แบบไหนคือเสรีภาพทางวิชาการ

เศร้า, พักใหญ่ผ่านมาผมรู้สึกเศร้ากับ 2 เรื่อง

เรื่องแรกเศร้าน้อยเท่าขี้แมลงสาบ จึงขออนุญาตเขียนถึงนิดเดียว เพราะไม่ปรารถนาเปลืองเวลาท่านผู้อ่าน และเปลืองเนื้อที่เว็บไซต์

มีกลุ่มชายฉกรรจ์ราว 2-3 หน่อ พยายามโจมตีแคมเปญ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ของเรา เอ่ยย้อนถึงที่มาเสียหน่อย แคมเปญเกิดจากการที่ผมซึ่งเป็นสื่อสารมวลชนอิสระ เป็นประชาชนคนธรรมดาพำนักในจังหวัดนนทบุรี ต้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง จึงสร้างการรณรงค์ขึ้นใน Change.org/WeAllVoters

มีทีมปรึกษาเป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจ นักกิจกรรมทางสังคมการเมือง รวมถึงเพื่อนสื่อมวลชน ความตั้งใจแรกของผม คือการเปิดเพจเพื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอคอนเทนต์ รับฟังเสียงของประชาชน ค่อยๆ สะสมข้อเสนอไปเรื่อยๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมไม่อาจตัดสินใจแบบเผด็จการ

หากกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าว เสียเวลาอันมีค่าในการเมาท์มอย เข้ามาดูเนื้อหาในเพจบ้าง จะทราบว่าผมสัมภาษณ์ผู้คนเอาไว้มากมาย มีทั้งความเห็นให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เราควรมีสิทธิในการเลือกผู้ว่าฯ ของตนเอง

กล่าวให้ตรงกว่านั้น หากคิดอยากโจมตีผมไม่มีปัญหา แต่เราควรรู้จักฝั่งตรงข้ามบ้างด้วยการศึกษา มิใช่อ่านแต่พาดหัวแล้วก็นำมาใส่ความ เรื่องของเรื่องคือ หนึ่งในกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าว แชร์โพสต์ที่ผมสัมภาษณ์นักวิชาการท่านหนึ่ง โดยระบุแคปชั่นว่า นักวิชาการท่านนี้มิได้พูดถึง #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศเลย ทั้งๆ ที่เพียงคลิกลิงค์ที่แปะไว้ ก็จะรู้ว่า

เขาพูด เฮ้อ…

อาจด้วยอคติบังตา หนึ่งในกลุ่มชายฉกรรจ์คนเดิม แชร์บทความของทีมที่ปรึกษาซึ่งเขียนเรื่องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค แล้วระบุว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีข้อเสนอยกเลิก อย่างที่ผมกล่าวไปตอนต้น ถ้าเสียเวลาอันมีค่าในการเมาท์มอยเพื่อเข้ามาดูในเพจ จะพบข้อเสนอยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคมากมาย เฮ้อ… พอเถอะครับ เริ่มยาวแล้ว

แบบนี้เขาไม่เรียก เสรีภาพทางวิชาการ แต่ควรใช้คำว่า อคติทางวิชาเกิน

ส่วนเรื่องที่ 2 เศร้ามาก เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกเหนื่อยแทน อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จริงๆ ตัวเขาอาจไม่เหนื่อยหรอก เพราะผมเห็นความมุ่งมั่นในการผลักดันรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่คนทุกคน

ชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา ดังนั้น ข้อเสนอต่างๆ จึงมิได้จินตนาการขึ้นมาเอง แต่ผ่านการศึกษามาแล้ว

เอาล่ะ ผมอาจพูดผิดไปหน่อย ของแบบนี้มันต้องใช้จินตนาการกันบ้าง นั่นคือจินตนาการถึงความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมที่น่าอยู่โดยไม่มีใครถูกทิ้งขว้าง ทุนนิยมเสรีเกินไปแบบที่ประเทศเราดำเนินอยู่ สร้างบาดแผลให้ผู้คนจำนวนมาก เป็นผู้คนส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน

ที่บอกว่าเศร้ามาก เพราะทัศนะของผู้ไม่เห็นด้วย มันช่างทำร้ายน้ำใจกันเหลือเกิน อาจารย์ษัษฐรัมย์อาจมีผนังความรู้สึกที่แข็งแรงกว่า แต่สำหรับผม เราพูดจากันดีๆ ไม่ได้หรือ

คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนนักแปลและนักกิจกรรมทางสังคมการเมือง เคยกล่าว เราไม่ได้มองว่าสวัสดิการคือการมอบเงินเข้ามือคนจนมากขึ้น กระตุ้นการหมุนเวียนมากขึ้น แล้วรัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้นเมื่อปรับโครงสร้างหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน

ตอน เจ.เอ็ม.เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ ชาวอังกฤษ เสนอแนวคิดนิวดีล สนับสนุนให้มีการกระตุ้นการใช้งบประมาณเพื่อเพิ่มสวัสดิการของประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ก็ด่าว่าบ้า นายทุนสมัยนั้นเกลียดนิวดีล

“ในช่วงแรก ตอน คุณทักษิณ ชินวัตร เสนอ 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน คนก็ด่าว่าบ้า จะเอาเงินที่ไหนมาทำ ตอนนี้เราก็ด่าเรื่องยกหนี้ กยศ.ว่าบ้า ทั้งๆ ที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ทำ”

อาจารย์ษัษฐรัมย์เขียนคอลัมน์ใน https://decode.plus/20220906/ ท่านสามารถเข้าไปอ่านเต็มๆ ได้ ผมขออนุญาตคัดบางท่อน

ช่วงกลางปี 2022 โจ ไบเดน ประกาศนโยบายล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งสนับสนุนและเห็นด้วยหลากหลาย จนกระทั่งเดือนสิงหาคม นโยบายนี้ถูกประกาศออกไปหลังจากที่ได้มีการพักชำระหนี้มาแล้วระยะเวลาหนึ่ง ยอดการล้างหนี้ เริ่มต้นที่ประมาณ 350,000 บาท และสูงสุด 700,000 บาท

มีผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้กว่า 40 ล้านคน จากประชากรประมาณ 300 ล้านคน หรือราว 13 % ของประชากร

การศึกษาของสหรัฐอเมริกา เดินหน้าตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ค่าใช้จ่ายในการเรียน มหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชน สูงขึ้นราวสามเท่า

กระบวนการการล้างหนี้สามารถเกิดขึ้นทันที ผู้สนับสนุน ให้ความเห็นว่า หากประเทศนี้สามารถพักอัตราเงินกู้ ของพวกนายทุนในตลาดหุ้น ออกนโยบายการลดหย่อนภาษีมากมาย ให้แก่กลุ่มคนชนชั้นนำของประเทศได้

การพักหนี้เพื่อการศึกษา ก็ดูเป็นสิ่งที่ไม่ได้หนักหนาเลย

ในบทความชิ้นนี้ อาจารย์ษัษฐรัมย์ยกคำกล่าว จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา ตอบโต้ต่อวิวาทะว่าผู้จ่ายภาษี กำลังจะสูญเสียภาษีไป อย่างไม่สมเหตุสมผลให้แก่นโยบายการล้างหนี้เพื่อการศึกษา

“ฉันทำงานหนักมาทั้งชีวิตเพื่อจ่ายให้ตัวเองได้เรียนมหาวิทยาลัย และวันนี้ฉันและครอบครัวก็ยินดีที่จะจ่ายภาษีเพื่อให้คนอื่นได้เรียนเช่นกัน เพราะเราต้องการสังคมที่ก้าวหน้า เราต้องการสังคมที่อุดมไปด้วยคนมีการศึกษา”  

แบบนี้สิครับ ถึงจะเรียกว่า เสรีภาพทางวิชาการ

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *