“ต้องยกเลิกค่ะ” คำตอบของหญิงสาวที่อยู่เบื้องหน้าผมในวันนั้น เมื่อถูกถามความเห็นถึงบริบทของมาตรา 112 ไม่ใช่เพียงน้ำเสียง หากหนักแน่นไปทั้งแววตา
ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข คือลูกสาวคนเล็กของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตนักโทษมาตรา 112
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ CrCF (Cross Cultural Foundation) เน้นทำงานด้านการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ
ในวันไร้แดด พายุฝนถล่มเมือง เราพูดคุยกันในหลายเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ ทั้งในมุมมองของคนทำงานด้านสังคมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความคิดเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ และมุมมองของลูกสาวที่มีต่อผู้เป็นพ่อ
รบกวนให้ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน
ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน มันมีปัญหาอยู่เยอะมาก อย่างของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เราดูเรื่องสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่าการทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย โฟกัสเป็นพิเศษ และหมายรวมไปถึงการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐ จากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การใช้กำลังเข้าควบคุมตัว ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือเหตุการณ์แยกดินแดง ที่มีการใช้แก๊สน้ำตา และมีเด็กหลายคนที่เป็นผู้ชุมนุมโดนกระทืบ
ในส่วนของภาคใต้ เป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนค่อนข้างหนัก เขาอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ ถึงทุกวันนี้ก็ 18 ปีแล้ว เรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และกฎหมายความมั่นคง ถ้าเอากฎหมาย 3 ตัวนี้มาผนวกรวมกันจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัว บุคคลที่เขาเรียกว่าผู้ต้องสงสัยได้สูงสุด 37 วัน ซึ่งในระหว่างการควบคุมตัว ทนายเข้าถึงไม่ได้ ครอบครัวก็อาจเข้าเยี่ยมได้ยาก เพราะว่าถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร
พอมันเป็นการควบคุมตัวที่บุคคลภายนอกเข้าถึงไม่ได้ก็อาจเกิดการทรมาน การบังคับให้สารภาพ ซึ่งรูปแบบของการทรมานมีหลายแบบ ทั้งการทุบตีทำร้าย และสิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม เช่น การให้เขาอยู่กับสุนัข ซึ่งเป็นข้อห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม นอกจากการทรมานทางกาย ยังมีการทรมานทางจิตใจต่างๆ ที่จะไม่ทิ้งร่องรอย ไม่มีบาดแผลเป็นหลักฐาน
มีหลายเรื่องที่อยู่ในกลุ่มปัญหาเดียวกัน คือการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษเพื่อปิดล้อม ตรวจค้น ถ้าเป็นของประเทศอื่นต้องมีหมายค้น มีขั้นตอน แต่ด้วยกฎหมายพิเศษ เขาสามารถปิดล้อมหมู่บ้าน เข้าบ้านใครไปตรวจค้นหรือยืดทรัพย์ก็ได้ ทั้งหมดนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คน 3 จังหวัดภาคใต้ต้องเผชิญมา 18 ปี
ส่วนอีกเรื่องที่สังเกตในช่วงปัจจุบัน คือการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเราพยายามใช้คำว่าการฆาตกรรมนอกระบบ ทุกวันนี้ในส่วนของภาคใต้ เรายังคงรณรงค์อยู่ว่าอย่างน้อยที่สุดควรยกเลิกกฎหมายพิเศษ เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ ทำไมคนในพื้นที่ 3 จังหวัดถึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ
อีกรูปแบบหนึ่งที่อยากพูดเป็นประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับภาคใต้ คือการเก็บดีเอ็นเอและการลงทะเบียนซิมการ์ด ตรงนี้สำคัญเพราะคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไม่โดน อย่างเราจะลงทะเบียนอาจใช้แค่บัตรประชาชน แต่ที่ 3 จังหวัดต้องมาถ่ายรูป ต้องลงทะเบียน 2 รอบ ไม่อย่างนั้นไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้
จากเรื่องของภาคใต้ก็เชื่อมมาถึงเรื่อง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ที่เพิ่งผ่านชั้นรัฐสภา เรื่องนี้ในองค์กรของเราคิดว่าเป็นความก้าวหน้า เมื่อเจ้าหน้าที่จับใครไปกระทืบก็จะเป็นอาชญากรรม มีโทษทางกฎหมาย ครอบรวมไปถึงการกระทำหลายอย่างที่ก่อนหน้านี้เราอาจไม่ได้มองว่าเป็นอาชญากรรม อย่างการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม
เช่น ถ้าเขาเอาเท้ามาเหยียบหัวเรา มาเรียกเราว่าไอ้สัตว์ ตรงนี้ก็จะครอบคลุมด้วย แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ตามนิยามของหลักสากล เช่น การอุ้มหายที่ผู้กระทำไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ การไม่ให้ตัวแทนผู้เสียหายที่ถูกซ้อมทรมานเป็นคณะกรรมการ ซึ่งที่ถูกต้องควรมีตัวแทนที่เป็นประชาชน รวมถึงอายุความตอนนี้อยู่ที่ 20 ปี ทั้งที่ไม่ควรมีอายุความ

แล้วกิจกรรมการเมืองในภาพใหญ่?
ส่วนตัวคิดว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นจุดพีคของการเคลื่อนไหว เพราะมีการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เรารู้สึกว่ามีคนโดนคดีนี้เยอะมาก บางคนก็เสียทรัพย์สินในการจ่ายค่าปรับต่างๆ และการเอา ม.112 มาใช้
พอประยุทธ์บอกจะใช้ ม.112 ดำเนินการ ยอดตัวเลขผู้ถูกฟ้องก็พุ่งขึ้นสูงเลย มันเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน สมัยที่พ่อโดน อาจเรียกว่า ม.112 ระลอกที่ 1 หลังรัฐประหารก็ไม่ได้เยอะเท่านี้ แตกต่างจากตอนนี้ที่มีคนถูกฟ้องเยอะมาก และอายุของคนที่โดนบางคนยังเป็นเยาวชน
ข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งคือเขามีการปรับวิธีลงโทษ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการเผยแพร่ความกลัวในสังคม อย่างการเอากำไล EM มาใช้ แม้ไม่ค่อยแน่ใจแนวคิดเบื้องหลังว่าเขาเจตนาดี จะช่วยลดการคุมขังในเรือนจำหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คนที่เป็นนักกิจกรรมแล้วต้องใส่กำไล EM เขายังไม่ได้รับการตัดสิน เขาไม่ควรต้องใส่ และสิทธิการประกันตัวควรต้องได้ พอต้องใส่กำไล EM ปัญหาที่ตามมาคือการตีตราว่าเขาเป็นอาชญากร และทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นเรื่องยาก
แม้สังคมตื่นตัวมากขึ้น แต่ทำไมเรื่องสิทธิมนุษยชนยังดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ และหลายครั้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติกับผู้ถูกกล่าวหา นักกิจกรรมทางการเมืองหรือนักโทษทางการเมือง
คิดว่ามีหลายปัจจัย อันดับแรกคือเรื่องของรัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่เป็นเผด็จการอำนาจนิยม ทุกคนก็รู้ว่ามันส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งเป็นกันทั่วโลก ประเทศไหนที่เป็นเผด็จการก็จะมีอัตราการละเมิดสิทธิ์สูงกว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตย คิดง่ายๆ ว่าประชาธิปไตย ประชาชนเลือกมา เขาก็ต้องเคารพสิทธิของประชาชน
แต่ตอนนี้พอเห็นต่างก็ไปฟ้องกล่าวหา มีการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าเป็นการควบคุมโรคระบาดแล้วไปจับกุมคน มันชัดในรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ แล้วถ้าย้อนกลับมาที่คำว่าสิทธิมนุษยชน ในสังคมไทยมีมายาคติค่อนข้างเยอะ เช่น มันเป็นความคิดของคนยุโรปใช้กับสังคมไทยไม่ได้ หรือไม่ได้มองถึงความเหมาะสมของสังคมไทยและคนในทวีปเอเชีย แต่จริงๆ แล้วคำว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้จำเพาะ หรือใช้ได้แต่กับบริบทของคนยุโรป มันใช้ได้กับทุกคนบนโลก
ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะที่มีโครงการหนึ่งทำกับตำรวจ เราพบบางคนคิดว่าสิทธิมนุษยชนมีไว้ใช้กับคนบางพวก แต่ผู้ต้องหาอย่างคดีอาชญากรรม เขาคิดว่าไม่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเหมือนคนทั่วไป สิ่งนี้สะท้อนวิธีการทำงานทุกอย่างของเจ้าหน้าที่รัฐ
คุณจะผิดจริงหรือไม่ เป็นอาชญากรไม่ว่าคดีไหน ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

จากที่กล่าวมา คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะรากฐานขององค์กรที่มีมานานแล้วหรือไม่
ใช่ค่ะ ถ้าพูดถึงกรณีผู้บังคับใช้กฎหมาย ถ้าย้อนกลับไปดูตามประวัติศาสตร์มันมีเรื่องของแนวคิดตาต่อตาฟันต่อฟัน เช่น ฆ่าคนก็ควรได้รับโทษประหาร ถัดมาคือตำรวจส่วนหนึ่งรู้สึกว่าการทำงานมันเครียด แล้วพวกนี้คือผู้ร้าย เขาจะรู้สึกว่าผู้ร้ายไม่ใช่คน มันจะมีวิธีคิด ไปจนถึงสื่อต่างๆ ด้วย การเรียกผู้ต้องหาว่าไอ้ เดนมนุษย์ เดรัจฉาน คือการสะท้อนไม่ได้มองว่าผู้ต้องหาเป็นคนเหมือนกัน ซึ่งอาจเชื่อมถึงกรณีภาคใต้ในวิธีคิดที่เขาใช้มองผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย
ในโลกยุคใหม่ ความแตกต่างหลายหลากของผู้คนดูจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ความหลากหลายทางเพศ อุดมการณ์ทางการเมืองทั้งซ้าย-ขวา คุณมีความคิดเห็นหรือแนวทางอย่างไรในเรื่องนี้ ที่จะลดหรือไม่ให้นำไปสู่การลิดรอนสิทธิมนุษยชน
เราคิดว่าอาจต้องเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Empathy ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น กับเพิ่มการยอมรับความหลากหลาย สำหรับเรา Empathy นั้นอาจยาก เราเป็นลูกหลานคนจีนชนชั้นกลาง ถ้าไม่นับเรื่องพ่อก็ค่อนข้างมีชีวิตที่ดี ไม่ยากจน ไม่ได้ถูกบูลลี่ ก่อนที่จะเกิดเรื่องพ่อ เรายอมรับว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าอกเข้าใจ หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่นที่ถูกละเมิด มันนึกไม่ออก เช่น เราได้ไปโรงเรียนทุกวัน เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษานั้นรู้สึกอย่างไร จึงคิดว่าสังคมต้องเพิ่ม Empathy เปิดใจที่จะเข้าอกเข้าใจคนอื่น
ส่วนเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง คิดว่ายากเหมือนกัน เพราะเราเองก็อยู่ใน Echo Chamber ในเฟซบุ๊คเราก็ดูแต่เพื่อนของเราที่คิดเห็นเหมือนกัน ตรงนี้อาจไม่ค่อยมีคำแนะนำให้เท่าไหร่ว่าทำยังไงถึงจะรับฟังฝ่ายขวาหรือสลิ่มได้ ส่วนตัวตอนนี้ไม่ได้รู้สึกโกรธมาก ตราบเท่าที่เขาไม่ได้ไปละเมิดคนอื่น แต่จะคิดเห็น หรือสถาบันนิยมแบบไหนก็ห้ามกันไม่ได้
ทั้งในฐานะคนทำงานด้านสังคม และฐานะคนในครอบครัวของผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มองบริบทของกฎหมายนี้อย่างไร
ตอบสั้นๆ เลย ต้องยกเลิกค่ะ อันนี้คิดตั้งแต่ก่อนกระแสการเมืองปัจจุบันจะเป็นแบบนี้ด้วย เพราะมันไม่ เมกเซนส์ เรามีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นค่ะ
ปัจจุบันเราเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการกันมากขึ้น ล่าสุดคือ ยกหนี้ กยศ. ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมาก แต่คนก็ยังทะเลาะกันในโซเชียล คุณมองอย่างไร
ไม่ค่อยได้ตามเรื่องนี้ คิดว่าต้องย้อนกลับไปถามว่าต้องการผลักดันเรื่องนี้เพราะอะไร เพราะต้องการให้ไปสู่การเรียนฟรี ถูกไหม แล้วถ้ายกหนี้ปุ๊บ ต่อไปต้องฟรีจริงๆ นะ ไม่ต้องมีค่าอาหารกลางวัน ค่าโน่นค่านี่มาเพิ่มเติม อาจต้องตอบด้วยว่าคนที่จ่ายไปแล้วจะทำยังไง ส่วนตัวเห็นด้วยนะ แต่ต้องมองให้รอบด้าน เพื่อที่จะให้เกิดขึ้นจริง และไม่ถูกกระแสโต้กลับ

ช่วยเล่าถึงชีวิตและผลกระทบ ในช่วงเวลาที่คุณพ่อถูกจำคุกเป็นเวลา 7 ปี
ตอนนั้นอยู่มัธยม 5 แกอยู่ในนั้น 7 ปี ออกมาตอนจบปริญญาตรีพอดี ด้วยความที่พ่อไม่ได้เป็นเสาหลักด้านการเงิน เราจึงไม่เหมือนคนอื่นๆ ที่สูญเสียคนหาเงินในครอบครัวแล้วทำให้เกิดภาวะวิกฤต เพราะแม่เป็นคนหาเงิน และยังส่งลูกๆ เรียน เราเองก็ยังเรียนต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีปัญหา แต่ที่เห็นชัดเป็นเรื่องผลกระทบทางใจของคนในครอบครัว ทั้งกับแม่ พี่ชาย และตนเอง
ตอนแรกคิดว่าเราเด็กสุดในบ้าน อาจเป็นคนเดียวที่เสียใจ แต่จริงๆ ทุกคนรู้สึกแย่เหมือนกันหมด และแม่ต้องใช้ทรัพยากรชีวิตไปเยอะมาก ทั้งเงินที่ต้องเอาไปตั้งประกัน ตอนนั้นก็หลายล้าน แม้สุดท้ายจะไม่ได้เสียไปเพราะไม่ได้ประกัน แต่ต้องลางานมาเยี่ยม ขึ้นโรงขึ้นศาล คือเหนื่อยมาก เสาร์อาทิตย์ต้องดีลกับเราที่เป็นซึมเศร้ากับไบโพลาร์ พี่ชายก็สู้หนัก ดูแลรักษาจิตใจกันไป มันผ่านมานานมากแล้ว พอนั่งนึกย้อนคิด น่าจะเป็นผลกระทบทางจิตใจเป็นหลัก
เอาเฉพาะของเรา มุมมองของเราที่มีต่อโลกต่อสังคม เราในยุคนั้นไม่รู้ว่าเมืองไทยมีความอยุติธรรมขนาดนี้ มันช็อกมาก ตอนนั้นเพิ่งกลับจากไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศส ได้ไปอยู่เมืองศิวิไลซ์ กำลังรู้สึกว่าโลกใบนี้สวยงาม พอพ่อโดนแบบนี้ก็ผิดหวังและช็อกมาก เลยคิดว่าทุกคนบนโลกแม่งเหี้ย ก็โกรธ ก็เกลียดทุกคนไปหมด ความสัมพันธ์กับเพื่อนคือแย่ เพราะเรารู้สึกว่า เฮ้ย! มึงอิกนอร์แรนท์มากเลย ทำไมถึงไม่รู้ว่ามีกฎหมาย 112 ก็ทำให้ห่างเหินกับสังคมไป
ภายหลังออกจากเรือนจำ ปัจจุบันคุณพ่อก็ยังเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองและสังคม พอจะพูดได้ไหมว่าสิ่งนี้สะท้อนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเด็นทางการเมืองหลายอย่าง ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ส่วนตัวมองว่าดีขึ้น ในมุมของความคิด ความเชื่อ ค่านิยมของคนในสังคม มีความตื่นตัวมากขึ้น เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในบางอย่างที่ใหญ่มาก และคนมักเห็นเป็นอย่างแรก คือ 112 หรือบางอันเล็กลงมา เช่น พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม อันนี้ผ่านชั้น ส.ส. แล้ว และ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ที่ออกมาสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งชอบละเมิดสิทธิมนุษยชน
เราเคยคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะ ส.ว. หลายคนเป็นตำรวจและทหาร แต่ที่สุดแล้วเราเชื่อว่าความต้องการของประชาชน หรือเจตนารมณ์สามารถส่งไปถึงผู้มีอำนาจ มันจึงผ่านมาได้ในระดับหนึ่ง แม้ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ยังยืนยันว่าประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และมีค่านิยมที่ดีในเรื่องของสิทธิมนุษยชน คิดว่ามีความหวังค่ะ

เรื่องราวของคุณพ่อเป็นแรงขับหรือแรงบันดาลใจอย่างไรบ้าง
เชื่อว่าคงไม่ต่างจากลูกสาวหลายคนที่มองเป็นแบบอย่าง สำหรับเราคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของเอาอะไรมาแลกอุดมการณ์ก็ไม่ยอม พูดตามตรงเลยแม้แต่ครอบครัว ซึ่งสำหรับเราเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก ไม่ใช่อะไรที่ง่าย และเราก็รู้ว่าสภาพในคุกมันบั่นทอนกาย เหมือนเอาตัวเข้าแลกกับสิ่งที่เขาทำ เขาไม่เคยสอนว่าเกิดมาควรเคารพสิทธิมนุษยชน หรือคนเราเกิดมามีเสรีภาพ เขาไม่ได้พูด แต่เขาก็ทำของเขาไป เราเองที่เห็นใกล้ชิดที่สุด ก็กลายเป็นซึมซับมาโดยอัตโนมัติ
เป็นห่วงคุณพ่อบ้างหรือไม่ว่าอาจต้องถูกจับอีก
ตอนนี้เป็นห่วงเรื่องเงิน เพราะว่าเขาออกจากคุกมาไม่มีงานประจำ แต่ก่อนจะมีนิตยสารผลิตรายเดือน ก็มีคนซื้อมีแฟนคลับ พอเขาห่างไป 7 ปี ฐานแฟนคลับอาจไม่อยู่แล้ว และคนก็ไม่ได้อ่านนิตยสารกันเหมือนแต่ก่อน อันนี้เป็นเรื่องแรกที่ห่วง
ส่วนเรื่องโดนจำคุกอีกที อันนี้เราไม่ค่อยห่วง เพราะรู้ว่าเขาช่ำชองในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม หรือต่อให้เขาติดจริงๆ เราก็รู้ว่าเป็นผลของการที่เขาตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เราก็เคารพอยู่ดี
การกระจายอำนาจอยู่ในทุกปัญหา เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เช่นกัน คุณเห็นด้วยไหม
เห็นด้วยค่ะ เพราะว่าถ้ามีผู้นำที่มาจากการเลือกของเรา เขาจะต้องใส่ใจสวัสดิภาพ สวัสดิการ ทุกสิ่งทุกอย่าง และสิทธิของเราอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้ากระจายอำนาจและเราสามารถเลือกคนที่เราต้องการมาเป็นผู้นำได้ การปกป้องสิทธิมนุษยชนก็จะดีตามไปด้วย อีกเรื่องคือถ้าผู้นำเป็นคนในท้องถิ่นก็จะมีความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ อันนี้จะชัดในภาคใต้ที่มีการส่งคนไปปกครองตั้งแต่ในอดีต
การเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ คือการกระจายอำนาจแบบหนึ่ง คุณเห็นอย่างไร
เห็นด้วยค่ะ เพราะที่เป็นอยู่ประชาชนไม่สามารถควบคุมสิ่งที่มาจากส่วนกลางได้ ตรงกันข้ามกับที่ประชาชนสามารถเข้าถึงผู้นำที่มาจากท้องถิ่น สามารถเสนอแนะหรือร้องเรียน จะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าคนที่มาจากส่วนกลาง อีกเรื่องหนึ่งคือการตรวจสอบ ถ้าผู้นำเป็นคนในท้องถิ่นสามารถตรวจสอบได้ดีกว่าอยู่แล้ว

ความไม่เท่ากันด้านการพัฒนา และด้านอื่นๆ ของกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด สะท้อนภาพอคติของการมองคนไม่เท่ากันด้วยหรือไม่
ใช่ค่ะ แต่คิดว่ามีปัจจัยอื่นๆ รวมกันหลายอย่างที่ทำให้เป็นอย่างทุกวันนี้
เช่น การปฏิรูปการปกครองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และประวัติศาสตร์การปกครองของไทย ในมุมของนักประวัติศาสตร์มันไม่มีคำว่าคนเท่ากัน หรือสิทธิมนุษยชนอยู่ในเวลานั้น เพราะว่าสิทธิมนุษยชนมาพร้อมกับปฏิญญาสากลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่มีใครนิยามความรู้สึกอยากเท่ากันของคนในสังคม เราคิดว่าเป็นผลที่ผิดพลาดของการออกแบบระบบการปกครองของไทยด้วย อย่างที่คำถามพูดไว้ มันสะท้อนอคติ
นโยบายพัฒนาท้องถิ่นที่อยากเห็น อยากให้เกิดขึ้นจริง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนต่างจังหวัดคืออะไร
ต้องแล้วแต่ความต้องการของคนในจังหวัดนั้น ควรฟังเสียงคนในพื้นที่ ถ้าเป็นเราก็คงไปดูว่าสิ่งใดที่ยังขาดตกบกพร่องในพื้นที่นั้น ประชาชนในพื้นที่เขาอยากได้นโยบายอะไร
ในมุมมองของคุณ อะไรคืออุปสรรคสำคัญของการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ
หลักๆ คือนโยบายรวมศูนย์อำนาจ รวมถึงความไม่เท่าเทียม ระบบชนชั้น ความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน ทุกอย่างที่เรามักพูด ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้การกระจายอำนาจเป็นเรื่องยาก ส่วนตัวคิดว่าขอให้ได้ประชาธิปไตยมาก่อน ทุกอย่างน่าจะพอออกแบบและจัดการให้ดีขึ้นได้
ช่วยเล่าถึงการงานตอนนี้
ตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่โครงการ อยู่ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เราเน้นทำงานด้านการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุม เรื่องของการใช้กำลังในการจับกุม การจับกุมมิชอบ การฆาตกรรมนอกระบบ ซึ่งถ้าแบ่งให้เป็นประเด็น จะมีทั้งประเด็นภาคใต้ ประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยงบางกลอย เราก็จะให้ความช่วยเหลือทำงานรณรงค์ เช่น บิลลี่ พอละจี ที่ถูกอุ้มหายไป และกรณีฟ้องปิดปากก็มีทำอยู่บ้าง เช่น ผู้สื่อข่าว 2 คนที่ถูกฟ้องปิดปากจากกรณีที่รายงานข่าวเรื่องบิลลี่
ในส่วนที่ดูหลักๆ มีอยู่ 3 โครงการ อันแรกเป็นโครงการที่ทำกับองค์กรสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อว่า APT จะเน้นที่การทำงานกับตำรวจ รณรงค์ไม่ให้ตำรวจใช้ความรุนแรง รวมถึงการทำงานกับประชาชนให้เขารู้ว่าตนมีสิทธิอะไรบ้าง อันต่อมาเป็นโครงการระดับภูมิภาครวมกับองค์กรที่อินโดนีเซีย ในหัวข้อที่เรียกว่า ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นหลักการที่เอาไว้ใช้กับประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย นอกจากนั้นเป็นเรื่องของการปฏิรูปกระบวนการต่างๆ เพื่อไม่ให้เผด็จการย้อนกลับมา
อีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการที่ทำร่วมกับนักกิจกรรมโดยตรง ซึ่งได้รับทุนจากองค์กรสวีเดน อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สภาพจิตใจของนักกิจกรรมนั้นแข็งแรง สามารถอยู่ในขบวนการได้อย่างยั่นยืน