ข้อเรียกร้องของ #ตะวันแบม สร้างประโยชน์อะไร?

นักโทษการเมืองคือนักโทษทางความคิด ตกตะกอนขมวดปมความรู้เผยผ่างเป็นแสงตะวันแห่งความก้าวหน้า

ณ ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ศาลยกคำร้องประกันทะลุแก๊ส แต่สั่งปล่อยตะวันกับแบม 1 เดือนด้วยเหตุเจ็บป่วย สร้างความคลางแคลงฉงนฉงายให้ผมยิ่ง

นั่นเท่ากับข้อเรียกร้องให้ ประกันตัวทุกคน ไม่ได้รับการตอบสนอง ล้มเหลวเป็นโคลนเละๆ แบมและตะวันผิดหวังศาลไม่ปล่อยตัว​ 8​ ผู้ต้องหา ยืนยันหนักแน่นดั่งหินผาว่าจะอดอาหารอดน้ำต่อไป​ ด้วยเชื่อมั่นสิ่งที่เรียกร้องเป็นไปตามหลักการ นิติธรรม และเป็น ผลประโยชน์ ของประชาชน

มิพักต้องพูดถึงข้อกังวลเรื่องความเป็นความตาย

แล้วข้อเรียกร้องของ #ตะวันแบม สร้างประโยชน์อะไร?

ตะวันและแบม คือ 2 นักกิจกรรมทางการเมืองถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการทำโพลขบวนเสด็จ ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

วันที่ 16 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้งสองคนตัดสินใจ ถอนประกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เลือดแลกเลือด ทวงชีวิตเพื่อนคืน ราดน้ำแดงลงบนร่างกายตน พร้อมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2.ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

3.พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

เรามาพินิจกันเป็นข้อๆ

1.ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

ข้อเสนอแรกนี้แกะรอยได้ว่า มีผู้คนจำนวนมากสงสัยในกระบวนการยุติธรรมไทย คลางแคลงว่ามีใบสั่งจากใครหรือไม่

คำถามคือข้อเสนอนี้ใครได้ประโยชน์บ้าง คำตอบคือ เราทุกคนในประเทศล้วนได้ประโยชน์ เราอาจเคยได้ยินประโยคคุกมีไว้ขังคนจน เนื่องจากไร้เงินประกันตัว การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเสีย จะเปิดมิติใหม่วงการกฎหมายไทย

ในความเห็นผม ผู้ต้องหาทุกคนต้องได้ประกันตัว ไม่ว่ายากดีมีจน หรือร่ำรวยล้นฟ้า ยกเว้นเป็นบางคดีศาลหวั่นกลัวหลบหนี

โดยเฉพาะผู้ต้องหาทางการเมืองที่ศาลมักไม่ให้ประกันตัว หรือประกันแล้วให้ติด EM พร้อมด้วยเงื่อนไขมากมายก่ายกอง ปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำผิดแล้ว ปัญหานี้เป็นทั้งเรื่องของตัวกฎหมายและผู้ปฏิบัติตามกฎหมายคือผู้พิพากษาในคดี

รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดมาตรา 29 วรรค 2 บัญญัติไว้ชัดเจน ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้

2.ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

การชุมนุมทางการเมืองก็ดี การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ดี การแสดงออกทางการเมืองก็ดี ล้วนเป็นสิทธิอันชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่อทางการเมืองแบบไหน รัฐต้องอนุญาตให้คุณทำได้ ยกเว้นจะไปปิดคูหาเลือกตั้ง

การดำเนินคดีความกับประชาชนจึงเป็นเรื่องลำเอียง หากคุณมีสติพอจะรู้ว่าผมหมายถึงอะไร

3.พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ข้อที่ 3 นี้ ผมขอเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค ให้ทำตามข้อเสนออันก้าวหน้าของแบมและตะวัน ใกล้เลือกตั้งแล้ว พรรคไหนไม่ยึดโยงกับประชาชน คุณคงคาดเดาผลการเลือกตั้งได้

ปัญหาของมาตรา 112 ผมเขียนไปเยอะแล้ว เรามาดูกันที่ มาตรา 116 กันบ้าง

หลังรัฐประหาร 2557 จวบปัจจุบัน ข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คือหนึ่งในข้อหายอดนิยมที่ถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารหรือรัฐบาล มันเป็นกฎหมายที่ตีความได้กว้าง มีโทษสูง

สุมซ้อนด้วยการใช้ข้อหาดังกล่าวส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการเร่งรัดออกหมายจับ รวมถึงการสร้างเงื่อนไขเพื่อยุติการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเป็นเรื่องปกติในสังคมอารยะทั้งหลาย ไม่เชื่อลองมองย้อนกลับไปดูสมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็ตาม

พิจารณาจากบทบัญญัติของ มาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น เราจะพบว่า บทบัญญัติของกฎหมายเต็มไปด้วยความ คลุมเครือ เนื่องจากถ้อยคำตามกฎหมายต้องอาศัยการตีความ

เช่น มาตรา 116 (2) ที่กำหนดให้การกระทำในลักษณะที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

จากบทบัญญัติข้างต้นพบว่า คำว่า ความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง หรือ ก่อความไม่สงบ ล้วนเป็นถ้อยคำขึ้นกับผู้ตีความ พูดอีกแบบคือ บทบัญญัติดังกล่าวได้ยกอำนาจให้กับรัฐเป็นผู้ตีความการกระทำของประชาชนว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

ดังนั้น ข้อหาตามมาตรา 116 จึงเปิดช่องให้รัฐใช้ตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ไม่มีข้อเสนออันก้าวหน้า ประเทศก้าวหน้าได้หรือไม่

ผมโยนคำถามให้ทุกคนได้คิด

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *