ยกเลิก 112 พวกเราไม่ใช่สัตว์เชื่องๆ

เสียงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะกฎหมายตัวนี้ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อกลั่นแกล้ง และปิดปากผู้คน ใช่หรือไม่ว่า หลักเบื้องต้นของการมีกฎหมายคือ การให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก

เราคุยกับ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญา ว่าสรุปแล้ว มาตรา 112 ควรยกเลิกด้วยเหตุใด

ในมองมุมเชิงปรัชญา อาจารย์มองว่า 112 คืออะไร

ถ้ามองจากปรัชญาสายคานท์ (Kantian) 112 คือกฎหมายที่ไม่ควรเป็นกฎหมายเพราะมันขัดกับ ความเป็นมนุษย์ ของเราครับ ความเป็นมนุษย์หมายถึงความเป็น สัตผู้มีเหตุผล (rational being) ที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และมีจุดหมายหรือศักดิ์ศรีในตนเอง การที่เราคือ being ที่มีจุดหมายหรือศักดิ์ศรีในตนเอง หมายความว่าเราคือผู้ที่มีคุณค่าสูงสุดที่ถูกใช้เป็น เครื่องมือ เพื่อบรรลุจุดหมายอื่นใดไม่ได้

เช่น จะให้ความเป็นมนุษย์ของเราเป็นเครื่องมือเพื่อความมั่นคงของสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครองไม่ได้ การมี 112 ก็คือการใช้ความเป็นมนุษย์ของเราเป็นเครื่องมือ ด้วยการไม่ให้เราใช้เสรีภาพแห่งมโนธรรม (freedom of conscience) ตัดสินถูก ผิด เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐอย่างเป็นสาธารณะได้ เพราะไม่มีเสรีภาพในการพูด การแสดงออก เมื่อไม่มีเสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ผู้มีคุณค่า มีศักดิ์ศรีหรือเป้าหมายในตนเองก็ถูกกดทับ

ไม่สามารถใช้เสรีภาพแสดงเหตุผล ความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมในการบัญญัติกฎขึ้นมาใช้ร่วมกันได้ว่าเราต้องให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้กฎกติกาอะไรบ้างที่เป็นประชาธิปไตย พูดอีกอย่างคือ มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีต้องมีเสรีภาพ และการมีเสรีภาพหมายถึงการที่เราทุกคนสามารถบัญญัติกฎขึ้นมาใช้กับตนเองและใช้ร่วมกันกับทุกคนบนพื้นฐานของการเคารพ ความเป็นคนเท่ากัน ได้

แต่กฎเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ถูกกำหนดมาโดยชนชั้นปกครอง (เครือข่ายอำนาจสถาบันกษัตริย์) โดยเฉพาะ 112 ก็คือกฎหมายที่ถูกกำหนดให้มาจากอำนาจเบื้องบนและเพิ่มอัตราโทษสูงขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการทำรัฐประหารในนามปกป้องสถาบันกษัตริย์ แล้ว 112 ก็ถูกใช้ปิดปากฝ่ายเสรีนิยมหรือฝ่ายซ้ายที่ต้องการเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเสมอภาคทางสังคมมายาวนานมาก ซึ่งขัดกับหลักเสรีภาพแบบคานท์ที่ถือว่ากฎศีลธรรมและกฎกติกาทางการเมืองต้องไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดให้มาจากเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า ศาสนจักร กษัตริย์ หรืออำนาจเผด็จการอื่นใด แต่ต้องมาจากการที่เราทุกคนในฐานะคนเท่ากันใช้เสรีภาพบัญญัติกฎขึ้นมาใช้ร่วมกัน

ถ้ามองแบบรอลส์ (John Rawls) 112 ขัดกับหลักความยุติธรรมสาธารณะคือหลัก เสรีภาพที่เท่าเทียม (equal liberty) อันเป็น คุณค่าแกนกลาง (core value) ของระบอบประชาธิปไตย จะเห็นว่าเมื่อไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียมมันก็คือ ความอยุติธรรม เช่น ฝ่ายขวาอวยกษัตริย์ได้สุดๆ แต่อีกฝ่ายวิจารณ์ตรวจสอบหรือเสนอข้อมูลด้านที่เป็นปัญหาไม่ได้ นี่คือความอยุติธรรมเพราะไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียม และมันนำไปสู่ความอยุติธรรมอื่นๆ ตามมา

เช่น กระบวนการฟ้องและพิจารณาตัดสินคดี 112 ไม่เป็นไปตามหลักสากล ไม่ให้สิทธิ์ประกันตัว หรือติดคุกโดยศาลยังไม่ตัดสิน เป็นต้น รวมไปถึงนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายทางการเมืองที่ถูกมองว่ากระทบความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ก็อาจถูกปิดปากด้วย 112 หรือถูกยุบพรรคเป็นต้น ดังนั้น ในทางปรัชญาการเมืองแบบรอลส์จึงมองได้ว่า 112 ทำให้ไม่สามารถมีหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมอันเป็นหลักความยุติธรรมสาธารณะที่เป็นคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตยได้ พูดอีกอย่างคือ 112 ทำให้ไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะไม่มีเสรีภาพทางการเมือง

ในมุมมองเชิงปรัชญา นักโทษการเมืองคืออะไร

บางทีเราเรียกนักโทษการเมืองว่า นักโทษมโนธรรมสำนึก (Prisoner of Conscience) หมายถึงเขากลายเป็นนักโทษเพียงเพราะใช้มโนธรรมสำนึกผิดชอบชั่วดีในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ หรือเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจเผด็จการและความอยุติธรรมต่างๆ เพราะอยากเห็นสังคมการเมืองมีความเป็นธรรมมากขึ้น

มองแบบรอลส์นักโทษการเมืองคือบุคคลที่ถูกลงโทษหรือถูกห้ามไม่ให้สามารถแสดงบทบาทของความเป็น พลเมืองเสรีและเสมอภาค (free and equal citizens) ผู้เป็นเจ้าของหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมได้ ประเทศที่มีนักโทษการเมืองคือประเทศที่ไม่มีหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมอันเป็นหลักความยุติธรรมสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตย

มองแบบคานท์ (Immanuel Kant) นักโทษการเมืองคือบุคคลที่ถูกห้ามไม่ให้มีศักดิ์ศรีความเป็นคน มองแบบมิลล์ (John Stuart Mill) สังคมที่ยังมีนักโทษการเมืองคือสังคมที่ยังป่าเถื่อนล้าหลัง เพราะไม่มีเสรีภาพในการพูดความจริง เมื่อไม่มีเสรีภาพในการพูดความจริง ก็มีความก้าวหน้าทางความคิด ปัญญา ความรู้ และอื่นๆ ไม่ได้

คนที่ติดคุกโดย 112 ก็คือนักโทษการเมืองในความหมายดังกล่าว แต่เราอยู่ภายใต้ระบบอำนาจทางการเมืองแบบไทยๆ ที่หลอกลวงว่า นักโทษ 112 ไม่ใช่นักโทษการเมือง แต่ทำไมประเทศเสรีประชาธิปไตยถึงให้สิทธิ์ผู้ที่โดน 112 เป็น ผู้ลี้ภัยการเมือง เพราะตามหลักสากลนักโทษ 112 ก็คือนักโทษการเมือง

การที่มีเด็กอายุ 15 โดนฟ้องด้วย ม.112 มีคำอธิบายในเชิงปรัชญาหรือไม่  

มีคำอธิบายเชิงปรัชญาที่เจ็บปวดมากเลยครับ เพราะถ้ามองแบบคานท์ประเทศที่ใช้ 112 กดปราบเยาวชนอายุ 14, 15 คือประเทศที่ห้ามไม่ให้เยาวชนมีศักดิ์ศรีความเป็นคนในฐานะมนุษย์ผู้มีเสรีภาพเป็นของตนเอง หรือเป็นประเทศที่ใช้ความเป็นมนุษย์ของเยาวชนเป็นเครื่องมือเพื่อความมั่นคงของสถานะ อำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ ของชนชั้นปกครอง

พูดอีกอย่าง การใช้ 112 กับเยาวชนคือการมองพวกเขาเป็นสัตว์ที่ต้องเชื่อง เชื่อฟัง และภักดีต่อผู้มีอำนาจ ไม่ใช่มนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีที่มีเหตุผล ความคิด และเสรีภาพเป็นของตนเอง มองแบบมิลล์ เสรีภาพคือพื้นที่เพื่อการเติบโต การใช้ 112 กับเยาวชนก็คือการปิดกั้นไม่ให้พวกเขามีพื้นที่เพื่อการเติบโตทางความคิด สติปัญญา และความใฝ่ฝันถึงอานาคตที่ดีกว่า

มองแบบรอลส์มันคือการกดปราบเยาวชนอย่างขัดหลักความยุติธรรมสาธารณะเพื่อไม่ให้พวกเขาสามารถเติบโตเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคได้อย่างสง่างาม คือไม่ว่าจะมองในมุมไหน การใช้ 112 กดปราบเยาวชนมันคือความโหดร้ายป่าเถื่อนและล้าหลังของอำนาจรัฐที่กระทำต่อ เยาวชนผู้ตื่นรู้ ที่เป็นอนาคตของชาติ

โดยส่วนตัว อยากให้ยกเลิก 112 หรือ แก้ไข

ควรยกเลิกครับ เพราะ 112 ขัดกับความเป็นมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีในตนเองที่เป็นเจ้าของเสรีภาพ ขัดกับความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาค ขัดกับหลักความยุติธรรมสาธารณะของระบอบประชาธิปไตย ปิดกั้นพื้นที่เสรีภาพอันเป็นพื้นที่เพื่อการเติบโตของปัจเจกบุคคล และเป็นอุปสรรคความก้าวหน้าของสังคมและมนุษยชาติ ประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน ควรใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดากับประมุขของรัฐแบบญี่ปุ่น

หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเกิดขึ้น อาจารย์มองว่า เสียงของประชาชนที่จะให้ยกเลิก 112 จะมีความหมายขึ้นหรือไม่

ช่วงปลายรัฐกาลที่ 9 แทบไม่มีใครกล้าพูดเรื่องยกเลิก 112 ตอนนั้นมีผู้ประท้วง ไม่ยืนในโรงหนัง  กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้การไม่ยืนในโรงหนังกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นไปได้ว่าการกระจายอำนาจเลือกผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด จะทำให้สิทธิ์เสียงของประชาชนมีความหมายมากขึ้น หรือประชาชนส่งเสียงบอกความต้องการของตนเองได้มากขึ้น

ชนชั้นปกครองก็อาจจำเป็นต้องปรับตัวตามเสียงเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะนักการเมืองและพรรคการเมืองยิ่งต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น ก็อาจทำให้เสียงเรียกร้องยกเลิก 112 ของประชาชนถูกผลักดันโดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ มากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นที่นักการเมือง พรรคการเมืองต้องนำไปสู่กระบวนการทางสภาในที่สุด

 การที่เราบอกว่าเป็นเมืองพุทธ ทำไมคนบางส่วนถึงอยากให้คนอื่นติดคุก จาก ม.112

ความเป็นเมืองพุทธ หรือเมืองศาสนาใดๆ ไม่ได้ทำให้ความคิดหรืออุดมการณ์เรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนงอกงามขึ้น ตรงกันข้าม สังคมที่ศาสนามีบทบาทชี้นำทางความคิด การเมือง และวัฒนธรรม มักเป็นสังคมที่ซาบซึ้งในสถานะและอำนาจที่อิงหลักความเชื่อทางศาสนาของชนชั้นปกครอง

จึงไม่แปลกที่เราเห็นพระชื่อดัง พระเกจิต่างๆ สาบแช่งคนวิจารณ์เจ้าให้ตกนรกหมกไหม้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนที่เกิดมาเป็นกษัตริย์หรือเป็นเจ้าได้คือคนที่มีบุญบารมีมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น การวิจารณ์เจ้าจึงเป็นบาป สังคมที่เสรีภาพและประชาธิปไตยเข้มแข็งได้ คือสังคมที่แยกศาสนาจากรัฐในทางการเมือง (pollical secularization)

คือแยกศาสนาจากอำนาจทางการเมือง ประมุขของรัฐต้องไม่มีสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนา ต้องเป็น คนเหมือนกัน กับประชาชนทั่วไป และแยกศาสนาจากรัฐในทางสังคม (social secularization) คือเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเคารพและปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาค ไม่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมความเชื่อแบบศาสนา

ถือว่าศาสนาเป็นเพียง ความเชื่อส่วนบุคคล ที่ใครจะเลือกเชื่อหรือไม่ก็ได้ รัฐไม่บังคับยัดเยียดปลูกฝังความเชื่อทางศาสนาผ่านสถาบันการศึกษาของรัฐ และกลไกรัฐอื่นๆ

Authors

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

  • เป็นคนเขียนหนังสือพอใช้ได้ เป็นคนรับจ้างทั่วไปที่เรียกแล้วได้ใช้ หลายอย่างทำได้ไม่เพอร์เฟคแต่ลิมิเต็ดอิดิชั่น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *