8 ข้อเสียของการกระจายอำนาจ

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ มักหยิบยกข้ออ้างสารพัดราวตนเองเป็นพหูสูตหรือปราชญ์ผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน ในฐานะที่ผมเป็นคนรู้น้อยจึงจำเป็นยิ่งที่ต้องศึกษาให้มาก

และครูคนสำคัญของผมคือ อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกระจายอำนาจ ตัวจริงเสียงจริง

รวมถึง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชำนาญในสาขาวิชาการเมืองการปกครอง และด้านการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น

ผมขออนุญาตลำดับเป็นข้อๆ ที่ว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศนั้น มีอะไรบ้าง

1.กระจายอำนาจแล้วจะโกงกินมาก

ตอบ: ไม่จริง ข้อมูลความเสียหายที่ประเมินมูลค่าได้ จากการตรวจสอบของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อปีงบประมาณ 2564 ระบุว่า มูลค่าความเสียหายรวม 4,224.90 ล้านบาทนั้น เกิดจากส่วนกลางมากกว่าท้องถิ่นเสียอีก โดยแบ่งเป็นความเสียหายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 715.08 ล้านบาท (จากการตรวจสอบ 7,886 หน่วยรับตรวจ) และความเสียหายจากหน่วยงานราชการส่วนกลางและภูมิภาค 3,510.82 ล้านบาท (จากการตรวจสอบ 1,962 หน่วยรับตรวจ)

นอกจากนี้ การแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินอย่างไม่มีเงื่อนไข (การตรวจสอบงบการเงิน) พบว่า อปท. สอบผ่าน 92% (ตรวจจาก 7,849 รายงาน) ในขณะที่ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคฯ สอบผ่านเพียง 58.5% (ตรวจรายงานจาก 318 รายงาน)

2.กระจายอำนาจแล้วได้นักเลงมาเฟีย

ตอบ: จริงครึ่งเดียว การกระจายอำนาจคือวิถีของประชาธิปไตย คือการกระจายสิทธิในการเลือกผู้แทนของตนเอง หากใครเป็นนักเลงมาเฟีย ก็ต้องลงมาเล่นในกติกา จากที่มืดสู่ที่สว่าง หมายความว่า เขาเหล่านั้นต้องเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก

เราต้องไว้ใจประชาชนด้วยกันว่าเขาจะเลือกนโยบายที่เติมเต็มคุณภาพชีวิต หากวาระนี้เลือกผิด วาระหน้าประชาชนก็จะสั่งสอนด้วยบัตรเลือกตั้ง นักเลงมาเฟียจะค่อยๆ หมดไป

3.กระจายไม่ได้ชาวบ้านโง่

ตอบ: ไม่จริง ซ้ำยังเป็นการหมิ่นแคลนสติปัญญาของผู้อื่นอย่างไม่น่าให้อภัย งานวิจัยของ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ชี้ว่าเงินซื้อเสียงนั้นมีผลต่อการตัดสินใจเลือกในคูหาน้อยมาก คน 95% ตัดสินใจเลือกโดยที่เงินไม่มีผลต่อการตัดสินใจ มีเพียง 5% เท่านั้นที่คิดว่าเงินซื้อเสียงนั้นมีผล

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่า ภาคกลางและภาคใต้เป็นพื้นที่ที่การซื้อเสียงมีผลต่อการตัดสินใจมากที่สุด ไม่ใช่ภาคอีสานหรือภาคเหนืออย่างที่ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งคิด

ข้อมูลจากงานวิจัยของ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ชี้ว่าการซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 46.79% รับเงินจากการซื้อเสียงจริง แต่ไม่ยอมเลือกผู้สมัครรายนั้น 48.62% ตอบว่าแม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือกผู้สมัครรายนั้นอยู่ดี มีเพียง 4.59% เท่านั้นที่ตอบว่าเลือกเพราะได้รับเงิน

4.กระจายอำนาจแล้วจะเกิดการแบ่งแยกดินแดน

ตอบ: ไม่จริง ซ้ำยังน่าหัวร่องอหาย ในรัฐธรรมมนูญหมวด ๑ มาตรา ๑ เขียนไว้ชัดเจน ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ดังนั้น มันแบ่งแยกไม่ได้อยู่แล้วครับ

ข้อนี้จึงไร้สาระเกินกล่าวถึง ขอตัดจบเลย

5.หากกระจายอำนาจด้วยการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละแห่งจะพยายามแยกตนออกเป็นเอกเทศ

ตอบ: ไม่จริง ยิ่งเป็นเอกภาพเพราะเป็นการควบรวมราชการส่วนภูมิภาคกับราชการส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ไม่ต้องเกิดการทับซ้อนในอำนาจหน้าที่เช่นในปัจจุบันนี้ ส่วนประเด็นการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละแห่งจะพยายามแยกตนออกเป็นเอกเทศยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่รัฐอิสระ

6.มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้ที่ไม่หวังดีกับประเทศชาติ หรือเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ลัทธิการเมืองอื่น

ตอบ: ไม่จริง ข้อนี้ อ.ชำนาญ ตอบไว้ว่า ประเทศชาติยิ่งเป็นปึกแผ่น ที่กล่าวว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธิการเมืองอื่นนั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตยโดยผ่านการเลือกตั้งของประชาชน ตัวอย่างเกาหลีใต้ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ประเทศยังอยู่ในสภาวะสงครามจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ก็ไม่มีปัญหาเช่นว่านี้

7. กระจายไม่ได้ ประชาชนยังมีสำนึกในการปกครองตนเองต่ำนั้น

ตอบ: ข้อนี้ อ.ชำนาญ ตอบไว้ว่า สำหรับไทยเราเมื่อก่อนอาจใช่ แต่เดี๋ยวนี้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดเขาไม่คุยกันเรื่องละครน้ำเน่าแล้ว เดี๋ยวนี้เขาคุยกันในเรื่องการเมืองอย่างออกรสชาติ อาจารย์ว่า ไม่เชื่อลองเข้าไปคุยกับแม่ค้าในตลาดดูสิ เผลอๆ ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ปรากฏตามสื่อกระแสหลักเสียด้วยซ้ำไป

8. กระจายไม่ได้ เดี๋ยวคุณภาพชีวิตคนต่างจังหวัดจะดี คนเมืองบางส่วนต้องการแช่แข็งความเป็นชนบทเอาไว้ตลอดกาล  

ตอบ: ข้อนี้จริง และไม่ได้เขียนขึ้นมาลอยๆ หลักฐานมันจะแจ้งคาตาจากที่ ร่างปลดล็อกท้องถิ่น ของ คณะก้าวหน้า ไม่ได้ไปต่อ เพราะการกระจายอำนาจและงบประมาณไปยังท้องถิ่น จะส่งผลให้คนต่างจังหวัดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน The Voters ถึงพยายามรณรงค์เรื่องนี้ ด้วยการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการกระจายอำนาจมาตลอด และเร็วๆ นี้หากไม่มีอะไรผิดพลาด

เราจะเปิดให้ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเองให้เกิน 5 หมื่นรายชื่อ โปรดติดตาม

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *