และเป็นการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีที่เป็นประมุขประเทศ