ช่วงเวลาที่ผ่านมา การรณรงค์เรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ ยุติบทบาทรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้มาจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่นำไปสู่คำถามว่าเหตุใดคนต่างจังหวัดจึงไม่สามารถเลือกผู้บริหารสูงสุดของตนเองได้ ส่วนนี้ถูกหยิบมาขยายให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาเชิงโครงสร้างกับปัญหาเชิงทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ รวมถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานซึ่งหลายพื้นที่ประสบปัญหามาชั่วนาตาปี ขณะนี้ ร่าง ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า ที่มีผู้ร่วมลงชื่อ 80,772 รายชื่อ กำลังอยู่ในชั้นรัฐสภา รอการลงมติว่าจะรับหรือไม่ เสียงเรียกร้องของประชาชนจะได้ไปต่อหรือเปล่า หลายคนอาจกำลังนึกภาพอนาคตของประเทศไทยตามความเชื่อของตน กระนั้น ไม่ว่าภาพในความนึกคิดของคุณจะเป็นอย่างไร นั่นอาจดีกว่าการนิ่งเฉย ไม่คิดไม่ฝันถึงความเปลี่ยนแปลงใดเลย “อย่าอยู่กับข้อจำกัด แต่อยู่กับความเป็นไปได้ ถ้าคุณไม่ทำก็คือเป็นไปไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคุณไม่ได้เริ่มทำตั้งแต่แรก แต่ถ้าคุณเริ่มทำ โอกาสมี สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ แต่มีโอกาส” ส่วนหนึ่งจากคำพูดของ ช่อ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่จะมาบอกซ้ำและย้ำอีกครั้งให้ชัดเจน ในระหว่างที่รอการลงมติจากรัฐสภา ว่าเพราะเหตุใด เราจึงจำเป็นต้องให้เกิดการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจในมุมของคุณคืออะไร เวลาพูดคำว่ากระจายอำนาจมันอาจฟังดูน่าเบื่อ ไม่เซ็กซี่ ก่อนที่จะมาทำการเมืองก็เคยคิดแบบนั้น มันฟังดูเหมือนหัวข้อเสวนาทางวิชาการ แต่พอมาทำงานการเมืองและยิ่งเป็น ส.ส. สิ่งที่น่ากลัวมากซึ่งเราได้รู้คือประเทศไทยเผชิญปัญหาของศตวรรษที่ 19 ทั้งประเทศ ปัญหาที่ควรแก้จบไปตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว
การนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดย คณะก้าวหน้า และ ประชาชน จำนวนกว่า 80,000 คน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งในการอภิปราย เหตุผลสำคัญที่ผู้เสนอร่างฯ นำเสนอ มีเรื่องหลักๆ อยู่ 4-5 ประเด็นดังนี้ 1. ภารกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ที่การปกครองส่วนกลาง 2.การถ่ายโอนภารกิจให้แก่ท้องถิ่นไม่มีสภาพบังคับ 3. องค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบมีแนวโน้มตีความจำกัดอำนาจส่วนท้องถิ่น 4. การดำเนินงานท้องถิ่นเป็นไปอย่างยากลำบากทั้งในด้านอำนาจหน้าที่ การบริหารจัดการ และ 5. งบประมาณที่จำกัดของท้องถิ่นอันมาจากข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีและจัดการเงินอุดหนุน เป็นต้น ตลอด 90 ปี นับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นมา เราคงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ให้อำนาจแก่รากฐานของการเมืองการปกครองไทย นั่นคือการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่ในทางทฤษฎีต่างยอมรับกันว่า ประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศคือรากฐานสำคัญของการเมืองที่ดี ขณะทางปฏิบัติ การเข้าใกล้สู่การกระจายอำนาจสู่การปกรองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดในรัฐธรรมนูญ 2540 ส่งผลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย แม้ว่าจะมีข้อกังวลไม่น้อยต่อการกระจายอำนาจเมื่อ 20 ปีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ข้อเท็จจริงคือมีงานวิชาการจำนวนมากยอมรับว่า กระจายอำนาจแม้จะยังทำได้ไม่เต็มสรรพกำลัง แต่ได้ผลิดอกออกผล ส่งเสริมการพัฒนาในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง