หลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นจนถึงวันนี้ เราน่าจะพูดได้ว่าภาพของสนามการเมืองไทยมีความแปลกตาไปจากเดิม ซึ่งความแปลกตาที่ว่านี้ อาจไม่ได้หมายถึงความเปลี่ยนแปลงตามที่หลายคนคาดไว้ก่อนมีการเลือกตั้ง หากเป็นความแปลกตาที่ชวนกระอักกระอ่วนและรู้สึกถึงความย้อนแย้งไม่น้อย ในความงุนงงสิ่งที่เคยเคลือบแคลงกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง พร้อมกับบางสิ่งที่ไม่เคยเห็นก็กลับปรากฏให้เห็น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุหลักมาจากการที่ พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ และ พรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว รวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ เช่น การกลับมาของผู้เล่นสำคัญอย่าง ทักษิณ ชินวัตร “การเมืองต่อจากนี้คือการชักเย่อกัน ระหว่างคนที่ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงกับคนที่ไม่ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง” ส่วนหนึ่งจากคำตอบของ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เมื่อถูกถามถึงทิศทางการเมืองไทยต่อจากนี้ อาจารย์ศิโรตม์ คือนักวิชาการผู้ติดตามและวิเคราะห์การเมืองไทยร่วมสมัยมาอย่างใกล้ชิด และยังทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่มีบทบาทอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ช่วงปี 2563 เรื่อยมาจนปัจจุบัน นั่นจึงการันตีได้ว่าสิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้ คือความเข้มข้นของความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ที่ให้รสชาติไม่แพ้กาแฟดำชั้นดีในยามบ่ายฟ้าเปิด การกระจายอำนาจในมุมมองของอาจารย์คืออะไร การกระจายอำนาจเป็นได้ทั้งในแง่อำนาจการเมือง อำนาจเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากรของตนเอง เพราะสังคมไทยแต่เดิมเป็นสังคมซึ่งรัฐไม่ได้รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เป็นสังคมซึ่งมีอำนาจในการควบคุมทรัพยากรระดับท้องถิ่น รัฐเพิ่งจะมาควบคุมได้ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้นเอง และในกระบวนการที่รัฐไทยพยายามควบคุมอำนาจเหนือพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นภาษี ส่วย หรืออำนาจการเมือง เฟสแรกของการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางก็มาด้วยการใช้กำลัง เราจะเห็นว่าในช่วงที่เริ่มมีการรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่สังคมไทยมีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนค่อนข้างสูง มีการต่อต้านตามหัวเมืองต่างๆ เกิดกบฏเจ็ดหัวเมือง เกิดกรณีเงี้ยวเมืองแพร่ กรณีอุดร