เชื่อหรือไม่ว่าประเทศไทยเราน่าจะเป็นประเทศที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายผ่านทางสื่อทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในโลก ถ้าท่านลองสังเกตดูให้ดี จะพบว่าปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมที่ถูกหยิบยกสู่การนำเสนอของสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเมืองการปกครอง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายแทบทั้งสิ้น ผู้ที่ตกเป็นจำเลยก็คือบรรดานักกฎหมายทั้งหลายนั่นเองที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวยุ่ง เป็นตัวสร้างปัญหาให้แก่บ้านเมือง เพราะในการให้ความเห็นในปัญหากฎหมายของนักกฎหมาย (ทั้งของจริงและของไม่จริง) ผ่านสื่อต่างๆ ก็มักมีความเห็นสวนทางกันอยู่เสมอ สุดแล้วแต่ว่าตนเองเชียร์ฝ่ายใด โดยมีธงคำตอบอยู่ในใจไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนที่จะตีความปัญหา ข้อกฎหมายนั้นๆ ปัญหาที่น่าปวดหัวของคนทั่วไปที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางกฎหมายโดยตรง (ในบางครั้งก็รวมถึงนักกฎหมายเองด้วย) ก็คือปัญหาในการตีความศัพท์แสงทางกฎหมาย ซึ่งโดยปกติแล้วการตีความกฎหมายจะมีการตีความตามตัวอักษร (Textual Approach) และการตีความตามเจตนารมณ์ (Purposive Approach) ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องรู้จัก ภาษา ที่ใช้ในกฎหมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ (1) ภาษาคนหรือภาษาธรรมดาทั่วไป โดยปกติถ้อยคำหรือภาษาในกฎหมายทั่วๆ ไปแล้ว ย่อมมีความหมายตามที่ คนทั่วไปเข้าใจ การตีความก็ต้องตีความไปตามความหมายของศัพท์เหล่านั้น เช่น ฆ่า ก็ย่อมหมายถึงทำให้ตายหรือเสียชีวิต ฯลฯ (2) ภาษากฎหมายหรือภาษาทางเทคนิค หมายถึง ภาษาที่มีความหมายพิเศษ กว้างขวางลึกซึ้ง แตกต่างไปจากภาษาธรรมดา หรือภาษาที่คนใช้อยู่ทั่วๆ ไป ภาษากฎหมายนี้ใช้และเข้าใจกันอยู่ในบรรดาของแวดวงนักกฎหมายที่เข้าใจกันเป็นการเฉพาะ ในประเด็นนี้ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ได้ยกตัวอย่างในรายงานการวิจัย เรื่อง