ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี: เงินบาทแรกถึงบาทสุดท้ายต้องกลายเป็นรัฐสวัสดิการ

“คุณเชื่อไหมว่าคนเท่ากัน”

ธรรมศาสตร์, เดือนตุลาคม 2022

ลมหนาวที่พัดผ่านมา ทำให้ผมหวนคิดถึงสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไป ตั้งแต่ลมมรสุมที่พัดผ่านเกิดหยาดฝนโปรยปรายหนาแน่นจนเกิดน้ำท่วม หน้าหนาวที่มีระยะเวลาน้อยลงในแต่ละปี สวนทางกับราคาสินค้าข้าวของเครื่องใช้มีราคาที่สูงขึ้น

ตรงกันข้ามกับค่าครองชีพหรือค่าแรงที่ได้รับในแต่ละเดือน ยังไม่นับคุณภาพชีวิตที่แต่ละครอบครัวมีต้นทุนในการเริ่มต้นไม่เหมือนกัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณภาพชีวิตของคนในประเทศยังเหมือนเดิม 

ผมนึกถึงลมหนาว สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในสังคมไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ระหว่างสนทนากับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทางด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา

นักวิชาการคนสำคัญแห่งยุคนี้ ผู้ผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการ ผมคิดถึงเรื่องลมหนาวบ่อยครั้ง ไม่ใช่เพราะว่าสถานที่ที่กำลังพูดคุยอยู่ในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมคิดถึงสังคมที่อาจจะพัฒนาไปข้างหน้าได้ ถ้าหากเราเริ่มต้นมองคนให้เท่ากัน

บทสนทนาในห้องเรียนที่เป็นมากกว่าห้องเรียนตามคาบวิชา ในมหาวิทยาลัย ในที่นี้หมายถึงห้องเรียนที่เป็นโลกกว้าง โลกกว้างสำหรับทุกคน

ถ้าจะให้นิยามโดยง่าย รัฐสวัสดิการสำหรับคุณ คืออะไร

สำหรับผม รัฐสวัสดิการเป็นรูปแบบรัฐหนึ่ง โดยไม่ได้พูดถึงรัฐระดับท้องถิ่น แต่ความสำคัญของรัฐในที่นี้คือ เงินตั้งแต่บาทแรกจนถึงบาทสุดท้ายจะกลายมาเป็นเงินสวัสดิการสำหรับประชาชน พูดง่ายๆ ก็คือ ชีวิตของคนเป็นสิ่งสำคัญ สวัสดิการของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของรัฐ ซึ่งต่างกับ รัฐประเพณี ที่ให้ความสำคัญกับประเพณี รัฐศาสนา ให้ความสำคัญกับศาสนา รัฐทุนนิยมก็ให้ความสำคัญกับทุน หรือจะเป็นแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของคนคนหนึ่ง 

จากเรื่องคนเท่ากัน ครั้งหนึ่งคุณเคยบอกว่า คนเท่ากัน คือจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อยากให้ขยายความเรื่องนี้

การที่เรามองว่าคนเท่ากันเป็นรากฐานสำคัญในทางการเมือง โดยเรามองไปที่ความนิยมคนในสังคมว่า เชื่อเรื่องคนเท่ากันหรือไม่ ถ้าเรามองว่าคนไม่เท่ากัน ก็จะรู้สึกโอเคกับแนวคิดของความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหา คุณได้เพียงแค่เศษเนื้อก็เพียงพอสำหรับการมีชีวิตอยู่แล้ว คุณไม่ขยันเท่ากับคนอื่นเลยทำให้คุณไม่มีชีวิตที่ดีเท่ากับคนอื่น

แต่ทว่า ถ้ากลับไปที่แนวคิดพื้นฐานของเรา ถ้าเรามองว่าคนเท่ากัน คนเราสมควรที่จะมีชีวิตเท่ากัน คนชราที่ไม่ว่าในอดีตตัวเขาเคยทำงานอะไรมา แต่พอมาถึงตอนเขาแก่เกินกว่าจะทำงานได้ อย่างน้อยที่สุดเขาควรจะมีเงินบำนาญเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการมีชีวิตอยู่ หรือแม้กระทั่ง ทุกคนสามารถวิ่งตามความฝัน สามารถที่จะเรียนมหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าคุณจะเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม ชอบหรือไม่ชอบ แต่อย่างน้อยๆ คุณก็ควรมีอิสระในการเลือกที่เรียนเท่ากัน โดยไม่ต้องเริ่มจากการมีหนี้ก่อนเพื่อที่จะมีความฝัน

มันเลยต้องเริ่มไปที่คำถามพื้นฐานเลยว่า

คุณเชื่อไหมว่าคนเท่ากัน

จากกรณี ยกหนี้ กยศ. บางทัศนะกล่าวว่า เป็นการสร้างนิสัยไม่ใช้หนี้ ประเทศอาจล้มละลาย เพราะมีคนได้เรียนฟรี มีเงินเดือน หลายคนก็บอกจะเอาเงินที่ได้ไปซื้อสิ่งของอย่างอื่น อีกหลายคนบอกจะทำร้ายประเทศไทย หรือไม่ก็ทำให้คนขี้เกียจ ไม่ทำงาน คุณมีความเห็นอย่างไร

กรณีของการยกหนี้ กยศ. ที่ถกเถียงกันในโลกออนไลน์ เป็นการสะท้อนเรื่อง Moral (ศีลธรรม) ในสังคมไทยมากกว่าปัญหาทางเทคนิคว่าสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ ผมคิดว่าในด้านหนึ่งมันน่าสนใจที่คนมาถกเถียงกันเรื่องนี้ แสดงว่าจริงๆ แล้วคนเขารู้ว่า เรื่องการยกหนี้ กยศ. สามารถทำได้

การกล่าวว่า สวัสดิการที่ดี หรือการล้างหนี้เป็นการสปอยล์คนจน เป็นการกล่าวเกินจริง และละเลยแก่นแท้ว่าหนี้การศึกษาเกิดจากนโยบายที่ผิดพลาด ไม่มองว่าการศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐาน เหมือนการเลิกทาส ถือเป็นการสปอยล์คนที่เป็นหนี้จากการขายตัวหรือไม่

และข้อสำคัญ คนในประเทศนี้ไม่เคยได้รับสวัสดิการมากเกินไปที่จะทำให้เกิดนิสัยเสียได้ เราควรเอาพลังของเราไปตั้งคำถามต่อคนรวยและชนชั้นนำที่มีอภิสิทธิ์ล้นเหลือจากรัฐดีกว่า

สำหรับข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ได้มีข้อยืนยันเลยว่า ประเทศที่มีสวัสดิการดีแล้วจะทำให้คนขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน หรือว่าการมีรัฐสวัสดิการดีจะทำให้คนขาดแรงจูงใจในการทำงาน

แม้แต่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีมากๆ จนคนสามารถว่างงานได้เป็นปี อย่าง เดนมาร์ก นอร์เวย์ หรือสวีเดน มันไม่ได้มีตัวชี้วัดว่าจะทำให้คนขี้เกียจหางาน ปรากฏว่าอัตราการหางานของคนเหล่านี้ใกล้เคียงกับประเทศที่มีรัฐสวัสดิการแย่ อย่างเช่น ไม่เกินหนึ่งเดือนก็สามารถหางานใหม่ได้ และเป็นงานที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของคนมากกว่า

ครั้งหนึ่งผมเคยให้นักศึกษาทำการบ้าน เป็นข้อมูลทางสถิติ คิดอย่างง่าย สมมติว่ามีประเทศที่มีรัฐสวัสดิการแล้วทำให้คนขี้เกียจจริง อัตราการเดินของคนก็ควรน้อยลง แต่กลับพบว่า อัตราการเดิน อัตราการใช้ชีวิตกลางแจ้งกลับเยอะขึ้น คือแม้แต่ความขี้เกียจเชิงกายภาพยังไม่เป็นความจริงเลย ดังนั้นแล้ว ความขี้เกียจเชิงจินตภาพเรื่องการไม่ยอมหางานใหม่ นอนเฉยอยู่ที่บ้าน ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ

เรื่องเหล่านี้อาจเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย อาจไปกระทบเข้ากับคุณค่าทางศีลธรรม โดยไม่ได้ติดขัดทางเทคนิค

แสดงว่าจริงๆ แล้วเราอาจต้องไปแก้ในส่วนของศีลธรรมในสังคม?

ถ้าเราไปแก้ที่ความเชื่อของคนได้ เริ่มแก้จากตรงนั้นมันก็จบ แต่จากประสบการณ์ของผม วิธีการที่เราจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองด้านศีลธรรม ก็คือการทำให้มันเกิดขึ้นจริง

เช่น ในอดีตเวลาคนเรารักษาโรคอย่างโรคมะเร็ง หรือผ่าตัดหัวใจมันก็เป็นความหรูหราในการรักษา แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นการรักษาที่ทุกคนเข้าถึง จนทำให้การรักษาโรคเหล่านี้ไม่มีใครตั้งคำถามว่าจะทำให้คนขี้เกียจ ถามต่อว่า

มันมีความเชื่อบางอย่างในโลกอินเทอร์เน็ตว่า เพราะคนไม่ดูแลสุขภาพเลยมาหาหมอมั่ว หรือวิธีการรักษาโรคมะเร็งเองได้ที่บ้าน แบบที่เจอตามโลกออนไลน์ มันก็มีบ้าง แต่กลับถูกพิสูจน์แล้วว่าโรคมะเร็งรักษาได้ด้วยวิธีทางการแพทย์

ดังนั้น การทำให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นจริงได้ ลองเริ่มจากการค่อยๆ เพิ่มการล้างหนี้อย่างน้อยสัก 20 เปอร์เซ็นต์ ไป 40 เปอร์เซ็นต์ แล้วดูผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้ามันโอเคก็เพิ่มจำนวนการล้างหนี้จนสามารถล้างหนี้ทั้งหมด

พิสูจน์ให้เห็นว่ามันทำได้ โดยไม่ต้องทำให้เห็นว่าต้องรอเป็น 10 ปี 20 ปี ถึงจะทำได้ อย่างการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี คนอายุ 18 ปี ก็สามารถที่จะเก็บความฝันไว้ได้ แล้วทำไมคนที่อายุเท่านั้นต้องเป็นหนี้การกู้เรียนเพื่อที่จะทำตามความฝันของตนเองด้วย

คุณบอกไว้ตอนปาฐกถา ‘รัฐสวัสดิการ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร’ ในวาระรำลึก 121 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์  ตอนหนึ่งว่า “ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่เปลี่ยนไป แม้เวลาจะล่วงมาเกือบศตวรรษแล้วก็ตาม เมื่อพูดถึง ปรีดี พนมยงค์ สำหรับนักประวัติศาสตร์ ก็อาจเป็นตัวละครหนึ่งซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ขณะเดียวกัน ปรีดีมีสถานะของการเป็นปีศาจร้ายมาอย่างยาวนาน แต่สำหรับผม ผู้ที่ศึกษาวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับประเด็นรัฐสวัสดิการ หลายสิ่งซึ่งเป็นความปรารถนาของปรีดีเมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว กลายเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่อสังคมที่เท่าเทียม”

คุณคิดว่าการที่ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมแทบไม่เปลี่ยนไป เพราะว่าภาพจำเรื่องคอมมิวนิสต์จากการนำเสนอนโยบายด้านสังคมนิยมให้คนเท่ากันของอาจารย์ปรีดีมีผลต่อการพัฒนาเรื่องรัฐสวัสดิการตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบันหรือไม่

ผมคิดว่าเกิดขึ้นจากปัญหาด้านอำนาจนิยมที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน มันไม่ได้สำคัญว่า อาจารย์ปรีดีเป็นพวกคอมมิวนิสต์ หรือพวกสังคมนิยม จะเป็นจริงหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา เพราะปัญหาคือ สังคมไทยทำให้การพูดเรื่องความเสมอภาคเป็นเรื่องที่ผิด และมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีลักษณะอำนาจนิยม สังคมที่สืบทอดอำนาจของเผด็จการมาอย่างยาวนาน มันเลยทำให้เวลาคุณพูดถึงความเสมอภาคเพียงเล็กน้อย คุณกลับกลายเป็นตัวประหลาดของสังคม

ผมยกตัวอย่างหนึ่ง เป็นตัวอย่างที่ผมยกบ่อยมาก ถ้าหากผมยกหนี้ให้เด็กหนึ่งคน ทุกคนจะบอก อนุโมทนาสาธุ ขอเลขบัญชีในการโอนเงินช่วยเหลือ แต่พอผมพูดถึงการยกหนี้ให้เด็ก 3 ล้านคนทั่วประเทศ กลับกลายเป็นว่าผมคือพวกคอมมิวนิสต์ เป็นสัตว์ร้าย หรือผมทำน้อยกว่านั้น เช่น ผมไปแจกข้าวกล่อง หลายคนก็จะบอกว่าอยากช่วย มีอะไรให้ช่วยบ้าง

แต่จริงๆ แล้วพวกคุณไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แค่เพียงช่วยกันสนับสนุนเรื่องนี้ ให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ การขอความร่วมมือมันขอได้ยากมากกว่าการผูกขาดความสูงต่ำ ความเหลื่อมล้ำ โดยชาติกำเนิด ตอนที่เราตื่นมาพบเจอว่าทหารกำลังปกครองประเทศ มองเห็นการเหยียดเพศหลากหลาย

เรามองเห็นว่าผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ไม่สามารถหางานได้เลยต้องไปกู้นอกระบบเพื่อที่จะหาเงินมาเป็นค่านมของลูก เรามองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเลยคิดว่าการส่งเสียงกลายเป็นเรื่องไม่ปกติ

ในอดีตชนชั้นนำยุคนั้นมีความคิดเหมือนกับคนยุคปัจจุบันว่ารัฐสวัสดิการ (Welfare state) เป็นการสงเคราะห์จากรัฐบาล ซึ่งรัฐมองเป็นภาระทางการคลังไม่สามารถจัดสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนได้ เพราะงบประมาณไม่เพียงพอจึงสงเคราะห์ให้เพียงผู้ยากไร้ จริงๆ แล้วเรื่องงบประมาณสามารถจัดสรรให้เพียงพอต่อทุกคนได้หรือไม่

มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในปีงบประมาณปี 2566 ประเทศไทยวางงบหมวดลดความเหลื่อมล้ำไว้รวมกันแล้วประมาณ 7 แสนกว่าล้าน พอเกิดคำถามที่ว่าประเทศไทยไม่มีงบสำหรับการลดความเหลื่อมล้ำเหรอ จริงๆแล้วมันมี แต่มันกลับกลายเป็นเบี้ยหัวแตกที่ไปลดความเหลื่อมล้ำในมิติของการสงเคราะห์ การแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล

ทั้งๆ ที่เรารู้แล้วว่าเราใช้ระบบนี้มานานมีแต่ความผิดพลาด จริงๆ แล้วงบ 7 แสนกว่าล้านสามารถนำไปพัฒนาเรื่องรัฐสวัสดิการได้ 2 รอบเลยด้วยซ้ำ เรื่องข้าราชการก็น่าสนใจ

สำหรับตัวผมไม่ได้มีปัญหากับสวัสดิการของข้าราชการ แต่มันเกิดคำถามตรงที่ว่าทำไมถึงไม่สามารถที่จะให้สวัสดิการพวกนี้กับประชาชนทั่วไปด้วย หรืออย่างน้อยที่สุด ควรให้เพียงพอกับฐานะของประชาชน เช่นข้าราชการได้เงินบำนาญเดือนละ 24,000 โดยเฉลี่ย แต่ประชาชนกลับได้เงินเบี้ยผู้สูงอายุเพียง 600 บาทต่อเดือน มันห่างกัน 40 เท่า ลูกข้าราชการสามารถเบิกค่าเรียนได้ ไม่ต้องไปแข่งขันกับประชาชนทั่วไปพิสูจน์ความจน เพียงแค่คุณเกิดมาเป็นลูกข้าราชการเท่านั้น

คำถามของผมคือ ข้าราชการเงินเดือนน้อย เลยต้องได้รับสวัสดิการดีๆ แต่ถ้าเรามองไปรอบๆ ตัว คนส่งสารก็เงินเดือนน้อย ร้านขายอาหารริมทางบางแห่งก็เงินเดือนน้อย ทำไมพวกเขาถึงไม่ได้รับสวัสดิการแบบนี้ ทำไมลูกของพวกเขาถึงไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยแล้วเบิกได้ หรือคุณจะบอกว่าข้าราชการทำประโยชน์ให้กับประเทศมากกว่า

แล้วอาชีพอื่นๆ ไม่ได้ก่อประโยชน์ให้ประเทศเหมือนกันหรือ ผมไม่ขออะไรมากเลยจริงๆ ขอแค่ก้าวแรกให้สวัสดิการด้านการเรียนมหาวิทยาลัยกับลูกคนทุกชนชั้น ให้เหมือนกับข้าราชการเทอมละ 25,000 ใช้งบประมาณ สี่หมื่นล้าน เท่ากับค่าเรือดำน้ำที่จ่ายไป แต่ผลที่ได้กับมีผลต่อเศรษฐกิจแบบมหาศาลเลยนะ ลองคิดดูคร่าวๆ ว่า คนอายุ 18 ปี ไปเป็นทหารเกณฑ์ กับคนอายุ18 ปีที่ได้เรียนมหาลัย อะไรจะส่งผลต่อฐานเศรษฐกิจมากกว่ากัน

เบื้องต้น งบประมาณประเทศสามารถทำรัฐสวัสดิการได้ หากกลับไปดูข้อมูลคนในประเทศของเราส่วนใหญ่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถ้ามีการผลักดันให้มีการเรียนฟรี ล้างหนี้ กยศ. ผมลองคิดคำนวณคร่าวๆ คนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ จากเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท อาจเพิ่มขึ้นเป็น19,000 บาท ถึง 20,000 บาท ทำให้เขามีอำนาจต่อรอง มีอำนาจในการเพิ่มประสิทธิภาพของตน

แล้วการยกหนี้ไม่ได้หมายความว่านำเงินออกไปเท่านั้น เช่น การยกหนี้ กยศ. คือการเอาหนี้ออกเดือนละ 1,500 คุณจะหนักหนาอะไร คุณลองนึกภาพ ถ้าหากคุณมีหนี้เริ่มต้น จะทำให้คุณมีโอกาสในการทำธุรกิจที่น้อยลง การที่คุณมีหนี้เริ่มต้นจะทำให้คุณโดนพรากจินตนาการในการใช้ชีวิตไป มันทำให้ตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นหากมีการดำเนินการเรื่องการยกหนี้

หากรัฐจะขยับอีกครั้งหนึ่งก็ต้องไปคุยต่อในการเริ่มทำภาษีก้าวหน้า ถ้าคนมีรายได้มากขึ้น เป็นชนชั้นกลางมากขึ้น การลงทุนพวกนี้ก็จะตามมา มันไม่ใช่แค่การกดเครื่องคิดเลข

คุณเคยบอกว่า จะทำงานทางความคิดกับคนกลางๆ เท่านั้น แล้วกลุ่มคนที่ไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน  ไม่เชื่อในรัฐสวัสดิการ ไม่ยอมเสียภาษีอัตราก้าวหน้า มีหนทางใดบ้างที่พอจะทำให้คนพวกนี้หันมาตระหนักในเรื่องนี้

คนที่เชื่อไปเลยว่าคนเราไม่เท่ากันอาจมีน้อย แต่พวกเขาอาจมีเสียงที่มาก ผมจะไม่ใช้เวลาในการพูดคุยกับคนเหล่านี้ แต่กลับไปมองกลุ่มคนกลางๆ ที่กำลังศึกษาข้อมูลเรื่องรัฐสวัสดิการ กำลังดูอยู่ว่าเรื่องพวกนี้ดีหรือไม่ดี แล้วชีวิตจริงของพวกเขาก็ลำบาก อาจมีแนวโน้มที่ทำให้คนพวกนี้เชื่อได้มากขึ้น

สมมติว่าคุณกำลังลงมาเกิดบนโลกนี้ แล้วมีอยู่ 2 ประเทศ ประเทศแรก ถ้าคุณโชคดี โชคดีที่ได้เกิดในตระกูลเศรษฐี ทำให้คุณมีอำนาจเหนือคนอื่น คุณสามารถใช้เงินซื้ออะไรก็ได้ แต่อีกประเทศหนึ่ง คุณอาจใช้เงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่เป็นประเทศที่คุณได้เรียนฟรี ไม่มีคนจน มีบ้านให้อาศัยอยู่ มีเงินบำนาญ คุณจะเลือกประเทศไหน

สังคมที่มันเสมอภาคกันมันมีผลดีมากกว่า แล้วก็เป็นมิตรกับคนทุกคน

คิดว่าอำนาจที่รวมอยู่ส่วนกลาง ทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่

การเป็นรัฐรวมศูนย์ทำให้การทำรัฐสวัสดิการได้ยากขึ้น เพราะว่าการผูกขาดทรัพยากรทั้งหมดก็ถูกรวมเข้ากับศูนย์กลาง ชนชั้นนำกรุงเทพ เช่น กองทัพ นายทุน ดึงทรัพยากรทุกอย่างมาไว้ที่ศูนย์กลางนี้ แต่กลับกันแล้วประเทศที่มีรัฐสวัสดิการจะทำการกระจายงบประมาณให้กับท้องถิ่นก่อน ภาษีก็จะเข้าส่วนท้องถิ่นก่อน ส่วนที่มันเติมเต็มท้องถิ่นจนเต็มแล้วก็จะกลับมายังส่วนกลาง แตกต่างจากประเทศไทยตรงที่จะเริ่มจากส่วนกลางก่อน แล้วค่อยทยอยไปให้ท้องถิ่น มันตรงข้ามกัน เลยทำให้เกิดชนชั้นนำ กรุงเทพฯ ที่ผูกขาดทรัพยกรเอาไว้

การกระจายอำนาจควรกระจายทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ผลักดันควบคู่ไปกับการทำรัฐสวัสดิการ

ย้อนกลับไปไกลหน่อย จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นอกจากเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเมืองหลวงแล้ว คิดว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้หรือไม่กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ตัววัดที่ดีว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ คนในท้องที่จำเป็นต้องส่งเสียง ในกรุงเทพฯ ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะมันเป็นแหล่งกระจุกอำนาจมาก ทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่ได้รู้สึกว่าการปกครองของตนสำคัญ มันต้องเริ่มจากการยกเลิกส่วนภูมิภาค หลากโครงการของ กทม. ไม่สามารถทำได้ เรื่องรัฐสวัสดิการในจังหวัดกรุงเทพฯ สามารถใช้อำนาจของผู้ว่าฯ ทำได้

เช่น การรักษาในโรงพยาบาลที่สามารถยกระดับ การกระจายตัวของบุคลากรออกไป การยกระดับระบบการศึกษาให้โรงเรียนสังกัดกทม. มีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนอินเตอร์ก็ทำได้ การลงทุนเรื่องการศึกษาไม่ได้แพง มันขึ้นอยู่ที่ว่าคุณคิดว่าเรื่องนี้สำคัญหรือไม่ แล้วก็ไม่ได้มองว่ารัฐสวัสดิการมีไว้ให้แค่คนจนอย่างเดียว แต่ต้องทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นสำหรับทุกคน

รัฐสวัสดิการมีไว้ให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย ชนชั้นกลางก็สามารถเข้าถึงได้เหมือนกัน

ในแต่ละจังหวัดคิดว่ารัฐสวัสดิการมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้เหมาะกับพื้นที่ได้หรือไม่ หรือว่าต้องพัฒนาในด้านเดียวกันทั้งหมด

ในการทำรัฐสวัสดิการควรมีเรื่องพื้นฐานเหมือนกัน เช่น เรื่องเงินอุดหนุนพื้นฐานก็ควรได้เหมือนกันหมด  สิทธิเรียนฟรี การประกันเงินเดือน แต่บางจังหวัด ต้องการอะไรเพิ่มเติม ก็สามารถมีส่วนต่อเติม สามารถออกแบบเติมเต็มได้ ไม่ใช่ทุกที่ต้องการศูนย์มะเร็ง ไม่ใช่ทุกที่ต้องการมหาวิทยาลัย

ส่วนกลางอาจช่วยให้เกิดขึ้นโดยการมีเงินสนับสนุน มีการออกแบบจากคนในท้องถิ่น

คำถามสุดท้าย ครั้งหนึ่งคุณเคยนิยามว่าตนเองคือ ชาวสังคมนิยมประชาธิปไตย มันมีความหมายอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการไหม

สังคมนิยมคือเรื่องที่เรามองว่าคนเท่ากัน หากเรามองไปที่โทรศัพท์เครื่องหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาหลายๆ อย่าง เช่น นักวิทยาศาตร์ ที่คิดเทคโนโลยี มีแรงงานที่ประกอบ มีชาวนาที่ปลูกข้าวให้แรงงาน มีคนอยู่ในวัตถุพวกนี้ มันเลยยากที่จะบอกว่าใครเป็นเจ้าของของสังคมนี้ ฉะนั้น ถ้าบอกยาก ว่าใครเป็นเจ้าของ ก็ทำการกระจายสิทธิพื้นฐานในการดำเนินชีวิตให้กับคนทั่วไป ทั้งการมีเงินเดือนพื้นฐาน การศึกษา การโอบอุ้มคนในสังคม

สิ่งที่ทำให้คนแตกต่างจากสัตว์ ไม่ใช่แค่การค้นพบไฟ แต่คือการช่วยเหลือคนที่แตกต่างจากเรา โดยเริ่มจากการเชื่อในเรื่องของคนเท่ากัน มองว่าคนเราเท่ากัน

Authors

  • Slasher / Day Dreamer / นักอยากเขียน ผลงานบทความบทเว็บไซต์ Practical school of design ยังคงตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่พบเห็น พร้อมทั้งยังหาคำตอบของสิ่งที่สนใจหรือตั้งข้อสงสัยต่อไป

  • มนุษย์ขี้กลัว เพื่อนหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *