ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน โลกเผชิญกับความเหลื่อมล้ำมหาศาลจากการขยายตัวของลัทธิเสรีนิยมใหม่ นับจากช่วง 1970-1980 อำนาจของกลุ่มทุนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับอำนาจของประชาชนที่ถูกจำกัดน้อยลง กลุ่มชนชั้นนำพร่ำบอกว่าโลกนี้ไม่มีทางเลือก จะชอบหรือจะชัง ยุคทองของรัฐสวัสดิการที่รัฐโอบอุ้มดูแลผู้คนได้ผ่านไปแล้ว
ตอนนี้ไม่มีรัฐกับประชาชนอีกต่อไปเหลือเพียงแค่ ตลาดกับผู้ประกอบการ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบรัฐสวัสดิการในยุโรป รวมถึงการขยายอำนาจทุนทั่วทั้งโลก การย้ายฐานการผลิต แทรกแซงกลไกทางการเมืองและกฎหมายในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้ดำเนินนโยบายต่างๆ เอื้อต่อกลุ่มทุนข้ามชาติ เศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้นมากมาย ผู้คนถูกดึงเข้าสู่ระบบการสะสมทุนแบบใหม่ ซึ่งหมายถึงชั่วโมงการทำงานที่หนักอึ้ง หนี้สินเพื่อเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟ การเดินทาง ความบันเทิงล้วนถูกยึดครองโดยกลุ่มทุน เวลานับสิบปี ชุมชนในประเทศยากจนเสียทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนทำงานหนักมากขึ้น แต่ยากจนลง
แต่กลุ่มทุนการเงิน กลุ่มทุนเทคโนโลยี และทุนข้ามชาติมั่งคั่งมากขึ้นมหาศาล
ต้นศตวรรษที่ 21 กระแสความไม่พอใจที่สะสม การลุกฮือของผู้คนก่อนหน้านี้ คลื่นกระแสการเปลี่ยนแปลงมาถึงในลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นขบวนการชาวนาไร้ที่ดิน (Zapatista) ในเม็กซิโกที่ขัดขืนต่อการเข้ามาควบคุมทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ การลุกฮือนัดหยุดงานในหลายพื้นที่ และการปูพื้นฐานการก้าวสู่อำนาจของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย
ไม่ว่าจะเป็น ฮูโก ชาเวซ ของเวเนซูเอลา โฮเซ มูฮิกา จากอุรุกวัย และที่สำคัญ ลูลา ดาซิลวา ประธานาธิบดีจากพรรคแรงงานผู้นำการนัดหยุดงานทั่วประเทศในทศวรรษ 1960-1970 ชนะการเลือกตั้งในบราซิล คลื่นกระแสสังคมนิยมที่ก้าวเข้าสู่อำนาจในละตินอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ถูกเรียกว่า Pink-Tide คลื่นสีชมพู อันเป็นสีประจำเฉดสีสังคมนิยมที่สะท้อนความเสมอภาคในสังคม
ลาตินอเมริกาที่เคยเป็นสวนหลังบ้านของสหรัฐอเมริกา ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ ชิลีเคยเป็นสนามทดลองนโยบายเสรีนิยมใหม่ของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีที่มาจากการรัฐประหารอย่างปิโนเชต์ เริ่มเปลี่ยนแปลงและท้าทายอำนาจของกลุ่มทุนข้ามชาติ ชุดคำนโยบายมหาศาลถูกสร้างขึ้นเพื่อโจมตีรัฐบาลเหล่านี้แม้แต่คำว่า ประชานิยม-Populism ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นในทางวิชาการเพื่อด้อยค่า พรรคการเมืองที่มีนโยบายตอบสนองประโยชน์ต่อประชาชน
หลายประเทศในละตินอเมริกายังคงมีผลประโยชน์มหาศาลทั้งในด้านทรัพยากร ฐานการผลิต กลุ่มทุนและรัฐบาลต่างชาติยังคงเข้ามามีบทบาทแทรกแซงอยู่เสมอ แน่นอนในนโยบายย่อมมีข้อผิดพลาด และไม่มีประสิทธิภาพอยู่บ้าง แต่บ่อยครั้งในความผิดพลาดมักถูกโหมกระพือโดยสื่อที่มีความคิดโน้มเอียงไปทางเสรีนิยมใหม่ รวมถึงการแทรกแซงจากต่างชาติ
ทำให้บางสถานการณ์ของหลายประเทศในละตินอเมริกาย่ำแย่ลง หนึ่งในนั้นที่เห็นได้ชัดคือ กระบวนการ ตุลาการวิบัติ ในบราซิล ในปี 2016 เพื่อจำกัดอำนาจของ ลูลา ดาซิลวา ประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนโยบายขยายสวัสดิการมาตลอด 10 ปี ลูลาถูกตัดสินจำคุก ก่อนที่จะยกฟ้องในที่สุด แต่นั่นก็เพียงพอให้ รัฐบาลฝ่ายขวาอย่าง ชาอีร์ โบลโซนาโร จากพรรคสังคมเสรีนิยม-แม้ชื่อพรรคเป็นเสรีนิยม แต่จุดยืนพรรคการเมืองนี้คือขวาตกขอบอย่างชัดเจน
ต่อต้าน LGBT ต่อต้านขบวนการเคลื่อนไหว ต่อต้านความเสมอภาค และสนับสนุนเฉพาะการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การบริหารของ โบลโซนาโร งบประมาณการศึกษาถูกตัด งบประมาณด้านสวัสดิการน้อยลง งบประมาณด้านการควบคุมทางสังคมมากขึ้น ความรุนแรงจากตำรวจต่อประชาชนมากขึ้น เช่นเดียวกับพื้นที่ป่าอเมซอนที่ถูกรุกล้ำและใช้ประโยชน์โดยกลุ่มทุนมากขึ้น โฉมหน้าของฝ่ายขวาและนายทุนทำงานกันอย่างแนบชิดแต่ประชาชนเผชิญกับความยากจนและสิ้นหวังมากขึ้น
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 การล้มตายจากโรคระบาด ผู้คนในบราซิลตกลงสู่ความยากจนมหาศาล แต่กลุ่มทุนก็ยังคงมั่งคั่ง กระแสความไม่พอใจของผู้คนเริ่มเต็มท้องถนน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของบราซิลดูแคลนคนรุ่นใหม่ว่าเป็นเพียง ซอมบี้ที่อ้างว้าง Existential zombies เป็นกลุ่มคนที่ไม่เชื่อทั้งในพระเจ้าและการเมือง
การดูแคลนด้อยค่านี้เกิดในสถานการณ์ที่สังคมมีความเดือดร้อนอย่างหนัก คนรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตปัญหาการว่างงานในช่วงโรคระบาด นโยบายรัดเข็มขัดและท่องคาถาวินัยทางการคลังของรัฐบาลฝ่ายขวาพร้อมกับการตัดสวัสดิการ สร้างความไม่พอใจต่อคนทุกรุ่นอย่างมาก
ในบราซิลคนอายุ 16 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยผ่านการลงทะเบียนล่วงหน้า ก่อนที่จะเป็นสิทธิ์พื้นฐานตอนอายุ 18 สำหรับการเลือกตั้งปี 2022 การลงทะเบียนการเลือกตั้งของคนอายุต่ำกว่า 18 ปี มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการลงทะเบียน จากผลโพลล์ร้อยละ 52 ของกลุ่มคนรุ่นใหม่เลือกลูลาจากพรรคฝ่ายซ้าย ขณะเลือกตัวแทนจากพรรคฝ่ายขวาเพียงร้อยละ 32 ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะในช่วงระหว่างปี 2005-2015 ความนิยมของรัฐบาลฝ่ายซ้ายตกต่ำลงในหมู่ชนชั้นกลาง
การเมืองแบ่งขั้วอย่างชัดเจนและคนรุ่นใหม่ก็มีความโน้มเอียงที่จะต่อต้านฝ่ายซ้ายแม้ไม่นิยมฝ่ายขวาเท่าไรนัก หากย้อนกลับไป 20 ปีก่อนผู้คนรุ่นใหม่ทั้งหมดแทบเกิดไม่ทันเมื่อครั้งลูลาเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี แต่วันนี้พวกเขาตัดสินใจลงคะแนนให้ นักการเมืองวัยชรา ที่พูดเรื่อง ความเสมอภาค แบบเดิมๆ มาทั้งชีวิตของเขา พูดเรื่องการศึกษาฟรี อาหารฟรี น้ำฟรี ไฟฟรี และปกป้องคนจน ต่อต้านคนรวย
แม้พวกเขารู้ดีว่าทุกนโยบายอาจไม่แล้วเสร็จ หลายนโยบายอาจถูกปรับแต่งลดทอนเมื่อก้าวเข้าสู่อำนาจ
แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็อยากให้เสียงของพวกเขาสะท้อนออกมาว่าเขาอยากได้ตัวแทนของพวกเขา คนที่มาจากชนชั้นเดียวกัน คนที่เจ็บปวดเรื่องเดียวกัน คนที่มีความฝันแบบเดียวกัน เปลี่ยนประเทศของเขาไปพร้อมกัน
ลูลา ดาซิลวา ชนะการเลือกตั้งในที่สุดด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว และเขาไม่รอช้าที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายที่อิงประโยชน์ชนชั้นนำสู่นโยบายสวัสดิการของประชาชน นับเป็นขั้นตอนสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้จับต้องได้สำหรับประชาชน