ในประวัติศาสตร์ระยะไกล ปิยบุตร แสงกนกกุล เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในคณะนิติราษฎร์ชุมนุมนักวิชาการที่ยึดมั่นหลักการที่สุดคณะหนึ่ง เขยิบเข้ามาในประวัติศาสตร์ระยะใกล้หน่อย ปิยบุตรคือ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ใกล้เข้ามาอีก ปิยบุตรคือเลขาธิการ คณะก้าวหน้า มุ่งมั่นให้ความรู้คนเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ระยะไหน หนึ่งสิ่งที่ทำให้กระดูกสันหลังของเขาตั้งตรง คือไม่ยอมรับการรัฐประหาร ไม่ว่าจะยกเหตุผลสวยหรูประดามีมากมาย นับตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง และครั้งล่าสุดในปี 2557 ยึดอำนาจโดย คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดเป็นการรัฐประหารที่มีการสืบทอดอำนาจยาวนานที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา อะไรทำให้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ มีสิ่งใดบ้างที่เป็นกลไกในการเกิดของวงจรอุบาทว์ เราในฐานะประชาชนจะรวมพลังกันต้านรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร รวมไปถึงการลบล้างผลพวงรัฐประหารจะเป็นจริงได้หรือไม่ เราจะจับคนเคยทำรัฐประหารมาติดคุกได้ไหม และคำถามสำคัญไม่ถามไม่ได้ จะมีการรัฐประหารในอนาคตอีกหรือเปล่า “ถ้าเชื่อกันจริง ๆ ว่ารัฐประหารทำให้นักการเมืองดีขึ้น ทำให้การเมืองไทยดีขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น ป่านนี้มันดีไปนานแล้ว” ปิยบุตรกล่าว การรัฐประหารในมุมมองของคุณคืออะไร สำหรับการเมืองไทย เรามักกล่าวกันว่ารัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย แล้วก็มักจะกล่าวโทษว่านักการเมืองจากการเลือกตั้งนั้นไม่ดี พอไม่ดีก็นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมือง ทำให้รัฐประหารกลายเป็นทางออกทางสุดท้าย เรามักเชื่อกันแบบนี้มาโดยตลอด เลือกตั้ง เกิดวิกฤต รัฐประหาร
ชาติจะบรรลัย เพราะนิติสงคราม เป็นบาทสุดท้ายของบทกวี ที่เขียนออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (7 พฤศจิกายน 2565) โดย พรชัย ยวนยี หรือ แซม ทะลุฟ้า[1] โดยข้อความเต็ม คือ “ลานิติรัฐ ลับนิติธรรม โจรนิติย่ำ ยีนิติไทย สูญนิติศาสตร์ สิ้นนิติไร้ ชาติจะบรรลัย เพราะนิติสงคราม” แซม ยังคงถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีพร้อมๆ กับ เยาวชนคนหนุ่มสาวและประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งยังคงถูกจองจำในคุกอีกจำนวน 15 ราย เป็นผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดี 11 ราย และเป็นนักโทษเด็ดขาด 4 ราย[2] ขณะที่มีหลายร้อยคนนอกเรือนจำต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากระหว่างการต่อสู้คดีที่คล้ายคลึงกันกับแซมและเพื่อน อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งบทกวี ที่แซมฝากถึงลูกสาววัย 8 ขวบ ว่า “ฝากจันทราห่มผ้าลูกข้าหน่อย ฝากหมู่ดาวดวงน้อยนิดกลุ่มนั้น สกาววาววับแสงส่องเตือนจันทร์ อย่าลืมคำสัญญาฝังฝาก… ทุกคืนนะจันทร์เอย… คิดถึงนะจ๊ะลูก…” ขณะที่บทแรกเสมือนการบอกกล่าวความสิ้นหวังที่เจ้าตัวกำลังเผชิญ อันเปรียบดั่ง โลกทัศน์ ที่แวดล้อมการต่อสู้ทางการเมืองของเขา