ท่ามกลางวังวนอุบาทว์ของการจัดสรรอำนาจ ประเทศไทยยังคงครองอันดับ 1 ของประเทศที่มีอัตราการเกิดรัฐประหารที่ประสบผลความสำเร็จมากที่สุดในโลก ไม่แน่ใจว่ามีใครภาคภูมิใจกับตำแหน่งนี้บ้างไหม ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นมักมีการละเมิดสิทธิของพลเมือง รวมถึงการจำกัดเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ
ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 สองวันหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการรวมตัวของกลุ่มทนายความ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางสังคม ก่อตั้งเป็น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอด 8 ปี คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เป็นประจักษ์พยานต่อการใช้อำนาจของเครือข่าย คสช. และกองทัพ มีแต่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แม้ในทางนิตินัย คสช. จะยุติบทบาทการครองอำนาจหลังจัดการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562
แต่ในทางพฤตินัยกลับต่างออกไป ทั้งยังออกแบบกลไกทางการเมือง รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ เพื่อค้ำจุนการรักษาอำนาจต่อมาจนถึงปัจจุบัน บทสัมภาษณ์นี้ เราได้นัดหมายกับ 1 ในทนายความสิทธิมนุษยชนที่คิวชุกสุดๆ อานนท์ นำภา หลังจากที่เขาเดินทางกลับจากการยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ร้องเรียนให้ตรวจสอบเรื่องรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ออกคำสั่งเเทรกเเซงสั่งตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดี 112 ที่อานนท์ตกเป็นจำเลย
พูดคุยกันเรื่องการงานพื้นฐานอาชีพ สถานการณ์การชุมนุม รวมไปถึงอำนาจทางการเมืองในประเด็นหลักอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์
อยากให้คุณช่วยพูดถึงเส้นทางอาชีพของตนเอง การเลือกเป็นทนายสิทธิมนุษยชนมีจุดเริ่มต้นยังไง การรวมกลุ่มของทนายหลังรัฐประหารได้เพียง 2 วัน ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของการต่อต้านรัฐประหารด้วยไหม
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ถึงกับต่อต้านระบอบประยุทธ์ แต่ทำคดีช่วยเหลือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหาร พวกเกี่ยวกับการต้านรัฐประหาร เราไปซัพพอร์ตคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในทางคดี ส่วนของผมเนี่ย ในช่วงปี 53 ผมกับเพื่อน จริงๆ มีหลายคนนะ ตั้งสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ ก็คือทำคดีเสื้อแดง เน้นทำคดีเฉพาะเสื้อแดง และเรื่อง 112 ทำคดีแบบจริงจัง แต่ว่ามันจะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวอย่างอื่นด้วย เช่น ตามไปดูความเป็นอยู่ของคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดที่โดนจับ ผัวอยู่ในคุก ลูกเมียอยู่ยังไง พ่อแม่อยู่ยังไง แล้วก็ไปซัพพอร์ตตรงนั้น
เพราะว่าเรามีการระดมทุนจากหลายๆ คนไปช่วยในทางความเป็นอยู่ คือมันจะเป็นกึ่งๆ กลุ่มกิจกรรมด้วยซ้ำ ก็ทยอยทำในส่วนของกฎหมายด้วย ไปลงพื้นที่ ไปทำงานมวลชนด้วย ที่นี้พอ…. จริงๆ ว่าจะเลิกแล้วนะ ผมในปี 56 -57 คดีมันเริ่มซาแล้ว เริ่มจะหมดแล้ว แม่งเสือกรัฐประหารปี 57 ผมกับเพื่อน ซึ่งกลุ่มมันโตขึ้นเนี่ย มี พี่เอ๋ เยาวลักษ์ (อนุพันธ์) มีทนายจูน (ศิริกาญจน์ เจริญศิริ) มีใครหลายๆ คนที่ทำงานสิทธิมาด้วยกันตลอด รวมตัวกันใหม่อีกครั้ง ตั้งเป็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำคดีเป็นหลักเลย หลังรัฐประหารได้ประมาณ 2-3 วัน คือมันมีการเรียกคนเข้าไปรายงานตัว แล้วต้องการทนายความ มีการดำเนินคดี ออกคำสั่งเรียกคนให้ไปรายงานตัว มีการดำเนินคดีหลายคดีมาก รวมทั้งคดีย้อนหลังด้วย ก็เลยตั้งเป็นศูนย์ทนายเพื่อทำคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับคนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร คนที่ถูกกล่าวหาเรื่องคดีความมั่นคง ที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้ามาของรัฐบาลประยุทธ์
ถ้านับในปี 57- 60 คดีส่วนใหญ่เป็นคดีการชุมนุมใช่ไหม คดี 112 ยังมีน้อยมาก?
ไม่น้อยๆ มีเยอะ ไปที่ศาลทหาร คือหลังรัฐประหารเนี่ยมันมีประกาศคำสั่งให้คดี 112 ไปขึ้นศาลทหาร ก็ขึ้นศาลทหารหลายคดี แล้วพอหลังปี 59-60 ก็โอนคดีมาที่ศาลยุติธรรม คือถ้าจะเทียบสัดส่วนคดีเนี่ย หลังปี 57 จะเป็นคดีเกี่ยวกับการต่อสู้กับรัฐประหารเป็นหลักเลย ส่วนใหญ่เนี่ย เป็นนักศึกษา เป็นจ่านิว พวกไอ้โรม กลุ่มชาวบ้านที่ติดปงติดป้าย พอมาปี 59-60 เทรนด์คดีเป็นเรื่องการออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีเรื่องประชามติ เรื่องที่เราไปทำที่ราชบุรี (โหวตโนประชามติ ปี 2559) พอรัฐธรรมนูญเสร็จเนี่ย ปรากฎแม่งเลื่อนเลือกตั้ง ไม่เลือกซักที เลื่อนไปเรื่อย ก็เกิดคนที่อยากเลือกตั้งในปี 61 ขึ้นมา เป็นล็อตคดีที่ใหญ่มาก
มีจำเลยเป็น 100 คน แบ่งเป็นหลายๆ คดี มีแกนนำโดน 116 คนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาก็โดนแค่ พ.ร.บ.ชุมนุม ก็ขึ้นศาลแขวงไป ศูนย์ทนายฯ คิดว่า งานสบายแล้ว เสร็จหมดแล้ว ปี 63 ไม่รู้ระเบิดมาจากไหน ปี 63 เนี่ย เราเห็นเค้าลางแล้วล่ะว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคนรุ่นใหม่แน่ๆ เพราะว่าปี 62 ต่อเนื่อง 63 มันมีความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์หนักมาก เริ่มจากติด #ขบวนเสด็จ และอื่นๆ อีกเยอะมาก คนเริ่มไม่ไหวแล้วละ ต้องออกมาลงพื้นที่ ออกตามมหาวิทยาลัย หรือตามที่ต่างๆ ในช่วงต้นๆ ปี 63 ก็มีนักเรียนนักศึกษา ต้องใช้คำว่านักเรียน เพราะนักเรียนเยอะมาก
ขอย้อนไปช่วงก่อนการเปลี่ยนรัชสมัย ระหว่างปี 59-60 มีประเด็นเรื่องการใส่ชุดดำหรือเรื่องการไม่ไว้อาลัยอะไรอย่างนี้ ซึ่งกระจายตัวนอกพื้นที่กรุงเทพฯ นับรวมอยู่ในพื้นที่แสดงออกทางการเมืองด้วยไหม มีส่วนที่กลายเป็นคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้างหรือเปล่า
มันไม่ถึงกับพีค แต่มันมีประเด็นของมันอยู่ เพราะว่าตอนที่ ร.9 เสด็จสวรรคตเนี่ย คนแม่งเป็นซอมบี้เลยนะ ใครไม่ใส่เสื้อดำเนี่ยโดนกันจำนวนนึง แต่ไม่เยอะ เป็นคดีไม่เยอะ แต่เกิดการล่าแม่มดขึ้น เอาเข้าจริงๆ หลัง ร.9 ไม่ใช่เรื่อง 112 ด้วย เป็นเรื่องการล่าแม่มดแบบซอมบี้ แทบไม่มีคดี 112 เลย มีบ้าง แต่ไม่เยอะ บ้านไหนไม่ใส่ชุดดำหรือว่าโพสต์อะไรในโซเชียลมีเดีย คนก็จะไปล้อม ไม่ใช่ 112 แบบกฎหมายนะ มันอารมณ์ซอมบี้ เป็นเรื่องอารมณ์ของสังคมตอนนั้นด้วยที่อยู่ฝากฝั่งเขา แต่พอสถานการณ์มันล่วงเลยมา ก็เงียบไป

แล้วจุดพีคของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน
มันมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ขึ้นหนักๆ ช่วงปี 62-63 คือเริ่มจากนักเรียนนักศึกษาก่อน จากเทรนด์ทวิตเตอร์ มาสู่ลงพื้นที่ มีการชุมนุมในมหาวิทยาลัย ผมจำได้ว่าการชุมนุมในมหาวิทยาลัยช่วงต้นปี 63 เนี่ย ทำให้เกิดภาพแบบ 14 ตุลา กลับมาอีกครั้ง ไม่ใช่เชิงเนื้อหา แต่เป็นภาพของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาด้วย คนเสื้อแดงก็เริ่มรู้สึกว่าแม่งกูไปแจมกับนักศึกษาดีกว่า มีการชุมนุมในมหาวิทยาลัย แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้วคือเรื่องวันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) กรณีอุ้มหายที่กัมพูชา อันนี้ผมว่ามันเป็นจุดพีคจุดหนึ่ง คนเริ่มจัดการชุมนุม ผมไปร่วมการชุมนุมในมหาวิทยาลัยก็เห็นว่า คนมันไม่พูดตรงๆ ตอนแรกมีการใช้สัญญะบนป้าย
จนกระทั่งมีการนัดชุมนุมลงถนนครั้งแรกในบริบทนี้ ผมจำได้ว่ามันเป็นวันที่ 18 กรกฎาที่ราชดำเนิน FREE YOUTH จัด แล้วทุกคนแม่งไร้เดียงสา คือทุกคนไม่ได้มีประสบการณ์การปิดถนนมานานมาก สมัยคนอยากเลือกตั้งนี่ก็ไป ไปอ่านกวี แต่คนมันไม่ขนาดนี้ แล้ววันนั้นคือวันแรกที่ปิดถนน ลงถนนได้ มันรู้สึก โอ้ ใช่เว้ย มีเวทีปราศรัยเล็กๆ คนปราศรัยก็ไม่ได้เก่งหรอก ผมก็ขึ้นปราศรัยด้วย พูดแบบงูๆ ปลาๆ ไป แต่สังเกตได้ว่าข้างล่างเนี่ย อยากพูดเรื่องเจ้าเว้ย แต่ไม่กล้าพูดตรงๆ
พอหลังวันที่ 18 เกิดการชุมนุมในต่างจังหวัดอย่างเยอะ ที่ขอนแก่นแม่งปิดถนน จนสิงหาผมก็คุยกับพวกน้องๆ พวกไอ้บอย พวกลูกเกด แก๊งเนี้ยกับพวกเพนกวิน แบบต้องพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์แบบตรงๆ แล้วนะเว้ย เวลาเราพูดอ้อมๆ คนอยู่ข้างล่าง คนเล็กคนน้อยจะโดน ไอ้พวกแกนนำมันไม่โดนหรอก ต้องพูดกันตรงๆ ได้แล้ว ก็เลยว่าจะจัดกับพวก DRG (กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย) ก็เลยออกมาเป็นกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยกับมอกะเสดเป็นเจ้าภาพจัด งาน 3 สิงหา แฮรี่พอตเตอร์ (เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย) เออ แล้วก็ยุตีนถีบผมอะ อานนท์มึงแก่กว่าเพื่อน คือตอนนั้นมันต้องการคนที่พูดแบบใช้ภาษาเป็น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีแบบสุดๆ
คือตอนนั้นมันแบบว่า เราต้องเสียสละตัวเองแล้วนะ
ไม่ถึงขนาดนั้น ผมคิดว่ามันเป็นอารมณ์แบบห้าวๆ อ่ะ อารมณ์แบบ เฮ้ย! มันต้องพูดแล้ว ถามว่ารู้จะต้องโดนไหม ก็คาดหมายได้นะ แต่ไม่ได้เล็งไว้ว่าจะโดนแน่ๆ แล้วพูดเสร็จปุ้บ เพดานเปลี่ยน กระแสตอนแรกนึกว่าจะโดนจับเลย ตำรวจแม่งก็ช็อก ทำอะไรไม่ถูกหรอกวันนั้น แล้วกระแสมันตีกลับ ตีกลับมาทางเราอย่างดีนะ แบบ เฮ้ย! นี่มันต้องพูดตรงๆ แล้ววะ แล้วผมก็โดนจับ พอพูดเสร็จวันที่ 3 สิงหา วันที่ 7 ผมก็โดนจับ
ตอนแรกจะไม่ให้ประกัน แต่คนมันเริ่มแบบ เฮ้ย! ไม่ใช่แล้ว (ตอนนั้นพอมีคนโดนจับ ทุกคนจะไปที่ สน.) ที่นี้ ผมเลยได้ประกัน แล้วไปพูดต่อที่เชียงใหม่ วันที่ 9 แล้วบินกลับมาพูดที่ 10 สิงหาที่ธรรมศาสตร์ เอาจริงๆ 10 สิงหาที่เขาบอกให้ผมไปพูดเนี่ย เนื้อหาโดยรวมไม่มีใครรู้อะไรหรอก ไอ้กำหนดการนักศึกษาเป็นคิด แต่คนที่ไปพูด ก็รับหน้าที่พูด 10 สิงหาเนี่ย มันทำให้เขาใช้คำว่าทะลุเพดานนะ แล้วก็มาชุมนุมกันอีกครั้งวันที่ 16 สิงหา คือหลังจาก 10 สิงหาผมก็ลี้ภัยแล้ว นอนตามบ้านเพื่อนอ่ะ เพื่อเซฟตนเองให้ได้ไปพูดในวันที่ 16 ปรากฎว่า 16 สิงหาเพดานมันลด ไม่ถึงกับลด แต่ไม่เน้นเรื่อง 112 แม่งคนก็ด่า มวลชนมาเยอะนะ เต็มราชดำเนิน มีละคงละคร มีถ่ายภาพมุมสูง แม่งคนเต็มราชดำเนินเลย ข้างหลังก็เต็ม ข้างหน้าก็เต็ม
แต่พอเพดานที่เราไม่ได้พูดเรื่องเจ้ากันเต็มที่ คนก็รู้สึกว่า เฮ้ย! ไม่ใช่แล้ว มันไปถึงไหนกันแล้ว ทำไมกลับมาอีก อะไรยังงี้ ก็มาคุยกันใหม่ ธรรมศาสตร์ก็บอกจะเป็นเจ้าภาพจัด 19 กันยา ยึดสนามหลวง ทวงคืนสมามหลวง มีการเอามงเอาหมุดมา เอ้า! ไปช่วยกันปัก พอคนมันบอกต้องพูดเรื่องเจ้าตรงๆ แล้วเนี่ย ปรากฎคนแม่งมามืดฟ้ามัวดินเลย เต็มสนามหลวง วันนั้นมีคนจากสันติบาลประเมิน ตัวเลขกรมตำรวจ 130,000 คือมันมีเข้ามีออก แล้วสนามหลวงตอนที่มันพีคๆ มันค่อนข้างจะเต็มอยู่ วันนั้นฝนตกปรอยๆ ประมาณนี้แหละ ถ้าจำไม่ผิด สนุกนะ วันนั้นสนุก
คือพีคจริงๆ 19 กันยา?
คนมาแบบมีพลังมาก คนปราศรัยก็สนุก เวทีก็ใหญ่ จนเราแน่ใจ ตอนแรกมันมีการเถียงกันว่าจะเอาประยุทธ์ออกก่อนหรือพูดเรื่องเจ้าไปเลย เถียงกันอยู่มาก บทสรุปของนักกิจกรรมที่เป็นระดับแกนๆ ของในมหาลัยก็บอกว่า ต้องพูดไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ว่าไม่เอาประยุทธ์ออก คือเอาประยุทธ์ออกไม่ได้หรอก ถ้ามันไม่พูดเรื่องพวกนี้ ไม่มีประโยชน์ ประยุทธฺ์ออกแล้วก็เอาคนอื่นเข้ามาอยู่ดี
ตกลงว่าจะพูดเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันด้วย เลยมีข้อเสนอออกมา 3 ข้อ ทีนี้งานต่อไปที่เราชุมนุมเนี่ย มันต้องอาศัย Free Youth ด้วยนะ เพราะว่ามันมีการเดินขบวน แล้วงานนี้จะเป็นงานใหญ่ งานหนัก แบบล้อมทำเนียบกัน ก็เลยจัด 14 ตุลา แบบตอนเช้าๆ ต้องไปยึดพื้นที่ก่อน เพราะมีคนเสื้อเหลืองมาเต็มราชดำเนินเลยทั้ง 2 ฝั่ง คือมันจะเอาคนเสื้อเหลืองมายึดก่อน พวกเราก็เลยว่า เฮ้ย! ต้องไปยึดตอน 8 โมง รอคนมาสมทบ ผมก็ไปปราศรัยปากเปียกปากแฉะเลยนะ จนถึงเที่ยง คนก็ไม่ได้มาเยอะ คือเห็นเป็นหย่อมๆ จนกระทั่งเที่ยงกว่าๆ จะบ่ายโมง คนเริ่มเต็มราชดำเนิน แล้วก็รื้อเอาต้นไม้ออกจากอนุสาวรีย์ พอประกาศจะเดินเท่านั้นแหละ ตั้งขบวน คนไม่รู้มาจากไหน เหมือนไปหลบอยู่ตามซอย ตามร้าน ขบวนวันนั้นเป็นขบวนที่สวยมาก คุณไปไหม (ผมจำได้-ผู้สัมภาษณ์)
คือคนเต็มถนนราชดำเนิน ทั้ง 2 ฝั่งเลยนะ แล้วไอ้ตรงฟุตบาธมีคนเสื้อเหลืองอยู่นิดเดียว แล้ววินัยสูงมาก มีคนไปต่อล้อต่อเถียงกันบ้าง แต่ทุกคนแบบ แม่งเดินไปทำเนียบ วันนั้นขบวนยาวมาก เป็นขบวนที่ยาวและแน่น คือหัวกับท้าย มองไม่เห็นกัน ก็ไปล้อมทำเนียบ ระหว่างที่เดินมันมีคนสร้างสถานการณ์ว่า มีมวลชนบางส่วนไปล้อมรถพระราชินี จะไปประทุษร้ายอะไรไม่รู้ วันนั้นปลุกปั่นกัน ฝ่ายขวาปลุกปั่นว่าจะมาสลายการชุมนุมแน่ๆ กลางคืน ซึ่งก็ทำจริงๆ
มันคิดว่าใช้ได้ผลเหมือน 6 ตุลา 19 แต่มันแป้ก เหตุที่มันแป้ก เพราะมันมีสื่อเว้ย คือตอนนี้ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ เกิดเหตุการณ์ก็ถ่ายได้เลย คือรถเข้ามาหาม็อบเอง เขาไม่ได้ไปล้อมรถ เกิดกระแสตีกลับ มันก็ยังปั่นอยู่นะว่าล้มเจ้า ทหารรักษาพระองค์แม่งใช้เสื้อเหลืองมา เตรียมจะมาเล่นกันแล้ว
พอเราไปถึงตอนช่วง 4 ทุ่ม 5 ทุ่มก็มีข่าวมาแล้ว คือข่าวที่ผมได้จากพวกทหาร พวกตำรวจ หนึ่งคือเขาจะเข้ามาสลายการชุมนุมนะ แล้วประยุทธ์ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง คืนนั้น แล้วคนก็ทยอยกลับ ไม่หนาแน่นเหมือนเดิม เขาก็จะเข้ามาสลาย ข่าวก็คือ เขาจะเอาทหารจากกาญจนบุรีมาสลาย
ถ้าสลายแล้วมันเกิดความรุนแรงขึ้นมา เขาจะยึดอำนาจอีกรอบหนึ่ง เราก็คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของมวลชนเป็นหลัก ประกาศยุติการชุมนุมตอน 6 โมงเช้า แต่ว่าเราตอนนี้นอนด้วยกันก่อน พอถึงเวลาจริง มันไม่ได้ไง กำลังพูดอยู่แม่ง ตุบตับๆ มันตั้งแนวมาแล้ว แล้วมันจะมีแก๊งเวทีเล็ก เวทีเล็กคือแก๊งพวกเราแหละ พวกศิลปิน แม่งก็แบบ คือมันมีพลัง คือเราไม่ได้ต่อสู้แบบความรุนแรง เราเลยแบ่งคนส่วนหนึ่งกลับบ้านไปก่อน ไอ้พวกที่เป็นแกนนำ เพราะว่าผมนัดชุมนุมวันที่ 15 ตุลาที่ราชประสงค์ ไม่รู้จะคิดยังไงนะคือมันเฉพาะหน้ามากตอนนั้น
เราโชคดีที่เรามีคนมีประสบการณ์ อย่างพี่มิตร ใจอินทร์ อาจารย์ทัศ (ทัศนัย เศรษฐเสรี) เขาก็มาชุมนุมด้วย บอกว่าเนี่ย ถ้าสถานการณ์แบบนี้ มันต้องเป็นแบบนี้ คือให้คำปรึกษาดีนะ มีศิลปิน มีรุ่นพี่เราหลายคนขออนุญาตไม่เอ่ยนาม ถ้าเขาเข้ามาสลายแล้วแกนนำยังอยู่ ชาวบ้านไม่ยอมให้จับหรอก เขาจะสู้แล้วก็จะเจ็บกัน วิธีคือ เอาชาวบ้านออกก่อน เราส่งชาวบ้านกลับ ผมก็คุยกับนายตำรวจที่เข้ามาเจรจา (พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ) ก็ถามว่าพี่
ตกลงพี่จะเข้ามาสลายการชุมนุมบ่ เขาก็บอกว่าตำรวจไม่สลาย ตำรวจไม่สลายแล้วใครจะสลาย มึงคิดเอา เอ้า เราก็เลยเคลียร์พื้นที่ออกให้หมด แล้วก็เดินไปให้จับ ไม่ใช่มอบตัวนะ แบบว่าเดินไป มึงจะจับก็จับ
ผมก็อยู่เคลียร์พี่น้องออกไปเกือบหมด มีคนที่เขาตกค้างอยู่ น่าสงสารมาก คือตั้งใจมานอนแหละ ไม่มีที่ไป เราก็พยายามเคลียร์ให้ได้มากที่สุด จนสุดท้ายเนี่ย ผมก็ไปโดนจับอยู่ที่นางเลิ้ง ตอนประมาณตี 5 อีกกลุ่มหนึ่งก็เคลียร์กัน ผมเข้าใจว่ามันไล่จับกัน พวกลูกกงลูกเกด (ชลธิชา แจ้งเร็ว) อยู่กันเต็มแหละ แล้วก็ค่อยๆ เคลียร์พื้นที่ออกไป
โดนจับแล้วยังไงต่อ
มันจับผมไปที่ ตชด. (กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) ก่อนตอนแรก ตี 5 หกโมงเช้า ผมก็คิดว่ามันจะเอารถไป สน. ไหน ปรากฎว่า เอาขึ้นเครื่องบินเลย เครื่องบินตำรวจที่ดอนเมือง ขึ้นเครื่องไปเชียงใหม่ เอาไปขังที่เชียงใหม่ ก็นึกว่าจะถีบกูลงเครื่องแล้ว มึงทำเวอร์ไปรึเปล่า

ไปคนเดียวใช่ไหม
ไปกับน้องที่เชียงใหม่ แล้วก็มีพี่มิตรมาด้วยกับทนาย ไปด้วยกัน 4 คน ขึ้นรถไปด้วยกัน รถกระบะ ตอนเเรกเราเข้าใจว่ามันจะเอาไปส่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านดอนเมือง เฮ้ย มึงเลี้ยวซ้ายเข้าไปทำไมวะ อ้อ ขึ้นเครื่องบินไป ผมก็เลยเอาโทรศัพท์มา โทรศัพท์พี่มิตรนั่นแหละ ผมก็ใส่รหัสผมเข้าไป โพสต์เฟซบุ๊ค แม่งโดนจับขึ้นเครื่องนะครับ ถ้าผมไม่ได้ลงมาแปลว่าผมตาย ดราม่าไปหน่อย ปรากฎว่าเขาเอาไปเชียงใหม่ แล้วก็ไปฝากขังที่เรือนจำเชียงใหม่ ผมเสียงไม่มีอาทิตย์นึง ตะโกนทั้งวัน วันที่ 15-16 อยู่ในเรือนจำก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันที่ 16 ทนายไปเยี่ยมตอนเช้า โอ้ พี่ ที่ราชประสงค์คนแน่นว่ะ เย็นวันที่ 15 คนแน่น แสดงว่าโชคดีที่นัด แม่งถ้าไม่นัดต่อไม่รู้จะยังไง พอนัดแล้วคนมากันแน่น วันที่ 18 ทนายมาเยี่ยมอีก เอาภาพมาให้ดู ไอ้เหี้ย พูดแล้วขนลุก
มันคือภาพม็อบร่ม เมืองไทยไม่มีอย่างนี้นะ คือเราผ่าน กปปส. มา นปช.อะไรพวกนี้ มีเวทีปราศรัย แม้แต่พวกเราก็มีปราศรัยตอนแรก แต่อันนี้พอวันที่ 16 โดนฉีดน้ำที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่หน้าสยาม เฮ้ย! แม่งกระแสม็อบมันเปลี่ยน ปรากฎว่าวันที่ 17 กับ 18 เนี่ย 5 แยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัย เนี่ย แม่งแบบคนละเรื่องกันเลย
คือผมเห็นภาพนะ แล้วก็มาดูคลิปย้อนหลัง ขอร่มหน่อย (ทำท่า) รถจีโน่มา เฮ้ย! มันกลายเป็นขบวนคนรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง แล้วต่างจังหวัดก็มีชุมนุมกันแบบเยอะมาก
ขอนแก่นแม่งปิดถนน เชียงใหม่หลัง ม. แม่งเต็มอะไรอย่างเนี่ย เกิดปรากฎการณ์อย่างนี้ขึ้นมา สุดท้ายรัฐแม่งต้องถอน พรก.อยู่เฉยๆ แล้วก็ทยอยปล่อยแกนนำออกมา เพื่อลดกระแส แล้วทีนี้กระแสการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มันพูดกันในรายละเอียดมากขึ้น ตอนแรกมันอภิปรายกันเป็นก้อนไง หลังจากนั้นมันมีการซอยเป็นเรื่องๆ แล้ว เราไปที่หน้า SCB (สำนักงานใหญ่) ไปพูดเรื่อง การโอนหุ้น SCB หุ้นต่างๆ เราไปชุมนุมกันที่หน้าราบ 11 พูดเรื่องการโอนทหารไปเป็นของกษัตริย์ เราไปชุมนุมเพื่อให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่หน้ารัฐสภา คือม็อบมันพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างลงรายละเอียดมากขึ้น
ตอนนั้นเป็นความโชคดีที่ว่ายังไม่มีนโยบายที่จะเล่น 112 ซึ่งเราก็ใส่เต็มที่ รู้อยู่แล้วพอถึงจุดหนึ่ง จะมีเล่นแน่ๆ สุดท้ายมาแจ้งย้อนหลังหลายเหตุการณ์ หลังผมออกมาจากเรือนจำ ได้ประกันออกมา ก็ไปชุมนุมย่อยๆ ทิศทางการชุมนุมเปลี่ยนด้วย มีพัฒนาการที่น่าสนใจมากหลายอย่าง ผมเข้าใจว่ามีคนทำงานศึกษาเรื่องนี้อยู่นะ ก็ได้เห็นการเติบโตของม็อบ จะดีหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แอมมี่ รู้จักแอมมี่ป่ะ (The bottom blues) เอาถังสีไปสาดตำรวจเถียงกันแถบตาย แบบนี้ถือเป็นสันติวิธีไหม มันทำได้ไหมเนี่ยในการชุมนุม
สุดท้ายแม่งไปเจอรถจีโนฉีดอยู่หน้ารัฐสภา เจอกระสุนยาง มีแก๊สน้ำตา ไปพังรถจีโนเขา คือวันนั้นมันมาก ผมไป สันติวิธีแบบโคตรสุด คือพูดง่ายๆ แทบจะเผารถ คือมันก็เผาได้ ถ้าจะเผา แต่ไม่เผาไง แค่ไปปล่อยยางรถ ไปดึงวงจรแม่งออก
เอาทรายไปใส่ถังน้ำมัน?
เราก็เข้าใจสันติวิธีอีกแบบนึง ว่าการต่อสู้ที่มันเป็นการประท้วง มันไม่ใช่การไปนั่งพับเพียบ วันที่ 17 พฤศจิกาหน้ารัฐสภา 18 ไปที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาถุงสีแม่งไปปาเลย มึงไม่ต้องมาพูดกันเรื่องถังสี กูเอาถุงสีแม่งไปปาเลย เละ รั้วเละหมด ก็พอมาปีใหม่ภาครัฐตั้งตัวได้ ก็เริ่มแจ้ง 112 ย้อนหลัง
แสดงว่าเขามีกระบวนการเรคคอร์ดเรามาตั้งแต่แรกเลยใช่ไหม
เขาเรคคอร์ดไว้หมด แต่ว่าคำสั่งคือไม่ให้เล่น 112 ให้เล่น 116 แทน ถามว่ามันมีพัฒนาการไหม มันมี แต่ว่าม็อบเราไม่ใช่ม็อบจัดตั้ง ม็อบเราไม่ได้มีรูปแบบที่มันตายตัว มันเป็นไปเองโดยธรรมชาติ เป็นข้อเสียด้วยนะ แต่มันก็มีข้อดี
ช่วงปี 63 ผมติดคุก 2 ครั้ง ก็คือก่อนวันที่ 19 กันยาแม่งเอาผมไปขังก่อน กะว่าไม่อยากให้มีการชุมนุม เอาผมไปขังแม่งคนยิ่งอยากมา สุดท้ายก็ต้องไปปล่อย ก็เลยได้ขึ้นเวที 19 กันยา แล้วพอข้ามปีใหม่ มันคงคิดได้ จัดการไปถ่ายรูป แล้วก็โดนจับ เล่นเราค่อนข้างแรง ผมติดคุก ช่วงนั้นติดไป 113 วัน ก็ได้ประกันออกมาช่วงนึงสั้นๆ ปี 64 อยู่ข้างนอกประมาณ 1-2 เดือน ก็โดนไปอีก 7 เดือน ชีวิตในคุกรวมๆ ก็ประมาณปีนึง ก็สนุกดีนะ จริงๆ อยากชวนให้ป๋วย (ช่างภาพงานชิ้นนี้ ) ไปติดคุกด้วย
คุณเป็นนักเขียนเวลาคุณติดคุกคุณจะได้อะไรแบบตื่นเช้ามากินกาแฟห่วยๆ แล้วดูพระอาทิตย์ขึ้น ดูเครื่องบินบินในคุก ได้คุยกัน ประชุมการเมือง ล้อมวง คุณต้องลอง กวีคุณจะพรั่งพรูมาก อะไรอย่างเงี้ย แล้วติดคุกผมว่ามันทำให้เติบโตขึ้น หลายคนที่ติดด้วยกันก็มีโอกาสได้พูดคุยปรับทัศนคติกัน

แต่ภาวะในคุกของทนายที่กลายเป็นจำเลย กับตอนที่ทำคดีเสื้อแดงในช่วงปี 53 มันต่างกันมากไหม
ต่างนะ ต่างๆ (พูดย้ำหลายครั้ง) ถ้าคนที่เคยรู้จักผมมาก่อน จะรู้ว่าไอ้นี้มันเป็นนักกิจกรรม มันก็เป็นทนายนะแหละ แต่มันมีดีเอ็นเอของนักกิจกรรม เป็นนักเขียนนิดๆ นักกิจกรรมหน่อยๆ ร้องเพลงพี่เป้าได้ คือมีลักษณะของคนสำมะเลเทเมาอยู่พอสมควร
แล้วเวลาเข้าคุกเราก็จะเป็นอีกแบบนึง คือจะไม่รู้สึกว่าถูกกระทำแบบเป็นคนคุก มันทำให้ซาบซึ้งหนังสือที่เราเคยอ่าน บทกวีเราเคยอ่าน อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยติดคุก ทองใบ (ทองเปาด์) เคยติดคุก มันเป็นเชิงโรแมนติกมากกว่าสำหรับผม พออยู่ด้วยกันกับนักโทษการเมืองหลายๆ คน มันเกิดการพูดคุยแล้วตกผลึก ออกมาครั้งล่าสุดทุกคนตกผลึกทางความคิดค่อนข้างเยอะ แล้วก็นิ่งขึ้น มีการวางแผนกันว่าระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวเราจะทำอะไรยังไง
ความโรแมนติกของมัน ความเท่ของมันอีกแบบนึงคือเวลาเรามาศาล เราถูกปฏิบัติจากคนกระบวนการยุติธรรมอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่นักโทษทั่วไป เขารู้ว่าเราเป็นนักโทษทางความคิด เขาก็จะแบบมึงไม่ใช่นักโทษทั่วไป นั่นหมายความว่า เวลามาเขาก็จะแยกรถมา เครื่องพันธนาการก็จะไม่มี โดนปลด ไม่ได้ใส่โซ่ แล้วเวลาอยู่ในห้องพิจารณา ทุกคนจะแสดงความคิดเห็น โต้แย้งศาลแม่ง เพนกวินขึ้นอ่านแถลงการณ์ โดนละเมิดอำนาจศาลไป 10 วัน แล้วทุกคนมันจะรู้ว่าเราไม่ได้มาในฐานะนักโทษ เราเป็นนักต่อสู้
คนข้างนอกในช่วงที่เราติดคุกมีการขับเคลื่อน พวกกลุ่มนักเขียนก็มีการมาอ่านจดหมาย เขียนบทกวี คือทำให้คนมันรู้สึกว่าเป็นขบวนเดียวกัน พวกพี่เหน่ง (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ) ก็มายืน (หยุดขัง) อะไรอย่างเงี้ย ก็เป็นขบวนอีกแบบนึง แต่ถามว่ามันเป็นจุดที่กระแสลงไหม ผมว่ามันเหมือนเป็นจังหวะ คือมันมีขึ้นมีลง มันไม่ถึงขนาดว่า คนแม่งหมดอาลัยตายอยาก
กลับไปเลือกประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ แต่มันจะมีเซนส์ของการ เขาเรียกอะไร ใช้ชีวิตช้าๆ แบบพัก สรุปตนเอง ทำงานหากิน เพื่อรออะไรบางอย่าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารออะไร
ผู้ชุมนุมตั้งใจรอการขยับเขยื้อน หลังมีการเข้ามาจัดการผู้ชุมนุมอย่างเป็นระบบโดยรัฐ
ครั้งล่าสุดที่ผมออกมา ได้ประกันตัว เงินกองทุนแม่งหมด ขาดอยู่ล้านกว่าบาทจะทำยังไง ทนายโพสต์ 3 ชั่วโมงได้มา 11 ล้าน คือเหมือนทุกคนจ้องจะทำอะไรบางอย่าง แล้วพอมีจังหวะปุ้บ ไอ้เนี่ย ประมาณนี้ สำคัญคือระหว่างที่พวกเราติดคุกเนี่ย มันเกิดกลุ่มการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวแบบเป็นไปเองโดยธรรมชาติเยอะมาก ติดครั้งแรกเกิดทะลุแก๊ซ
ไม่มีใครคิดว่าจะเกิด?
ไม่มีใครคิดว่าเราจะมีคนรุ่นใหม่ที่สังคมมองว่าเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่ง เป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษา โอเค อาจเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเป็นทะลุแก๊ซก็มีนะ แต่ว่ามันจะเป็นอีกเซนส์นึง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่พอสมควร แล้วสร้างปรากฎการณ์ทะลุแก๊ซที่สามเหลี่ยมดินแดงได้แบบถึงเนื้อถึงหนังมาก
ป้อมแม่งพังไปเจ็ดป้อม โดนเผา มันกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ประหลาดมาก คือตอนแรกมันมีการที่จะขยับออกจากขบวนราษฎรด้วยซ้ำนะ ว่าไอ้เหี้ยกูเป็นพวกเด็กช่างเด็กอะไรอย่างเงี้ย เป็นเด็กมาจากชุมชนแออัดหลากหลาย พอสุดท้ายคนจำนวนมากในสังคมบอก มึงอะเพื่อนกู ก็คือมึงไม่ใช่ตัวประหลาด แต่เป็นการแสดงออกที่เป็นคนละแบบเฉยๆ คนละสไตล์พูดง่ายๆ
สุดท้ายตอนนี้ทุกขบวนเป็นขบวนใหญ่เหมือนกัน แต่ว่ามีความยืดหยุ่นกันสูงมาก ไม่ผูกขาด ไม่มีใครสั่งใครได้ ติดครั้งที่ 2 มาอีกแล้วทะลุงวัง ทะลุอะไรมาจากไหนไม่รู้ มีทะลุฟ้าไปสร้างหมู่บ้านทะลุฟ้าขึ้นมา คือมันมีกลุ่มกิจกรรมเยอะมาก จนทุกวันนี้ ทุกคนเหมือนกับรออะไรบางอย่าง โอเคเราอาจโดนกระทำ แม่งติดคุกออกมา แล้วโดยเงื่อนไข โดนเนี่ย (EM) เอาไหมเนี่ย เมื่อก่อนจะมีเงื่อนไขขัง 24 ชั่วโมงในบ้าน ทีนี้เปลี่ยนใหม่เป็น 2 ทุ่ม ไปเที่ยวก็ไม่ได้ จะทำยังไง คือตอนนี้ก็ยังมีเงื่อนไขอยู่ กลับบ้านไม่เกิน 3 ทุ่ม ตอนแรกทุ่มนึงด้วย แม่งชีวิตกูทุ่มนึง จะให้กูไปทำอะไร ตอนนี้ถ้าพูดเรื่องระดับแกนนำที่อยู่บนหน้าสื่อ คือจริงๆ ม็อบเขาไม่อยากให้ใช้คำว่าแกนนำ เอาเป็นว่าคนที่ถูกสปอตไลต์ส่อง มีเงื่อนไขกันหมดแหละ

เงื่อนไขหลักๆ คือห้ามไปชุมนุม หรือจัดการชุมนุม?
ไม่ๆ เงื่อนไขหลักๆ คือ ห้ามไปโพสต์ชวนคนไปชุมนุม
ตรงนี้ผมสนใจ มันเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลเดียวเลยนะ ที่รัฐไทยจัดการเรคคอร์ด แล้วก็เอามาแจ้งข้อหากับผู้คน
ความเหี้ยกว่านั้นคือมันไปซื้อเพกาซัสมา ข้อมูลในโทรศัพท์ กูไปดูหนังโป๊ แทงบอล แม่งรู้หมดเลย คือแม่งโคตรเหี้ย คือมันกลายเป็นสงครามอีกแบบนึงแล้ว ทุกวันนี้ ทุกคนมีเงื่อนไข แล้วก็ทำงานรออะไรบางอย่าง ที่มันสุกงอม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอะไรนะ แล้วก็เมื่อไหร่ยังไม่รู้ แต่ทุกคนไม่มีใครหนีไปไหน ไอ้ไผ่ก็ยังทำงานเคลื่อนไหวของมันอยู่ ไอ้กวิ้นก็ยังทำงานนักศึกษาอยู่ ผมเป็นทนายก็ว่าความ วันนี้ก็ร้องอธิบดี ไปยื่นหนังสือ ทุกคนก็ยังเต็มที่กับมันอยู่
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม