มายาคติว่า ถ้ากระจายอำนาจแล้วท้องถิ่นจะโกงกันมาก ซึ่งไม่จริง ยิ่งกระจายอำนาจ ประชาชนยิ่งรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของท้องถิ่น จะยิ่งเกิดการตรวจสอบ ตัวอย่างชัดๆ คือ เสาไฟกินรี ที่เป็นข่าวโด่งดังได้ เพราะประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ไม่เหมือน ซื้อเรือดำน้ำตรวจสอบยากมาก
วันนี้ผมได้รับเชิญจาก กลุ่มอาสาวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ร่วมวงเสวนา ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัด’ ตามประสาคนรู้ไม่มาก ผมจำต้องทำการบ้านเตรียมคำตอบอย่างรัดกุมที่สุด ดูจากรายชื่อผู้ร่วมวงอย่าง วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และ วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากประมาทหรือลงตนเองเกินไป จะออกอ่าวออกทะเลเอาได้
ทีมงานส่งคำถามมาให้ผมล่วงหน้า 12 ข้อ ขออนุญาตนำคำตอบมาลงให้ได้อ่านกัน
ข้อแรก สาเหตุที่ผมเสนอให้เลิกผู้ว่าฯ เพราะปัจจุบัน เรามีผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้ง สังกัดส่วนภูมิภาค ซึ่งถือเป็นมือเป็นไม้ของส่วนกลาง ในการกำกับส่วนท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่น ไม่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตผู้คน และแน่นอน ผมเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศแทน
ถ้าเลือกเป็นบางจังหวัดเพื่อนำร่อง ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ
ยุคสมัยแห่งการตื่นตัวทางการเมือง The Voters อยากปักธงชัดๆ ให้ประชาชนจดจำ จึงเลือกคำ เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศมาใช้สอย เหนืออื่นใด เราไม่ได้เสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียว แต่เสนอให้ปฏิรูปการปกครองทั้ง 3 ส่วน ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น
ตอนนี้ ทางกลุ่มเรามี พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ซึ่งผมเป็นคนร่างกับทีมที่ปรึกษา และกำลังจะเปิดให้ลงชื่อจนครบ 5 หมื่นรายชื่อเป็นขั้นต่ำ เพื่อผลักเข้าสู่กลไกรัฐสภา
สาระหลักๆ คือ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดตนเอง ยุบรวม นายก อบจ. ให้กลายเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง
จังหวัดมี 2 ชั้น คือชั้นบน ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง ชั้นล่าง เทศบาล อบต.ยังอยู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สังกัดส่วนท้องถิ่น และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
การจัดสรรส่วนรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเพิ่มขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น
มีการกำหนดอำนาจในการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีวิธีการในการจัดทำบริการสาธารณะได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
มีการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน และ ภายใน 2 ปีนับแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำแผนการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค
ข้อสอง ถ้ามีการยกเลิกผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งเกิดขึ้นจริง จะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร คำตอบคือ ส่งผลในด้านบวกอย่างสูง เพราะบ้านเรารวมศูนย์อำนาจอยู่ส่วนกลางมานานเกินพอแล้ว ถามว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีศักยภาพในการดูแลเรื่องต่างๆ อย่างเพียงพอไหม
มันจะเพียงพอได้ ก็ต่อเมื่อเราแก้ รัฐธรรมนูญ หมวด 14 อันว่าด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการปลดล็อกศักยภาพของท้องถิ่น เช่น ที่คณะก้าวหน้าเสนอ
ข้อสาม ถ้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ เกิดขึ้นจริง จะเป็นการผูกขาดอำนาจภายในจังหวัดหรือไม่ คำตอบคือ มันจะผูกขาดได้อย่างไร ในเมื่ออำนาจนั้น มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เลือกจากนโยบาย มีสภาพลเมืองคอยตรวจสอบ หากผู้ว่าคนไหนไร้ประสิทธิภาพ ครบวาระเราก็เลือกกันใหม่ นี่คือวิถีของระบอบประชาธิปไตย
ข้อสี่ ปัจจัยที่จะทำให้เกิดผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง สังกัดท้องถิ่นคือ ประชาชนทุกคน ร่วมกันส่งเสียง ร่วมกันลงชื่อใน พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน
ทีมงานถามถึงกรณีญี่ปุ่น ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาวางรากฐานการกระจายอำนาจ ยุทธศาสตร์ของอเมริกาคือสร้างญี่ปุ่นให้เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตยทั้งระดับชาติและท้องถิ่น พบว่าสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นเป็นประมุขจริงๆ ไม่เคยลงมาแทรกแซงการเมือง
การเมืองแบบรัฐสภาของญี่ปุ่นแข็งแกร่งตลอดมา 75 ปี (2490-2565) ไม่เคยมีการรัฐประหารแม้แต่ครั้งเดียวตลอด 75 ปีมานี้ ญี่ปุ่นปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ประชาชนเลือกตั้งมาแต่ 2490 ทุกจังหวัดแข่งกันเจริญก้าวหน้า
ข้อห้า ปัจจัยใดเป็นอุปสรรคในประเทศไทย คำตอบคือ มายาคติว่ากระจายอำนาจแล้วจะทำลายรัฐเดี่ยว เพราะมันไม่มีทางทำลายได้อยู่แล้ว เรามีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้
รวมถึงมายาคติว่า ถ้ากระจายอำนาจแล้วท้องถิ่นจะโกงกันมาก ซึ่งไม่จริง ยิ่งกระจายอำนาจ ประชาชนยิ่งรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของท้องถิ่น จะยิ่งเกิดการตรวจสอบ ตัวอย่างชัดๆ คือ เสาไฟกินรี ที่เป็นข่าวโด่งดังได้ เพราะประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ไม่เหมือน ซื้อเรือดำน้ำ ตรวจสอบยากมาก
ข้อหก คำถามที่ว่า แต่ละท้องถิ่นเก็บรายได้ไม่เท่ากัน จะทำอย่างไร ท้องถิ่นไหนเก็บได้มาก ก็แบ่งไปให้ท้องถิ่นที่เก็บได้น้อย ตามอัตราส่วนที่ต้องวางแผนกัน
ข้อเจ็ด การกระจายอำนาจ ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะทำได้เหมือนกันหรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน คำว่าจังหวัดจัดการตนเองนั้นคือ แต่ละจังหวัดสามารถจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ข้อแปด หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จริง จะทำอย่างไรกับข้าราชการส่วนภูมิภาค คำตอบคือ ก็ย้ายไปอยู่ส่วนท้องถิ่น นี่จะเป็นโอกาสเหมาะในการทวงศักดิ์ศรีข้าราชการกลับคืนมา จากที่โดนค่อนขอดมาตลอดว่าไม่เคยทำงานรับใช้ประชาชน หรือไม่ก็ย้ายไปสังกัดส่วนกลาง
ข้อเก้า การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ใครได้ ใครเสีย คนที่จะได้ประโยชน์คือประชาชน การกระจายอำนาจคือการกระจายคุณภาพชีวิตที่ดีไปทั่วประเทศ คนเสียประโยชน์คือ ผู้ที่หวังจะรวบอำนาจไว้เพื่อผลประโชน์ของตน
ข้อสิบ การเปลี่ยนแปลงระบบผู้ว่าฯ จะสร้างความสับสันให้ประชาชนหรือไม่ คำตอบคือคิดว่าไม่ คนที่ติดตามเพจ The Voters มีความรู้เรื่องกระจายอำนาจดีมาก
ข้อสิบเอ็ด ประชาชนมีความพร้อมเพียงใด ผมว่าพร้อมยิ่งกว่าพร้อม คำถามคือ ผู้มีอำนาจพร้อมหรือยังที่จะให้ประเทศไทยเจริญ
ข้อสิบสอง หากการเลือกผู้ว่าฯ ไม่สามารถเกิดขึ้นจริง จะทำอย่างไร ทางออกคือ ใช้คำว่าเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดแทน
โดยสรุปของคำถามที่ว่า เลิกผู้ว่าฯ หรือเลือกตั้งผู้ว่าฯ คำตอบอยู่ในทั้งหมดที่ผมเขียนมา