“จริงๆ เมื่อเราพูดเรื่องการกระจายอำนาจ เราต้องพูดให้ชัดว่าอำนาจมันเป็นของประชาชนในท้องถิ่นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราต้องทวงอำนาจคืนจากส่วนกลางกลับไปให้ประชาชน”
คือประโยคแรกของ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 40 ของพรรคอนาคตใหม่ และส.ส.ของพรรคก้าวไกล เมื่อเราเริ่มถามถึงการ กระจายอำนาจ ณ ช่วงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ หรือการคืนอำนาจกลับสู่ท้องถิ่นนั้นเป็นหัวข้อที่พูดถึงกันจนเป็นกระแส
แม้แต่กลุ่มความคิดที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง คณะก้าวหน้า ก็ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ เราจึงได้เห็นงานรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 เพื่อกระจายความเจริญสู่ต่างจังหวัดปรากฎในหน้าสื่อ นอกจากนี้ ผู้แทนจากพรรคก้าวไกลอย่างเบญจาเอง ก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่น่าจับตามอง
บทสัมภาษณ์ของเราเขียนขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่เร่งรีบ ตื่นตัว และมีประเด็นร้อนตลอดเวลา แต่สำหรับเบญจา ประเด็นของการกระจายอำนาจไม่เคยเก่าและไม่เคยเป็นเรื่องที่รอได้ ไม่ว่าในจังหวะไหนของการเมืองก็ตาม
“จริงๆ เมื่อเราพูดเรื่องการกระจายอำนาจ เราต้องพูดให้ชัดว่าอำนาจมันเป็นของประชาชนในท้องถิ่นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราต้องทวงอำนาจคืนจากส่วนกลางกลับไปให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในการบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง สร้างความชอบธรรมทางกฎหมายให้กับท้องถิ่น โดยผ่านทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง” เบญจากล่าว
งานทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น คือภารกิจที่จะพาลูกหลานเรากลับบ้าน
“ปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากก็คืองบประมาณที่ส่วนกลางเก็บภาษีในท้องที่ แล้วแบ่งกลับมาให้ท้องถิ่นใช้นั้นอยู่ในอัตราส่วน 70-30 ด้วยตัวเลขนี้ ท้องถิ่นจึงต้องกลับไปของบจากส่วนกลางเพื่อมาจัดการในเรื่องที่ควรบริหารจัดการกันได้เองด้วยซ้ำ”
เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ สิ่งหนึ่งที่จะไม่หยิบยกขึ้นมาพูดไม่ได้เลย คือการจัดการภาษี คือเรื่องเงินนั่นเอง
“เศรษฐกิจของท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราสร้างงาน สร้างอาชีพในท้องถิ่นได้ ท้องถิ่นก็จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น มีงบประมาณมากขึ้น เราก็สามารถนำมาปรับปรุงบริการสาธารณะ ถนน ไฟ โรงเรียน เมื่อเราพูดถึงการกระจายอำนาจมันอาจดูใหญ่และไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันคือการคืนลูกหลานกลับบ้านของเรา”

เบญจาให้นิยามของการกระจายอำนาจไว้ได้อย่างน่าสนใจ คำถามต่อไปคือจะเป็นยังไง ถ้าการกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง
เมื่อมีการกระจายอำนาจเกิดขึ้น มันคือการโอนถ่ายทั้งอำนาจ เงิน และคนไปทั่วประเทศ รัฐส่วนกลางต้องให้ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินเรื่องสำคัญๆ ในบ้านเกิดของเราเอง มีการทำประชามติในแต่ละท้องที่ว่าจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือจะยกเลิก จะมีแค่ อบจ. หรือมีแค่ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้ว่าที่ถูกควบคุมโดยรัฐจากส่วนกลาง
แม้แต่การออกกฎหมายในระดับเทศบัญญัติที่ส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบเมือง ตั้งแต่บริการสาธารณะ น้ำ ไฟ ถนน ไปจนถึงการจัดการขยะ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควจจบได้ที่ท้องถิ่น ไม่ใช่ต้องมานั่งรอการตัดสินใจจากส่วนกลาง หรืองบจากกระทรวงไหน
“ในช่วงเวลานี้ ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ากระแสเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ โดยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และการรณรงค์เพื่อปลดล็อกท้องถิ่นโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดการปกครองท้องถิ่น มีความตื่นตัวอย่างสูงและแพร่หลายไปทั่วประเทศ การกระจายอำนาจหรือการยุติรัฐรวมศูนย์ คือการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ หรือความรับผิดชอบทางการบริหารในภารกิจสาธารณะทั้งหมด จากรัฐบาลกลางไปสู่ระดับล่างหรือระดับท้องถิ่น”
เบญจาเน้นว่า สิ่งสำคัญของการกระจายอำนาจ คือการกระจายความเจริญสู่ต่างจังหวัด คือการคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น
“โดยให้เป็นไปเพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง หรือความชอบธรรมทางกฎหมายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหาร เพื่อให้พ้นจากการควบคุมจากรัฐบาลส่วนกลาง เพื่อให้มีความเป็นอิสระและมีสถานะทางกฎหมายแยกออกจากรัฐบาลกลาง”
เช่นนี้เองจึงถือว่าเป็นการกระจายอำนาจฯ ทางการเมือง กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น กระจายความเจริญไปยังต่างจังหวัดได้อย่างดีที่สุด
“ซึ่งเวลาพูดว่าจะกระจายอำนาจ และความเจริญสู่ต่างจังหวัดเราจะทำได้อย่างไร
การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญลำดับแรกๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นฐานภาษี และรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ดี เมืองจะซบเซา เต็มไปด้วยคนว่างงาน โรงงานร้านค้าปิดกิจการ เนื่องท้องถิ่นเก็บภาษีไม่ได้
“เมืองก็อยู่ ไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม เมืองที่มีเศรษฐกิจท้องถิ่นดี คนมีงานทำ มีโรงงาน มีร้านค้าเปิดกิจการ ก็ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถที่จะนำไปปรับปรุงคุณภาพบริการสาธารณะ หรือไปคิดโครงการพัฒนาอะไรใหม่ๆ ก็สามารถทำได้ คือหลักการพื้นฐานของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น”
ถามถึงแนวทางของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า เบญจามีข้อเสนอ 13 ประเด็นในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อคกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
1. รับรองหลักการปกครองตนเอง การปกครองแผ่นดินแบบกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. กำหนดรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในเรื่องการตั้งใหม่หรือการควบรวม
3. ให้อำนาจหน้าที่บริการสาธารณะเป็นของท้องถิ่นทุกเรื่อง ยกเว้นที่กฎหมายกำหนดไว้ อาทิ การทหาร การต่างประเทศ
4. กำหนดให้ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นตัวเสริม ท้องถิ่นที่ไม่มีศักยภาพสามารถร้องขอได้
5. แบ่งอำนาจท้องถิ่นในแต่ละชั้นให้ชัดเจน ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กมีอำนาจทำบริการสาธารณะก่อน เพื่อแก้ปัญหาแย่งกันทำ
6. ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
7. มีความเป็นอิสระทางการเงินกลางคลัง และภายใน 3 ปี จะขยับการจัดแบ่งภาษีเป็น 50 % ต่อ 50 % และมีกฎหมายให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ ได้
8. แผนการโอนภารกิจต่างๆ ต้องมีสภาพบังคับ หากทำไม่ได้ตามที่กำหนดให้ถือว่ามีผลทันที
9. เพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว ให้กับท้องถิ่นในการจัดหารายได้ สามารถคิดค้นวิธีการรูปแบบใหม่ๆ ในการจัดทำบริการสาธารณะ
10. ยืนยันหลักความเป็นอิสระของการบริหารงานบุคคล
11. หลักการกำกับดูแล โดยส่วนกลางทำได้เพียงกำกับดูแลไม่ใช่บังคับบัญชา และทำเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ท้องถิ่นหรือภาพรวมของประเทศ
12. เพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง ให้อำนาจอยู่ในมือพลเมืองในแต่ละท้องถิ่นโดยสามารถเสนอและถอดถอนผู้บริหารได้
13. ภายใน 2 ปี คณะรัฐมนตรีต้องเริ่มทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 5 ปี ต้องออกเสียงประชามติว่าประเทศไทยจะมีราชการส่วนภูมิภาคต่อไปหรือไม่
“ทั้ง 13 ข้อเสนอนี้ ได้ถูกนำมาปรับเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้ขอการสนับสนุนจากประชาชนเพื่อเข้าชื่อไปแล้ว และขณะนี้อยู่ในนั้นตอนเสนอเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อไป”
หากการแก้ไขเรื่องนี้สำเร็จ เบญจาคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ
1. ต่อไปรัฐบาลจะทำในสิ่งที่เป็นภาพรวมของประเทศ ไม่เสียเวลาไปกับการจัดทำบริการสาธารณะในท้องถิ่น
2. การกระจายอำนาจแบบ คสช.ที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคนใกล้ชิดไปไปครองเมือง ก็จะหมดไป และจะเกิดการกระจายอำนาจแบบอนาคตใหม่ ที่ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่าพื้นที่ในจังหวัดนั้นจะจัดการอย่างไร
3.การคอรัปชั่นจะลดลง เพราะประชาชนนั้นอยู่ใกล้ท้องถิ่น จะช่วยกันสอดส่อง ตรวจสอบ ดูแล
4. พลังทางเศรษฐกิจจะได้รับการปลดปล่อยโดยท้องถิ่นทุกพื้นที่
5. ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น คนรุ่นใหม่ๆ จะเสนอตัวเข้าบริหารท้องถิ่นกันมากขึ้น
6. การแก้ไขปัญหาประชาชนจะเกิดขึ้นแบบทันท่วงที
7. เราจะได้เมืองแบบใหม่ ที่มีเทคโนโลยี มีผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ได้

ท้องถิ่นแต่ละที่ล้วนแตกต่าง เราต้องการการออกแบบเหมือนงาน Handmade ไม่ใช่บล็อกเดียวกันหมดจากโรงงานอีกต่อไป
เราต้องไว้ใจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง ตั้งแต่โรงเรียนไปจนถึงสวนสาธารณะ เราต้องให้เจ้าของพื้นที่ออกแบบงานในท้องที่นั้นๆ ด้วยตัวของพวกเขาเอง
“เราจะเห็นว่าท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณให้น้อยมาก ยิ่งถ้าหารต่อหัว ยิ่งเห็นทั้งความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่และในเชิงการจัดการเต็มไปหมด เราต้องปลดล็อคทั้งงบประมาณ อำนาจ ให้ประชาชนได้เข้ามาตรวจสอบ และการกระจายอำนาจนี้เองที่จะทำให้การตรวจสอบเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดวิธีหนึ่ง
“พอพูดถึงงบประมาณในท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรมาแค่ 30 % จากภาษีท้องถิ่นที่ส่งไปให้ส่วนกลาง แค่เอางบประมาณก้อนนี้มาจัดสรรให้บุคลากรก็แทบหมดแล้ว มันจึงจำเป็นที่ต้องไปของบประมาณส่วนอื่นๆ มาช่วย สิ่งที่เกิดขึ้น หากไม่ไปเอาจากงบส่วนอื่น จากกระทรวง ทบวง กรมอื่น ก็กลายเป็นมือใครยาวสาวได้สาวเอาแทน
“ถ้าท้องถิ่นไหนรู้จักหรือสนิทกับคนที่นั่งตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงก็เจริญไป พอมันต้องใช้วิธีนี้ในการดึงงบประมาณลงมาสู่ท้องถิ่น มันจึงไม่แปลกที่จังหวัดติดกันแท้ๆ จำนวนคนพอๆ กัน ทรัพยากรคล้ายคลึงกัน แต่ความเจริญ โครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน และการบริการสาธารณะอย่างโรงเรียน โรงพยาบาล กับต่างกันเหมือนฟ้ากับเหว และไม่สามารถใช้เป็นโมเดลในการพัฒาในจังหวัดอื่นได้เลย
“พอมันเป็นลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอาแบบนี้ มันจึงนำไปสู่การผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย ก็ได้ส่วนต่าง ได้ค่าน้ำร้อนน้ำชากันไป จึงอาจพูดได้ด้วยซ้ำไปว่าการไม่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นคือรากฐานของปัญหาคอรัปชั่นระดับประเทศอย่างทุกวันนี้”
ส่วนกลางชอบสร้างผี มีภาพความไม่ไว้ใจให้ท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ กลัวว่าจะมีคอรัปชั่น กลัวว่าจะจัดสรรแล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วการไม่กระจายอำนาจ การไม่ให้ท้องถิ่นร่วมมีส่วนในการตัดสินใจ และการตรวจสอบการใช้งบประมาณต่างหาก ที่จะนำไปสู่การทุจริตขนาดใหญ่
และระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไร้การตรวจสอบ เป็นปัญหาการคอร์รัปชั่นของจริง

ความมั่นคงของรัฐ กับการกระจายอำนาจ เหรียญ 2 ด้านที่ไม่ได้ขัดแย้ง แต่คือเรื่องเดียวกัน
รัฐกลัว และปิดปากประชาชนด้วยความกลัวมาโดยตลอด เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่ความมั่นคงอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น งบประมาณลงไปจำนวนมาก และส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อให้หน่วยงานความมั่นคงไปทำธุรกิจ มากกว่าให้หน่วยงานท้องถิ่นนำไปจัดการบริการสาธารณะ
กอ.รมน. ได้งบประมาณหลักหมื่นล้าน ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด ที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากกว่าเป็นเรื่องความปลอดภัย หรือเรื่องการละเมิดสิทธิของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ในหัวข้อ ความมั่นคง ยังถูกขยายความและนำไปใช้กับความมั่นคงในอาหาร ความมั่นคงในทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงทางด้านไซเบอร์
คำว่าความมั่นคงในหลายๆ ครั้งใช้ในการยึดพื้นที่คืนจากชาวบ้านด้วย เช่น การทวงคืนผืนป่า ความมั่นคงกลายเป็นข้ออ้าง เป็นความชอบธรรม เป็นช่องในการทุจริตเชิงงบประมาณ ในขณะที่งบประมาณที่ลงสู่ท้องถิ่นในพื้นที่ความมั่นคงนั้นมีไม่ถึงร้อยล้าน ปัญหาประเด็นความมั่นคงก็ไม่ได้รับการแก้ไข ยืดเยื้อยาวนานและแทบไม่ได้พูดถึงมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับกดทับสิทธิเสรีภาพของคนในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่คนท้องถิ่นไม่มีความสามารถ แต่ตลาดผูกขาด นายทุนล่าอาณานิคม สูบกินทรัพยากร คือปัญหาหลักที่รัฐต้องเข้ามาจัดการ
“ทุกวันนี้การแข่งขันแบบเสรีแทบเป็นไปไม่ได้” เบญจากล่าว “เพราะไม่ว่าจะหันไปดูธุรกิจไหนก็จะพบว่ามีนายทุนเข้ามาผู้ขาดตลาดกันหมดแล้วทั้งสิ้น เมื่อเรามองในประเด็นของท้องถิ่น มันมีสิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าระบบตลาด”
คือการแย่งชิงฐานทรัพยากรจากในท้องถิ่นไปป้อนระบบการผลิตและการเบียดกินคู่แข่งในท้องถิ่น และแน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่ ในขณะที่นายทุนหอบเงินกลับประเทศ หรือหอบเงินกลับกรุงเทพฯ
“นี่ไม่ต่างอะไรจากการล่าอาณานิคมภายในที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นี่คือการล่าอาณานิคมภายในยุคศตวรรษที่ 21 มีผู้เล่นเป็นนายทุน มีคนสนับสนุนเป็นรัฐ”
ส.ส.ก้าวไกลบอกว่า เราปฏิเสธไม่ได้ ทุนผูกขาด ถือเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี และเพราะมีทุนผูกขาด จึงทำให้การแข่งขันเสรีแทบเป็นไปไม่ได้เลย
“เวลาพูดถึงเรื่องนี้ เราก็มักย้อนกลับนึกถึงเจตนารมณ์คณะราษฎรที่ระบุไว้เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจ คือ ประชาชนต้องมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพรรคก้าวไกล หรือของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยได้ประกาศว่า เราจะทลายทุนผูกขาด ทีนี้การทลายทุนผู้ขาด ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทุกคนมีงานทำเท่านั้น เเต่ต้องเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่ากันด้วย
ทุนผูกขาดในประเทศนี้ มันมีที่มาคล้ายๆ กัน คือ พวกเค้าไม่ได้เล่นบทบาทในระดับโลกที่ควรจะเล่น หรือออกไปแข่งขันในตลาดอย่างเสรี แต่กลับใช้วิธีการสะสมทุนในประเทศแข่งขันกับผู้เล่นรายเล็กรายน้อย ด้วยการผูกขาดและการใช้เครือข่ายอำนาจรัฐ ใช้มันเพื่อเบียดเบียนผู้ประกอบการขนาดเล็กรายย่อย หรือคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศ
“แล้วไม่ใช่แค่ผูกขาด แต่พวกเค้าทำลายโครงสร้างการพัฒนา ให้หดแคบลง แย่งชิงทรัพยากรจากคนในพื้นถิ่นเพื่อไปสนับสนุนธุรกิจของนายทุนเมือง รับใช้การเจริญเติบโตของเมือง แต่ปัญหาจากการแย่งชิงทรัพยากรไปใช้แบบไม่เท่าเทียมส่งผลกับคนตัวเล็กตัวน้อย ความทุกข์ที่เป็นผลจากการพัฒนา มันตกไปอยู่กับคนในพื้นที่ คนในต่างจังหวัดแทน
“พูดให้เห็นภาพของกลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นผู้เล่นในภาคตะวันออก ที่เป็นพื้นที่ที่พี่ดิฉันใกล้ชิด คือจะมีแค่กลุ่มทุนผูกขาดบางกลุ่มได้รับสัมปทานจากการระเบิดภูเขาเพื่อนำไปถมทะเล หรือกลุ่มนายทุนผูกขาดบางกลุ่มที่ได้รับสัมปทานจากการขายน้ำจืดเพื่ออุปโภคบริโภค และเพื่ออุตสาหกรรม กลุ่มทุนผูกขาดที่ได้รับสัมปทานจากการขายกระแสไฟฟ้า และผูกขาดพลังงาน ส่งผลให้นายทุนพลังงานเลื่อนอันดับขึ้นนำเศรษฐีอันดับหนึ่งในประเทศนี้ไปแล้ว”

กลุ่มทุนสัมปทานที่ผูกขาดงานก่อสร้าง บางกลุ่มได้ผลประโยชน์จากงานรับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในเขต EEC กลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการปลดล็อกให้นำเข้าขยะอุตสาหกรรม และลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม
“กลุ่มนายทุนบางกลุ่มคว้าสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาทไปครอง ซึ่งถ้าเราได้พิจารณากันจริงๆ กลุ่มทุนผูกขาดที่ดิฉันได้เล่ามา กลุ่มนี้ในหลายๆ ธุรกิจ ผูกขาดน้ำ ไฟฟ้า ที่ดิน พลังงาน ผูกขาดความมั่นคงทางอาหาร ผูกขาดสาธารณูปโภค ผูกขาดทรัพยากรในประเทศนี้ที่มีมูลค่ามหาศาล
“คือทุนแค่เพียงกลุ่มเดียว หรือทุนเดียว ที่ผูกขาดธุรกิจหลายธุรกิจโดยได้รับการสนับสนุน และเอื้อประโยชน์จากรัฐ แล้วพวกเขา เผาผลาญทรัพยากรทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วพาประเทศทวนเข็มนาฬิกา ตกขบวนประวัติศาสตร์ นำพาประเทศไปสู่ความล้มเหลว ล้าหลัง และเหลื่อมล้ำ อย่างรุนแรงที่สุด จากการผูกขาดเศรษฐกิจบนเส้นทางที่ผิดพลาดนี้
“อาจจะคนละเรื่องเดียวกัน พูดถึงตรงนี้ ยกตัวอย่างเคสที่ พรรคก้าวไกล เราพยายามผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ คือการปลดล็อกให้ประชาชนสามารถทำสุราพื้นบ้าน สุราชุมชน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ได้ นี่จึงเป็นก้าวเเรกของการปลดล็อกเบียร์และสุราพื้นบ้านให้ประชาชนได้มีโอกาสผลิตสุรา จากวัตถุดิบในพื้นที่ เป็นการยกระดับเเละสร้างรายได้ให้ประชาชน”
การเมืองภาพใหญ่ – การเมืองท้องถิ่น สิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนในระยะเปลี่ยนผ่าน
ในจังหวะเปลี่ยนผ่านจากการรวมศุนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง สู่การกระจายอำนาจที่คนในท้องถิ่นได้มีส่วนในการตัดสินใจกำหนดอนาคตของพวกเขาเองนั้น ระหว่างทางยังคงมีอุปสรรคอีกหลายจุดที่ต้องช่วยกัน ปลดล็อก ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณ การปลดล็อคให้หารายได้เองได้ การควบคุมการผูกขาดของทรัพยากรในท้องถิ่น
ไปจนถึงการจัดการผังเมือง ระยะทางระหว่างการเปลี่ยนผ่านนี้เอง จนกว่าจะมีการกระจายอำนาจ จนกว่าประชาชนจะสามารถกำหนดการใช้งบประมาณและร่วมกันตรวจสอบได้อย่างสมบูรณ์ การเมืองในระดับประเทศจะต้องช่วยกันผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ และการคืนอำนาจให้ท้องถิ่น คือจังหวะพิสูจน์ความจริงใจจากพรรคการเมืองในประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจด้วยเช่นเดียวกัน
หัวใจของการปกครองท้องถิ่นคือการสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนปกครองตนเอง เพื่อช่วยสร้างรากฐานของประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ประชาธิปไตยควรเริ่มต้นที่ท้องถิ่นเพราะจะช่วยสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถเข้ามามีบทบาท ในการดูแลบ้านเมืองเต็มที่
ในขณะที่ประชาธิปไตยในระดับชาติควรเป็นในลักษณะประชาธิปไตยของผู้แทน ซึ่งประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นมันเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองและชุมชน เกี่ยวข้องกับการปรึกษา หารือ การศึกษา การเข้ามามีบทบาททางการเมือง เข้ามามีบทบาทกับสวัสดิการ บริการสาธารณะต่างๆ เกี่ยวกับน้ำไหล ไฟสว่าง ที่มีความใกล้ชิดกับพลเมืองมาก
เบญจายืนยันว่า การเมืองในภาพใหญ่ส่งผลต่อการเมืองท้องถิ่นอย่างมากในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่เราต้องทำผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดการปกครองท้องถิ่น มีการกำหนดรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ผ่านการออกแบบกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แก้ทั้งงาน งบ ระบบ คน และพูดถึงการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อไปสนับสนุนภารกิจในกระกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
“เราจะเห็นว่า ปัจจุบันสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณมันไม่สอดคล้องกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไปบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองเลย”

ถอดรื้อมายาคติ รัฐสร้างผีตัวไหนขึ้นมาเพื่อขัดขวางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ผีแยกประเทศ
แม้มีการปกครองที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ประเทศไทยก็ยังคงมีการปกครองรูปแบบเดิม มีรูปแบบของรัฐเดี่ยวแบบเดิม เชื่อมโยงกันแบบเดิม การกระจายอำนาจไม่ใช่ปีศาจร้าย แต่คือช่องทางในการบริหารจัดการให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่มีความหลากหลายในเชิงพื้นที่ที่มีทรัพยากร ข้อจำกัด และศักยภาพแตกต่างกัน
มีความหลากหลายทั้งเชิงสังคมวิทยา เช่น วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน และการกระจายอำนาจนี้เองจะช่วยทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งเป็นปึกแผ่นมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะนี่คือการสร้างตรวจสอบจากภาคประชาชน คือการเพิ่มความโปร่งใสในการบริหารจัดสรรงบประมาณ คือโอกาส และการสร้างทางออกใหม่ๆ ให้กับประเทศอย่างแท้จริง
ผีคอรัปชั่น
เพราะไม่ได้กระจายอำนาจต่างหาก เลยคอรัปชั่นได้ทุกหย่อมหญ้า ทุกภาคส่วน และไร้ซึ่งการตรวจสอบ
ทุนการเมืองท้องถิ่น มือใครยาวสาวได้สาวเอา ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการกระจุกตัวกันของทรัพยากรและงบประมาณ ปัญหาเหล่านี้การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งคนทำงานท้องถิ่นในพื้นที่จะช่วยแก้ไขได้อย่างยั่งยืน และเป็นระบบ
เราจะไม่ต้องรอให้นักการเมืองจังหวัดของเราได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ต้องลุ้นว่าปีนี้กระทรวงใหญ่จะมีคนจากอำเภอเราได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญๆ รึเปล่า การทุจริตแล้วทวงบุญคุณเอากับคนในพื้นที่จะหมดไป การตอบแทนบุญคุณของนายทุนด้วยผลประโยชน์เป็นทรัพยากรในท้องถิ่นจะไม่เกิดขึ้นด้วย
ผีคนต่างจังหวัด ตัดสินใจอะไรเองไม่ได้
เราต้องไว้ใจประชาชนให้เป็นคนกำหนดอนาคตของเขาเอง เราต้องยอมรับว่าคนในพื้นที่ คือคนที่รัก และรู้ปัญหาของท้องที่นั้นๆ ดีที่สุด
การสร้างสังคมในวิถีประชาธิปไตยนั้น คือการได้ฝึกตัดสินใจเลือก ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันตรวจสอบ ซึ่งหากเราเลือกมาไม่ดี ไม่เหมาะ เลือกมาไม่ทำตามที่รับปากไว้กับประชาชน เราก็เลือกใหม่ได้ เรียนรู้กันไป เติบโตกันไป และความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยก็จะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเหล่านี้
“ให้ประชาชนได้เลือกคนที่จะเข้ามาดูแลบ้านเกิดของพวกเขาเอง ไม่ใช่คนที่มาจากการแต่งตั้ง รอวันเกษียณ มานั่งเป็นหัวหลักหัวตอ ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งกับประชาชนในท้องที่ และกับระบอบประชาธิปไตย”
นี่คือ เบญจา แสงจันทร์ เราได้เห็นเธอทั้งในบทบาทที่ทำงานประเด็นสิทธิชุมชน และเป็น ส.ส.คนหนึ่งที่คอยยืนหยัดเรื่องสิทธิให้กับการต่อสู้ของประชาชนมาโดยตลอด นอกจากบทบาทหน้าที่นี้แล้ว เราจะมีโอกาสได้เห็นมุมอื่นๆ ของเบญจาอีกหรือไม่
“เราไม่ได้มีความคาดหวังว่าตนเองจะได้มานั่งอยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรก ไม่เคยมองภาพว่าเราเป็นนักการเมือง เราอยากเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน ไม่ใช่แค่ในสภาฯ แต่ในพื้นที่ที่ได้รับการละเมิดสิทธิอื่นๆ ด้วย อย่างการเคลื่อนไหว อย่างเรื่องสิทธิชุมชน ต่อให้ไม่ได้เป็นผู้แทนแล้ว ก็อยากจะอยู่ข้างๆ ไม่ใช่ข้างหน้าเดินนำใคร และไม่ใช่ข้างหลังให้ใครปกป้อง แต่อยากร่วมกันต่อสู้ไปด้วยกันต่อ เดินเคียงข้างกันไปกับพี่น้องประชาชน”
สุดท้ายการกระจายอำนาจไม่ใช่ปลายทางเส้นชัย แต่คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่จะสร้างให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอด คือทางออกให้กับประเทศไทย
นี่คือ เบญจา แสงจันทร์
#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ชวนลงชื่อที่ Change.org/WeAllVoters ก่อนพบกับ พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าราชการทั่วประเทศและจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน เร็วๆ นี้