สภาฯ เห็นด้วยรายงานการศึกษาและข้อสังเกตจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง

วานนี้ 16 กันยายน 2565 ณ สภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณา รายงานการศึกษา เรื่อง การบริหารราชการ รูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง (Self-governing Province) ต่อจากคราวก่อน เมื่อศุกร์ที่ 2 กันยายน 2565

วาระนี้ถูกบรรจุอยู่แล้ว แต่การที่พวกเราร่วมลงชื่อ รวมถึงส่งตัวแทนไปยื่นรายชื่อและข้อเรียกร้อง ต่อ ซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ จนมีการเชิญให้เข้าประชุมชี้แจงที่สภาฯ ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมรับฟัง มีส่วนช่วยผลักให้วาระพิจารณามาเร็วขึ้น

สามารถอ่านได้ที่ https://thevotersthai.com/voteourgovernor/ และในการประชุมครานั้น มีการประท้วงจนต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 16 กันยายน ดังกล่าว สามารถอ่านได้ที่ https://thevotersthai.com/sorrywenotagree/

ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานสภากล่าวถึง รายงานการบริหารราชการรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งคณะกรรมธิการกระจายอำนาจฯ พิจารณาเสร็จแล้ว และเชิญคณะกรรมาธิการเข้าประจำที่

วิวรรธน์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายก่อนว่า ตนขอสนับสนุนรายงานเล่มนี้ เพราะมีความประสงค์แน่วแน่ที่จะเห็นการปกครองตนเองของคนในท้องถิ่น ไม่มีใครเข้าใจปัญหาเท่ากับคนในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายจังหวัดของประเทศไทย มีความประสงค์ยกระดับเป็นการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ โดยกล่าวตอนท้ายว่า จะมีการนำรายงานฉบับนี้ไปพิจารณา

ซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการกระจายอำนาจฯ อภิปรายว่า มีสมาชิกบางท่านไม่สบายใจในบางประเด็นในรายงานฉบับนี้ จึงอยากเรียนอธิบายว่า เราได้ศึกษาเรื่องการกระจายอำนาจ และจังหวัดจัดการตนเอง ความไม่สบายใจที่ว่าคือ การศึกษาอาจขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 1 ว่าด้วยประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่สามารถแบ่งแยกได้

“เราได้ศึกษาพระราชบัญญัติอย่างละเอียด ในทีมงานคณะกรรมาธิการ เราได้เชิญนักวิชาการที่มีความรู้ในข้อกฎหมาย ผมอยากเรียนว่าผลการศึกษาจังหวัดจัดการตนเอง เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจ เรามีราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น มา 100 กว่าปีแล้ว

“เราได้ใช้เวลาลงพื้นที่เราฟังความเห็น ว่าประเทศไทยถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะคืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชน ได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในการยกร่างข้อกฎหมาย ยังไม่ได้บังคับว่ารัฐบาลต้องทำ เพียงรายงานฉบับนี้จะได้ให้เพื่อนสมาชิกรู้กรอบของมัน”

ศาสตราจารย์โกวิทย์ พวงงาม รองประธานกรรมาธิการ ชี้แจงต่อว่า โครงสร้างจังหวัดจัดการตนเองมีอยู่ 2 ชั้น

ชั้นที่ 1 คือจังหวัดทั้งจังหวัดในภาพรวม โดยให้ดูเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนระดับล่างยังมี อบต.และเทศบาลเหมือนเดิม

“รูปแบบพิเศษเป็นเรื่องของเอกลักษณ์พิเศษ ไม่ว่าเขตชายแดน เขตเป็นเกาะ เขตเมืองท่องเที่ยว หรือเมืองทางพหุวัฒนธรรม อย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเกาะสมุย เป็นเรื่องการจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่น รวมทั้งการตั้งกระทรวงท้องถิ่น และการปกครองรูปแบบพิเศษ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของแต่ละท้องที่

“อยากเรียนท่านสมาชิกให้เข้าใจในโครงสร้าง ข้อ 2 (การกำหนดให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่ได้จัดตั้งเป็นจังหวัดจัดการตนเอง) ที่เราตัดออกไป ซึ่งพี่น้องสมาชิกกังวล มันคือเจตนาดี แต่ถ้าจังหวัดใดมีความพร้อม และประชาชนแสดงเจตนาว่า จะจัดให้เป็นจังหวัดจัดการตนเอง หรือเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและเจตนารมณ์ ซึ่งมีในรัฐธรรมนูญ”  

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจ หนึ่งในกรรมาธิการ ชี้แจงว่า รายงานฉบับนี้ เริ่มขึ้นเมื่อครั้งตนเป็นประธานอนุกรรมาธิการ ร่างจังหวัดจัดการตนเอง ผนวกรวมร่างเชียงใหม่มหานครกับร่างพระราชบัญญัติปกครองตนเอง

“ในฐานะที่ผมเคยรณรงค์ เคยเรียน เคยสอน เป็นที่ปรึกษานักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ทำเรื่องพวกนี้มาเยอะ ในการจัดทำรายงานนี้ เมื่อเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เราก็ต้องมุ่งไปทางนิติบัญญัติ ทุกอย่างต้องจบด้วยการตรากฎหมาย จึงยกตัวอย่างเพื่อเป็นตุ๊กตาในการไปปฏิบัติ ร่างที่เสนอเข้ามานี้ ไม่ได้เป็นการเสนอกฎหมาย มันคือการเสนอไกด์ไลน์ ต้องมีตัวอย่างขึ้นมาก่อน ไม่ใช่เรื่องมัดมือชก”

ชำนาญกล่าวต่อว่า  ในข้อ 2 การเสนอคณะรัฐมนตรี ต้องมีการพิจารณา หมายถึงทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เป็นเรื่อง พ.ร.บ.การเงิน ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ปัดตกเสียแต่แรกได้

“การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่ได้หมายความว่า ต้องยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน สามารถอยู่ในราชการส่วนท้องถิ่นได้ ถามว่าส่วนกลางทำอะไร พอไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ส่วนกลางยังมี ยังสามารถลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ได้ เพียงกำหนดให้ชัดว่าอันไหนท้องถิ่นทำแล้ว ก็อย่าไปทำซ้ำ อันไหนข้ามเขต งบประมาณมหาศาลก็เป็นเรื่องของส่วนกลางทำ

“การสั่งการมอบนโยบาย ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น รวมถึงราชการส่วนภูมิภาค เป็นความสัมพันธ์ในกำกับดูแล ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล กทม.เมืองพัทยา อยู่ในการกำกับดูแล ไม่ได้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ได้เป็นผู้รับนโยบาย เพียงกำกับดูแลให้ทำตามกฎหมาย”  

ช่วงท้ายๆ ชำนาญ ได้กล่าวถึงสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่สำหรับหลายคน

“กทม. ไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทย กทม. อยู่ในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย ไม่ได้สังกัดกระทรวงใดๆ ทั้งสิ้น กระทรวง ทบวง กรม มีถึงภูมิภาคเท่านั้น ราชการส่วนท้องถิ่นไม่ได้สังกัดกระทรวงใด”

ก่อนปิดท้ายว่า จังหวัดจัดการตนเองอยู่ในมาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ไม่ได้แยกไปไหน ไม่ได้เป็นสหพันธรัฐ จังหวัดจัดการตนเองคือข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เห็นว่ารายงานฉบับนี้มีประโยชน์ เขียนเพื่อต้องการกระจายอำนาจ เป็นประวัติศาสตร์ความพยายามของสภาผู้แทนราษฎร ในการแก้ปัญหาให้ประชาชน

“ผมฝากว่า รายงานนี้ไม่ได้พูดถึงการกลัวสูญเสียอำนาจของข้าราชการจากส่วนกลาง หรือรัฐบาลไทย ใครมาเป็นก็กลัว รักษาอำนาจตนเอง รัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่กล้าแตะต้องสำนักงบประมาณ มีความพยายามใช้สำนักงบประมาณให้ประโยชน์แก่ตนเอง

“ประการที่ 2 กลุ่มคนที่กลัวการสูญเสียอำนาจ ดูถูกประชาชน ไม่ไว้วางใจประชาชน ให้ท่านแตะปัญหาในการหวงอำนาจทางการคลังบ้าง ให้ท้องถิ่นเก็บภาษียังไง แก้ปัญหาป่าไม้ที่ดินยังไง ถ้าโครงสร้างเหล่านี้ ไม่ได้รับการแก้ไข จะไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนได้”

ซูการ์โน มะทา กล่าวปิดท้ายว่า จังหวัดจัดการตนเองสรุปง่ายๆ คือ ยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้ง โดยกระทรวงมหาดไทย แล้วให้พี่น้องประชาชนเลือก และยกเลิกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ส่วนที่เหลือเป็นเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล

ประธานสภาสรุป ถือว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ตามข้อบังคับที่ 105 ประกอบกับข้อ 88 ถือว่าจบการพิจารณาระเบียบวาระรายงานการศึกษานี้

โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ที่ปรึกษาเว็บไซต์เรา จากคณะก้าวหน้า อธิบายกระบวนการต่อไปว่า ต้องเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลที่ตามมาคือ พรรคการเมืองหรือภาคประชาสังคมสามารถใช้เป็นร่างเริ่มต้นในการเสนอเป็นกฎหมายต่อไป

โปรดรอติดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ที่จะเปิดให้ลงชื่อในเว็บพร้อมเลขบัตรประชาชน ให้ถึง 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อผลทางกฎหมาย เร็วๆ นี้   

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *