บารมี ชัยรัตน์: คนกองขยะและศัตรูของความจน  

ความคาดหวังในการสัมภาษณ์ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ครั้งนี้ของเราค่อนข้างสูง มีคำถามมากมายที่อยากถามไถ่ทั้งความใคร่รู้ส่วนตัวและคำถามของคนอื่นที่พกมาจากบ้าน

ตลอดระยะเวลาสัมภาษณ์ บทสนทนานี้ค่อยๆ ไต่ระดับความประหลาดใจของเราไปเรื่อย จนกระทั่ง เราหมดคำถามที่เตรียมมา กระนั้น คำถามที่ผุดขึ้นช่วงกลางๆ ของบทสนทนาว่า ชายตรงหน้าเอาพลังมาจากไหนกันนะ งานเดิมๆ กลุ่มคนเดิมๆ อะไรที่ทำให้ยังคงยืนหยัดพูดและลงมือทำในสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีทางเสร็จง่ายๆ อะไรคือสิ่งหล่อเลี้ยงพลังงานเช่นนั้นกัน

บทสนทนาสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงเสมือนพลังงานลับพลังงานบวกให้ทุกคน แม้คำตอบของเขาจะทำให้คิดว่า โลกเท่าเทียมไม่มีอยู่จริง

เราเริ่มจากการให้บารมีลองมองย้อนกลับไปให้คะแนนตนเอง และทีมในการทำงานของ สมัชชาคนจน ที่ผ่านมา

บารมีตอบคำถามนี้ในทันควันว่า ช่วงปี 2540 คือ ปีที่เขาพาสมัชชาคนจนไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของขบวนการเรียกร้อง

ผมคิดว่าอย่างน้อย ในขบวนการเรียกร้องปลายทางของชัยชนะนั้นสำคัญ แต่การก้าวออกไปเพื่อให้เขา (รัฐบาล) ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเรานับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องเช่นเดียวกัน

การต่อสู้เพื่อให้ได้ยืนบนสังเวียนเดียวกัน อยู่ในลีกเดียวกัน ชัดว่าเป็นเรื่องสำคัญของขบวนการเรียกร้องของสมัชชาคนจนเป็นอย่างมาก เพราะการต่อสู้ของสมัชชาคนจนเป็นการต่อสู้โดยไม่มีใครหนุนหลัง เป็นการต่อสู้เชิงโครงสร้างและนโยบายกับภาครัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิที่สูญหายไประหว่างกระบวนการพัฒนาประเทศ

สมัชชาคนจน คือ ขบวนการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐหลายปัญหา และในวันสิทธิมนุษยชนสากล และวันรัฐธรรมนูญของไทย ในวันเดียวกันนี้เอง ที่สมัชชาคนจนได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 27 ปีที่แล้ว การชุมนุมครั้งแรกของสมัชชาคนจนที่ทำเนียบรัฐบาล เกิดขึ้นในปี 2539 จากนั้นมา การชุมนุมมีนัยถึงการเรียกร้องการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายเชิงโครงสร้างที่มีผลกระทบโดยตรงกับความเป็นอยู่ของชุมชน

คนเท่ากัน เราถูกมองเห็นและได้ยินเสียง

ย้อนกลับไปในบทสนทนาของบารมี ในแววตาของความภาคภูมิใจกับความสำเร็จครั้งนั้น ผ่านมานานเกือบ 30 ปี แววตานั้นบอกเราว่า วินาทีที่พี่น้องสมัชชาคนจน ได้ออกมายืนเสมอไหล่กับผู้มีอำนาจ ไม่ต้องก้มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับตราบั้งบนไหล่เจ้าหน้าที่รัฐ ยังคงฝังลึกในความรู้สึกของบารมีอยู่ไม่รู้คลาย แน่นอนว่า บารมีให้คุณค่าและราคากับสิ่งที่เขาเรียกร้องเช่นนั้น

“เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ตัวบทกฎหมายมาเป็นธงในการเจรจา” นี่คือ ความสำเร็จของสมัชชาคนจนในช่วงปี 2538-2540

“ทำได้ขนาดไหน” เราถาม

“เอาเป็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องถกแขนเสื้อ ลงมานั่งล้อมวงคุยกับเราที่ลานกลางแจ้ง”

อืมมม… นั่นไม่ปกติเลยเมื่อเราย้อนมองไปในบริบทรัฐเมื่อ 30 ปีก่อน การตัดทอนความรุ่มร่ามของการเจรจาในห้องประชุมเย็นเจี๊ยบ กดไมค์สนทนาก่อนพูด พูดจาภาษาที่ต้องใช้วุ้นแปล 3 รอบถึงจะเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ลดคุณค่าของเนื้อความที่สมัชชาอยากเล่าอยากบอก ไปให้กับบริบทของพิธีกรรมแบบราชการที่ไม่คุ้นเคย

ไม่มีสิ่งใดอยู่ไปตลอดกาล

ปี 2557  คือความสูญเสียบารมีกล่าวกับเราเช่นนั้น จากช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่การขับเคลื่อนของกระบวนการในการเรียกร้องได้ดำเนิน เรื่องราวของ การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำดิน ปัญหาการสร้างเขื่อน ปัญหาไล่รื้อชาวบ้านในสลัม ประมงพื้นบ้าน นโยบายด้านการเกษตรขนาดใหญ่ สิทธิคนงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่องคาพยพของการขับเคลื่อน เรียกร้องก็ยังคงทำได้อยู่ แต่เพียงแค่ชั่วพริบตาเรื่องราวเหล่านี้ ถูกทำให้หายไปเสมือนว่า กระเพื่อมน้ำนั้นไม่เคยได้เคลื่อนไหวมาก่อนเลย

การรัฐประหารไม่เพียงแต่สูญเสียเฉพาะประชาธิปไตย แต่ยังได้ทำให้กระบวนของการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของคนที่ไม่เคยรับสิทธิในฐานะพลเมืองได้มลายไปด้วย นับว่าเป็นความอดสูในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านของประเทศยิ่งนัก

“ตั้งแต่ก่อตั้งสมัชชาคนจนมาในวันที่ 10 ธ.ค. 2538 ปัญหาต่างๆ คุณบารมี มองว่า เรื่องไหนบ้างที่เราได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมคะ”

“การจัดการปัญหาต่างๆ ไม่ได้ถูกทำให้ดีขึ้น บางเรื่องไม่มีคดี ไม่มีความก้าวหน้า แต่ก็ไม่ได้ถอยหลัง แต่ปัญหาคลาสสิคอย่างการสร้างเขื่อนก็ยังคงอยู่ เช่น เขื่อนโป่งขุนเพชร ทำให้ 20 ครอบครัวไร้ที่ทำกิน เมื่อมีซุปเปอร์กฎหมาย (ม.44) มาจัดการ การช่วงชิงอำนาจในการจัดการทรัพยากรก็ถูกทำให้ง่ายขึ้น”

เมื่อลงรายละเอียดเรื่องนี้ คนเมืองผู้ไกลปัญหาอย่างเราถึงได้เจอคำตอบอะไรบางอย่างเจือในน้ำเสียงเมื่อพูดถึง ม.44 ที่เคยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดการความยุ่งเหยิงต่างๆ ครั้งนั้นก็เช่นกัน ภายหลังการรัฐประหารมีการบริหารจัดการผู้ที่เห็นต่างในหลากหลายรูปแบบ การจัดระบบระเบียบเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่ง เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบและขนบธรรมเนียมที่ดีงามควบคู่ไปกับการสร้างความเจริญให้กับประเทศ

และในสถานการณ์ดังกล่าวย่อมต้องมีผู้เสียสละ ชุมชนที่ต้องเสียสละที่ทำกิน ที่พักอาศัยเพื่อโครงการการพัฒนาฯ ต่างๆ ทำให้ปัญหาของสมัชชาคนจนไม่เคยหมดไปจากสารระบบการพัฒนาของไทย แต่เมื่อเราให้บารมีลงคะแนนแต้มสูงสุดของประเด็นที่ถูกละเลย บารมีตอบแทบทันที่ว่า

“ปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา คิดว่าแย่แล้วแต่ไม่เท่ากับเรื่องสิทธิแรงงาน แย่ที่สุด”

เขาขยายความบริบทของสิทธิแรงงานในปัจจุบัน ไปถึงการเป็นลูกจ้างรับช่วงงานมา หรือไรเดอร์ส่งอาหารที่สวัสดิการ หรือสิทธิต่างๆ ที่ตัวลักษณะงานได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลง

แต่กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังล้าหลังอยู่มาก ดังนั้น ต้องแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหภาพแรงงานเพื่อก่อให้เกิดการต่อรองกับนายจ้างได้

การกระจายอำนาจกับคนจน

“การเมืองที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน อยากรบกวนคุณบารมีขยายความเพิ่มเติมให้เราหน่อยค่ะ”

“กระบวนการต่อสู้ของสมัชชาคนจนเกิดจากคนหลากหลายที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการต่างๆ ของภาครัฐ แต่ก่อนนั้นเป็นเรื่องไกลตัว เพราะโครงการต่างๆ การจับตาของเราไม่อาจเป็นอิสระได้ตามวิถีชีวิตปกติในสังคมประชาธิปไตย การคุกคามเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่การเมืองของคนจนถูกปิดกั้นลงแล้ว ความคาดหวังใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อต่อรองให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาก็หมดสิ้นไปด้วย”

หนึ่งอย่างบารมีเน้นกับเราคือ

“สมัชชาคนจนถูกทำให้เป็นเครื่องมือโจมตีกับฝั่งตรงข้ามเสมอ ผมยืนยันว่าประเด็นที่เราเรียกร้องนั้นมาจากความเดือดร้อนของพี่น้องเรา ”

บารมีเล่าอย่างติดตลก “ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็บอกว่า เราเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝั่งตรงข้ามเสมอ ไม่ว่าจะใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล เราอยู่อีกฝั่งเสมอ เสมือนเราถูกซื้อตัวโดยฝั่งตรงข้ามตลอดเวลา เสื้อสีต่างๆ บอกว่าเราอยู่คู่สีตรงข้ามเสมอ แต่งานเราคือ การต่อรองกับอำนาจรัฐ แน่นอนว่าเรายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะขั้วไหน”

การทำงานของสมัชชาคนจนไม่เคยเลือกฝักเลือกฝ่ายใดเลย เพราะแท้จริงแล้วรัฐเป็นฝ่ายตรงข้ามของโต๊ะการเจรจาอยู่เสมอ

สิ่งที่เป็นศัตรูกับสมัชชาคนจนโดยตรง บารมีบอกตรงไปตรงมา

การมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เนื่องจากการรัฐประหารคืออาชญากรรมที่คร่าประชาธิปไตยจากครรลองที่มันควรจะเป็น ซ้ำร้ายการสืบทอดอำนาจยังลิดรอนสิทธิของพลเมือง แล้วไปเพิ่มอำนาจของรัฐราชการให้ใหญ่โต

เขาย้ำว่า

“สิ่งที่สมัชชาคนจนได้เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ต้น ได้ถูกกำจัดไป เรียกว่าเป็นการล้างอำนาจการต่อรองระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐ ที่เราพยายามทำมาตลอดไปเสียสิ้น”

“อาวุธของเราคือความจริง และพลังที่ใช้ต่อสู้คือความเดือดร้อน อาวุธและพลังดังกล่าวนี้ ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียกร้องของสมัชชาคนจน หรือตอนนี้เรามีอาวุธเพิ่มเติมอีกไหมคะ”

“คำถามคือเราอยู่ตรงไหนของกระบวนการต่อสู้เรียกร้อง ใครหลายคนอาจตัดสินไปว่า การต่อสู้ของสมัชชาคนจนเป็นการต่อสู้ที่จมดิ่งกับปัญหาของตนเองแต่เพียงเท่านั้น”

แต่เมื่อเขาขยายความประเด็นการต่อสู้กับเครือข่าย บารมีทำให้เราประหลาดใจจากวิสัยทัศน์การมองปัญหาที่ผ่านการเคี่ยวกรำสมรภูมิความไม่เท่าเที่ยมอย่างเข้มข้นและยาวนานด้วยสาเหตุหลายประการ

“จากการเข้าร่วมในเวทีนานาชาติมาหลายหนหลายครั้ง ผมพบว่าประเด็นการต่อสู้ในภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ในอินเดีย หรือในแอฟริกานั้น เป็นการต่อสู้ที่คำนึงถึงความเป็นตายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามภายใน ปัญหาผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่กระทั่งปัญหาความยากจนที่จำเพาะให้การมีชีวิตรอดนั้นแทบเป็นศูนย์”

เมื่อบารมีหันกระจกมาที่ตนเอง เทียบกับปัญหาต่างๆ ในสเกลโลกอาจดูเล็กน้อย แต่เขาย้ำกับเราว่า

“ในเส้นทางการต่อสู้นั้น เรารู้ว่าปัญหาจะยังไม่หมดไป แต่อย่างน้อยมีที่ได้ถูกรับฟัง ก็เท่ากับว่าเราได้เดินหน้าพัฒนาและแก้ไขแล้ว”

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกับคนจน

“คนจนในมายาคติของหลายๆ คนคือ คนที่นึกถึงเรื่องปากท้องก่อน ในความเห็นของคุณบารมี เรื่องสิทธิทางการเมือง เป็นเรื่องที่อยู่ในความคำนึงของคนจนหรือไม่คะ”

“ต้องบอกว่าพวกเขาเข้าใจเรื่องการเมืองได้ดีกว่าที่เราคิดนะ ปัญหาวิธีคิดและกระบวนการรวมศูนย์อำนาจในปัจจุบันนี้ มันยิ่งตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของคนในประเทศ เรื่องปากท้องเป็นรากฐานสำคัญก็จริงอยู่ แต่เมื่อมองปัญหาปากท้องลึกลงไปจะพบการลิดรอนสิทธิชุมชน และลดอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชน เป็นรากฐานสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจที่ชุมชนเผชิญอยู่”

“อำนาจรัฐกับอำนาจของประชาชนที่ผ่านมา ดูเหมือน 2 อย่างนี้ไม่เคยเท่ากัน หรือไม่แม้กระทั่งอยู่ฝั่งเดียวกัน ถ้าเราสามารถนำอำนาจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนกลับมา คุณบารมีคิดว่า การเลือกผู้นำหรือผู้ว่าฯ โดยประชาชนหรือคนจน จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างคะ”

อำนาจที่แท้จริงคือ อำนาจที่อยู่ในมือของเจ้าของอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดจะทำให้ชุมชนได้จัดการทรัพยากรและตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองได้

ในประเด็นนี้บารมีกล่าวว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงเราได้เห็นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด เรามีความหวัง เรามีพลังในการต่อสู้เพิ่มขึ้นจากชัยชนะในครั้งนั้น

ดังนั้นในสังเวียนนี้เรายังคงต้องเคี่ยวกรำกันต่อไป และในเส้นทางนี้ชัยชนะย่อมเป็นของเราอย่างแน่นอน

คนหนุ่มสาว

“เมื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่เราทั้งหลายได้ฝากความหวังไว้ที่เขา มองเรื่องนี้อย่างไรคะ”

“ตอนนี้การเรียกร้องเป็นปัจเจกมาก และดูเหมือนการมองปัญหาให้ไปไกลกว่าตนเอง จะถูกทำให้เป็นปัญหาของคนอื่น”

บารมีเห็นว่า การเรียกร้องในปัจจุบันเป็นการเรียกร้องโดยมีสารตั้งต้นที่ตนเอง ถ้าคนใดมีปัญหา เขาคนนั้นก็ควรออกมาเรียกร้องด้วยตนเอง เพราะนี่คือสิทธิของเขา แต่หากเขาไม่รู้แม้กระทั่งว่าเขามีสิทธิล่ะ

ความจนเมือง กับความจนชนบทนั้นช่างแตกต่างซะเหลือกัน ประเด็นทรัพยากรที่เมืองสูบมา มันสูบมาจากชีวิตของคนชนบท สูบทรัพยากร สูบโอกาส โดยนำมามอบให้อีกฝั่งความเจริญ และทิ้งเขาเหล่านั้นไว้กับปัญหา

“แต่การจนโอกาสนั้น หมายรวมถึงการไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า เขาควรรู้ ควรเรียกร้องอะไรบ้าง ผมไม่ได้คาดหวังว่าคนรุ่นใหม่จะต้องเข้าใจสิ่งนี้ บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทำให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อคนอื่นนั้นทำได้ยากขึ้น”

แต่อย่างน้อยเมื่อหันมองรอบตัว ในความเจริญต่างๆ ที่เราได้ใช้ชีวิตอยู่นั้น ยังมีคราบน้ำตาของคนอีกฝั่งถนนที่ไม่เคยเหือดแห้งไป

คนกองขยะ ร่องรอยประสบการณ์ในการขับเคลื่อน

บทสนทนาช่วงนี้ทำให้เราเข้าใจภาพของการถูกรัฐใช้อำนาจ ความลุ่มลึกของการเข้าใจในภาพประวัติศาสตร์ ผลกระทบของอำนาจรัฐ ที่เราไม่เคยได้ทราบรายละเอียด หรือภาพจำใดๆ พอที่จะโยงใยได้ เรื่องราวอันส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงของคนกลุ่มหนึ่งจากการขาดที่ดินทำกิน ความอับจนหนทาง

ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนค่อยๆ เปิดเผยเรื่องราวประวัติศาสตร์หน้าที่ไม่เคยถูกเขียนไว้ในบทเรียนอย่างช้าๆ การสนทนาไหลลื่นไปตามปกติ จนกระทั่งผู้พูดเงียบไป เราชะงักปากกาในมือ เงยมองใบหน้าแดงก่ำพร้อมด้วยคำพูดที่ว่า “ผมยังจำแววตาวันนั้นได้”

“ในสมัยการสร้างเขื่อนสิรินธร คนกลุ่มหนึ่งต้องถอยร่นไปสุดทาง เพียงเพราะเขาไม่มีอำนาจต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐ”

การพลัดจากที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ ถูกจับเข้าห้องขังเพราะข้อหาบุกรุกเข้าไปในเขตอุทยานที่เจ้าหน้าที่รัฐแท้ๆ เป็นคนจัดการ การจัดสรรที่ทำกินไม่เคยมีอยู่จริง การไล่เรียงเรื่องราวของชุมชนแห่งนั้น ก่อให้เกิดคำถามในความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐ

คนกลุ่มนั้นเอง คือคนกองขยะกลุ่มแรกในกรุงเทพฯ เมื่อเขาไม่มีที่ไป เขามาอาศัยที่กองขยะ ผู้ชายไปทำงานรับจ้าง ผู้หญิงต้องไปขายตัว

เราพักการจดบันทึก ถอนหายใจ

“การชุมนุมครั้งแรกเมื่อปี 39 พี่ผู้หญิงเหล่านั้นคือ คนด่านหน้าที่ปะทะกับตำรวจ โดนตีด้วยอำนาจรัฐที่ใหญ่โตกว่ามาก ผมถามเขาว่า ทำแบบนี้ทำไม ไม่เจ็บเหรอ เขาตอบกลับมาด้วยความจริงที่ว่า เจ็บไม่เท่าชีวิตที่ผ่านหรอก มันเจ็บมากกว่านี้อีก”

ทำไมคนคนหนึ่งต้องเผชิญกับเรื่องราวที่ถูกเอาเปรียบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“เขาบอกผมว่า ตั้งใจเรียนหนังสือ ทำมาหากินในที่ดินของตน อยู่มาวันหนึ่งต้องมาขายตัว”

ไม่รู้ต้องแสดงความคิดเห็นอย่างไร แต่ความเงียบงันของเราคงเป็นคำตอบ จากพยานคนสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาในหน้าประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

เราได้ไปค้นเพิ่มเติมแล้วพบกับตัวเลขที่น่าตกใจ

หากย้อนเวลานับตั้งแต่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อ 63 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันมีผู้ที่ถูกอพยพราว 30-60 ล้านคน โดยการอพยพส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศจีนและประเทศอินเดียที่มีประชากรจำนวนมาก

ในปัจจุบัน คาดว่ามีประชากรทั่วโลกประมาณ 2 ล้านคนต่อปี ต้องถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งผู้อพยพเหล่านั้นมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ผู้อพยพจากอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Refugee)

จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ประมาณ 250,000-500,000 คน โดยสถิติสูงสุดอยู่ที่ เขื่อนลำปาวในจังหวัดกาฬสินธุ์ มีชาวบ้านถูกให้อพยพมากที่สุด โดยมีจำนวนราว 5,500 ครอบครัว

รัฐบาลบอกคนจนจะหมดประเทศ

“ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลอยากให้คนจนหมดไป แต่กลับพบว่าภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมา คนจนกลับขยายตัวมากขึ้น คุณบารมีคิดว่า การมีอยู่ของสมัชชาคนจน ควรมีจุดสิ้นสุดเมื่อไหร่คะ”

“ปกติแล้วการชุมนุมของเหล่าสมัชชาคนจนนั้น มักปักหลักกันที่ทำเนียบรัฐบาล” บารมีขยายความ “คุณเคยคิดไหมทำไมต้องเป็นที่นั่น แล้วคุณเคยรู้สึกไหมว่าการชุมนุมแต่ละครั้งสร้างความเดือดร้อนให้กับการสัญจรไปมาของคนในกรุงเทพฯ”

“เคยคิดค่ะ” เราตอบสั้นๆ

เป็นอีกครั้งที่เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตนเองเกี่ยวกับการมองปัญหาในเชิงโครงสร้าง

“การชุมนุมตรงทำเนียบรัฐบาลก็เพื่อที่จะให้คนผ่านไปผ่านมาเห็น เพราะพวกเขา (สมัชชาคนจน) ไม่เคยถูกมองเห็น ไม่เคยมีตัวตนอยู่ในวิถีประจำวันของคนเมืองผู้ใช้ทรัพยากรจากท้องถิ่นของคนอื่น พวกเขาถูกทำให้เป็นอื่นเสมอ และถูกเอารัดเอาเปรียบช่วงชิงทรัพยากรมาให้คนในเมือง การมาชุมนุมเพียงแค่ประเดี๋ยวเดียว ไม่เท่ากับทั้งชีวิตที่เขาต้องเผชิญเลย”

อนาคตของ บารมี ชัยรัตน์

ขยับเข้ามาใกล้ชีวิตส่วนตัวสักหน่อย เราขมวดการสนทนาด้วยคำถามคลาสสิคว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง

“มีเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ผมเพิ่งกลับมาจากอินเดีย” บารมีเล่าให้เราฟังถึงการเดินทางครั้งล่าสุดของเขา การประชุมที่ประเทศอินเดียเรื่องลิขสิทธิ์ด้านเมล็ดพันธุ์ เวทีประชุมนั้นได้ทำให้ภาพของการได้ลิขสิทธิ์ในการจัดการเมล็ดพันธุ์ เราต้องจ่ายราคาเมล็ดพันธุ์ของเราในราคาที่ถูกกำหนดโดยนายทุนตามแบบการค้าเสรีนิยม

“นี่คือ ศัตรูตัวฉกาจที่สกัดการเข้าถึงทรัพยากรของคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศกำลังพัฒนา”

เขาเล่าเพิ่มเติมเรื่อง contract farming เป็นเรื่องสำคัญที่ฉายภาพนายทุนใหญ่ ใช้ทรัพยากรของคนตัวเล็ก เมื่อได้กำไรที่พอใจ คนตัวเล็กเหล่านั้นจะถูกทิ้งไว้อย่างเดียวดายท่ามกลางหนี้สินพะรุงพะรัง เหมือนในยุคหนึ่งที่เราเห็นไก่ย่างตัวจิ๋วตามข้างทางเส้นนครนายกไล่ยาวไป

“ไก่ย่างตัวเท่านกนั้น เป็นหลักฐานสำคัญของการล้มสลายของฟาร์มไก่แบบ contact farming”

เรานั่งฟังไปพลางคิดว่า เราเคยแวะจอดซื้อบ้างหรือเปล่านะ บารมีขยายความต่อว่า

ผลผลิตในตอนแรกมันจะดีมาก เขาจะรับซื้อหมด แต่พอล็อตหลังๆ มันจะไม่ได้ขนาด สุดท้ายกู้เงินมาทำโรงเรือนแล้ว ซื้อยา ซื้อหัวอาหาร เดินหน้าขยายกำลังการผลิตแล้ว บทสรุปของเรื่องนี้ มีหลายๆ คนเลือกที่จะจบชีวิตลงพร้อมกับฝันลวงที่ว่าการทำเกษตรแบบนี้จะลืมตาอ้าปากได้

นี่เป็นประเด็นที่บารมีได้ลงมือทำงานเพื่อขับเคลื่อนปัญหาปากท้องของคนจนอีกประเด็นหนึ่ง

ในภาพปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น พบว่าเราได้คุ้นตาชายคนนี้ในวาระยืนหยุดขังมาโดยตลอด เขายืนเป็นเวลา 112 นาที เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ โดยศาลยังไม่มีคำตัดสินว่ามีความผิด และเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมนั้น ควรปฏิบัติหน้าที่โดยความเป็นธรรมในคดีความทางการเมืองทั้งหลายให้เท่าเทียมกับคดีความลักษณะอื่น

บารมียืนยันกับเราหนักแน่นว่า การถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว เป็นเรื่องที่เขารับไม่ได้แม้แต่น้อย หากต้องมีใครสักคนต้องอยู่หลังลูกกรงเพราะเหตุนี้ เนื่องจากสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับโดยไม่เลือกปฏิบัติ

เขายังยืนยันว่าจะยืนขึ้นเพื่อเรียกร้องสิ่งนี้ต่อไป เพราะมันไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ชอบธรรม แต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้มากขนาดนี้ในสายตาของนักกิจกรรมอย่างเขา เรื่องนี้ไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องปกติที่รัฐสามารถใช้เครื่องมือนี้กับคนที่เห็นต่างได้

“อย่างน้อยผู้ต้องหาทางการเมืองสมควรที่จะได้รับสิทธิการประกันตัวเพื่อออกมาสู้คดี เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”

“มีประเด็นสังคมอื่นๆ ที่คุณบารมีสนใจอีกไหมคะ”

“LGBT คือประเด็นที่ผมอยากทำ” บารมีเปิดเผยภูมิหลัง เขาซื่อตรงกับความเป็นมาของตน

“ผมถูกเลี้ยงมาโดย LGBT” บารมีเล่าเรื่องราวในอดีตที่ญาติผู้เลี้ยงดูเขาต้องปิดบังเรื่องราวส่วนตัว เปลี่ยนแม้กระทั่งชื่อ การแสดงออก สถานะทางสังคม หนำซ้ำยังต้องเลือกที่จะตีตรา LGBT ด้วยกัน จากวาทกรรมกระแสหลักที่ใครๆ ต่างก็เกลียดคนผิดเพศ

“ผมลองนึกว่า ถ้าเป็นเขา ผมจะต้องทำยังไง มันเจ็บปวดมากนะ ที่ต้องกลืนตัวตนลงไป แล้วสร้างคนอื่นขึ้นมาแทนที่”   

เราจบบทสนทนาด้วยความเต็มตื้นไปด้วยความรู้สึกหลากหลาย ทั้งความมุ่งมั่นที่บารมีถ่ายเทมาให้ กำลังใจจากคนทำงานเพื่อคนอื่น ตลอดระยะเวลาในการพูดคุยนั้น เราไม่เห็นความท้อถอยของเขาเลย

เพียงแต่ว่าต่อจากนี้เมื่อเรามองไปที่เสาไฟฟ้า เราคงไม่สามารถมองมันเหมือนเดิมได้อีกตลอดไป เพราะมันคือ หยาดน้ำตาของพี่น้องหลายกลุ่มที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในเชิงทรัพยากร ถูกช่วงชิงสิ่งที่ควรเป็นของเขาพอๆ กับเป็นของเรา

เพียงเพื่อให้คนเมืองได้ใช้อย่างสบาย โดยเสาไฟฟ้านั้นไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้เหมือนเขา

บารมี ชัยรัตน์ นักเดินทางผู้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับคนจนมาโดยตลอด

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Authors

  • ผู้อยากใช้ชื่อรันวงการว่า เพนนี โตขึ้นอยากเป็น zoo keeper เพราะชอบสังเกตพฤติกรรมหมา แมว และคน ความสนใจตอนนี้คือ อยากรู้ว่าคนเราจะสามารถ หยุดทำงานแล้วยังมีกินได้เมื่อไหร่ ถ้าทำได้ก็อยากเห็นในเร็ววัน และความสนใจอื่นๆ ก็มีเป็นประปราย เพราะเชื่อว่า มนุษย์มีความสนใจที่หลากหลาย และทำได้หลายอย่าง แต่ต้องเลือกทำครั้งละ 1 อย่างก็จะดีที่สุด

  • มนุษย์ขี้กลัว เพื่อนหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *