เราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสามารถเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัว หรือประวัติศาสตร์บ้านเมือง บางท่านอาจคุ้นชินกับเอกสารวิชาการ หรือบทความในรูปของสารคดี วรรณกรรม ภาพถ่าย แต่ยังมีเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่ไม่เพียงบันทึกเรื่องราว หากยังรวมถึงความรู้สึกนึกคิด จิตใจ อุดมการณ์ กระแสเสียง และการแสดงออกของผู้คนในแต่ละยุคสมัย เรากำลังพูดถึงบทกวี เวลาบ่าย แสงแดดสังสรรค์กับผิวน้ำเป็นประกายระยิบ ในร้านกาแฟริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผมนั่งอยู่กับกวี 2 คน นักอ่านรู้จักพวกเขาในนาม รอนฝัน ตะวันเศร้า และ ชัชชล อัจฯ เราเลือกนั่งโต๊ะที่ถูกแยกไว้ในห้องเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยตลับเทปและแผ่นเสียง แล้วบทสนทนาก็ค่อยๆ ไต่ความเข้ม ไล่เรียงตั้งแต่ความหมายของบทกวี ความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันระหว่างบทกวีกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ล่วงไปถึงเรื่อง การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ การเมืองในภาพใหญ่ และการชักชวนจ้องมองใบหน้าของเผด็จการไทย บทกวีคืออะไร “ถ้าเป็นเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ผมอาจบอกว่าบทกวีคือการปลดปล่อย การระเบิดออก ตะโกน สำราก ด้วยช่วงเวลานั้น เรารู้สึกอยากปลดปล่อยบางอย่างที่เวลาปกติแทบไม่มีโอกาสได้ทำ ผมเริ่มเขียนบทกวีจริงจังราวปี 2552 ซึ่งก็มีสถานการณ์หลายอย่างที่มันเกิดขึ้นแล้วเรารู้สึกอยากปลดปล่อย “แต่ปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าคำตอบนั้นเปลี่ยนไป ในเวลานี้สำหรับผม