สื่อไทย กระจายอำนาจ และก้อนเค้กของรัฐรวมศูนย์  

อาจเพราะเพียงสายลมเบาบางของการเปลี่ยนแปลง ก็พอจะนำมาซึ่งความหวัง แม้ว่าเวลา 8 ปี ของระบอบที่เป็นอยู่อาจทำให้เราเผลอเคยชินกับบางสิ่ง หากที่ควรเป็นไปเพื่อประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดขึ้นจริง นั่นคือห้วงเวลาที่เราต่างตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในระบบการปกครอง

กระทั่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหมือนต้นลมที่แม้จะบางเบา หากเทียบกับจังหวัดที่เหลือของประเทศ แต่ในตอนนั้นเองใครสักคน หรือสักกลุ่ม ก็เริ่มสนทนาถึงการ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ จนทำให้เรื่องกระจายอำนาจกลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง กระนั้น สายลมที่ว่านี้อาจไม่มีกำลังพอพรูผ่านไปถึงฟากฝั่ง หากไร้ซึ่งการช่วยกันพัดกระพือของภาคประชาชน

หนึ่งในกำลังสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นกระบอกเสียง รวบรวมข้อมูล และถกหาแนวทางความเป็นไปได้ นั่นก็คือ สื่อสารมวลชน

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท หรือ บัส ที่ผมและหลายคนรู้จัก เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เพียงติดตามเรื่องการเมืองและสังคมไทยมาเป็นเวลานาน หากยังเป็นสื่อสารมวลชนที่ลงมือทำงานข่าว รวมถึงแสดงความคิดเห็นในประเด็นแหลมคมต่างๆ ในหลายโอกาส

ในวันฟ้าเปิด แดดออกแรงร้อนฉาบผิวถนน ผมเดินทางมาถึงออฟฟิศสำนักข่าวประชาไท ร่มเงารอบบริเวณ รวมถึงแมวลายวัวตัวอ้วนก็ทำให้ทุกอย่างสงบเย็น

ในฐานะคนทำสื่อ มองว่าทุกวันนี้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถูกพูดถึงมากน้อยแค่ไหน

อย่างที่ทราบกัน มีแคมเปญใหญ่ๆ ของกลุ่มที่สนับสนุนเรื่องนี้อยู่ 2 แคมเปญ คือเรื่องเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ของกลุ่ม The Voters โดยมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบ เป็นไอเดียที่ทำให้คนตื่นตัวอยากจะมีการเรื่องตั้งผู้ว่าฯ ในต่างจังหวัด โพลล์ต่างๆ ก็ชี้ไปว่าคนมีความสนใจ ประเด็นที่พูดถึงก็เยอะ อีกกลุ่มหนึ่งที่พูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ มีข้อเรียกร้อง ชงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 (การปกครองท้องถิ่น) ของคณะก้าวหน้า 2 แคมเปญนี้เป็นส่วนสำคัญที่ผมคิดว่ากระแสในปัจจุบันนั้นสูงอยู่ หลังจากการรัฐประหารที่ทำให้เรื่องท้องถิ่นถูกดองมานาน แต่แน่นอนว่า ท้องถิ่น มี อบจ. ซึ่งเลือกตั้งตอนปลายปี 2563 เรื่อยมา จนกระทั่งล่าสุดมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา

แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ตอนที่เรื่องการกระจายอำนาจถูกพูดถึงและได้รับความสนใจอย่างมาก คือช่วงหลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ยุคนั้นผมเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ ประเด็นที่ต้องพูดคุยกันคือเรื่องนี้ การเมืองระดับชาติค่อนข้างมั่นคง มีสภา มีนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง มีอะไรต่างๆ ที่ทำให้ระบอบดูมั่นคง คนก็เลยมองหาการปฏิรูปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ นักศึกษารัฐศาสตร์ต้องเรียนเรื่องการกระจายอำนาจ มีโมเดลจากที่ต่างๆ มาพูดคุยกัน แล้วก็มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยแผนและขั้นตอนของการกระจายอำนาจออกมา

จนกระทั่งมีรัฐประหารปี 2549 โจทย์ทางการเมืองที่เดิมทีอาจมองว่ามั่นคง ก็เลยไม่มั่นคงแล้ว

กระแสการกระจายอำนาจไม่ใช่แค่ท้องถิ่น แต่มันยึดโยงกับการเมืองระดับชาติ  เช่น ชัชชาติก็เหมือนกัน คนต่างจังหวัดก็พูดถึงชัชชาติ แต่ไม่ได้พูดถึงในฐานะเป็นผู้ว่าฯ ของตนเอง พูดถึงในฐานะตัวเปรียบเทียบกับพลเอกประยุทธ์ ทั้งในเชิงบุคลิกภาพและในเชิงที่มา ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เรื่องการกระจายอำนาจกลับมาถูกพูดถึงอย่างมาก

คนตระหนักถึงสิทธิของตนเองมากขึ้น?

ต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เพราะมันเป็นภาพจำลองของการเลือกตั้งใหญ่ โดยไม่มีตัวแทรกอย่าง ส.ว. ซึ่งมีอำนาจนำทางการเมือง แทบจะเปรียบเทียบกับประยุทธ์ได้ เพราะอย่าลืมว่าชัชชาติก็เป็นแคนดิเดตนายก มันเลยไม่ใช่โจทย์เฉพาะกรุงเทพฯ มันเป็นโจทย์ที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจ เป็นความหวังว่าถ้าระบบมันดี เราก็มีตัวเลือกที่ดีได้

รวมถึงคณะก้าวหน้าที่รณรงค์ล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญหมวด 14 และส่งคนลงสมัครตั้งแต่ อบจ. เทศบาลต่างๆ แม้มีได้บ้างไม่ได้บ้าง เขาก็พยายามเอาโมเดลใหม่ๆ มาเสนอ ทำให้ท้องถิ่นเป็นวาระระดับชาติ แต่อย่างที่พูดไปแล้วสิ่งที่ทำให้เกิดความสนใจอย่างมากก็คือเคสของชัชชาติ คือจริงๆ แล้วชัชชาติอาจไม่ได้แสดงตัวตนอะไรใหม่ เพราะว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมักมีบุคลิกแบบนี้อยู่แล้วที่ต้องใกล้ชิดกับประชาชน แต่ว่าที่ผ่านมาเราอาจอยู่กับนายกฯ ที่มาจากรัฐประหารจนชิน มันเลยเกิดความรู้สึก เอ๊ะ! ทั้งที่ไม่ได้เป็นของใหม่ แต่เป็นเราที่อยู่กับระบอบที่ไม่ได้มาจากประชาชนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์มานาน

เราเคยจัดเสวนาคุยกับ บรรณาธิการอาวุโส ของ เดอะ แมทเทอร์ คุณพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ เขาให้ความเห็นว่า สื่อทุกวันนี้ถูกลดความสำคัญลง เพราะทุกคนมีสื่อในมืออย่าง โซเชียล มีเดีย แพลตฟอ์รมต่างๆ มีความเห็นอย่างไร

ผมเห็นด้วยว่าสื่อที่เป็นสื่ออาชีพถูกลดความสำคัญจากประชาชน เพราะคนเรามีเวลาจำกัด เราเสพสื่อที่ถูกผลิตจากเพื่อนบ้าง จากอินฟลูเอนเซอร์บ้าง จากนักข่าวพลเมืองบ้าง จากคนที่อาจไม่ได้เป็นสื่ออาชีพ แต่พอดีเขาอยู่ในจังหวะช่วงเวลาที่สามารถรายงานได้ และโซเชียลมีเดียก็มีกลไกอัลกอริทึมที่เติมตรงนี้ให้เราได้ มันเลยแย่งเวลาของประชาชนจากคนทำสื่ออาชีพ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องจริง และมันสร้างที่มาของข่าวที่ไม่เหมือนเดิม

ที่เคยมาจากโครงข่ายของสำนักข่าว อาจผูกขาดจากสำนักข่าวใหญ่ๆ แต่นี้มีที่มาจากใครก็ได้ที่อยู่ในเหตุการณ์ บางสำนักข่าวก็เอาข้อมูลจากตรงนี้ไปใช้ต่อ สื่อใหญ่ๆ ที่เล่าข่าวแทบจะเอาคลิปมารัน ซึ่งคลิปที่ว่านี้เดี๋ยวก็ไปโผล่ช่องนั้น เดี๋ยวก็ไปโผล่ช่องนี้ และไม่ใช่รอบเดียวด้วย โผล่เช้า กลางวัน เย็น สิ่งนี้สร้างการคอนเนคที่ไม่ใช่เรากับสำนักข่าว แต่เราสามารถคอนเนคกับแหล่งข่าวได้ รวมถึงพรมแดนก็ไม่ใช่แค่ภายในประเทศอีกแล้ว หลายคนคอนเนคกันระหว่างประเทศ อย่าง Milk Tea Alliance (ขบวนการในโลกออนไลน์เพื่อความเป็นปึกแผ่นทางประชาธิปไตย ประกอบด้วยคนใช้อินเทอร์เน็ต ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย) มันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้รัฐชาติ

ทั้งนี้ทั้งนั้น มันมีข้อกังวลอยู่ว่าเมื่อเราพึ่งอัลกอริทึม เราก็มีแนวโน้มจะอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า Echo Chamber หรืออยู่ในกลุ่มสิ่งที่เราถูกใจ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับในอดีตที่ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็ยังทำให้คนหูตากว้างขึ้น ลึกขึ้น แน่นอนว่าครั้นจะทำข่าวเชิงลึก หรือข่าวสืบสวนสอบสวน นักข่าวพลเมืองเขาไม่มีเวลาแบบนั้น บวกกับเรื่องข้อมูลข่าวสารที่สื่อหลักก็มีตรงนี้อยู่ บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ใช้สื่อออนไลน์ก็มี มันแย่งช่วงเวลาเราไป พูดในทางลบคือทำให้คนสมาธิสั้น แต่ถ้าพูดในทางเข้าใจคือคนมีเวลาจำกัด ดังนั้นคนที่จะสนใจข่าวเชิงลึก หรือข่าวที่มีข้อมูลเยอะๆ อาจมีจำนวนน้อยลง

เราจะเห็นว่าวัฏจักรของข่าวมันสั้นมาก หลายครั้ง ยกตัวอย่างอุทยานแห่งชาติราชภักดิ์ วัฏจักรคือมีคนเปิดประเด็นเรื่องนี้ มีนักกิจกรรมไปเรียกร้องให้มีผู้รับผิดชอบ นักกิจกรรมเหล่านั้นถูกดำเนินคดี และคดีอาจยังอยู่ก็ได้ แต่คนไม่สนใจแล้ว ส่วนคนที่ต้องรับผิดชอบก็เงียบ

แล้วก็จะมีกลไกของรัฐเช่น ป.ป.ช. ที่ดูดซับเรื่องเหล่านั้น มีคนร้องเรียนแล้ว คุณนักร้องคนนั้นมาร้องเรียนแล้ว โอเค พอนะ ไม่ต้องมาร้องเรียนแล้ว อยู่ในกระบวนการแล้ว นี่คือการดูดซับความไม่พอใจ คนก็ไปสนใจเรื่องอื่น มีเรื่องอื่นให้ด่า แล้วเวลาเราจะด่าเรื่องอะไรสักอย่าง เราใช้เวลากับมัน

จากคำตอบ คุณกำลังพูดว่าเรามีข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงได้ง่าย แต่ด้วยความที่มันเยอะมาก ทำให้ความสนใจของเรา รวมถึงการนำเสนอข่าวในประเด็นต่างๆ ไปได้ไม่สุดทาง

ใช่ และเข้าใจสื่อด้วย เพราะสื่อมีโจทย์ว่าต้องใหม่ ต้องอยู่ในความสนใจของคน ถ้าทำเรื่องเก่าก็จะรู้สึกไม่มั่นใจแล้วว่ายอด Engagement จะมาหรือเปล่า ยอด Engagement มันนำมาซึ่งโฆษณา นำมาซึ่งรายได้

มองว่าเป็นปัญหาไหม เมื่อผู้คนให้ความสนใจประเด็นหนึ่ง แต่พอมีประเด็นอื่นที่ใหม่กว่า ความสนใจก็เคลื่อน ขณะที่ประเด็นเดิมก็ยังไม่คลี่คลาย หรือยังไม่ได้ถูกเข้าไปจัดการ จากนั้นก็ค่อยๆ  เงียบไป

สื่อที่ต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจ ผมมองว่าเขาไม่มีปัญหา เพราะต้องทำแบบนั้น เป็นเนื้อนาบุญของเขาที่ต้องเลี้ยงตนเอง ครั้นจะมาทำเป็นแม่พระยอมขาดทุนเพื่อจะตามประเด็นนี้ ก็ใช่เรื่อง อาจมีบ้างเฉพาะสื่อที่มีวาระทางการเมืองโดยเฉพาะ แต่สิ่งสำคัญเราต้องรณรงค์กับผู้อ่านให้สามารถเลี้ยงสื่อ หรือคนที่สามารถกัดไม่ปล่อยให้ได้ ซึ่งคุณอาจต้องมีช่องทางบริจาค หรือช่องทางสนับสนุนให้เขาทำต่อไปได้ อย่างไรก็ตามมันต้องมีสื่อหลายแบบให้เลือก เราไม่ควรลดทอนสื่อที่ทำธุรกิจ ต้องดูด้วยว่าบริบทของเขาต้องอยู่รอดด้วยอะไร

คุณพงศ์พิพัฒน์ บอกว่า สื่อเองก็มีความรู้เรื่องกระจายอำนาจจำกัด มีความเห็นอย่างไร

ผมเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง เห็นด้วยแน่นอนว่ามันจำกัด เพราะไม่มีใครไปลงทุนกับเรื่องนี้ เพราะไม่ได้อยู่ในความสนใจของคน ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Free Rider หรือเป็นเรื่องที่ก็ทำไปสิ เดี๋ยวกูก็ได้ประโยชน์

เรานึกถึงตัวละคร เช่น พวกนักการเมืองท้องถิ่น น่าจะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเรื่องนี้ แต่ดูเงียบมาก ถ้าไม่มีคณะก้าวหน้า หรือกลุ่ม The Voters ที่เรียกร้องเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ มันดูไม่มีแคมเปญจากตัวท้องถิ่นเองเลย ทั้งที่เขาเป็นคนที่น่าจะได้ประโยชน์ หรือเขาอาจทำแต่เราไม่รู้ก็ได้

แต่นั่นแหละ เรียกว่าเป็นหลักฐานสำคัญว่าเราเอง หรือแม้กระทั่งสื่อเองก็อาจไม่ได้คิดว่ามันเป็นโจทย์ที่ต้องตระหนัก หรือต้องตาม ต้องกัดไม่ปล่อย พอมันเป็นโจทย์ที่เราไม่รู้สึกตระหนัก มันก็เป็นโจทย์ที่ประชาชนทั่วไปอาจคิดว่าไม่ต้องตระหนักก็ได้ อย่างที่ผมบอกว่าการเมือง คนไปโฟกัสที่ส่วนกลาง เพราะว่าเป็นวาระทางการเมืองที่ข้อดีเบทหลักมันเป็นเรื่องคุณจะเอา ส.ว. หรือเปล่า คุณจะอยู่ 8 ปีหรือไม่ มันเป็นการดีเบทในการเมืองส่วนกลาง

แม้ว่าคุณจะอยู่ท้องถิ่น คุณก็ต้องดีเบทเรื่องการเมืองส่วนกลาง ดังนั้น พอความสนใจของคนมาอยู่ตรงนี้ สื่อเองก็ต้องอ่านความสนใจของคน พอสื่ออ่านความสนใจของคน เขาก็อาจไม่ได้มาลงทุนทำข้อมูล หรือว่าศึกษา ผมเชื่อ คำว่าไม่มีความรู้เพียงพอ เหตุผลอาจมาจากส่วนนั้น แต่ว่าถ้าเขาเห็นว่าคนให้ความสำคัญ แน่นอนว่ามันศึกษาได้

สื่อทุกสื่อ มีข่าวสารมากมายที่ต้องเล่นให้ทันกระแส แต่การกระจายอำนาจสำคัญ เพราะคือการกระจายคุณภาพชีวิตที่ดีสู่คนทั้งประเทศ คุณเสนออย่างไรให้สื่อเล่นข่าวการกระจายอำนาจบ้าง

ผมอาจตอบไปบ้างบางประการแล้ว คือเวลาเล่นโจทย์ของท้องถิ่น แปลว่าท้องถิ่นต้องกำหนดวาระ หรือประเด็นของตนเอง ส่วนมากที่ผ่านมา ท้องถิ่นที่ได้รับความสนใจต้องเป็นการรับใช้วาระของส่วนรวม อย่างเช่นเรื่องบ้านกกกอก ลุงพลเป็นเรื่องท้องถิ่น เป็นเรื่องความขัดแย้งในครอบครัว ในท้องถิ่น ที่มีกลิ่นอายของสืบสวนสอบสวน อาชญากรรม รับใช้โจทย์ความสนใจระดับชาติ

แม้กระทั่งเรื่อง อ.ชัชชาติ ก็เป็นเรื่องระดับชาติ สื่อใหญ่ถึงสนใจ ไม่อย่างนั้นฐานผู้อ่านจะถามว่า แล้วทำไมกูต้องรู้เรื่องอื่น ดังนั้นเวลาจินตนาการภาพ ผมคิดว่าสื่อท้องถิ่นนั้นๆ มีรูปแบบของตนเองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน หรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เป็นเรื่องซึ่งคนนอกพื้นที่อาจไม่รู้เลย

แต่ว่ามีการสื่อสารภายในท้องถิ่นอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น วิทยุชุมชนหลายก็ถูกควบคุมโดยทหาร ซึ่งเขาก็มีวาระ มีประเด็นแบบของเขา หรือไม่อย่างนั้น เราควรส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญ และพยายามหล่อเลี้ยงให้สื่อท้องถิ่นดำรงอยู่ได้ โดยไม่ถูกผูกขาดโดยทุน แม้กระทั่งกองทัพ หรือองค์กรระดับชาติ

การไม่กระจายอำนาจ ทำให้ไม่เกิดสื่อท้องถิ่นดีๆ เพราะไม่คุ้มค่าในการตั้งสำนักข่าว เรื่องนี้จริงไหม

สำนักงบประมาณอ้างว่าจัดสรรให้ 29% ของงบประมาณทั้งหมด ไม่รวมงบกู้เพิ่ม อาจยังไม่เยอะหรือเปล่า และแม้จะกระจายไปท้องถิ่นก็ตาม แต่บางท้องถิ่นต้องจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้กับกิจกรรมส่วนกลาง เช่นกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ และพอเงินไม่เยอะเท่าที่ควรจะเป็น มันก็ทำให้กิจกรรมในท้องถิ่นไม่เพียงพอดึงดูดความสนใจของคนที่จะมาทำงานสื่อสารในท้องถิ่น ตรงนี้ผมตั้งคำถาม

มันเลยเชื่อมโยงกับการทำงานของสื่อท้องถิ่น?

อย่างที่ผมพูดก่อนหน้านี้

สื่อที่น่าจะฟังก์ชันในท้องถิ่น เช่น สื่อวิทยุ พวกนี้อยู่ในมือของรัฐ ข้อมูลในปี 2557 หลังรัฐประหารมีอยู่ 200 กว่าสถานี ทั้ง AM และ FM เวลาที่คุณจะเช่าสัญญาณ ทรัพยากรตรงนี้ยังอยู่ในมือของรัฐ โดยเฉพาะรัฐส่วนกลาง และกองทัพ เป็นมรกดตกค้างมาจากยุคสงครามเย็น

ผมคิดว่ามันก็เลยทำให้คนกำหนดวาระไม่ใช่ท้องถิ่นโดยตรง อาจจะเป็นวาระที่ฝากมาจากผู้ที่ให้เช่าสัญญาณ กับวาระทางธุรกิจของผู้เช่าเอง ถ้าไปฟังวิทยุท้องถิ่น เราจะได้ยินสินค้าประเภทยาบำรุงต่างๆ เยอะมาก และผู้ที่มีเวลาอยู่บ้านฟังเนื้อหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

สื่อไม่ว่าท้องถิ่นหรืออยู่ในกรุงเทพฯ มักให้ความสำคัญแค่ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น หมายถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้น เห็นด้วยไหม

คิดว่าหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ คือต่างจังหวัดยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยังเป็นกลไกของส่วนภูมิภาค สองคือผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ อย่างที่ผมพูดว่าเป็นตัวเปรียบกับผู้นำประเทศที่ผ่านมา คนจึงสนใจ เพราะว่าโจทย์ของกทม. ไม่ใช่โจทย์เฉพาะของคนกทม. เท่านั้น แต่เป็นโจทย์ร่วมของคนทั้งประเทศด้วย ถ้าสังเกตคนต่างจังหวัดก็ให้กำลังใจชัชชาติ อยากให้ชัชชาติเป็นนายกฯ ซึ่งเห็นด้วยครับที่ว่าส่วนใหญ่คนจะนึกถึงผู้ว่าฯ กทม.

แต่แน่นอนว่า

เท่าที่มีโพลล์สำรวจ นิด้าโพลล์ หรืออีสานโพลล์ เห็นชัดว่าคนก็อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของจังหวัดตนเอง แต่คนที่จะเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง มันไม่มี ต้องทำให้เป็นนโยบายของพรรคการเมือง สิ่งนี้เป็นโจทย์สำคัญเลยว่าพรรคการเมืองไม่ว่าฝักฝ่ายไหน มีแนวโน้มว่าอาจไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจก็ได้

เพราะเขาเห็นว่า ส.ส. ต้องผันงบลงจังหวัด เราจะนึกถึงส.ส. ที่ผันงบลงจังหวัดเป็นภาพโมเดล เช่น บรรหาร หรือเนวิน แม้เขาโตมาจากบ้านใหญ่ มาจากท้องถิ่น แต่เขาเป็นนักการเมืองระดับชาติที่ดึงทรัพยากรจากส่วนกลางเข้าไปจังหวัดเขาได้มาก แล้วอาจเรียกได้ว่าเขาก็ครองอำนาจในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งโมเดลของพรรคใหญ่ๆ จะเป็นแบบนี้ ไม่ว่าโปรประชาธิปไตย หรือโปรประชาธิปไตยครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็มาจากฐานเหล่านี้

ดังนั้นเขาอาจไม่อยากทุบหม้อข้าวตนเอง เพราะ ส.ส. ไม่ได้ทำแค่งานนิติบัญญัติ แต่ด้านหนึ่งเขาอยากเป็นรัฐบาล และอยากทำงานบริหาร แล้วดึงทรัพยากรจากส่วนกลางไปลงจังหวัดของตน ดังนั้นคนจำนวนนี้ หรือพรรคการเมืองเหล่านี้ อาจไม่แฮปปี้กับการกระจายอำนาจที่กระเป๋างบส่วนกลางจะลดลงไปให้กับท้องถิ่นมากขึ้น เขาอาจมองแบบนั้น แต่แน่นอนว่า ผมก็ยังหวังให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น

ในสถานการณ์ข่าวปัจจุบัน เล็งเห็นปัญหาทางสังคมการเมืองใดบ้าง ที่มีผลมาจากระบบรัฐรวมศูนย์

ถ้ามีการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ นายกฯ ส่วนกลางแทบจะเป็นผู้ประสานงานเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอำนาจในการจัดงบประมาณไปลงโครงการนู้นนี้เท่าไหร่ เพราะว่างบต้องมาจากฐานราก จากในจังหวัด หรือจากอบจ. อบต. แต่ปัจจุบันมันมีโจทย์อยู่ว่าส่วนกลางมีอำนาจมาก เรามีโจทย์ทางการเมืองว่าประยุทธ์จะอยู่ 8 ปีหรือไม่ ส.ว. จะมีบทบาทในการเลือกนายกอีกหรือเปล่า รวมถึงจะมีรัฐประหารหรือไม่

ถ้าเรากระจายอำนาจมาก ต่อให้คุณรัฐประหารส่วนกลางได้ ส่วนจังหวัดอาจตั้งป้อมสู้ได้ ตำรวจอาจต้องไปขึ้นกับจังหวัด หรือหน่วยงานสาธารณภัยต่างๆ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นหมดเลย ทรัพยากรถูกกระจาย ไม่ได้อยู่กับส่วนกลาง ต่อให้คุณยึดอำนาจได้ ก็อาจยึดประเทศไม่ได้ หากมีการกระจายอำนาจเต็มที่

โจทย์ที่เรากำลังกังวลอยู่ก็อาจลดลง

ตอนนี้ข้อเสนอของกลุ่ม The Voters เคลื่อนไปอยู่ที่ ต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ และกำลังจะมี พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน คุณมองเห็นความหวังไหม

แน่นอนว่าแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ อยู่ในรูปธรรม มองเห็นโมเดลที่มีอยู่ คนทุกคนสามารถจินตนาการได้ผ่านกรุงเทพฯ แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็เป็นท้องถิ่นชั้นเดียว คือ ส.ข. ถูกยกเลิกไปแล้ว และอย่าลืมว่าหน่วยย่อยของกรุงเทพฯ ก็คือเขต ผู้อำนวยการเขตไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต่างจังหวัดเรายังมีนายกอบต. ที่มีจากการเลือกตั้ง ซึ่งหน่วยงานย่อยของต่างจังหวัดอาจดีกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในแง่ของการรณรงค์เกาะเกี่ยวให้คนเห็น ผมว่ามันมีรูปธรรมอย่างกรุงเทพฯ ถ้าจังหวัดอื่นที่พร้อมก็เป็นไปได้ที่จะทำ แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าผู้ว่าฯ หรือนายกจังหวัด หรืออะไรก็แล้วแต่ มันต้องมีที่มาจากคนในพื้นที่ ไม่ใช่จากรัฐส่วนกลางส่งไป และมีสภาที่เป็นคนคอยตรวจสอบพิจารณางบประมาณที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงด้วย ผมคิดว่ามันต้องไปคู่กัน รวมถึงจัดการสิ่งไม่จำเป็นหรือย้วยลง เช่นส่วนภูมิภาคก็อาจต้องยุบไปเลย และส่วนกลางเองก็อาจทำหน้าที่แค่กำกับดูแลเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เช่น ถ้าหากมีการร้องเรียนก็อาจมีส่วนกลางเป็นคนตรวจสอบ หรือมีเกณฑ์การวัดผล การประเมินผล แต่ว่าไม่ควรมีอำนาจในการให้คุณให้โทษ

อยากเห็นนโยบายใด พัฒนาคุณภาพชีวิตคนต่างจังหวัด

ทุกวันนี้เวลากลับไปต่างจังหวัดจะเห็นป้ายโฆษณาพวกสินเชื่อเยอะ ปัจจุบันเรามีหนี้ครัวเรือนสูงมาก เพราะคนหมุนเงินกันไม่ทัน บางคนเลือกกู้หนี้นอกระบบ และหนี้นอกระบบดอกมันแพง บางทีก็กู้หนี้อันนี้ มาโปะหนี้อีกอัน เรียกว่ารู้จักเจ้าหนี้ทั้งจังหวัดเลย

ผมคิดว่าท้องถิ่นเองน่าจะเป็นคนใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ดังนั้น เขารู้เครดิตของแต่ละคน การทำกองทุนเพื่อให้ประชาชนได้กู้ นาโนไฟแนนซ์ หรืออะไรต่างๆ ที่จะมาแทนสินเชื่อ หรือเงินกู้นอกระบบ ที่อาจเป็นอีกแหล่งรายได้หนึ่งของท้องถิ่น น่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ช่วยประชาชน แน่นอนว่าเรื่องสวัสดิการก็ต้องพูด แต่ว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องเฉพาะหน้า พอเป็นหนี้มันคิดถึงอนาคตตนเองไม่ค่อยออก เพราะว่าวันนี้ทำงานนอกจากเพื่ออิ่มแล้ว ยังจะต้องเพื่อใช้หนี้ บางทีโจทย์ชีวิตมันมีอยู่แค่นี้ เป็นพันธนาการผูกติด เวลาเราเป็นหนี้ เราก็ไม่กล้าลงทุน หรือกล้าเสี่ยง

นอกจากนั้น ผมคิดว่าเรื่องของการรวมกลุ่มของกลุ่มคนต่างๆ เช่น เป็นกลุ่มในเชิงพื้นที่ อยู่ในพื้นที่เดียวกันให้เขาได้รวมกลุ่มเพื่อมีปากมีเสียง หรือรวมกลุ่มในเชิงหน้าที่ เช่นคนงานในจังหวัดนั้นๆ สามารถรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งบางพื้นที่มีอยู่แล้วแต่อาจไม่ได้รับการส่งเสริมจากท้องถิ่นเท่าไร คนเหล่านี้เป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีอำนาจ แต่พอเขารวมกลุ่มกัน เขาจะมีอำนาจในการต่อรอง และจะมีบทบาทในการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มากขึ้นด้วย และมันก็จะนำมาสู่เรื่องของคุณภาพชีวิต หรือการจัดสรรทรัพยากรในท้องถิ่นที่จะมาสู่ประชาชนมากขึ้น

จากการทำข่าวมา คิดว่าอุปสรรคในการจะเกิดขึ้นจริงของนโยบายและอิสระของผู้ว่าฯ คืออะไร

ผมคิดว่าอุปสรรคที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ยาก คือไม่มีเจ้าภาพ อาจมีเจ้าภาพเป็นแคมเปญ เป็นกลุ่ม แต่ว่ากลุ่มขนาดใหญ่ คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น บรรดาท้องถิ่นต่างๆ น่าจะลุกขึ้นมาผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนเรื่องส่งเสริมบทบาทของคนเล็กคนน้อยในท้องถิ่นให้มีการรวมกลุ่ม อันนี้ก็อาจเป็นเรื่องยาก ด้วยคนส่วนหนึ่งอาจรู้สึกว่าก็ทำไปสิ ฉันได้ประโยชน์ ฉันเอาใจช่วยนะ

ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เป็นโมเดลที่มีอยู่และสร้างแรงบันดาลใจให้กับที่อื่น กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตก็เป็นการรวมกลุ่มของคนงานที่อยู่ในพื้นที่ย่านรังสิต แม้ไม่ได้เป็นแคมเปญระดับชาติ แต่ก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องสภาพที่อยู่อาศัยของแรงงาน สิทธิของแรงงานในย่านนั้น เราอาจใช้โมเดลนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับที่อื่นๆ

อยากทราบความคิดเห็นต่อเรื่องการกระจายอำนาจในประเทศไทยที่เคยมีความก้าวหน้ามากกว่านี้ แต่ปัจจุบันกลับถอยหลังลงคลอง หลังรัฐประหารปี 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการเลือกตั้งท้องถิ่น และเพิ่งให้จัดไม่นานมานี้

ตอนปี 2540 แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจเป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ รัฐราชการถูกท้าทายด้วย 2 กระแสด้วยกัน ด้านหนึ่งคือเรื่องของการทำให้รัฐเล็กลง อีกด้านหนึ่งคือการพยายามเอาโมเดลทางธุรกิจ ความคิดแบบผู้ประกอบการมาใช้กับรัฐ แล้วมองประชาชนเป็นลูกค้า และข้าราชการเป็นผู้ให้บริการ จากที่เคยเป็นผู้ปกครอง มันเลยสะเทือนต่อฐานคิดว่าอำนาจของข้าราชการอยู่ตรงไหน

อีกอันคือ การกระจายอำนาจทำให้รัฐราชการเล็กลง เพราะถูกแบ่งเค้ก แม้ว่ามีทักษิณเป็นคนจุดชนวน แต่รัฐประหารปี 2549 นั้นมาจากความไม่พอใจ 2 กระแสนี้ด้วย คิดว่าอย่างนั้นนะ แล้วรัฐราชการก็พยายามรักษาตนเอง จนอีกครั้งคือรัฐประหารปี 2557 เห็นได้ชัดว่าการปฏิรูปอะไรต่างๆ ที่พูดก่อนหน้านั้นก็ดูไม่เป็นจริง

ปัจจุบันพอเรื่องนี้ถูกดอง แล้วเราก็ไปสนใจการเมืองระดับชาติ ซึ่งมันกลายเป็นว่าไม่ได้ถอยหลังแค่การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ถอยหลังตั้งแต่การเมืองในรัฐสภา ที่เราควรจะได้ข้อยุติแล้วว่า ส.ส. นั้นมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ควรมี ส.ว. มามีอำนาจในการเลือกนายกฯ ด้วย คือระบบในภาพใหญ่มันถอยหลัง ย้อนกลับไป 2540 ยังดูก้าวหน้ากว่านี้ โจทย์เวลาเราดีเบตทางการเมือง เราคงไม่ต้องพูดแล้วว่าจะมีรัฐประหารหรือเปล่า แต่นี่เรายังติดอยู่ในวังวนว่าอาจจะมีก็ได้นะ เพราะมันก็มีมาตลอด

ใช่ไหมว่า รัฐรวมศูนย์คือภาพสะท้อนความเสื่อมถอยของประชาธิปไตย

ที่มาของรัฐรวมศูนย์ คือการรวบอำนาจมาอยู่ส่วนกลาง แล้วไม่ใช่ส่วนกลางเพื่อประชาชนด้วยนะ ย้อนกลับไปรัชกาลที่ 5 รวบอำนาจจากเมืองต่างๆ อย่างนครศรีธรรมราช หรือล้านนา เขาก็มีเจ้าปกครอง เป็นอีลีทของเขา แน่นอนว่ามีการกดขี่ในระดับย่อย และรัชกาลที่ 5 ก็สร้างระบบราชการขึ้นมา แล้วเอาระบบราชการรวบอำนาจส่วนต่างๆ มาอยู่ในมือของอีลีทกรุงเทพฯ

ถ้าหากเรามีจินตนาการแบบชาติที่เป็นอยู่ ชาติที่เป็นอยู่นี้ก็ได้ผ่านการรวมศูนย์อำนาจ และการรวมศูนย์อำนาจของเจ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคำตอบอยู่แล้วว่ารัฐรวมศูนย์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ยึดโยงกับประชาชน ในขณะที่การกระจายอำนาจ หลักการนั้นเป็นขาสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองโดยประชาชน

คนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจมักพูดว่าคนต่างจังหวัดไม่พร้อม สิ่งนี้บอกอะไร และถ้าจะมีความไม่พร้อมอยู่จริง สิ่งนั้นคืออะไร

คือเวลาบอกว่าไม่พร้อมนี่ แล้วทำไมให้เลือก ส.ส. ที่เป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติได้ ถ้าไม่พร้อมจริงๆ ก็ไม่พร้อมตั้งแต่ ส.ส. หรือเปล่า ดังนั้น ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่เอามาเบรกการกระจายอำนาจ ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง

บางฝ่ายก็บอกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทั้งที่ความจริงสิ่งที่ควรทำคือ ทำให้รู้สึกว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา เรามักถูกหล่อหลอมโดยเรื่องเล่าว่าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวต่อเนื่องยาวนาน โดยวาทกรรมสร้างความเป็นชาติ หรือแม้กระทั่งในชุมชน

ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งในทุกอณู ผมคิดว่าตราบเท่าที่ความขัดแย้งไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรง ความขัดแย้งนี้จะช่วยตรวจสอบด้วยซ้ำไป

ในฐานะสื่อ มองว่าปัจจุบันความตื่นตัวต่อเรื่องการกระจายอำนาจของประชาชน มีความแข็งแรงพอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือยัง

ผมดูปรากฏการณ์ตั้งแต่ปี 2563 การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ถ้าพูดในฐานะของคนทำข้อมูลข่าวสาร หรือทำสื่อ หนึ่ง-เขาไม่ได้ยึดติดอยู่กับเรื่องเล่าเดิมแบบของรัฐ ในแบบเรียน หรือในละครหลังข่าว หรือในสื่ออื่น ๆ ที่เป็นสื่อกระแสหลัก เขามีตั้งแต่ข้อมูลข่าวสารที่เขาแลกเปลี่ยนกันเอง แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ผูกติดอยู่กับค่านิยมใหม่ๆ ไม่ใช่ค่านิยมที่ถูกรัฐส่วนกลางหรือผู้มีอำนาจปลูกฝัง

ผมคิดว่าเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เขาจะสร้าง หรือกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเอง หรือระบบการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่เพื่อชนชั้นนำ แต่เพื่อตัวเขาในฐานะของประชาชน ผมคิดว่ามีความแข็งแรง มีความเป็นไปได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีโจทย์เรื่องที่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ แน่นอนว่ามีพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองที่ออกมาเป็นแคมเปญ ก็อาจช่วยให้กระแสความต้องการเหล่านี้เกิดเป็นนโยบาย เป็นทิศทางการเคลื่อนไหวได้

แล้วในฐานะประชาชน มีความหวังต่อเรื่องการกระจายอำนาจอย่างไร

มีความเป็นไปได้มากขึ้น ในอนาคตน่าจะเป็นกระแสที่คนรุ่นใหม่ต้องการมากขึ้น และการกระจายอำนาจเป็นการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน ไม่ใช่แค่เราไปเลือกผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น แต่ส่งเสริมว่าเราจะมีส่วนร่วมยังไงบ้าง เช่น เรื่องมติต่างๆ ของท้องถิ่น มันควรจะทำเป็นประชาธิปไตยโดยตรงเลยได้ไหม ทำเป็นประชามติเลยได้ไหม

เทคโนโลยีช่วยทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้น ปัจจุบันเรามีแอปพลิเคชันอย่างกระเป๋าตัง ในอนาคตเวลามีนโยบายอะไรที่ท้องถิ่นอยากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาจแจ้งเตือนมา แล้วไปโหวตกันนะ ผมคิดว่าสิ่งนี้จะยิ่งช่วยทำให้ประชาชนสามารถกำหนดทิศทาง กำหนดอนาคตของตนเองได้มากขึ้น โดยมีท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรจากส่วนกลางมากขึ้น

อยากฝาก อยากสื่อสารอะไรต่อสังคม

เป็นข้อกังวลเหมือนกันว่าความหมายของท้องถิ่นเดิมนั้นยึดโยงกับพื้นที่ แต่ปัจจุบันมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว การเชื่อมโยงกับประชาชนไม่มีเรื่องของพื้นที่แล้ว บางประเด็นอาจเป็นส่วนน้อยของท้องถิ่น ยกตัวอย่าง LGBTQ ถ้าเขารวมตัวกันระดับชาติ เขามีเสียงใหญ่มาก แต่ถ้ากระจายไปอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ยกเว้นบางธุรกิจที่รวบรวมคนเหล่านี้ไว้ด้วยกัน แน่นอนว่าเป็นเสียงส่วนน้อยในท้องถิ่นนั้นๆ เราอาจต้องออกแบบอะไรที่สามารถรวมคนที่กระจายตัวออกไปอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถมีอำนาจ

รวมถึงการมีอีลีทในท้องถิ่น แต่ข้อมูลนี้ไม่ใช่การปฏิเสธการกระจายอำนาจ อย่างน้อยอีลีทในท้องถิ่นก็ยังดีกว่าอีลีทระดับชาติ อาจต้องมีกลไก อย่างเรื่องของสื่อที่เราจะส่งเสริมให้มีที่ทาง จะทำยังไงให้คนในท้องถิ่นที่ไม่ใช่อีลีทมีอำนาจมากขึ้น อันนี้อาจเป็นข้อกังวล แต่ไม่ใช่ข้อกังวลที่จะไปขัดขวางการกระจายอำนาจ เพราะการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้น

ในท้องถิ่นเราควรส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนตัวเล็กตัวน้อย โดยเฉพาะในเชิงพื้นที่มากขึ้น เช่น ท้องถิ่นหลายท้องถิ่นอาจไม่ใช่ท้องถิ่นเกษตรกรรม แต่เป็นท้องถิ่นอุตสาหกรรมก็ควรส่งเสริมในเชิงหน้าที่ เช่น สหภาพแรงงาน คือเวลาเรานิยามตนเองว่าเป็นคนที่ไหน เราก็จะชอบเอาอัตลักษณ์ท้องถิ่นนั้นๆ มาชู ซึ่งหลายอย่างเป็นวัฒนธรรมที่ชนชั้นนำของท้องถิ่นสร้างขึ้นมา แล้วก็บอกว่านั่นคือตัวเรา บางทีเราอาจหลงลืมไปว่าผลประโยชน์ที่แท้จริงของเราคืออะไร สมมตินะ ผมจะรู้สึกว่าผมสามารถแชร์กับท้องถิ่นอื่นๆ ได้มากขึ้น ด้วยความที่ผมเป็นชนชั้นแรงงาน แล้วความเป็นชนชั้นแรงงานของผมทำให้รู้ว่าผลประโยชน์ของผมอยู่ตรงไหน แต่เวลาที่เราบอกว่าเราต้องปกป้องอนุรักษ์ท้องถิ่น ต้องรักษาท้องถิ่น โดยหลงลืมไปว่าท้องถิ่นนั้นเลี้ยงเราได้จริงหรือเปล่า

หลายคนต้องไปทำงาน ยกตัวอย่างบ้านผม สมุทรสงคราม วัยแรงงานจำนวนไม่น้อยต้องไปทำงานในเมือง เช่น สมุทรสาคร เพชรบุรี ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม แล้วเวลาเราบอกว่าไม่เอาการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เพราะจะทำให้สถานะความเป็นท้องถิ่นเปลี่ยนไป อาจต้องตั้งคำถามแล้วว่าจะทำยังไงให้เลี้ยงคนที่ปัจจุบันเขาไม่สามารถหางานได้ในพื้นที่เหล่านี้ เมื่อเศรษฐกิจไม่ได้หล่อเลี้ยงเขา ผมคิดว่าเวลาพูดถึงท้องถิ่น ต้องนับรวมนิยามของความเป็นตัวเขา ไม่ใช่เพียงแค่สวมชุดไทย หรือสวมชุดประจำท้องถิ่น เราจะทำยังไงเพื่อส่งเสริมให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง หรือคนที่ไม่มีตัวตนในท้องถิ่นมีตัวตนขึ้นมา และทำให้ท้องถิ่นเลี้ยงคนเหล่านี้ให้ได้

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *