นอกจากภาพหนูน้อยในชุดแต่งกายเลียนแบบควีนอังกฤษแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่เราไม่พูดถึงไม่ได้คือ วงพังค์นาม Sex Pistols
God Save The Queen อยู่ในอัลบั้ม Never Mind the Bollocks, Here’s the Sex Pistols ได้รางวัล NME อะวอร์ดส์ สาขาซิงเกิลยอดเยี่ยม
John Lydon ฟรอนต์แมนลีลากวนอวัยวะใช้เดินเคยชื่นชมพระราชินีที่สามารถครองราชย์มาได้อย่างยาวนาน แต่ยังเน้นย้ำความคิดของเขาว่า
“ผมต่อต้านราชวงศ์ แต่ไม่ได้ต่อต้านความเป็นมนุษย์”
ย้อนกลับไปในปี 1977 ควีนครองราชย์ครบ 25 ปี ทางวงได้ลงเรือล่องเเม่น้ำจากท่ากรุงลอนดอน ปล่อยซิงเกิล God Save The Queen เพื่อโปรโมต รวมถึงเย้ยควีนด้วยการซาวด์เช็กสุดหยาบ
ครั้นเรือผ่านรัฐสภา พวกเขาถูกตำรวจน้ำล้อมเรือ ตัดไฟ และพาเข้าฝั่ง สมาชิกหลายคนถูกจับ ทั้งหมดทั้งมวลส่งให้ BBC ปฏิเสธจะเปิดเพลง God Save The Queen แต่ช้าไปแล้ว เพลงไต่ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต NME เร็วปานสายฟ้าแลบ
Hannah Arendt นักปรัชญาชาวเยอรมัน เคยหล่นคำกล่าวว่า สิ่งที่อำนาจกลัวคือการถูกหัวเราะ
เรานึกไปถึงหนังสือของ จันจิรา สมบัติพูนศิริ ที่ชื่อว่า หัวร่อต่ออำนาจ อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี สำนักพิมพ์มติชน เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ในการประท้วงใน 3 ประเทศ โปแลนด์ เซอร์เบีย และไทย
พลังจากอารมณ์ขันนั้นสามารถสั่นคลอนอำนาจรัฐได้หลายรูปแบบ
จันจิราเคยให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ 101 ว่า คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีอารมณ์ขันแบบจิกกัดตนเอง (self-deprecating humor) ปกติเวลาเราถูกล้อก็มักโกรธ แต่ตอนนี้คนไทยจิกกัดตนเองก่อนเลย ทำให้อาวุธที่อีกฝั่งหนึ่งเคยใช้ได้ผล
กลับไม่ได้ผล
“อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือทำให้เรื่องที่ซีเรียสและน่ากลัวมากๆ กลายเป็นเรื่องตลก และแม้จะมีการปราบปรามจากผู้มีอำนาจแต่มันไม่ได้เป็นภัยคุกคามขนาดที่รัฐบาลจะต้องมาทำอะไรนักหนา อารมณ์ขันช่วยประคองสปิริตการต่อสู้ในช่วงพื้นที่การเมืองปิด ทำให้มีการสื่อสารระหว่างกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ได้”
ผู้เขียนหนังสือหัวร่อต่ออำนาจ เคยเขียนถึงละคอนเวทีเรื่อง บาง-ละ-เมิด (Bang-la-merd) ผลิตโดยกลุ่มศิลปิน B-Floor ความตอนหนึ่งว่า สะท้อนสภาวะเสรีภาพในการแสดงความเห็นและข้อจำกัดในสังคมปิด
เธอเขียนว่า สิ่งที่รู้สึกน่าสนใจสุดคือ เนื้อหาตลอดจนบรรยากาศในโรงละคอนที่สร้างความไม่พอใจให้ผู้ชมท่านหนึ่ง นั่นคือการล้อเลียนเสียดสีการยิ้มแบบไทย
“มิได้เกิดกับผู้ชมท่านนั้นท่านเดียว แต่คงประสบกับผู้หลักผู้ใหญ่ชาวไทยหลายคนที่รู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไปเร็ว จนกระวนกระวายว่า รากเหง้า ความเป็นไทยจะจางหายไป เลยต้องจับให้มั่น และหลายครั้งถึงกับทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ล้อก็ไม่ได้ แซวก็ไม่ชอบ”
อรุณ วัชระสวัสดิ์ นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองไทย เคยกล่าวกับ BBC ไทย ว่า เรื่องมันซ้ำมาก จนเขาอาย ไม่มีอะไรจะเขียน… แสดงว่าไม่พัฒนา
หมุนเข็มนาฬิกากลับไปในยุคกล้องถ่ายรูปยังไม่ถูกประดิษฐ์ การล้อเลียนจำเป็นต้องอาศัยการวาด จำลองสถานการณ์ผนวกจินตนาการออกมา การ์ตูนลายเส้นล้อเลียนบุคคลพบครั้งแรกที่พิมพ์เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ในทวีปยุโรป
John Richetti บันทึกในหนังสือ The Cambridge history of English Literature, 1660-1780 ว่า โครงการทะเลใต้ ถูกวาดเป็นตอนๆ เพื่อประจานความไม่สมเหตุสมผล ซึ่งมีการเมืองอังกฤษอยู่เบื้องหลังในช่วง ค.ศ. 1721 เป็นผลให้การระดมเงินลงทุนกับภาคเอกชนขาดทุนมหาศาล นำมาสู่วิกฤติการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกในอังกฤษ
รูปล้อจากอังกฤษแพร่หลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มีนักวาดชาวอังกฤษวาดรูปล้อความทะเยอทะยานของกษัตริย์อังกฤษ พระเจ้าจอร์จที่ 3 ที่เข้าไปก้าวก่ายการปฏิวัติในฝรั่งเศส ตลอดจนเข้ามาในเวทีทางการเมืองใหม่ของพระเจ้านโปเลียน
ยุคนโปเลียน ค.ศ. 1820-1840 เป็นช่วงเวลาที่นักวาดการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกๆ แจ้งเกิด อาทิ George Cruikshank ผู้เปิดโปงความฉ้อฉลของนักการเมืองในยุโรปหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส
ขอบคุณข้อมูลส่วนหลังจาก คุณไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการทางประวัติศาสตร์