ทำไมต้องลงชื่อร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ

กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อม ผมมีเรื่องสำคัญจะปรึกษาหารือกับคุณผู้อ่านและขอใช้เวลาไม่มากนัก มันเกี่ยวข้องกับสาเหตุว่าทำไม ประเทศไทยจึงมีแค่เมืองหลวงเท่านั้นที่เจริญ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ล้วนมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ ขนส่งสาธารณะไม่ได้เรื่อง ผู้คนไม่มีงานทำต้องเร่ร่อนเข้ากรุง น้ำประปาขุ่นราวโคลน เหตุผลหลักๆ ข้อหนึ่งคือ เราไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

คุณผู้อ่านอาจสงสัยคลางแคลงใจว่ามันเกี่ยวกันได้อย่างไร เกี่ยวครับ เกี่ยวมากด้วย

ผมขออนุญาตปูพื้นเล็กๆ น้อยๆ ประเทศเราประกอบไปด้วย 3 ส่วน 1.ราชการส่วนกลาง 2.ราชการส่วนภูมิภาค และ3.ส่วนท้องถิ่น 3 ส่วนนี้โยงใยกันอย่างที่เราคาดไม่ถึง  

ถอยเข็มนาฬิกากลับไปในปี พ.ศ. 2440 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอังกฤษ นำการปกครองท้องถิ่นของที่นั่นเข้ามาจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ แต่เป็นการบัญชาการทุกอย่างจากเบื้องบน ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แต่งตั้งขุนนางในกระทรวงเป็นผู้บริหารสุขาภิบาล

ปี 2448 จัดตั้งสุขาภิบาลทั่วประเทศ ทุกอย่างยังคงเดิม คือ ให้ขุนนางบริหารสุขาภิบาล ประชาชนไม่มีบทบาทใดๆ ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการให้การศึกษาอบรมใดๆ แก่คนท้องถิ่น

เมื่อเกิดกบฏตามภาคต่างๆ ในทศวรรษ 2440 รัฐไทยจึงปราบกบฏ เข้ายึดครองและปกครองอาณานิคมรอบๆ โดยตรง ยกเลิกฐานะประเทศราชและระบบเจ้าผู้ปกครอง ผนวกดินแดนโดยรอบ ห้ามอ่านเขียนภาษาท้องถิ่น จัดตั้งโรงเรียน และจัดระบบการปกครองวัด และหน่วยบริหารทั้งหมดโดยส่วนกลาง

ระหว่าง พ.ศ. 2490 – พ.ศ. 2565 มีรัฐประหาร 13 ครั้ง องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ถูกครอบงำโดย กระทรวงมหาดไทย อย่างสิ้นเชิง รัฐประหารแต่ละครั้งทำลายระบบพรรคการเมืองระดับชาติ การพัฒนาประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน อปท. ถูกข้าราชการส่วนภูมิภาคคือนายอำเภอ และผู้ว่าฯ (แต่งตั้ง) ควบคุมตลอดมา

โดยเฉพาะในช่วงรัฐประหาร มักให้ยกเลิกการเลือกตั้งและให้ข้าราชการประจำเข้าควบคุม อปท. กระทั่ง เข้าดำรงตำแหน่งเสียเอง

จากปี พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2540 เกิดปรากฏการณ์สำคัญ เช่น งบท้องถิ่นทั่วประเทศ มีเพียง 9% ที่เหลือเป็นของงบรัฐบาลทั้งหมด ทำให้ อปท. ยากจนและมีบทบาทการพัฒนาท้องถิ่นน้อยมาก ระบบราชการแบบรวมศูนย์ใหญ่ขึ้นๆ การปกครองส่วนภูมิภาคขยายออกเรื่อยๆ เกิดการบริหารงานแบบแยกส่วน ขาดเอกภาพ แต่ละกระทรวงยิ่งเติบโต

งานทับซ้อนกันระหว่างกระทรวงและกับท้องถิ่น อำนาจรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ ทำให้เมืองหลวงใหญ่ขึ้นๆ กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว แตกต่างกับต่างจังหวัดราวฟ้ากับดิน คนยากจนในชนบทนับวันอพยพเข้าเมืองหลวง กรุงเทพฯ ยิ่งเติบโตก็ยิ่งเป็นศูนย์รวมปัญหา ต่างจังหวัดได้แต่ล้าหลังและรอคอย รัฐไทยกลายเป็นรัฐราชการ กองทัพมีนายพล 1,500 คนทั้งๆ ที่ไม่เคยมีสงคราม สหรัฐซึ่งใหญ่กว่ารัฐไทย ด้านประชากร 3 เท่า มีเพียง 500 นาย

เมื่ออำนาจกระจุกตัวที่เมืองหลวง ข้าราชการส่วนภูมิภาคก็ได้แต่รอคอยคำสั่ง อยู่ไม่นานก็ย้าย อปท. ก็ทำอะไรได้ไม่มาก ปี 2518 นายไกรสร ตันติพงศ์ ส.ส. เชียงใหม่จึงเสนอว่าผู้ว่าฯ ควรมาจากการเลือกตั้ง กรุงเทพฯ เติบโตมากเกินไป มหาดไทยจึงให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในปี 2519 นักการเมืองและนักวิชาการจำนวนหนึ่งเริ่มเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ต่างจังหวัด

ในปี 2534-2536 มหาดไทยตอบโต้ด้วยการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้คนระดับหมู่บ้าน-ตำบลหลงกับงาน อบต. พลังระดับจังหวัดจึงอ่อนลงไป แม้พรรคการเมืองหลายพรรคหาเสียงว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี 2542 สุดท้ายก็เป็นเพียงการหาเสียง แต่ไม่ทำ พลังการเรียกร้องผู้ว่าฯ เลือกตั้งก็ไม่แข็งแกร่ง การสอนวิชาการปกครองท้องถิ่นก็มีจำกัดเพียงสาขาการเมืองการปกครอง สรุปได้ว่าบัณฑิต 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ไม่มีความรู้เรื่องนี้ เพราะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและมีกฎหมายให้เพิ่มรายได้แก่อปท. จาก 9% เป็น 40% แต่งบของอปท. ขึ้นไปเพียง 20 กว่า % ก็เกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549 และอีกครั้งในปี 2557 งบรายได้ของอปท. จึงหยุดอยู่ที่ 24% ตั้งแต่นั้น รัฐธรรมนูญถูกร่างใหม่ คำว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงหายไปจากรัฐธรรมนูญอีกคำรบหนึ่ง

ในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศของ The Voters นั้น ผมขอสรุปสาระสำคัญๆ ดังนี้

1.สัดส่วนงบประมาณของเดิมคือ ส่วนกลาง 70 ท้องถิ่น 30 แต่ของเราเปลี่ยนเป็น ท้องถิ่น 70 ส่วนกลาง 30 ท่านลองจินตนาการดูว่า คุณภาพชีวิตคนต่างจังหวัดจะดีขึ้นเพียงใด

2.ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดตนเอง ยุบรวม นายก อบจ. ให้กลายเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง

ผู้บริหารสูงสุดต้องมาจากการเลือกตั้งครับ ส่วนจะเรียกผู้ว่าฯ หรือนายกจังหวัดก็ตามแต่มติมหาชน

3.จังหวัดมี 2 ชั้น คือชั้นบน ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง ชั้นล่าง เทศบาล อบต.ยังดำรงอยู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สังกัดส่วนท้องถิ่น และมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามวาระ นายอำเภอกลับกรมการปกครอง

4.มาตรา 254 / 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี

5.มาตรา 254 / 6 ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิในการมีส่วนร่วมการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดให้มีวิธีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว การจัดตั้งสภาพลเมืองประจำท้องถิ่นให้สมาชิกมาจากการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันภายในประชาชนในท้องถิ่นทุกปี เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะและ ‘ตรวจสอบ’ การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6.มาตรา 4 ภายใน 2 ปีนับแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำแผนการ ‘ยกเลิก’ ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นเหมือนมือไม้ของส่วนกลาง เอาไว้กำกับดูแลมิให้ท้องถิ่นสามารถสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีให้คนต่างจังหวัด

ท่านสามารถดูร่างฉบับเต็มได้ที่ https://thevotersthai.com/wewantyourvote/

ไม่มีสิ่งใดจะต้านทานกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้

เรามาช่วยกันนะครับ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทั้งประเทศ

ข้อสำคัญคือ ยิ่งกระจายอำนาจและงบประมาณ การทุจริตจะค่อยๆ ลดน้อยลง เพราะประชาชนตระหนักว่า งบประมาณในท้องถิ่นมีเยอะ ดังนั้น พวกเราจะร่วมกันตรวจสอบอย่างแน่นอน

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *