หากจะพูดถึงงานศิลปะ เราอาจนึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกในแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์ศิลปะ เทคนิคและแนวคิดที่แยบยล อย่าง ภาพอาหารมื้อสุดท้าย ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี แห่งยุคสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา งานศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่าง คาราวัจโจ ศิลปินผู้กบฎต่อความศรัทธาต่อศาสนาผ่านผลงานของเขาชื่อ มรณกรรมของพระแม่มารี และเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการศิลปะบาโรคด้วย หากกลับมามองที่ปัจจุบัน เราสามารถเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น มีเทคนิคและรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างไปจากอดีต จนเกิดเป็นศิลปะแขนงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก แต่ถ้าดูงานศิลปะในไทย เราจะพบว่างานศิลปะนั้นยังคงไม่ก้าวหน้า มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันตามกระแสนิยม หรืออาจอยู่ในสินค้ารูปแบบต่างๆ ตลอดจนงานที่ได้รับการยกย่องและมีราคาสูงนั้นก็มักหนีไม่พ้นงานที่เล่าด้วยเรื่อง ความดีงามของมนุษย์ผ่านแนวคิดทางศาสนาและคุณธรรม ยกย่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรเพียงแต่ความหลากหลายและเสรีภาพในการรังสรรค์งาน จนถึงการนำเสนองานออกมานั้นยังเป็นสิ่งที่น่าชี้ชวนต่อการตั้งคำถามว่า ศิลปะมีเสรีภาพอยู่หรือไม่ ราวกับมีมุ้งบางๆ ครอบศิลปะไทยไว้ว่า จงจรรโลงสังคมอย่างประณีตบรรจง และหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมเพราะอำนาจของ ‘ใคร’ บางคนอยู่หรือไม่ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะพาไปคุยกับ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้นำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองไทย ผ่านงานศิลปะ อย่าง นิทรรศการ WHAT YOU DON’T SEE WILL HURT