สถาบันพระมหากษัตริย์ของญี่ปุ่นกับโลกร่วมสมัย

“สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชน พระองค์ทรงมีฐานะเช่นนั้นด้วยเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญปี 1947 ของญี่ปุ่น ได้ระบุสถานะของสถาบันจักรพรรดิเอาไว้อย่างชัดเจน  ด้วยเจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกาโดย นายพลแมคอาเธอร์ ที่ต้องการให้สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ และการพัฒนาประชาธิปไตยญี่ปุ่น การเมืองการปกครองญี่ปุ่นนอกจากจะมีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งจากการกระจายอำนาจในระดับสูงโดยเปรียบเทียบกับในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยแล้ว ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือญี่ปุ่นปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสถาบันกษัตริย์หรือสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นมีความเป็นมาที่ยาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันศาสนา และมีการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ทำให้สามารถธำรงรักษาสถานะในสังคมการเมืองญี่ปุ่นจวบจนปัจจุบัน แต่ทว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นมีความเปลี่ยนแปลงและธำรงรักษาสถานะที่อยู่เหนือการเมืองเป็นสิ่งที่ผู้เขียนจะนำมาเล่าผ่านบทความชิ้นนี้ บทบาทของสถาบันจักรพรรดิในสมัยโบราณนั้น มีสถานะเป็นผู้นำกองทัพและผู้นำทางพิธีกรรมต่างๆ โดยฐานที่มาทางอำนาจของระบบจักรพรรดิคือ ความเชื่อทางศาสนา (คำเรียกจักรพรรดิในภาษาญี่ปุ่นคือเทนโนที่แปลว่า อธิปไตยจากสรวงสวรรค์ ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าจักรพรรดิเป็นสมมติเทพ) และระบบการถือครองที่ดินในห้วงที่โครงสร้างการปกครองยังเป็นแบบระบบศักดินาชนชั้นอันประกอบไปด้วยนักรบ ชาวนา ช่างฝีมือและพ่อค้า โดยนักรบ[1] นั้น จักรพรรดิถือว่าอยู่ในชนชั้นนี้ ทว่าในยามที่ประเทศมีสงครามน้อยลง สถานะของจักรพรรดิก็เริ่มถูกลดบทบาทลง ในขณะที่อำนาจของกลุ่มขุนนางมีมากขึ้น เมื่อถึงสมัยเอโดะซึ่งเป็นยุคแห่งการปกครองของรัฐบาลทหาร เกิดระบบการปกครองแบบโชกุนที่ได้ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในการควบคุมและปกครองทุกระดับ คุมอำนาจส่วนกลาง โดยมีไดเมียวเป็นขุนนางที่มีอำนาจในแคว้นต่างๆ อยู่ภายใต้อำนาจของโชกุน ในขณะที่จักรพรรดิดำรงตำแหน่งในฐานะประมุข โชกุนจึงสามารถจำกัดอำนาจของพระจักรพรรดิลง โดยการยึดที่ดิน จำกัดการใช้จ่ายภายในราชสำนัก และออกกฎให้จักรพรรดิเป็นผู้นำทางศาสนาเท่านั้น[2] ต่อมาสถานะของสถาบันจักรพรรดิได้กลับมาฟื้นฟูโดยซามูไรและนักศึกษาลัทธิชินโตที่สนับสนุนราชพิธีในราชสำนักเพื่อให้จักรพรรดิในฐานะผู้นำพิธีกรรมตามหลักศาสนาชินโตมีความเป็นรูปธรรม ปลายยุคเอโดะชนชั้นนักรบได้เสื่อมอำนาจลง ในขณะที่ชนชั้นพ่อค้าขึ้นมามีอำนาจแทนสมัยการปฏิรูปเมจิ พร้อมด้วยการเข้ามาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบศักดินาเสื่อมลงไป ทว่าการปฏิรูปเมจินั้นส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นเนื่องจากรัฐบาลมีความพยายามฟื้นฟูอำนาจของจักรพรรดิในฐานะผู้นำทางทหาร มีการประกาศใช้กฎหมายให้เคารพเชิดชูจักรพรรดิและศาสนาชินโต การสร้างรัฐญี่ปุ่นสมัยใหม่ในสมัยเมจิ จึงเป็นการคืนอำนาจให้สถาบันจักรพรรดิมีความมั่นคงยิ่งขึ้น