สหราชอาณาจักร: กระจายอำนาจ เพื่อรวมเป็นหนึ่งไม่ใช่เพื่อแบ่งแยก

หากจะนึกถึงตัวอย่างของรัฐเดี่ยวที่มีการแก้ปัญหาการแยกดินแดนด้วยการกระจายอำนาจให้กับดินแดนในปกครอง สหราชอาณาจักรเป็น 1 ในกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

สหราชอาณาจักร หรือ United Kingdom มีพื้นที่ทางปกครองครอบคลุมเขตสําคัญอยู่ 4 เขต ได้แก่ อังกฤษ (England) สกอตแลนด์ (Scotland) เวลส์ (Welsh) และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ทั้ง 4 เขตมีพื้นที่รวมกันทั้งหมด 242,910 ตารางกิโลเมตร มีจํานวนประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทยคือประมาณ 58.6 ล้านคน


เดิมสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ทั้ง 3 ดินแดนนั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษมาตั้งแต่ต้น แต่ถูกยึดครองมาโดยการใช้กำลัง และการทำข้อตกลงระหว่างผู้ปกครองกลุ่มต่างๆ จนเกิดเป็นการรวมดินแดนทั้ง 3 เข้ากับดินแดนแม่อย่างอังกฤษซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญระบบรัฐสภา

เดิมอังกฤษปกครองดินแดนทั้ง 3 ในฐานะภูมิภาคหนึ่งของอังกฤษและมีองค์กรการบริหารกิจการภายในภายใต้รูปแบบที่คล้ายกับเป็นกระทรวงหนึ่งของรัฐส่วนกลาง โดยมีการแต่งตั้งรัฐมนตรี (Secretary of State) จากส่วนกลางเข้าไปปกครองดูแล

ซึ่งในช่วงแรกนั้นยังมีปัญหาในการรวมกันเป็นหนึ่ง อังกฤษไม่สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1990 ได้มีการรณรงค์เรียกร้องความเป็นอิสระในการบริหารปกครองตนเองของประชาชนในทั้ง 3 ดินแดนมากขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งอังกฤษเองก็ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด

และเมื่อพรรคแรงงานนำโดยนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ ซึ่งเน้นนโยบายภูมิภาคนิยมและการกระจายอำนาจเข้ามามีอำนาจ อังกฤษจึงพยายามลดช่องว่างและความขัดแย้งเหล่านี้ลง

ด้วยการกระจายอำนาจทางการบริหารในการปกครองตนเองให้กับทั้ง 3 ดินแดน โดยรัฐบาลจัดให้มีการลงประชามติเพื่อฟังเสียงของประชาชนสกอตแลนด์ในปี 1997 และแน่นอนว่า เสียงส่วนใหญ่กว่า 74% เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจที่เพิ่มขึ้นและต้องการให้มีการจัดตั้งสภาสกอตแลนด์

ผลคือ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ มีความเป็นอิสระมากขึ้นกว่าเดิม โดยการโอนอํานาจทางการเมืองและการบริหารในกิจการภายในของแต่ละประเทศ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของสภาแห่งชาติ ที่มีสมาชิกมาจากการ เลือกตั้ง ได้แก่ สภาแห่งชาติเวลส์ (National Assembly for Wales/Cynulliad Cenedlaethol Cymru) รัฐสภาแห่ง สกอตแลนด์ (The Scottish Parliament) สภาแห่ง ไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Assembly)

การตัดสินใจนี้ถือเป็นการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งด้วยการจัดตั้งกระทรวงปกครองเฉพาะพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมา และให้อิสระในการปกครองดินแดนทั้ง 3 ในระดับสูงกว่า การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไปในเขตอังกฤษอย่างมาก ไม่ใช่เพียงการกระจายอำนาจทางการบริหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังกระจายอำนาจทางนิติบัญญัติ (Devolution)

โดยอนุญาตให้ทั้ง 3 ดินแดนมีสภาเป็นของตนเอง มีองค์กรนิติบัญญัติเป็นของตนเองที่สามารถออกกฎหมายและจัดตั้งรัฐบาลภายในดินแดนของตนเองได้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องไม่ขัดแย้งกับรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร ทว่าอังกฤษไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ 3 ดินแดนได้โดยตรง 

การกระจายอำนาจทางนิติบัญญัตินี้ที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ช่วงปี ค.ศ. 1998-1999 นับเป็นปรากฏการณ์ การพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง และส่งผลต่อความเป็นปึกแผ่นของสหราชอาณาจักรในระยะยาวมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นการแบ่งอำนาจจากศูนย์กลางให้พื้นที่ต่างๆ  โดยรัฐส่วนกลางเข้าควบคุมพื้นที่ในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมออกไป ผลของการกระจายอำนาจนี้ ทำให้การปกครองในระดับท้องถิ่นกลายเป็นเรื่องกิจการภายในซึ่งแต่ละประเทศจะจัดการกันเอง ตามนโยบายขององค์กรทางการบริหารในแต่ละประเทศเอง

สามารถมีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการบริหารภูมิภาค หมายถึงการให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายของแต่ละพื้นที่ เพราะรัฐรู้ดีว่าไม่อาจวางแผนเพื่อตอบสนองความต้องการของส่วนต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมและดีพอ จึงมอบอำนาจเหล่านั้นให้กับท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้มีความเป็นอิสระและบริหารจัดการภายในกันเองได้

ภายใต้ความยินยอมของรัฐเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สิ่งเหล่านี้ทำให้สภาวะความตึงเครียดระหว่างดินแดนนั้นผ่อนคลายลง เห็นได้จากการทำประชามติอีกครั้ง 2014 เพื่อถามชาวสกอตแลนด์ว่าอยากจะให้สกอตแลนด์แยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมานั้นมีเพียง 45% เท่านั้นที่เห็นด้วย

เราจึงเห็นตัวอย่างที่น่าสนใจจากการตัดสินใจแก้ปัญหาของอังกฤษ ด้วย ‘มอบอำนาจ’ ให้ทั้ง 3 ดินแดน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ขัดขวางการเป็นเอกภาพ หรือกระทบต่อความเป็นรัฐเดี่ยวแต่อย่างใด แต่กลับช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างดินแดน และทำให้สหราชอาณาจักรยังเป็นปึกแผ่นและคงไว้ซึ่งการเป็นรัฐเดี่ยวมาถึงทุกวันนี้

#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ชวนลงชื่อที่ Change.org/WeAllVoters ก่อนพบกับ พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าราชการทั่วประเทศและจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน เร็วๆ นี้

Authors

  • สาวกรุงเทพ ผู้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ภูเก็ต พยายามมีส่วนในการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในประเทศนี้ด้วยการเป็นอาสาสมัคร NGO อยู่หลายปี ใฝ่ฝันว่าอยากจะเห็นภูเก็ตมีระบบขนส่งสาธารณะดีๆ และอยากเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเองบ้าง

  • ชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก วาดภาพเป็นอาชีพ แนวถนัดคืออบอุ่นพาสเทล แต่เมื่อต้องมาวาดงานหนักๆ สังคมการเมือง เธอข้ามรสนิยมตนเองอย่างมืออาชีพ เพื่อแมวสุดที่รัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *