ทำไมต้อง #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ

อันดับแรก ยุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยของการตื่นตัวทางการเมืองอย่างที่ชนชั้นนำต้องจับตาด้วยระคาย ไม่มีช่วงเวลาไหนเหมาะสมแก่การรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ เท่ายุคของพวกเราอีกแล้ว ถึงขนาด วิษณุ เครืองาม ยังเคยให้สัมภาษณ์นักข่าวไทยโพสต์ว่า เป็นไปได้ยาก https://www.thaipost.net/hi-light/153316/

ผมคิดว่าคุณวิษณุคงเข้าใจอะไรผิดไปมาก ไม่มีสิ่งเก่าใดต้านทานกระแสลมโชกเชี่ยวแห่งความเปลี่ยนแปลงของประชาชนได้ 16 กันยายน 2565 ณ สภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณา รายงานการศึกษา เรื่อง การบริหารราชการ รูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง (Self-governing Province)

ซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการกระจายอำนาจฯ กล่าวปิดท้าย จังหวัดจัดการตนเองสรุปง่ายๆ คือ ยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้ง โดยกระทรวงมหาดไทย ให้พี่น้องประชาชนเลือก และยกเลิกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ส่วนที่เหลือเป็นเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล

ประธานสภาสรุปในวันนั้น ถือว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ตามข้อบังคับที่ 105 ประกอบกับข้อ 88 ถือว่าจบการพิจารณาระเบียบวาระรายงานการศึกษา

โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ที่ปรึกษาเว็บไซต์เรา จากคณะก้าวหน้า อธิบายกระบวนการต่อไปว่า จะมีการเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเพื่อดำเนินการ ผลที่ตามมาคือ พรรคการเมืองหรือภาคประชาสังคมสามารถใช้เป็นร่างเริ่มต้นในการเสนอเป็นกฎหมายต่อไป

แต่เอาล่ะ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อสงสัยว่า ทำไมต้อง #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ผมขออาสาตอบด้วยมิตรภาพ เพราะเราต่างเป็นประชาชนเหมือนกัน มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้พอๆ กัน ที่เหลือก็แค่คลาดเคลื่อนข้อมูลไปบ้าง

ราวฤดูร้อนปีนี้ ผมกับทีมที่ปรึกษา ซึ่งมีนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจ นักกิจกรรมทางสังคมการเมือง เริ่มต้นรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ในฐานะสื่อสารมวลชนอิสระ ผมเพียรรวมรวบความรู้ให้ได้มากที่สุด ทั้งจากการอ่าน ฟัง ร่วมเสวนาออนไลน์กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวหอกแห่งคณะก้าวหน้ารณรงค์ปลดล็อคท้องถิ่น

เสวนาออฟไลน์กับ อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการที่ขลุกกับประเด็นปัญหาคนจนเผชิญมายาวนาน สัมภาษณ์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางไปรับฟังปัญหาท้องถิ่นเผชิญ https://waymagazine.org/interview-thanathorn-juangroongruangkit/ และอีกหลายงานที่พูดมากไปอาจกลายเป็นการยกหางตนเอง

ทำไมต้อง #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ

ถอยเข็มนาฬิกากลับไปในห้วงอภิวัฒน์สยาม 2475 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนเล่าไว้ว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งนั้นมีคนเข้าร่วมจำกัด เพราะเป็นงานปิดลับ

ผสานผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ระบบราชการแบบเดิมจึงยังแข็งแกร่งมาก ระบบที่ว่าเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอังกฤษ จึงนำเอาการปกครองท้องถิ่นดินแดนผู้ดี เข้ามาจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ แต่เป็นการบัญชาการทุกอย่างจากเบื้องบน

ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แต่งตั้งขุนนางในกระทรวงเป็นผู้บริหารสุขาภิบาล

ปี 2448 จัดตั้งสุขาภิบาลทั่วประเทศ กระนั้นทุกอย่างยังคงเดิม คือ ให้ขุนนางบริหารสุขาภิบาล ประชาชนไม่มีบทบาทใดๆ ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการให้ศึกษาอบรมใดๆ แก่คนท้องถิ่น

คณะราษฎรจัดตั้งระบบเทศบาลในปี 2476 ให้ประชาชนมีบทบาทในสภาท้องถิ่นและเลือกตั้งผู้บริหาร แต่ยังถูกระบบราชการรวมศูนย์เข้าครอบงำ ไม่ปลดปล่อยให้ประชาชนเรียนรู้ ระบบราชการจึงสวนกลับ เพิ่มอำนาจมากขึ้น

เช่น ให้นายอำเภอเป็นประธานสุขาภิบาลในปี 2495 ให้ผู้ว่าราชการเป็น นายก อบจ.ในปี 2498 

จากปี 2475 เขยิบเข้ามาในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ปี 2540 ช่วงคาบเกี่ยวนี้ เกิดปรากฏการณ์สำคัญ 4 อย่าง 1.งบท้องถิ่นทั่วประเทศ มีเพียง 9% ที่เหลือเป็นงบรัฐบาลทั้งหมด ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยากจน มีบทบาทพัฒนาน้อยมาก

2.ระบบราชการแบบรวมศูนย์สยายปีก การปกครองส่วนภูมิภาคขยายออกเรื่อยๆ เกิดการบริหารงานแบบแยกส่วน ขาดเอกภาพ แต่ละกระทรวงยิ่งเติบโต งานทับซ้อนกันระหว่างกระทรวงกับท้องถิ่น 3.อำนาจรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น นี่จึงส่งผลให้เมืองหลวงของเราเจริญผิดแผกแตกต่างจังหวัดอื่นๆ

ปี 2518 ไกรสร ตันติพงศ์ ส.ส. เชียงใหม่เสนอให้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้ง มหาดไทยจึงยอมให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2519 นักการเมืองและนักวิชาการจำนวนหนึ่งเริ่มเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ต่างจังหวัดบ้างระหว่างปี 2534-2536 มหาดไทยเลือกให้มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

รัฐธรรมนูญปี 2540 นับได้ว่าเป็นหมุดหมายเก่าของการเริ่มต้นกระจายอำนาจ กำหนดให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

วิธีคิดห้วงนั้นคือ ต้องมีการเลือก นายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. ต้องให้อิสระ อำนาจหน้าที่ ถ่ายโอนภารกิจที่เคยเป็นของส่วนกลางไปไว้ท้องถิ่น ให้ความเป็นอิสระทางงบประมาณการเงิน บุคลากร ส่วนกลางทำแต่เพียงกำกับดูเแล ไม่ใช่บังคับบัญชา

ทว่าการรัฐประหารทั้งปี 2549 และ 2557 ถีบการกระจายอำนาจลงคลอง อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำกัดจำเขี่ย ไม่สามารถจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ได้ทุกเรื่อง ทบทับด้วยอำนาจอันจำกัดยังซ้ำซ้อนกับ กรม กระทรวง ราชการส่วนภูมิภาค 

ส่วนกลางที่บอกกำกับดูแลท้องถิ่น นานวันกลายเป็นบังคับบัญชา นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องของงบประมาณ

ปี 2565 จึงนับเป็นหมุดหมายใหม่ เป็นธงแห่งประชาธิปไตยผืนใหม่ที่เราจะร่วมกันปักลงบนประเทศไทย ประวัติศาสตร์สอนให้เราเรียนรู้ และจะร่วมรณรงค์กันใหม่อีกสักรอบ ด้วยท่าทีของการไม่ยอมจำนนอีกแล้ว การกระจายอำนาจ คือการกระจายคุณภาพชีวิตที่ดีสู่คนทั้งประเทศ และผมเชื่อว่า เราต่างปรารถนาให้ความเหลื่อมล้ำลดลง รัฐสวัสดิการถ้วนหน้ามากขึ้น

ความจริงผมร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือให้ทีมที่ปรึกษาเว็บไซต์ทุกท่านระดมความเห็นในเนื้อหา เพื่อประโยชน์อันสูงสุด รัดกุมสุดเท่าที่จะทำได้

ข้อเสนอเบื้องต้นของ พ.ร.บ.ดังกล่าว คือจังหวัดไหนพร้อมจัดตั้งเป็นจังหวัดจัดการตนเอง ให้ประชาชนในจังหวัดนั้นมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการตามระบอบประชาธิปไตย ค่อยๆ ถ่ายโอนภารกิจต่างๆ สู่ท้องถิ่นอย่างละมุนละม่อม การยุบราชการส่วนภูมิภาคก็เป็นไปอย่างอ่อนโยน มิใช่หักด้ามพร้าด้วยเข่า อ่อนโยนที่ว่าคืออาศัยฉันมามติของประชาชนผ่านการทำประชามติ

บุคลากรในส่วนภูมิภาคจะกลายเป็นบุคลากรของท้องถิ่น และนี่คือโอกาสเหมาะในการทวงคืนศักดิ์ศรีข้าราชการให้กลับมาเป็นข้าราชการของประชาชน มิใช่ของนายหน้าไหนอีกแล้ว

ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ผมมิได้มั่วเหมาเอาเอง แต่ใช้เวลาตกตะกอนจากเสียงของคนในเพจ และเมื่อพร้อมให้ลงชื่อพร้อมเลขบัตรประชาชนเพื่อผลทางกฎหมาย ผมหวังว่า ทุกท่านจะร่วมกันผลักดันประเทศไปข้างหน้า ด้วยพลังของประชาชนอีกสักครั้ง

ทั้งหมดคือส่วนเล็กๆ ที่คนตัวเล็กๆ อย่างผมและทีมที่ปรึกษาทุกคนพอจะทำได้

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *