เราคงจำได้ว่า เด็กๆ เรามักมีนักฟุตบอลที่เราชื่นชอบ นักร้องที่ชื่นชอบ เราอาจไม่ได้ชอบที่เสียงของพวกเขา ไม่ได้ชอบผลงานในสนามหรือประตูที่พวกเขายิงได้ ถ้วยแชมป์ของพวกเขา แต่การที่เด็กๆ แทบทุกยุคสมัยมีนักฟุตบอลเป็นต้นแบบสาเหตุหลักคือ การที่พวกเขาเห็นคนที่สามารถวิ่งตามความฝันได้ เห็นคนที่ไม่ละทิ้งความฝัน แม้จะเป็นแค่เกมกีฬา การได้เห็นคนมีอารมณ์ร่วมและได้ทำตามความฝันที่ตนได้เลือกนั้น มันจึงนับเป็นสิ่งที่สะท้อนความสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคน
คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า เด็กทุกคนจะสามารถวิ่งตามความฝันได้เต็มที่ เราต้องการสังคมรูปแบบไหนที่จะทำให้ความสำเร็จและความฝันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องส่วนรวมไปพร้อมกัน
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเป็นการเริ่มของเทศกาลฟุตบอลโลก ผมได้มีโอกาสไปบรรยายให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายโรงเรียนวังวิเศษ จังหวัดตรัง ในประเด็นการรักษาความฝันของผู้คนในหัวข้อ
ไปสู่ฝันและชัยชนะด้วยกัน ด้วยรัฐสวัสดิการ
เด็กๆ ล้วนมีนักฟุตบอลที่พวกเขาชอบ และอยากจะวิ่งตามความฝัน ผมยกตัวอย่างนักฟุตบอลที่ผมชื่นชอบคือ มาร์คัส แรชฟอร์ด จากทีมชาติอังกฤษ ผมเริ่มโดยการตั้งคำถามว่า หากเราเกิดในสังคมที่เลือกปฏิบัติจากสีผิว แม่มีลูก 5 คนและต้องทำงาน 3 กะ คนที่มาจากชนชั้นของเขามีโอกาสเพียงแค่ 0.1% ที่จะวิ่งตามความฝันของตนได้
เราจะตัดสินใจอย่างไรเมื่ออายุ 15 ปี เราจะเลือก 1.ลาออกจากโรงเรียน ทำงานที่ได้เงินทันที 2.เล่นฟุตบอลต่อ แม้จะไม่มีรายได้ 3.เลิกเล่นฟุตบอล ตั้งใจเรียนสาขาวิชาชีพ เป็นครู วิศวกร ทนาย คำถามนี้ผมยิงไปยังนักเรียนกว่า 200 คนในห้อง คำตอบหลากหลายบางคำตอบตลก บางคำตอบชวนเศร้า หนึ่งในคำตอบที่น่าคิดคือ
เราจะรู้ได้อย่างไรในอนาคต ความฝันเป็นเรื่องของคนรวย หนูคงจะเลือกลาออกจากโรงเรียนและทำงาน แม่จะได้ทำงานน้อยลง น้องๆ ก็จะได้มีชีวิตที่ดี ความฝันเป็นเรื่องของคนรวยมากกว่าของคนส่วนใหญ่
อย่างที่เราทราบกัน มาร์คัส แรชฟอร์ด ตัดสินใจในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพต่อไปและเขาประสบความสำเร็จในวัย 18 ปี และเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลดาวรุ่งที่มีชื่อเสียงของประเทศ แต่สิ่งที่เขาบอกในเวลาต่อมาคือ
หลายคนอาจมองว่าเพราะพรสวรรค์หรือความมุ่งมั่นที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ สามารถตัดสินใจเลือกที่จะเดินตามความฝันได้ เริ่มต้นจากเพียงนโยบายอาหารกลางวันที่ทำให้เขาเลือกชีวิตของตนเองได้ง่ายขึ้น เงินอาหารกลางวันที่รัฐจัดให้มีมูลค่าไม่กี่พันบาทต่อเดือนกลับสามารถยกระดับชีวิตของเขาได้ และทำให้เขายังสามารถเดินตามความฝันมาจนสุดทางได้
การวิ่งตามความฝันจึงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว อะไรมีผลต่อการตัดสินใจครั้งนี้คงไม่พ้นว่า 1.การศึกษาราคาเท่าไร 2.รัฐสนับสนุนทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่มีมูลค่าแค่ไหน
3.การตัดสินใจของเรามีผลต่อคนอื่นแค่ไหน 4.คนที่สำคัญในชีวิตเราได้ผลกระทบอะไรจากการตัดสินใจของเรา สังคมที่โอบอุ้มคนโดยพื้นฐานย่อมทำให้เราสามารถเลือกเส้นทางเดินของเราได้ง่ายโดยไม่ต้องกังวล
“อาหารกลางวันถ้วนหน้า ทำให้เขาได้เรียนหนังสือต่อและได้เล่นฟุตบอล”
ผมตั้งคำถามต่อไปว่าแล้วในทางกลับกันในวันที่คุณกลายเป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง มีเงิน เริ่มประสบความสำเร็จและวันหนึ่งเมื่อประเทศเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจน คุณจะทำอย่างไรระหว่าง บริจาคเงินส่วนหนึ่งให้คนยากจน วิ่งเรี่ยไรเพื่อการกุศล วิจารณ์รัฐบาล
มีนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 คนหนึ่งลุกขึ้นตอบ
ถ้าหนูเคยได้รับการดูแลความฝันของตนเองจากคนในสังคมมาก่อน สิ่งสุดท้ายที่หนูจะทำคือการบริจาคหรือเรี่ยไรจากประชาชน เพราะมันคือหน้าที่ของรัฐ รัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ต้องให้ประชาชนดูแลกันเอง
และในชีวิตจริง ในช่วงวิกฤติ โควิด-19 แรชฟอร์ดเลือกจะใช้เสียงของตัวเองวิจารณ์รัฐบาลต่อนโยบายการตัดสวัสดิการต่างๆ เสียงของเขาดังมากพอที่จะทำให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย และทำให้คนอังกฤษรุ่นใหม่สนใจนโยบายรัฐสวัสดิการมากขึ้น
หากใครติดตามฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ทีมที่คนไทยติดตามและประทับใจอีกทีมหนึ่งคือทีมชาติญี่ปุ่น ทีมชาติญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากแม้จะตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่ผลงานในรอบแรกพวกเขาชนะ เยอรมนี และสเปน ที่ดูมีศักยภาพเหนือกว่าพวกเขาอย่างมาก
ชัยชนะนี้ทำให้มีการสนใจแผน 100 ปีของญี่ปุ่น ที่เริ่มในปี 1992 ว่าจะเป็นแชมป์โลกให้ได้ในปี 2092 ขณะที่เมืองไทยเรายังวนอยู่กับ 1.อัดฉีดนักฟุตบอลที่ยิงประตูได้ 2.บรรจุให้นักฟุตบอลเป็นข้าราชการ ญี่ปุ่นเริ่มต้นเมื่อสามสิบปีที่แล้วในการพัฒนาฟุตบอลอาชีพควบคู่ไปกับการพัฒนาสวัสดิการในระดับเยาวชน พื้นที่สาธารณะและโรงเรียนสำหรับเด็ก
กล่าวคือ ญี่ปุ่นไม่ได้มุ่งไปที่การสร้างอาชีพและความสำเร็จของทีมชาติเท่านั้น สองอย่างนี้เป็นเพียงแค่ผลพลอยได้ เรื่องสำคัญที่สุดคือการลงทุนในกีฬา สวัสดิการและเวลาว่างทำให้คนสุขภาพดี มีจินตนาการในชีวิตที่หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องพุ่งไปที่การอัดฉีด บรรจุนักกีฬาเป็นข้าราชการ แต่เริ่มต้นสวัสดิการสำหรับเด็ก พ่อแม่ พื้นที่สาธารณะให้ครอบคลุมทุกชนชั้น เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ความฝันของผู้คนหลากหลาย
ฝรั่งเศสคู่ชิงฟุตบอลโลกหนนี้ ซึ่งถือเป็นไม่กี่ทีมในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าชิงฟุตบอลโลก 2 ครั้งติดต่อกัน มีความหลากหลายของเชื้อชาติผู้เล่น จากนโยบายเปิดรับผู้อพยพ แม้ฝรั่งเศสจะมีปัญหาการเลือกปฏิบัติอยู่ภายในประเทศไม่น้อยแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เราจะพบผู้เล่นที่มีชื่อเสียงหลายคนมีเชื้อสายอาหรับ แอฟริกา และเป็นผู้อพยพรุ่นที่ 2 หรือหลายคนเองก็ไม่ได้เกิดในฝรั่งเศสด้วยซ้ำ เราจะเห็นได้ว่าสังคมพหุวัฒนธรรมเองก็มีผลที่ทำให้ผู้คนได้ปลดล็อกศักยภาพส่วนตัวของแต่ละคน
ยังไม่นับรวมเงื่อนไขการกระจายอำนาจ จัดการตนเองของท้องถิ่นต่างๆ ที่มีผลสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร และคุณภาพชีวิตของคนเล่นกีฬา ที่เริ่มต้นง่ายๆ ถ้าปัญหาอาชญากรรมถูกแก้ไขด้วยการเพิ่มสนามกีฬา โค้ชกีฬาแทนที่กับการเพิ่มจำนวนตำรวจ และกล้องวงจรปิด เราจะพบว่า สนามกีฬาและผู้ฝึกสอนราคาถูกกว่ามาก ได้ผลกว่ามาก แต่รัฐรวมศูนย์ย่อมขาดจินตนาการเรื่องเหล่านี้
หากกลับมาที่คำถามแรกของบทความ ทำไมเด็กๆ ถึงชอบนักฟุตบอล เราได้คำตอบเบื้องต้นเพราะพวกเขาเลือกที่จะวิ่งตามความฝัน ที่แตกต่างจากความจริงที่มีทางเลือกจำกัด ทั้งนี้สุดท้ายหากเราอยากได้สังคมที่เท่าเทียมและรักษาความฝันไว้ได้ ก็คือกลับมาที่จุดเริ่มต้น
สังคมที่ยุติธรรม สังคมที่เท่าเทียม สังคมที่มีระบบสวัสดิการเป็นมิตร สังคมที่ปราศจากรัฐรวมศูนย์ สังคมพหุวัฒนธรรม ย่อมทำให้ความฝันของคนทุกชนชั้นเดินหน้าต่อไปได้