ศูนย์เด็กเล็ก-ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำสวัสดิการจากการกดทับของอำนาจส่วนกลาง

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 นับเป็นโศกนาฏกรรมสำคัญสำหรับประเทศไทย ประจวบเหมาะกับการครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การกราดยิงในศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นความสูญเสียสำคัญที่สะท้อน ความรุนแรงในระดับกลุ่มย่อยที่สูงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การชดเชยเยียวยา ปัญหาอาวุธปืน ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) รวมถึงจรรยาบรรณและบทบาทของสื่อในการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ต่างๆ มีหลายเรื่องที่สะท้อนความบกพร่องจากการถอดบทเรียนในอดีต และจำเป็นต้องมีการเรียนรู้และถอดบทเรียนต่อไป แต่ความสูญเสียนี้ชวนให้เราคิดว่า ชีวิตของเด็กเล็กทั่วประเทศก่อนเหตุการณ์กราดยิง ว่าพวกเขาส่วนมากได้รับการใส่ใจจากรัฐมาน้อยเพียงใด รายจ่ายในการเลี้ยงเด็ก 1 คนจนอายุ 18 ปี เป็นค่าใช่จายโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 1,000,000 บาท หรือเดือนละ ประมาณ 4,500 บาท รัฐบาลอุดหนุนเงินเลี้ยงดูเด็กสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ เดือนละ 600 บาท หรือเพียงร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย ลักษณะเช่นนี้ไม่แปลกนักที่เด็กที่เกิดในครัวเรือนรายได้น้อยจะมีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษาเรื่อยๆ เด็กที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ราว 100 คน มีโอกาสในการเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 เพียงแค่ 30 คน เหตุผลหลักของการตกออกแต่ละช่วงอายุ ยังเป็นเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจ

การปกครองท้องถิ่นญี่ปุ่น: เมื่อการกระจายอำนาจอาจนำไปสู่ความเจริญหลากมิติ

ประเทศญี่ปุ่นเป็น 1 ในประเทศที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ผู้อ่านอาจเคยเดินทางไปยังแดนอาทิตย์อุทัยมาแล้ว หรือมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ สินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารหรือแม้กระทั่งสื่อนิยาย อะนิเมะ เกมต่างๆ ที่มีที่มาจากญี่ปุ่น บางคนอาจพอทราบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง แต่หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพนักว่าความเข้มแข็งที่ว่านั้นเป็นอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของคนญี่ปุ่น บทความนี้จึงจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักญี่ปุ่นในเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพว่าเมื่อมีกระจายอำนาจมากขึ้น มีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งแล้วประชาชนในพื้นที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อประชาธิปไตยของประเทศ และจริงหรือไม่ที่กระจายอำนาจแล้วความเจริญจะกระจายไปด้วย โดยจะเริ่มจากการนำเสนอภาพรวมการปกครองท้องถิ่นญี่ปุ่น ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น และบทสรุปสำหรับประเทศไทย ญี่ปุ่นเป็นรัฐเดี่ยว ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นประมุข การบริหารราชการแผ่นดินนั้นเป็นระบบสองชั้น (Two tiers system) คือ การบริหารราชการส่วนกลาง ประกอบไปด้วยรัฐสภาเป็นสถาบันสูงสุดของรัฐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้รับการเลือกจากสมาชิกรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดและเทศบาล การจัดการปกครองญี่ปุ่นสมัยใหม่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาในนามคณะยึดครองพร้อมกับปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และการบริหารของญี่ปุ่น โดยให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอิสระที่จะปกครองตนเองตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่นที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.