“ประเทศเราแบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่โดยเนื้อแท้แล้วจริงๆ มันมีแค่ 2 ส่วน เพราะส่วนภูมิภาคถูกนับรวมเข้าเป็นการบริหารราชการกับส่วนกลาง เนื่องจากเป็นมือเป็นไม้ของส่วนกลางที่จะเอื้อมเข้ามากำกับดูแลท้องถิ่น
“ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับราชการส่วนภูมิภาค จึงเป็นเรื่องการบังคับบัญชา ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ รมต.กระทรวงมหาดไทย ของนายกรัฐมนตรีอีกที”

บรรณ แก้วฉ่ำ ผู้เชี่ยวชาญเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความรู้
อ.ชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระจายอำนาจเขียนไว้ว่า ในเรื่องของข้อเสนอให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคนั้น ได้เคยถูกนำเสนอไว้แล้วเมื่อ 18 เมษายน 2554 ในหนังสือปกสีส้ม ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ
ของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) จำนวน 19 คน ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการที่มีชื่อเสียงอีกหลายราย อาทิ ชัยอนันต์ สมุทรวณิช / นิธิ เอียวศรีวงศ์ / พระไพศาล วิสาโล / เสกสรรค์ ประเสริฐกุล / ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ฯลฯ โดยมีเหตุผลที่สำคัญโดยย่อคือ
“…เนื่องจากราชการส่วนภูมิภาคเป็นสายอำนาจบัญชาการที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งสามารถเข้าไปแทรกแซงหรือทับซ้อนกับอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น ดังนั้น จึงเสนอให้ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค…”
อ่านที่ https://thevotersthai.com/columnist02/

การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ด้วยการโอนอำนาจการบริหารจัดการตนเองไปให้ท้องถิ่นจึงกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วน และนับเป็นการปรับสมดุลของประเทศครั้งสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาวการณ์ของยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป
บทบาทของรัฐบาลในการกำกับดูแลการบริหารจัดการท้องถิ่นควรมีเท่าที่จำเป็น เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นและประโยชน์ของประเทศชาติเท่านั้น และรัฐบาลต้องไม่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงหรือยับยั้งการบริหารจัดการท้องถิ่น หรือถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น
ดังนั้น การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจึงจำเป็นต้องถอดสายอำนาจบัญชาการของรัฐบาล ที่เข้าไปแทรกแซงการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต อำนาจในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น อำนาจในการยับยั้งข้อบัญญัติของท้องถิ่น หรืออำนาจในการถอดถอนผู้บริหารและสภาท้องถิ่น
เนื่องจากราชการส่วนภูมิภาคเป็นสายอำนาจบัญชาการที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งสามารถเข้าไปแทรกแซงหรือทับซ้อนกับอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น ดังนั้น จึงเสนอให้ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค
โดยปรับบทบาทของหน่วยราชการในระดับจังหวัดให้เหลือเพียง 3 รูปแบบคือ
(ก) สำนักงานประสานนโยบาย หรือ สำนักงานบริการทางวิชาการ เช่น ศูนย์วิจัยข้าว สถานีประมง ศูนย์วิจัยมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการทำงานของส่วนกลางหรือท้องถิ่น
(ข) สำนักงานสาขาของราชการส่วนกลาง เฉพาะในภารกิจที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่น การจัดเก็บภาษีรายได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม การจัดทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น และ
(ค) สำนักงานตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารจัดการท้องถิ่น
ส่วนภารกิจอื่นๆ ในการให้บริการของหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคในระดับจังหวัด ให้ยกเป็นอำนาจในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัดและระดับต่ำกว่าจังหวัด
เหตุที่เราต้องรณรงค์ให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
เนื่องเพราะการบริหารราชการส่วนภูมิภาคนั้นเป็นการนำหลักการของการแบ่งอำนาจมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยหลักการแบ่งอำนาจการปกครองนั้นอันที่จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของหลักการรวมอำนาจปกครอง เพียงแต่ขยายไปยังราชการส่วนภูมิภาค โดยมีหลักการสำคัญ คือ
1) ใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง
2) บริหารโดยใช้งบประมาณจากส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติ
3) บริหารงานภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง
ข้อเสีย คือ
1) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านการเมืองและการปกครองเพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ไว้วางใจประชาชนในท้องถิ่น
2) เกิดความล่าช้า เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอน
3) ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อท้องถิ่น เพราะถูกบริหารจัดการจากเจ้าหน้าที่ที่มาจากที่อื่น ในบางจังหวัดปีเดียวมีการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดตั้ง 2-3 หน
ผู้ที่อยากให้ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคให้เหตุผลโต้แย้งข้อดีของการแบ่งอำนาจว่า ในเรื่องของการเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจนั้นก็อาจเป็นจริงหากเป็นในยุคสมัยเริ่มแรกในรัชกาลที่ 5 หรือ 100 กว่าปีมาแล้ว แต่จวบจนบัดนี้ยังไปไม่ถึงไหนเลย
ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสที่เราไปลอกแบบเขานั้นจังหวัดกลายเป็นบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2525 (หรือ ค.ศ.1982) แล้ว
ในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค
ท่านสามารถลงชื่อได้ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/