เชียงใหม่แห่ไม้ก้ำ จงสมปรารถนา เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ  

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 วันที่คณะราษฎรปฏิวัติให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ในวันเดียวกันปี 2566 คณะก่อการล้านนาใหม่ ก็ประกาศกร้าวขึ้นอีกครั้ง

แห่ไม้ก้ำ ค้ำจุนประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ปักหมุดกระจายอำนาจ และรัฐสวัสดิการต้องถ้วนหน้า

แห่ไม้ก้ำ เป็นประเพณีล้านนาเดิมที่ประชาชนจะเอาไม้ง่ามไปค้ำที่ต้นโพธิ์ในวัดต่างๆ เพื่อสื่อสารถึงการค้ำจุนศาสนาพุทธ แต่ในครั้งนี้แห่ไม้ก้ำได้นำมาใช้อีกครั้ง เพื่อค้ำจุนประชาธิปไตยให้ก้าวหน้า เกิดการกระจายอำนาจ ให้อำนาจเป็นของประชาชน โดยต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ไม่เอาผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้งของรัฐส่วนกลาง และมีรัฐสวัสดิการเพื่อให้รัฐไม่ใช้อำนาจในทางอื่นใดนอกจากรับใช้ประชาชน

นอกจากกิจกรรมแห่ไม่ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ยังมี เสวนา-รัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ จัดที่โรงแรม iBis Style เชียงใหม่ โดยคณะก่อการล้านนาใหม่

 มช.ขอย้าย

ภาพจากเพจคณะก่อการล้านนาใหม่ Neo-Lanna

โดยการเสวนา ถูกประกาศขอให้ย้ายสถานที่ เนื่องจากคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เหตุผลว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หนึ่งในวิทยากรขึ้นพูด รวมถึงเนื้อหาในงาน ทำให้เกิดความกังวลเกรงว่าเสวนานี้จะเป็นการเผยแพร่แนวคิดแบ่งแยกดินแดน และสร้างความขัดแย้งในสังคมได้ โดยทางคณะนิติศาสตร์จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเช่าสถานที่ให้

เสวนา-รัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม iBis Style เชียงใหม่ ได้จัดงานเสวนาเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ เพื่อให้เกิดการรจัดการบริหารท้องถิ่นโดยท้องถิ่น

ภาพอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง กล่าวปาฐกถา

“หลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 14 พฤษภาคม” อ.ชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจ กล่าว “ประชาชนได้แสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้งโดยเทคะแนนเสียงไปให้กับพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย นับเป็นการเบิกประตูบานแรกสู่การขับเคลื่อนไปต่อของระบบประชาธิปไตย”

ประเด็นสำคัญที่จะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยในไทยเติบโต เราจำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อนและแสดงออก

1. รัฐธรรมนูญ

2. กระจายอำนาจ

“คือ 2 เรื่องสำคัญที่เราจะต้องเริ่มปักธงเพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย นี่จึง เป็นเหมือนงานเปิดศักราชการ การขับเคลื่อนของขบวนการภาคประชาชน เพื่อพูดถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการกระจายอำนาจ ซึ่ง 2 สิ่งนี้จะทำให้เกิดความแข็งแรงของกระบวนการประชาธิปไตยในอนาคต”

ส่วนเรื่องการตีความ หากคนอื่นจะตีความเป็นความเข้าใจอื่น ก็เป็นเรื่องของเสรีภาพของแต่ละคน ประชาธิปไตยสามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้โดยสันติ ปราศจากความรุนแรง

นอกจากนี้ อ.ชำนาญ ยังได้กล่าวเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมแห่ไม้ก้ำ คำจุนประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2566 เพื่อยืนยันในหลักการว่าหลังจากนี้ประชาชนจะไม่ยอมสูญเสียประชาธิปไตยอีกต่อไป เราจะสร้างการกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการทั่วประเทศ และส่งต่อรากฐานประชาธิปไตยที่มั่นคงให้คนรุ่นต่อไป โดยจะเริ่มขบวน 15.00 น. จากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปสู่ลาน 3 กษัตริย์จังหวัดเชียงใหม่

ภายในงานยังมีการเปิดวิดีโอจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เนื่องจากไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ “ผมต้องขออภัยผู้จัดแห่ไม่ก้ำ ค้ำจุนประชาธิปไตย และผู้เข้าร่วมทุกท่านที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมกิจกรรมนี้ด้วยได้”

ธนาธรได้ขยายความว่าติดภารกิจนัดรายงานตัวที่ศาลคดีมาตรา 112 โดยยืนยันว่า คณะก้าวหน้า และ พรรคก้าวไกล จะปฏิรูประบบราชการ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจ ผลักดันให้เกิดการสร้างการกระจายอำนาจ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่บริหารท้องถิ่น โดยคนจากท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่นของตนเอง มีงบประมาณและอิสระในการบริหารงานเพื่อรับใช้ประชาชนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและใกล้ชิดมากขึ้น

โดยพรรคก้าวไกลหากได้ขึ้นเป็นรัฐบาลจะมีการปรับแก้กฎหมายที่อำนาจล้นเกินและกดขี่ไม่ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นได้มีอำนาจบริหารตนเอง ทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลายๆ ตัวต้องเปลี่ยนแปลง และจะทำให้ความสัมพันธ์ในโครงสร้างทางการปกครองระหว่างกระทรวงมหาดไทยและส่วนท้องถิ่นรวมถึงอบจ. ทั่วทั้งประเทศเปลี่ยนไป นำไปสู่การการการกระจายอำนาจเพื่อรับใช้และใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากขึ้นด้วย

จะยกหมู่เฮาล้านนาหื้อไทยใหญ่ คิดถามหมู่เฮารึยัง

วันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 12.40 น. กลุ่ม ศปปส. ได้มารวมตัวกันที่หน้าโรงแรม iBis Style เชียงใหม่ หรือสถานที่จัดงาน เสวนา-รัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ 

ตัวแทนของกลุ่ม ศปปส.ได้อธิบายการรวมตัวหน้าโรงแรมว่า “การมาครั้งนี้เพราะเราเห็นตัวอย่างจากคำว่ารัฐปาตานีมาแล้ว” ทำให้เกิดความไม่สบายใจที่เห็นนักศึกษาโดนล้างสมองและเป็นเครือข่ายเดียวกันกับทางภาคใต้ที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ จึงยิ่งไม่สบายใจ และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนภายในงานเสวนาครั้งนี้

ตัวแทนกลุ่ม ศปปส. ได้กล่าวต่อว่า เป็นการจัดกิจกรรมโดยฟังความข้างเดียว ผู้จัดไม่ได้เข้าใจที่มาของคำว่า ล้านนา พระเจ้าอยู่หัวต่อสู้เพื่อรวมไทยเป็นหนึ่ง เราเสียสละไปมากมายจึงเกิดแผ่นดินไทย  จึงไม่สามารถเห็นด้วยและไม่สามารถยอมรับข้อเรียกร้องและข้อเสนอของเสวนานี้ได้ และถ้าจังหวัดอื่นจะมีกิจกรรมลักษณะแบบนี้ตัวแทนกลุ่มได้กล่าวว่า “จะไม่ยอม และจะเดินทางไปแสดงออกทุกที่”

ขอย้ำว่า การกระจายอำนาจไม่สามารถแบ่งแยกดินแดนได้ ประชาชนไม่มีอาวุธหรือรถถัง

เวลาประมาณ 13.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจเชียงใหม่ได้เข้ามาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ศปปส. เพื่อขอให้อยู่ในบริเวณที่ทางจัดเตรียมไว้ให้ คือเฉพาะหน้าทางเข้าโรงแรมเท่านั้น เนื่องจากเสวนานี้ได้ขออนุญาตใช้สถานที่และได้ทำการเช่าโรงแรมไว้ล่วงหน้าเรียบร้อย ขอให้ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อยู่ในความสงบเรียบร้อยเพื่อลดความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการปะทะของทั้ง 2 ฝ่าย

ภาพรวมการกระจายอำนาจโดยอาจารย์ ชำนาญ จันทร์เรือง

อาจารย์ชำนาญ ชวนเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

“การปกครองส่วนท้องถิ่นได้เริ่มต้นอย่างแท้จริงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475

ก่อนหน้านั้นแต่ละประเทศราชมีระบบการจัดการของตนเอง แต่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ 2435 จุดกำเนิดจากการปฏิรูปกระทรวง กรม ขึ้นมา มอบอำนาจจากนโยบายส่วนกลางควบคุมพื้นที่ประเทศราชอื่นๆ”

ปี 2440 เป็นการเริ่มมีสุขาภิบาลในกรุงเทพฯ และต่อมาที่ท่าฉลอม ปี 2448 โดยการทดลองแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จนถึงกลไกอื่นๆ ในการบริหารท้องถิ่น ไม่มีประชาชนอยู่ในกระบวนการและไม่มีการเลือกตั้ง จึงยังไม่ใช่จุดกำเนิดราชการท้องถิ่น

ปี 2476 หลังสยามอภิวัฒน์ ได้เกิด พ.ร.บ.บริหารราชการส่วนราชอาณาจักรสยาม พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล และพ.ร.บ.สุขาภิบาล จึงกำเนิดคำว่าราชการส่วนท้องถิ่นขึ้นมาครั้งแรกในประเทศไทย และหลังจากนั้นได้เกิดการพัฒนากลไกท้องถิ่น จากระดับจังหวัดไปสู่อำเภอ ตำบล จนหมู่บ้าน มีการพัฒนางบประมาณให้ทั่วถึงมากขึ้น จนปี 2540 ประชาชนสามารถมีอำนาจควบคุมอบต.และอบจ.ได้ด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบังคับท้องถิ่น และเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น การกระจายอำนาจเพื่อไปสู่ท้องถิ่นยังคงพัฒนาต่อเนื่อง

ในปี 2556 ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการเชียงใหม่มหานครและรณรงค์จังหวัดจัดการตนเอง คือ การที่ประชาชนในจังหวัดมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนา การบริหารจัดการจังหวัดของตนเองในทุกด้าน สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน

แต่การพัฒนาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ถูกแช่แข็ง และขยับถอยหลังจากการกระจายอำนาจมากขึ้นไปอีก ด้วยการรัฐประหารปี 2557 โดยใช้คําสั่ง คสช.มาตรา 44 ที่ระงับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมจึงหยุดไปนับแต่นั้นมา

ปี 2565 ได้มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หมวดที่ 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น ที่เสนอโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน แต่รัฐสภาได้โหวตไม่รับหลักการ

“การกระจายอำนาจเป็นวิถีทางประชาธิปไตย ไม่มีรัฐ หรือประเทศไหน ที่เจริญรุ่งเรืองหรือเข้มแข็งได้โดยปราศจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ชำนาญกล่าว

นี่คือข้อเสนอของอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและกระจายอำนาจเพื่อท้องถิ่น

  1. ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ และการทำงานของท้องถิ่น
  2. ยกเลิกคำสั่ง คสช. 8/2560 เพื่อคืนอำนาจการคัดเลือกบุคลากรให้ท้องถิ่น สามารถทำบริการสาธารณะได้ทั้งหมด ยกเว้นที่ห้ามทำ
  3. แก้ไข พ.ร.บ.แผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ
  4. แก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรท้องถิ่น
  5. งบประมาณองค์กรท้องถิ่น ให้ออกระเบียบการเบิกจ่ายเองได้ ส่วน 1 ปีแรกของการกระจายอำนาจ จะสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนก่อน และไปสู่การจัดทำประชามติให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัดและยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค พร้อมกับการ แก้ไข พ.ร.บ.ข้าราชการท้องถิ่นให้สอดคล้องกัน และใน 4 ปี จะกระจายภารกิจถ่ายโอน งบประมาณ และบุคลากร โดยตั้งเป้าหมายงบประมาณที่ 2 แสนล้านบาทต่อปี

การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนากับอำนาจส่วนกลางโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์

พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวเสวนา

“เราอาจจำประวัติศาสตร์ในรูปแบบของจินตนาการที่นักโบราณคดีเชื่อจากสมมติฐานของรัฐส่วนกลาง คือทุกอาณาเขตเป็นของสยาม ทำให้ไม่สามารถยอมรับประวัติศาสตร์อีกมุมหนึ่งที่มาจากท้องถิ่นได้ เรียกว่าเป็นประวัติศาตร์ของท้องถิ่นอย่าง ล้านนา ได้”

พริษฐ์อธิบายประวัติศาสตร์ของการรวมศูนย์อำนาจว่า แม้จะสูญเสียการปกครองไม่ว่าฝ่ายล้านนาหรือฝ่ายอยุธยา จนมาถึงสยาม แต่ก็ไม่เคยมีการส่งคนจากส่วนกลางไปควบคุมการปกครองในท้องถิ่น

“ในอดีตสามารถทำได้ ปัจจุบันและอนาคตก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้และเป็นไปได้ ไม่ควรเป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน

จนกระทั่งปี 2442 ได้เกิดการส่งคนจากส่วนกลางไปปกครอง พยายามกลืนกินอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทำให้ทุกคนเป็นคนแบบเดียวกัน ตัดทิ้งอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกับพื้นที่ ขูดรีดและจำกัดศักยภาพในการบริหารท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้ช่วยให้การพัฒนาสามารถไปได้อย่างทั่วถึง และยังทำลายทรัพยากรทั้งทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้านภาษา และอื่นๆ ลงไป แทนที่ด้วยวัฒนธรรมและอัตลักษณ์จากส่วนกลางแทน

24 มิถุนายน 2566 วันประชาธิปไตย

แห่ไม้ก้ำ ประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ

สถานที่เริ่มต้นลานอนุสาวรีย์ครูบาร์เจ้าศรีวิชัย แห่ไม้ก้ำไปอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ (ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร)

หากย้อนดูในประวัติศาสตร์ของ ครูบาศรีวิชัย ตัวแทนของการขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรมศาสนาที่ต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางโดยไม่อยู่ภายใต้สำนักสงฆ์และทางสำนักสงฆ์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกรัฐส่วนกลางได้เกิดความระแวดระวังว่าครูบาศรีวิชัย ซึ่งมีศิษยานุศิษย์ติดตามเป็นจำนวนมาก สำนักสงฆ์จากส่วนกลางเกรงว่าจะรวมคนจนเกิดการแข็งข้อหรือนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้ เพียงเพราะครูบาศรีวิชัยไม่อยู่ภายใต้สำนักสงฆ์ นำไปสู่การใช้มาตรากฏหมายเกี่ยวกับภัยความมั่นคงแห่งรัฐ ต่อประชาชน

จากนั้นได้เคลื่อนขบวนรถรถไม้ก้ำไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อยืนยันในหลักการเรื่องเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออกนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานของระบบประชาธิปไตย และการเสวนาหรือการถกเถียงเป็นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยเช่นกัน ไม่ควรปิดกั้นโดยการไม่ให้ใช้สถานที่ ด้วยข้ออ้างว่าการกระจายอำนาจให้ประชาชนจะกลายเป็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เพราะอำนาจและเจ้าของประเทศนี้คือประชาชน

ขบวนแห่ไม้ก้ำ ค้ำจุนประชาธิปไตยมุ่งหน้าสู่ลานสามกษัตริย์

ระหว่างทางของขบวนแห่ไม้ค้ำได้มีการปักธงสีส้ม โดยเป็นสีส้มที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ที่มาของสีนี้มาจากส้มอิฐที่กำแพงคูเมืองอันเป็นกำแพงเก่าที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรล้านนา

ขบวนแห่ไม้ก้ำ ค้ำจุนประชาธิปไตยเดินทางมาถึงลานสามกษัตริย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันถึง การรวมศูนย์อำนาจโดยสร้างความเข้าใจผิดทางประวัติศาสว่ารัฐสยามและล้านนาได้ร่วมมือกันสร้างอาณาจักรขึ้นมา

ประชาชนร่ายรำหน้าไม้ก้ำ ค้ำจุนประชาธิปไตย

การวางไม้ค้ำที่นี่นอกจากแสดงออกในบริเวณที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่แล้ว ยัง เป็นการยืนยันว่าประวัติศาสตร์ต้องถูกชำระ เพราะล้านนาเคยเป็นอิสระ และ เคยเป็นพื้นที่จัดการตนเองบริหารด้วยคนในพื้นที่ โดยไม่ต้องขึ้นกับคำสั่งหรือนโยบายจากศูนย์กลางอำนาจอย่างสยามหรือรัฐไทย ล้านนาสามารถดูแลประชาชนได้ด้วยตนเอง

กิจกรรมวางหมุดคณะราษฎรโดยคณะก่อการล้านนาใหม่และประชาชนในกิจกรรมวางไม้ก้ำ ค้ำจุนประชาธิปไตย

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมวางหมุดคณะราษฎร เพื่อแสดงถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารตนเอง มีเสรีภาพทุกพื้นที่ในการพัฒนาท้องถิ่นโดยไม่ต้องให้ส่วนกลางมาออกแบบนโยบายและบริหารแทนคนในท้องถิ่น

ประกาศคณะราษฎร

ตัวแทนคณะก่อการล้านนาใหม่อ่านประกาศคณะราษฎร 2475 วันที่ 24 มิถุนายน 2566

คณะก่อการล้านนาใหม่ได้อ่านประกาศ คณะราษฎร ขึ้นอีกครั้งในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เพื่อยืนยันว่าประเทศนี้เป็นของราษฎรและอำนาจในการปกครองประชาชน และเป็นการย้ำหลักการของคณะราษฎรเรื่องยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และประเทศนี้เป็นของราษฎร ชาติไม่ได้เกิดจากเทพตนใดนอกจากคน และไม่มีอำนาจใดจะสูงส่งกว่าประชาชน เราทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน

คำประกาศคณะก่อการล้านนาใหม่

คำประกาศและข้อเรียกร้องต่อการกระจายอำนาจเพื่อวางรากฐานประชาธิปไตยที่มั่นคง โดยคณะก่อการล้านนาใหม่ได้ระบุข้อเรียกร้องว่า

  1. แก้รัฐธรรมนูญ
  2. เลือกตั้งผู้ว่าราชการทั่วประเทศ
  3. รัฐสวัสดิการ

เนื่องในวันประชาธิปไตย ขออำนาจและอธิปไตยของประชาชน จะหวนคืนสู่มือประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง

 

ตัวแทนคณะก่อการล้านนาใหม่ และยังเป็นมิสแกรนด์ไพรด์ แอมบาสซาเดอร์ เชียงใหม่ประจำปี 2566 อ่านบทกวีที่ลานสามกษัตริย์

… ไม่มีเพลงบทใดจะไพเราะ

ไม่ใช่เพราะหัวใจไม่ฟังเสียง

เมื่อดนตรีที่ส่งต่อทอสำเนียง บรรเลงเพียงเพื่อรับใช้ใครสักคน

หากว่ารูปภาพใดจะดีงาม ไม่ใช่เพียงเพราะติดตามความขัดสน

ไม่มีเหงื่อหยดหนึ่งใดของใครบางคน จะแต่งแต้มเติมตนจนยั่งยืน

ไม่มีอำนาจใดในกฎเกณฑ์ ยอมให้ผู้ขื่นเข็ญถูกเข่นฆ่า

ไม่เคยมีมันผู้ใดใต้แผ่นฟ้า จะยิ่งใหญ่ไปเสียกว่าประชาชน …

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2566

โดยคณะก่อการล้านนาใหม่ อ่านครั้งที่ 1 ณ ลานสามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่

ขอจบรายงานนี้ด้วยสำนึกแห่งกรรมาชีพ แด่ 24 มิถุนายน 2475

วันสยามอภิวัฒน์ กระจายอำนาจให้ประชาชน

ปลกแอกสามัญชนให้ไร้พันธะใต้สัญญะของอำนาจเดิม

เพิ่มอำนาจประชาชนจงสูงส่งกว่าเทพตนใด

กรีดออกมา หากเลือดยังเป็นสีแดง ก็ล้วนเป็นคนสามัญชนคนเท่ากัน

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Author

  • ช่างภาพและนักเดินทาง เชื่อเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ ความหลากหลายและเสรีภาพ และ หากประชาชนออกแบบประเทศเองได้ สังคมคงมีสีสันและพัฒนาไปไกลอย่างที่ทุกคนต้องการ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีความฝันอยากเป็นชาวประมง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *