นับตั้งแต่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557 คำว่ารัฐราชการได้กลับมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอีกครั้งจากการที่มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าหรือการเมืองไทยกำลังกลับไปเป็นรัฐราชการอีกครั้ง ซึ่งรัฐราชการในที่นี้ เป็นรูปแบบการบริหารปกครองที่มีแนวโน้มรวมอำนาจในการบริหารปกครองและกำหนดนโยบายต่างๆ อยู่ที่รัฐบาล ระบบราชการส่วนกลางและกรุงเทพมหานครอย่างเข้มข้น มีการกระจายอำนาจไปยังการบริหารส่วนท้องถิ่นน้อย ภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะภาคสังคม ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมน้อย ข้าราชการทหารและพลเรือนมีอำนาจในการตัดสินนโยบายสำคัญ ท่านผู้อ่านอาจคุ้นกับลักษณะดังกล่าวและคำอธิบายว่าด้วย รัฐราชการรวมศูนย์ อยู่บ้าง ซึ่งคำว่ารัฐราชการนั้นถูกนำมาใช้อธิบายลักษณะการบริหารปกครองของไทยมาตั้งแต่ในห้วงการปกครองของคณะราษฎรที่อำนาจในการบริหารปกครองอยู่กับข้าราชการทหารและพลเรือน หรือก็คือกลุ่มคณะราษฎร รัฐราชการมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลานำมาสู่การขับเคลื่อนเพื่อลดอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และข้อเรียกร้องในการปฏิรูประบบราชการ อย่างไรก็ตามหากมองในบริบทโลกแล้วลักษณะสำคัญของรัฐราชการ ซึ่งก็คือการบริหารปกครองที่พลังฝ่ายข้าราชการทหารและพลเรือนมีอำนาจในการตัดสินใจนโยบายสำคัญและกำหนดทิศทางของประเทศนั้น ไม่ได้ถือเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา หรือญี่ปุ่นเองก็มีช่วงเวลาที่พลังจากระบบราชการมีอำนาจเหนือฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ในบทความนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับรัฐราชการญี่ปุ่นกลไกขับเคลื่อนรัฐที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่หนึ่งในประเทศที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจก้าวกระโดด และเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีท้องถิ่นเข้มแข็ง มีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นอย่างเข้มข้น ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีอำนาจหน้าที่ยึดโยง รับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เมื่อกล่าวถึงญี่ปุ่นเราจะไม่ได้นึกถึงเพียงโตเกียวที่เป็นเมืองหลวงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเมืองอื่นๆ เช่น โอซาก้า โกเบ ฟุคุโอกะ ฮอกไกโด คุมาโมโตะ ซึ่งนอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว ยังมีสินค้าประจำท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมทั้งในและนอกประเทศ เช่น เนื้อวัวโกเบ มาสคอตหมีคุมาโมโตะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างแรงจูงใจให้คนกลับไปทำงานในระดับท้องถิ่น เช่น การที่เงินเดือนข้าราชการท้องถิ่นมากกว่าข้าราชการส่วนกลาง การขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟที่มีค่อนข้างทั่วถึงในเมืองใหญ่ หลังสงครามโลกครั้งที่
“สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชน พระองค์ทรงมีฐานะเช่นนั้นด้วยเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญปี 1947 ของญี่ปุ่น ได้ระบุสถานะของสถาบันจักรพรรดิเอาไว้อย่างชัดเจน ด้วยเจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกาโดย นายพลแมคอาเธอร์ ที่ต้องการให้สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ และการพัฒนาประชาธิปไตยญี่ปุ่น การเมืองการปกครองญี่ปุ่นนอกจากจะมีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งจากการกระจายอำนาจในระดับสูงโดยเปรียบเทียบกับในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยแล้ว ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือญี่ปุ่นปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสถาบันกษัตริย์หรือสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นมีความเป็นมาที่ยาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันศาสนา และมีการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ทำให้สามารถธำรงรักษาสถานะในสังคมการเมืองญี่ปุ่นจวบจนปัจจุบัน แต่ทว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นมีความเปลี่ยนแปลงและธำรงรักษาสถานะที่อยู่เหนือการเมืองเป็นสิ่งที่ผู้เขียนจะนำมาเล่าผ่านบทความชิ้นนี้ บทบาทของสถาบันจักรพรรดิในสมัยโบราณนั้น มีสถานะเป็นผู้นำกองทัพและผู้นำทางพิธีกรรมต่างๆ โดยฐานที่มาทางอำนาจของระบบจักรพรรดิคือ ความเชื่อทางศาสนา (คำเรียกจักรพรรดิในภาษาญี่ปุ่นคือเทนโนที่แปลว่า อธิปไตยจากสรวงสวรรค์ ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าจักรพรรดิเป็นสมมติเทพ) และระบบการถือครองที่ดินในห้วงที่โครงสร้างการปกครองยังเป็นแบบระบบศักดินาชนชั้นอันประกอบไปด้วยนักรบ ชาวนา ช่างฝีมือและพ่อค้า โดยนักรบ[1] นั้น จักรพรรดิถือว่าอยู่ในชนชั้นนี้ ทว่าในยามที่ประเทศมีสงครามน้อยลง สถานะของจักรพรรดิก็เริ่มถูกลดบทบาทลง ในขณะที่อำนาจของกลุ่มขุนนางมีมากขึ้น เมื่อถึงสมัยเอโดะซึ่งเป็นยุคแห่งการปกครองของรัฐบาลทหาร เกิดระบบการปกครองแบบโชกุนที่ได้ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในการควบคุมและปกครองทุกระดับ คุมอำนาจส่วนกลาง โดยมีไดเมียวเป็นขุนนางที่มีอำนาจในแคว้นต่างๆ อยู่ภายใต้อำนาจของโชกุน ในขณะที่จักรพรรดิดำรงตำแหน่งในฐานะประมุข โชกุนจึงสามารถจำกัดอำนาจของพระจักรพรรดิลง โดยการยึดที่ดิน จำกัดการใช้จ่ายภายในราชสำนัก และออกกฎให้จักรพรรดิเป็นผู้นำทางศาสนาเท่านั้น[2] ต่อมาสถานะของสถาบันจักรพรรดิได้กลับมาฟื้นฟูโดยซามูไรและนักศึกษาลัทธิชินโตที่สนับสนุนราชพิธีในราชสำนักเพื่อให้จักรพรรดิในฐานะผู้นำพิธีกรรมตามหลักศาสนาชินโตมีความเป็นรูปธรรม ปลายยุคเอโดะชนชั้นนักรบได้เสื่อมอำนาจลง ในขณะที่ชนชั้นพ่อค้าขึ้นมามีอำนาจแทนสมัยการปฏิรูปเมจิ พร้อมด้วยการเข้ามาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบศักดินาเสื่อมลงไป ทว่าการปฏิรูปเมจินั้นส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นเนื่องจากรัฐบาลมีความพยายามฟื้นฟูอำนาจของจักรพรรดิในฐานะผู้นำทางทหาร มีการประกาศใช้กฎหมายให้เคารพเชิดชูจักรพรรดิและศาสนาชินโต การสร้างรัฐญี่ปุ่นสมัยใหม่ในสมัยเมจิ จึงเป็นการคืนอำนาจให้สถาบันจักรพรรดิมีความมั่นคงยิ่งขึ้น
ในบทความชิ้นก่อน ผู้เขียนได้กล่าวถึงแนวคิดอนุรักษนิยมของญี่ปุ่นที่มีความเข้มข้นขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พรรคเสรีประชาธิปไตย ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ในบทความนี้ก่อนที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับสังคมอนุรักษ์ของญี่ปุ่น ผู้เขียนจะขอนิยามความหมายของสังคมอนุรักษนิยมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเสียก่อน แนวคิดอนุรักษ์ หรือขวา ในที่นี้หมายถึงความนิยมในวัฒนธรรม ศีลธรรม เน้นระเบียบวินัย เน้นการใช้อำนาจบังคับ นิยมชมชอบชนชั้นสูงและขุนนาง มีลักษณะชาตินิยมในเชิงลบสุดขั้ว ให้คุณค่ากับกลุ่มคนหรือชุมชนมากกว่าปัจเจก ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงและมุ่งรักษาค่านิยมดั้งเดิมของสังคมเอาไว้ โดยความหมายของมันแล้วอนุรักษนิยมดูจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเสรีอยู่มิใช่น้อย ในกรณีของประเทศญี่ปุ่นนั้นทั้งสังคมและการเมืองของญี่ปุ่นล้วนฉายให้เห็นภาพของความอนุรักษ์ที่เข้มข้น จุดเริ่มต้นของแนวคิดอนุรักษนิยมญี่ปุ่นสมัยใหม่เป็นผลมาจากแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งแบบญี่ปุ่นในช่วงจักรวรรดิญี่ปุ่นออกล่าอาณานิคมเพื่อหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากกองทัพแล้วคนญี่ปุ่นและรัฐบาลยังสนับสนุนแนวคิดของกองทัพที่รู้สึกว่าชนชาติของตนเองมีวิญญาณนักรบ มีความเหนือกว่าชนชาติอื่นๆ ในโลก[1] คล้ายกับชาตินิยมสุดโต่งของนาซีเยอรมันที่เชื่อว่าชาวอารยันคือชนเผ่าที่ดีกว่าชนเผ่าอื่นๆ ในกรณีของญี่ปุ่นนำไปสู่การบุกรุกจีนจนเกิดโศกนาฎกรรมนานกิง รวมถึงการบุกรุกฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และเกาหลี ซึ่งการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่นก็ยุติลงเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อสหรัฐอเมริกานำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเข้ามามีอิทธิพลในญี่ปุ่นของสหรัฐฯ และทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถมีกองทัพประจำการได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามรากฐานความคิดชาตินิยมของญี่ปุ่นไม่ได้หายไปด้วยแต่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมและการเมืองญี่ปุ่น แนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมืองของญี่ปุ่นปรากฏอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ระบอบการเมืองของญี่ปุ่นมีความเปลี่ยนแปลงน้อย มีการเปลี่ยนพรรคการเมืองหลักในรัฐบาลเพียงแค่ 4 ครั้ง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองหลักในช่วงปี พ.ศ. 2498 – 2536 เลย[2] ซึ่งพรรคการเมืองหลักที่เป็นพรรครัฐบาลมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นคือพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรคที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบเอียงขวามาทางอนุรักษนิยม ตัวอย่างเช่น ในการออกฎหมายที่สนับสนุนการสมรสเท่าเทียมของกลุ่มเพศหลากหลาย ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ สนับสนุนการออกกฎหมายดังกล่าว แต่พรรค LDP ยืนกรานที่จะไม่สนับสนุนข้อกฎหมายนี้[3] นอกจากนี้ยังมีนโยบายหรือการแสดงออกจากรัฐบาลพรรค
ประเทศญี่ปุ่นเป็น 1 ในประเทศที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ผู้อ่านอาจเคยเดินทางไปยังแดนอาทิตย์อุทัยมาแล้ว หรือมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารหรือแม้กระทั่งสื่อนิยาย อะนิเมะ เกมต่างๆ ที่มีที่มาจากญี่ปุ่น บางคนอาจพอทราบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง แต่หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพนักว่าความเข้มแข็งที่ว่านั้นเป็นอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของคนญี่ปุ่น บทความนี้จึงจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักญี่ปุ่นในเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพว่าเมื่อมีกระจายอำนาจมากขึ้น มีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งแล้วประชาชนในพื้นที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อประชาธิปไตยของประเทศ และจริงหรือไม่ที่กระจายอำนาจแล้วความเจริญจะกระจายไปด้วย โดยจะเริ่มจากการนำเสนอภาพรวมการปกครองท้องถิ่นญี่ปุ่น ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น และบทสรุปสำหรับประเทศไทย ญี่ปุ่นเป็นรัฐเดี่ยว ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นประมุข การบริหารราชการแผ่นดินนั้นเป็นระบบสองชั้น (Two tiers system) คือ การบริหารราชการส่วนกลาง ประกอบไปด้วยรัฐสภาเป็นสถาบันสูงสุดของรัฐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้รับการเลือกจากสมาชิกรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดและเทศบาล การจัดการปกครองญี่ปุ่นสมัยใหม่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาในนามคณะยึดครองพร้อมกับปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และการบริหารของญี่ปุ่น โดยให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอิสระที่จะปกครองตนเองตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่นที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.