บรรณ แก้วฉ่ำ ปัจจุบันสวมบทบาท อนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น เขาเชี่ยวชาญเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ชูข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ด้วยประสบการณ์ในการทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายนิติการ อบจ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้เห็นปัญหา มองขาดว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง และลุกขึ้นมาทำงานผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจมาตลอด
“ถ้าหากเรากระจายอำนาจ กลุ่มข้าราชการจะเสียประโยชน์ เวลาฝั่งที่ไม่เห็นด้วยจะอ้าง มักยกเรื่องความมั่นคง แบ่งแยกประเทศ ขัดต่อความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ อุปสรรคไม่ใช่ประชาชนไม่เห็นด้วย ประชาชนเห็นด้วย นักวิชาการทั่วประเทศนี่เห็นด้วย แต่เป็นฝ่ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะในกระทรวงมหาดไทยที่จะเสียประโยชน์ ที่จะกลัวความเสี่ยงเรื่องความก้าวหน้า คือโดยมากมองแต่ประโยชน์ตนเอง”
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ จะมาชวนคุยเรื่องปัญหาของระบบราชการแบบรวมศูนย์ ทำความเข้าใจว่าการกระจายอำนาจคืออะไร ดีอย่างไร ปัจจุบันประเด็นนี้ถูกผลักดันไปมากน้อยแค่ไหน
ก่อนเข้าเรื่อง รบกวนช่วยเล่าให้คนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องระบบราชการ ที่แบ่งเป็นส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น ลำดับการทำงานมันเป็นอย่างไร และทำไมจึงมีปัญหา
หลักการปกครอง ก็คือหลักการบริหารระบบราชการ ของประเทศเราแบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
แต่โดยเนื้อแท้แล้วจริงๆ มันมีแค่ 2 ส่วน เพราะส่วนภูมิภาคถูกนับรวมเข้าเป็นการบริหารราชการกับส่วนกลาง เนื่องจากเป็นมือเป็นไม้ของส่วนกลางที่จะเอื้อมเข้ามากำกับดูแลท้องถิ่น
ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับราชการส่วนภูมิภาค จึงเป็นเรื่องการบังคับบัญชา ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ รมต.กระทรวงมหาดไทย ของนายกรัฐมนตรีอีกที
การใช้อำนาจในการสั่งให้ส่วนภูมิภาคทำงาน เป็นการใช้อำนาจในการสั่งการและมอบนโยบายให้เขาไปปฏิบัติตาม ในส่วนของราชการส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ กฎหมายจัดตั้งให้เป็นนิติบุคคลขึ้นมาเฉพาะ และมีความอิสระในการบริหารงบประมาณตนเอง โดยกำหนดนโยบายตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น ท้องถิ่นไม่ได้รับมอบนโยบายจากส่วนกลาง ต่างกันอยู่ ท้องถิ่นทำงานจากการฟังจากประชาชน ส่วนภูมิภาคนี่จะทำงานโดยฟังจากส่วนกลาง รับนโยบายส่วนกลางมาทำ
เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปรายเกี่ยวกับการ ให้ประชาชนในต่างจังหวัดทุกจังหวัดมีอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเอง ตลอดทั้งข้อเสนอให้ยุบรวมราชการส่วนภูมิภาคเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักการ เรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งเป็นข้อเสนอใน รายงานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ แต่ก็ถูกปัดตกไปโดยประธานระบุให้โหวตทีหลัง
ปกติแล้วเวลาทำเล่มรายงานเขาก็มีผลการศึกษา มีข้อเสนอ แต่ว่ารายงานของคณะอนุกรรมาธิการ หรือของกรรมาธิการ ซึ่งเป็นซีกนิติบัญญัติ มันควรแตกต่างจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหรือของสถาบันการศึกษา ที่ควรต่างคือในเมื่อมันเป็นของซีกนิติบัญญัติ เวลานำเสนอผลการศึกษาแล้ว ควรจะนำเสนอกฎหมายเข้าไปด้วย ฉะนั้น เลยมีการทำร่าง พ.ร.บ. จังหวัดจัดการตนเอง แนบท้ายเข้าไปด้วย
แต่ว่าเนื่องจากเป็นการนำเสนอรูปแบบเล่มรายงาน เมื่อเห็นชอบเล่มรายงานนี้ มันไม่มีผลเป็นกฎหมายบังคับใช้ ฉะนั้น ท้ายที่สุดแล้วนี่ยังต้องอาศัย ครม. ทำเป็นตัวร่างกฎหมาย มานำเสนออีกครั้งหนึ่ง หรือว่าอีกทางหนึ่งก็คือให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 20 คน เสนอเป็นญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเองอีกครั้งหนึ่ง จึงมีผลบังคับใช้จริง
(ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน 2565 สภาฯ เห็นด้วยรายงานการศึกษาและข้อสังเกตจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ที่ปรึกษาเว็บไซต์เรา จากคณะก้าวหน้า อธิบายกระบวนการต่อไปว่า ต้องเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลที่ตามมาคือ พรรคการเมืองหรือภาคประชาสังคมสามารถใช้เป็นร่างเริ่มต้นในการเสนอเป็นกฎหมายต่อไป)

มีความเห็นอย่างไรกับที่ คุณซูการ์โน มะทา (ประธาน กมธ.กระจายอำนาจฯ) ให้สัมภาษณ์ว่าถ้ารัฐบาลยังไม่เป็นฝั่งประชาธิปไตย เรื่องการกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเอง แม้กระทั่งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทั่วประเทศ ไม่มีทางสำเร็จ
ถูกต้องเลย จากประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่ด้านกฎหมายอยู่ในท้องถิ่น
เห็นชัดเจนมากว่าตั้งแต่ คสช. เข้ามา การออกระเบียบ แม้แต่รัฐธรรมนูญในบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ไม่มีคำว่ากระจายอำนาจแม้แต่คำเดียวอยู่ในบทบัญญัติเรื่องการปฏิรูป และในรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องท้องถิ่น เป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังมาก เมื่อไปเทียบกับฉบับก่อนๆ
ยกตัวอย่างเช่นบทบัญญัติที่ว่าให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการแต่ละพื้นที่ อย่างนี้โดนตัดออกหมด บทบัญญัตินี้สำคัญเพราะว่า อำนาจของภูมิภาคกับส่วนท้องถิ่นสถาปนาขึ้นโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเหมือนกัน ถ้ามีข้อความในรัฐธรรมนูญแบบนี้ เวลาตีความต้องตีความให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากกว่าภูมิภาค แต่ในรัฐธรรมนูญปี 60 ประเด็นนี้ถูกตัดไป
นอกจากนั้น ในกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่น คสช. ที่จัดทำโดย สนช. ก็ได้มีการแก้หมดทุกฉบับ เป็นการแก้เพิ่มอำนาจให้ผู้กำกับดูแลที่สามารถใช้อำนาจกับผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ เช่นเดียวกับ ม.44 ของรัฐธรรมนูญ คือมีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวน และสั่งแขวน สั่งให้พ้นตำแหน่งได้ ถูกเพิ่มเข้ามาในปี 2562 นี่เป็นกฎหมายตั้งแต่รัฐธรรมนูญแล้วก็ลดลงมาถึง พ.ร.บ. ล้วนแต่เป็นไปเพื่อรวมศูนย์อำนาจทั้งสิ้น ลงมาจนถึงขั้นระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่นำมาใช้กับท้องถิ่น ก็เขียนในลักษณะรวมศูนย์อำนาจเช่นกัน
ที่บอกว่าแผนพัฒนาท้องถิ่นต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับแผนกลุ่มจังหวัด การไปออกระเบียบแบบนั้น เป็นการทำลายท้องถิ่น เพราะว่าแผนงานท้องถิ่น ต้องให้ท้องถิ่นไปถามประชาชนในท้องถิ่น ฉะนั้น แผนท้องถิ่นมันเป็นแผนที่คุณภาพสูงกว่าแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัดคิดโดยข้าราชการประจำ แต่แผนท้องถิ่นถามชาวบ้าน โครงการมันจะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ ด้วยอุปนิสัยของทหาร ติดสั่งให้ระดับล่าง ซ้ายหัน ขวาหัน โดยพื้นฐานแล้วรัฐบาลทหารไม่ต้องการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคิดเอง ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาตัดสินใจเอง กลัวจะควบคุมไม่ได้ เช่นเดียวกันเมื่อมานั่งมีอำนาจสูงสุด เป็น ครม. ก็ไม่ชอบการปกครองท้องถิ่น เพราะหลักการคือต้องให้ท้องถิ่นไปคิดเองไม่ใช่มาสั่ง อะไรที่เป็นไปในทางเผชิญหน้า ประเมินได้เลยว่าเขาไม่เอาทั้งหมด
แล้วกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ท้องถิ่นที่จำเป็นต้องยกร่างมากมาย จะเห็นว่าในสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการเสนอเข้ามาเลย ที่เสนอเข้ามามี 2 ฉบับ มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น อีกฉบับหนึ่งเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ในร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เขียนรวมศูนย์อำนาจไว้ชัดเจน คือไปให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สั่งแขวนผู้บริหารท้องถิ่น สั่งสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นได้เหมือนกัน

พอจะมีตัวอย่างประเทศที่ปกครองแบบกระจายอำนาจแล้วนำมาสู่การพัฒนาท้องถิ่นและทำให้ประชาธิปไตยระดับชาติเข้มแข็งขึ้นบ้างไหม
ตอนนี้ 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก ไม่มีส่วนภูมิภาค อย่างเรื่องจังหวัดจัดการตนเองที่มีการเสนอ เป็นการเอาแนวทางคล้ายญี่ปุ่น ก็คือพื้นที่แต่ละจังหวัดนี่จะเหลือแต่เพียงท้องถิ่น 2 ชั้น คือท้องถิ่นระดับบน และท้องถิ่นระดับล่าง
ข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเองก็เหมือนกัน นอกจากผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งแล้ว ให้ยุบส่วนภูมิภาค ก็คือจังหวัดนี่ยุบรวมเข้ากับ อบจ. แล้วเป็นจังหวัดจัดการตนเอง ในระดับอำเภอ ก็ให้อำเภอนี่รวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศบาล เป็นท้องถิ่น 2 ชั้น
จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย อ.จรัส สุวรรณมาลา ชี้ให้เห็นเลยว่า หากปฏิรูปได้เช่นนี้ แต่ละจังหวัดจะเหลืองบประมาณสำหรับพัฒนาจังหวัดนั้นๆ ประมาณปีละหมื่นล้าน ก็คือปัจจุบันที่งบประมาณจัดสรรไปแต่ละจังหวัด อย่างจังหวัดเล็กๆ ก็เจ็ดแสน แต่โดยมากจังหวัดละสองหมื่นล้าน สามหมื่นล้านก็มี ที่ได้ไปแต่ละจังหวัด และก็แบ่งไปตามส่วนราชการต่างๆ
ได้งบเยอะขนาดนี้ คงสร้างสรรค์อะไรได้มาก แล้วระหว่างส่วนกลางที่พยายามยึดอำนาจเข้ามือ กับฝั่งท้องถิ่นที่ทำงานยังไม่ได้เต็มที่ คิดว่า 2 ฝั่งนี้มีอะไรที่กันไม่ให้รู้สึกว่าอยากทำงานร่วมกัน และผลักดันเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง
ต้นเหตุแท้จริงแล้วเกิดจากตัวข้าราชการที่เสียประโยชน์ คือถ้าถามประชาชน ประชาชนได้ประโยชน์ อย่างเช่นในแต่ละจังหวัด ยกตัวอย่าง ตอนนี้หน่วยงานที่รับเงินเดือนและทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลให้ท้องถิ่นทำงานเยอะมาก แต่เดิมหน่วยงานส่วนภูมิภาคนี่เขาก็ทำการจัดการบริหารด้วย แต่ว่าเขาเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล นั่นหมายความว่าลูกจ้างของประชาชน หรือข้าราชการเนี่ย มีนั่งอยู่ในท้องถิ่น แต่ข้าราชการส่วนภูมิภาคมานั่งกำกับดูแลไม่ได้ทำงานเอง
ถ้าหากเรากระจายอำนาจ กลุ่มข้าราชการจะเสียประโยชน์ เวลาฝั่งที่ไม่เห็นด้วยจะอ้าง มักยกเรื่องความมั่นคง แบ่งแยกประเทศ ขัดต่อความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ อุปสรรคไม่ใช่ประชาชนไม่เห็นด้วย ประชาชนเห็นด้วย นักวิชาการทั่วประเทศนี่เห็นด้วย แต่เป็นฝ่ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะในกระทรวงมหาดไทยที่จะเสียประโยชน์ ที่จะกลัวความเสี่ยงเรื่องความก้าวหน้า คือโดยมากมองแต่ประโยชน์ตนเอง

กรณีรัฐบาลประยุทธ์เข้ามา เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นอีก
ต้องยอมรับความจริงว่า ทหารไม่มีความชำนาญเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ฉะนั้นเวลาเข้ามานั่งมาเป็นหัว แม้มีอำนาจก็จริง แต่ความคิดอ่านในเชิงบริหารราชการแผ่นดิน เขาเป็นนักรบที่ไม่มีประสบการณ์รัฐบาลต้องถามข้าราชการประจำที่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรม เช่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่อยากกระจายอำนาจอยู่แล้ว ดังนั้น นโยบายที่ขับเคลื่อนโดยทหาร คือถูกเสี้ยมจากฝ่ายข้าราชการที่อยู่ประจำใน กระทรวง ทบวง กรม เวลาออกนโยบายต่างๆ มา เป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของฝ่ายข้าราชการประจำนั่นเอง รัฐบาลคล้ายหุ่นเชิดของข้าราชการประจำในส่วนกลางเท่านั้นเอง
อยากให้เล่าว่าระบบอุปถัมภ์ กับปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ชัดเจนว่าระบบราชการไทยอิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์ ในความเป็นรัฐราชการ ระบบอุปถัมภ์จะทำให้ความเป็นรัฐราชการเหนียวแน่น และเป็นปัญหาอุปสรรคอย่างใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ เช่น เรื่องจัดหวัดจัดการตนเองเวลาจะออกมาคัดค้าน ตัวฝ่ายนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเสียประโยชน์ ไม่ออกมาคัดค้านเอง แต่ไปกระซิบให้กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ออกมาคัดค้านแทน
อีกตัวอย่าง การเรียกร้องให้เพิ่มค่าตอบแทน ถ้าท้องถิ่นมาเรียกร้อง จะไม่ได้รับการตอบรับ แต่ถ้าเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาเรียกร้องนี่ ลองย้อนไปดูข่าวได้เลยว่า กระทรวงมหาดไทยตอบรับทุกครั้ง ไม่มีปฏิเสธ เพราะว่ามันเป็นระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ เป็นแขนเป็นขาของเขา เป็นบารมีที่มีบางตำแหน่งอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งในแง่บทบาทต้องยอมรับว่ายังไม่มีความชัดเจน ใครควรจะทำหน้าที่ตรงไหน
อะไรเป็นปัจจัยให้ระบบอุปถัมภ์ในส่วนราชการไม่หายไป
คำตอบคือ ผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการ อย่างบทบาทของอำเภอ หรือของจังหวัด ถ้าอำนาจน้อย ภารกิจน้อยลง ถูกกระจายมาท้องถิ่นเพิ่มขึ้น การที่จะขอเลื่อนตำแหน่ง เพิ่มตำแหน่ง เพิ่มกรอบ เลื่อนระดับ ก็ถูกตัดทอนลดลง

ปัจจุบันการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น มีประสิทธิภาพแค่ไหน
หลักการปกครองท้องถิ่นจริงๆ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชน ท้องถิ่นจะเข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็ง ให้ไปดูว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เพียงใด แต่ในประเทศไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น เราอยู่ใต้วาทกรรมว่า ท้องถิ่นมีเรื่องร้องเรียนเยอะ แต่ถ้ามองในมุมกลับกันจริงๆ แล้วที่มีเรื่องร้องเรียนเยอะ เป็นเพราะในท้องถิ่นยังมีกลไกตรวจสอบที่ทำงานได้ดี
แต่กลไกการออกแบบระบบกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ไม่ได้มีการเพิ่มบทบาทของประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการบริหารท้องถิ่น ด้านการเสนอโครงการต่างๆ กฎหมายและระเบียบก็ออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย ประชาชนจึงมองเหมือนเรื่องท้องถิ่นไม่ใช่ธุระของเขา เลยไม่ค่อยสนใจเรื่องการกระจายอำนาจเท่าไหร่ แต่มันจะได้รับความสนใจ ก็ต่อเมื่อมีกระแสสำคัญขึ้นมา อย่างกรณีผู้ว่าฯ ชัชชาติ ประชาชนเลยหันมามองท้องถิ่น ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่าง กทม. บ้าง
การที่ส่วนกลางเอาอำนาจ เอาภารกิจ มาบริหารจัดการเอง มันทำให้ประเทศไปไม่รอด เพราะการพัฒนาประเทศต้องขับเคลื่อนในระดับรากหญ้า ต้องขับเคลื่อนโดยประชาชนโดยท้องถิ่น เราจำเป็นต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง เพื่อให้ภาพรวมของประเทศทั้งประเทศเข้มแข็งมั่นคงยั่งยืนได้

ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐกำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่ อยากบอกอะไร
สำหรับคนที่เป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง อยากให้มองข้ามประโยชน์ส่วนตัว ไปมองประโยชน์ของบ้านเมือง ประโยชน์ของประชาชน ให้มีมุมมองที่ก้าวข้ามประโยชน์ส่วนตน ไม่กลัวตนเองเสียผลประโยชน์ แต่มองประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์ของประชาชน
แล้วกับคนอ่านทั่วไป อยากบอกอะไร
สภาพของบ้านเมือง และประเทศเรามีชุมชนซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาของประชาชน ในปัจจุบันยังต้องรอให้ส่วนกลางมาแก้ปัญหาในพื้นที่ แม้ท้องถิ่นจะมีอยู่ แต่ไม่อาจพึ่งพาได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องอำนาจ หน้าที่ ไม่ชัดเจน บวกกับปัญหาเรื่องงบประมาณที่มีน้อย
ในส่วนของประชาชน ถ้ามีการกระจายอำนาจ จะได้ประโยชน์ตรงที่ว่า จะมีงบประมาณก้อนหนึ่งที่มาอยู่ใกล้ๆ บ้าน ที่สามารถเรียกร้องประเด็นต่างๆ ไม่ต้องเดินทางมาถึง กทม. ไม่ต้องมากางเต็นท์ที่หน้าทำเนียบ แต่สามารถไปเรียกร้องที่ อบต. เทศบาล เพื่อให้จัดการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ ถ้าเห็นถึงประโยชน์ตรงนี้ คนคงจะเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ และจะมีกระแส
ยังไงกระแสเรื่องการกระจายอำนาจของประเทศนี้ จะมีมากขึ้นทุกที ไม่มีลดแน่นอน
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม